อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ม้าพยศ

Getting your Trinity Audio player ready...

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ…………)

…คราวนี้เราก็มาทบทวนหลักวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้อบรมสั่งสอนมา ซึ่งสรุปได้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”

คือใจที่แวบไปแวบมาคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ เรานำกลับมาหยุดนิ่ง ๆ ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ตรงกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อใจหยุดได้สนิท

ท่านให้เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนี้ จะนึกเป็นภาพหรือจะไม่นึกก็ไม่เป็นไร ภาพที่นึกเพื่อเป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา จะเป็นดวงแก้ว องค์พระใส ๆ หรือเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย จะเป็นเพชรนิลจินดา ผลหมากรากไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราคุ้นเคย จะต้องเป็นวัตถุที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของกายวาจาใจ ทำให้ใจเราสูงส่ง ไม่กำหนัดยินดีในกาม ในความพยาบาท หรือความคิดเบียดเบียน เป็นต้น

นึกอย่างสบายที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับประคองใจของเราด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง เรื่อยไปเลย คือให้นิมิตนี้เป็นเหมือนกับหลักของใจ ที่ผูกใจซึ่งซัดส่ายไปในเรื่องราวต่าง ๆ ให้มันหยุดนิ่ง ๆ ถ้าเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ใจก็จะหยุดนิ่งได้

ใจเรามันเหมือนม้าพยศ ม้าพยศไม่ค่อยจะอยู่ในอำนาจของเรา มันก็จะแถก ๆ ไถ ๆ ไปตามอารมณ์ของมัน ใจก็เหมือนกัน เราอยากจะให้นิ่ง ๆ แต่มันก็จะคิดเรื่องโน้น เรื่องนี้ เรื่องคนบ้าง สัตว์บ้าง สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง สิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตบ้าง สิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตบ้างเหมือนม้าพยศ

เพราะฉะนั้นเราต้องจับมาผูกเอาไว้กับหลัก เหมือนเราเอาเชือกคล้องคอม้าแล้วผูกเอาไว้กับหลัก ใหม่ ๆ มันก็ดิ้นรนอยากจะหลุดจากหลัก วิ่งไปทางเหนือบ้าง ใต้บ้าง ตะวันออก ตะวันตก วิ่งไปจนสุดสายเชือก แต่มันก็ไม่หลุดจากหลัก วิ่งไปวิ่งมาในที่สุดมันก็หมดแรง หมดพยศ ก็จะหมอบอยู่กับที่ไม่ไปไหน

การนึกถึงนิมิตดวงใส ๆ หรือองค์พระใสๆ หรือวัสดุอะไรที่เราคุ้นเคยก็ตาม นั่นก็คือหลักของใจ คำภาวนาเหมือนเชือกที่จะประคองใจเอาไว้ให้มาอยู่กับหลัก ใหม่ ๆ มันก็แวบไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็นึกถึงดวงใส ๆ องค์พระใส ๆ หรืออะไรก็ได้ที่ใส ๆ แล้วก็ภาวนา สัมมา อะระหัง เรื่อยไป จะกี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้งก็ได้ มันก็จะมีสักครั้งหนึ่งที่ใจมันหยุดนิ่ง

เวลาใจหยุดนิ่ง มันจะทิ้งคำภาวนาไปเอง มีอาการคล้าย ๆ กับว่าเราลืมคำภาวนา แต่ใจไม่ฟุ้ง หรือเกิดความรู้สึกว่า อยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากจะภาวนา สัมมา อะระหัง ต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่าใจหยุดแล้ว เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนา สัมมา อะระหัง ใหม่ ตอนนี้ใจมันยอมแล้ว มันหยุดแล้ว หมดพยศแล้ว ก็จะตรึกอยู่กับดวงใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ หรือถ้าเรานึกถึงเพชรนิลจินดา ภาพเพชรนิลจินดาก็จะมาปรากฏเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือหยุดนิ่งเฉยอย่างนั้น มีสติกับสบายและสมํ่าเสมอ ไม่ช้ามันก็จะถูกส่วนไปเอง

 

การถูกส่วน เราจะไปบังคับให้ถูกส่วนไม่ได้ มันจะเป็นของมันเอง เมื่อเรามีสติ มีความสบาย แล้วก็สมํ่าเสมอ พอถูกส่วนมันก็จะหล่นวูบไปเลย เหมือนตกจากที่สูง วูบไปฐานที่ ๖ แล้วจะไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ ใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ขึ้นมาเอง หลังจากนี้ก็ง่ายแล้ว ไม่ยากแล้ว มันยากตรงหยุดแรกที่ใจยังพยศอยู่

หรือเราจะไม่นึกภาพนิมิต แต่จะวางใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ ก็ได้ จะภาวนา สัมมา อะระหัง ด้วยก็ได้ ไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร แล้วก็วางใจนิ่ง ๆ ให้มีสติสบายสมํ่าเสมอ เดี๋ยวใจก็จะค่อย ๆ โล่ง ค่อย ๆ ว่างไปทีละน้อย ๆ จนกระทั่งมันจะนิ่งไปเอง พอนิ่งแล้วมันก็จะค่อย ๆ ใสขึ้น ความใสในกลางความมืด เหมือนดาวประกายพฤกษ์ที่เจิดจ้าในคืนเดือนมืด แล้วหลังจากนั้นมันก็จะละเอียดลุ่มลึกลงไปเรื่อย ๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน ค่อย ๆ สั่งสมบ่อย ๆ เราจะใจร้อนใจเร็วทำแบบทางโลกไม่ได้ ต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป สะสมความละเอียดไปเรื่อย ๆ

แล้วก็หมั่นสังเกตว่า วันนี้เราทำได้ดีเพราะอะไร ค่อย ๆ นึกทบทวนว่า เออ เราค่อย ๆ วางใจเบา ๆ อย่างนี้ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไมอย่างนี้ ถ้าจำได้แล้วต่อไปเราก็ทำอย่างนั้นอีก เดี๋ยวมันก็จะละเอียดลงไป

สมมติว่า วันนี้เราได้แค่ ๑ นาที ก็ให้ดีใจไว้เถอะ เออ เราสมหวังแล้ว หยุดนิ่งได้แล้ว ๑ นาที หรือหยุดนิ่งยังไม่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร แค่รู้สึกตัวโล่ง ๆ ว่าง ๆ โปร่ง เบา สบาย ก็ถือว่าเราสมหวังแล้ว

บางคนเกิดมาในโลกนี้อายุตั้งร้อยปี ยังไม่รู้จักเลยว่าโล่งใจโปร่งใจเป็นอย่างไร ใจใส ๆ ใจหยุดใจนิ่งเป็นอย่างไร ยังไม่รู้จักเลย เพราะฉะนั้นเราได้แค่ ๑ หรือ ๒ นาที ดีใจเถอะ แล้วต่อไปมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จำวิธีการที่จะไปถึง ณ จุดตรงนี้ให้ได้ แล้วก็หมั่นไปถึงตรงนี้บ่อย ๆ ซํ้าแล้วซํ้าเล่า เหมือนเราตอกตะปูที่ยํ้า ๆ เดี๋ยวมันก็มิดจนได้

ใจก็เช่นเดียวกัน หมั่นตรึก หมั่นหยุด หมั่นนิ่ง ค่อย ๆ ประคองไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวจากฟุ้งมากก็จะฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็จะไม่ฟุ้ง จากไม่ฟุ้งก็จะโล่ง ๆ โปร่ง เบา สบาย ใจเบิกบาน เดี๋ยวแสงสว่างก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น เป็นแสงแก้วที่เนียนตาละมุนใจ แล้วมันก็จะละเอียดลงไป จนกระทั่งค่อย ๆ เจิดจ้าขึ้น นานขึ้น มีความสุขไปทุกขั้นตอนเลย เดี๋ยวดวงใส ๆ ก็จะปรากฏเกิดขึ้นเอง เพราะดวงธรรมมีอยู่แล้ว พอถูกส่วนก็มาเอง

ใหม่ ๆ ดวงใสก็ยังไม่ค่อยชัด เราก็หมั่นฝึกฝนไป ฝึกทำกันไปทั้งวัน ควบคู่กับการทำมาหากิน หรือภารกิจที่เรามีอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็พยายามตรวจตราให้กายวาจาใจเราสะอาดบริสุทธิ์เท่าที่เราจะทำได้ ดวงธรรมก็จะค่อย ๆ ชัดขึ้น ๆ กระทั่งสุกใสสว่าง

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากนํ้าบอกว่า ใจหยุดประเดี๋ยวเดียวได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ สร้างวัดวาอารามเสียอีก เพราะอย่างนั้นยังเป็นแค่กามาวจร*(*ที่ยังข้องอยู่ในกาม,ที่ท่องเที่ยวในกามภพ) ทำแล้วบางทียังไม่มีความปลื้ม ยังไม่มีความสุขเท่ากับใจที่หยุดนิ่งเลย แต่ใจหยุดประเดี๋ยวเดียว เรามีความปลื้มปีติมีความสุขแผ่ซ่านไปทุกอณูเนื้อทุกขุมทุกขนเลย มีความเบิกบานแช่มชื่น ใจใส ความบริสุทธิ์ของใจก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ได้อานิสงส์มากกว่าสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ประณีตกว่า ละเอียดกว่า

สิ่งเหล่านี้ลูกทุกคนทำได้ บารมีก็มีมากพอ เหลืออย่างเดียวคือความเพียรกับทำให้ถูกหลักวิชชาเท่านั้น เดี๋ยวก็สมหวัง

ส่วนใครที่ทำได้แล้ว เห็นดวง เห็นกาย เห็นองค์พระ ก็แตะใจเบา ๆ แตะไปเรื่อย ๆ ใช้ระบบสัมผัส แตะดวงใส ๆ แตะกายภายในใส ๆ แตะองค์พระใส ๆ เดี๋ยวท่านก็จะดูดวูบเข้าไปข้างใน องค์พระในองค์พระก็ผุดผ่านขึ้นมามากมายก่ายกองทีเดียว ความสุขสดชื่นเบิกบานก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น จากองค์หนึ่งไปสู่อีกองค์หนึ่งก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ไปเลย ทำให้ได้นะ

ใครเหนื่อย ใครเพลีย ใครง่วง ใครตึง ใครเครียด ปล่อยให้มันหลับไปเลยในกลางกาย ใครเมื่อยก็ขยับเบา ๆ ใครฟุ้ง ถ้าฟุ้งหยาบคือฟุ้งที่ควบคุมไม่ได้ก็ลืมตา แต่ถ้าฟุ้งละเอียดที่ควบคุมได้ เราก็ทำเฉย ๆ ไม่ต้องลืมตา ทำเฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้เหมือนแขกมาเยือนบ้าน เราไม่ต้อนรับเดี๋ยวเขาก็เก้อเขินกลับไป

ความฟุ้งที่รู้ตัวแล้วคุมได้ ไม่ต้องลืมตา ทำหยุดทำนิ่งเฉย ๆ เดี๋ยวฟุ้งนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าฟุ้งหยาบ ควบคุมไม่ได้ สู้ไม่ไหว ให้ลืมตามาดูดวงแก้ว ดูองค์พระ เป็นต้น ให้ใจใส ๆ พอใจสบายดีแล้ว เราก็ค่อย ๆ หลับตาเบา ๆ ต้องฝึกซ้อมกันอย่างนี้นะลูกนะ

ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทุก ๆ คน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ

อังคารที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕

 

บทความที่เกี่ยวข้อง