อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

อย่าเป็นใบลานเปล่า ต้องเข้าถึงธรรมให้ได้

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็หยุดใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้เอาใจหยุดนิ่ง ๆ อย่างสบาย ๆ

แล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ ที่ใสเหมือนกับเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย หรือกลางองค์พระใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งนะ นึกไปอย่างสบาย ๆ ให้ใจหยุด ใจนิ่ง ๆ ต่อเนื่องกันไป ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง ภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ

ต้องฝึกให้ได้ทุกเวลา ทุกภารกิจประจำวัน

ใจหยุดเป็นที่สุดของทุกสิ่งที่เราปรารถนา เช่น ความสุขที่แท้จริง ความบริสุทธิ์ หรือความรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย อยู่ที่ใจหยุดนิ่งๆ อย่างเดียว หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ที่เราจะต้องฝึกกันให้ได้ ฝึกกันไปทุกวัน ให้สม่ำเสมอ

หยุด ตรงข้ามกับคำว่า อยาก ที่จะดึงใจของเราให้หลุดพ้นจากกลางกาย ไปติดในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ใจหยุดจะทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่

การที่เรามีที่พึ่งที่ระลึกอย่างนี้ จะทำให้เราอบอุ่นใจ แล้วก็ปลอดจากภัยทั้งหลาย ภัยในอบาย ภัยในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นก็จะต้องขยัน ทำความเพียรให้สม่ำเสมอ อย่าท้อใจแม้ว่าเรายังนั่งไม่เห็นอะไร มันยังมืดตื้อมืดมิดอยู่ก็ตาม

ให้ฝึกไปเรื่อย ๆ ในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ทุกวันทุกคืนควบคู่กับภารกิจประจำวัน ฝึกเอาไว้ เพราะนี่คืองานที่แท้จริงของเรา เป็นกรณียกิจ กิจที่สำคัญอย่างยิ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์ จริง ๆ แล้วแม้แต่เทวดาก็จะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่ง ถ้าไม่ฝึก ใจก็จะเพลินอยู่ในกามของทิพย์ หรือทิพยสมบัติ ซึ่งแม้จะมีความสุข แต่มันก็น้อยกว่าสุขที่เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว

หมั่นฝึกให้ได้ทุกวัน อย่าให้มีอะไรมาเป็นข้ออ้าง ข้อแม้หรือเงื่อนไข ทำให้เราเกียจคร้าน หรือเลื่อนการฝึกออกไป ต้องทำทุกวัน อย่าไปคอยความพร้อม เพราะว่าความพร้อมมันอยู่ที่เรา ถ้าเราตั้งใจทำเดี๋ยวนี้ มันก็พร้อมเดี๋ยวนี้

หมั่นสังเกต

ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วพยายามหมั่นสังเกตดูว่า เราทำถูกหลักวิชชาไหม ซึ่งถ้าทำถูกหลักวิชชาจะต้องเข้าถึงพระรัตนตรัยกันอย่างแน่นอน

หมั่นสังเกตดูว่า เราทำตึงเกินไปไหม ตั้งใจมากเกินไปหรือเปล่า มีความทะยานอยาก อยากได้ความสงบ อยากเห็นดวงใส อยากเห็นองค์พระ อย่างที่คนอื่นเขาเห็นมากเกินไปไหม เพราะความอยากจะทำให้เราตั้งใจมาก แล้วจะไปเค้นภาพให้มันทะลักเข้ามาในท้อง ซึ่งผลก็คือ ความไม่สบายกาย ร่างกายจะตึง เกร็ง เครียด แล้วความท้อ ความน้อยใจก็จะตามมาในภายหลัง

หรือว่าเราย่อหย่อนเกินไป นั่งหลับตาจริง ทำสมาธิจริง แต่ปล่อยใจให้ฟุ้งบ้าง เคลิบเคลิ้มบ้าง กระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ บ้าง อย่างนี้นั่งก็เหมือนกับไม่ได้นั่งนั่นแหละ เพราะมันหย่อนเกินไป

ถ้าพอดี ไม่ตึง ไม่หย่อน แม้ยังไม่มีแสงสว่างมาให้ดู ไม่ได้เห็นดวงธรรม กายภายในหรือว่าองค์พระก็ตาม แต่มันจะรู้สึกสบาย ตั้งแต่ไม่สุขกับไม่ทุกข์ แล้วตัวก็จะเริ่มโล่ง โปร่ง คือตัวจะโล่ง ๆ กลวง ๆ เหมือนมีอุโมงค์ภายในตัวเรา แต่เป็นอุโมงค์แห่งความใสสว่าง ตัวจะเบา กายเบา ใจเบา เหมือนจะเหาะจะลอยได้ ตัวพองโตขยายใหญ่ขึ้น แล้วก็ไม่เมื่อย แม้ยังไม่มีอะไรมาให้ดูใหม่ ๆ เราจะรู้สึกสบาย มีความพึงพอใจกับอารมณ์ที่เราได้ในตอนช่วงนั้น แล้วก็ไม่กังวลกับการเห็น เราจะมีความรู้สึกว่าเวลามันหมดไปเร็ว ซึ่งแตกต่างจากวันก่อน ๆ ที่เวลาเท่ากันแต่เรามีความรู้สึกว่ามันยาวนาน นั่นคือข้อสังเกตนะ

ถ้าเราทำถูกหลักวิชชา ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรยาก แค่หยุดแค่นิ่งอย่างสบาย ๆ แล้วไม่ต้องไปกังวลอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ความฟุ้งที่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นอุปสรรค เราก็ไม่ต้องไปเพ่งไล่ความฟุ้งออกไป หรือพยายามไม่ให้มันฟุ้ง ให้วางใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ

ประสบการณ์จะก้าวหน้าเร็วขึ้น

ฝึกทุกวันในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะอาบน้ำอาบท่า เข้าห้องน้ำ ห้องส้วม จะรับประทานอาหาร หรือจะทำอะไร ว่าง ๆ นิ่ง ๆ ก็ฝึกไว้ ฝึกนิ่ง ๆ วันละสัก ๕ นาที ในอิริยาบถอื่น ฝึกเข้าไว้เรื่อย ๆ ประคองใจอย่างนี้ทั้งวัน แล้วพอถึงเวลาเรามานั่งจริง ใจมันก็จะรวมได้ง่าย แค่เราทำนิ่ง ๆ เฉย ๆ หยุดนิ่ง เดี๋ยวมันก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จากฟุ้งมาก มาฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็ไม่ฟุ้ง แล้วตัวก็โล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย กระทั่งหายไปทั้งตัวเลย ตัวหายเหมือนเราไม่มีตัวตน คล้าย ๆ เรานั่งเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศ แล้วมันก็จะค่อย ๆ ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ

ยิ่งเราฝึกทุกวัน เราก็จะเข้าถึงอารมณ์นี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง กว่าใจจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย พอเราฝึกทุก ๆ วัน บ่อย ๆ เอาใจใส่ เวลามันก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ในการที่จะเข้าถึงจุดตรงนี้ ถึงประสบการณ์ภายในอย่างนี้ จากชั่วโมงก็เหลือครึ่งชั่วโมง หรือ ๑๕ นาที หรือ ๕ นาที กระทั่งพอเราหลับตามันก็นิ่งเลย พอนิ่งก็โล่งเลย ตัวขยายเลย

ต้องฝึกบ่อย ๆ แล้วเดี๋ยวความสว่างก็จะมาเอง เมื่อใจเราห่างจากนิวรณ์ เครื่องกั้นจิตไม่ให้บริสุทธิ์ มันก็จะมีความสว่างทีละนิด ๆ มีบางคนเท่านั้นที่มันพรึบขึ้นมาเลย แต่นาน ๆ ก็จะเจอสักคนหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะค่อย ๆ เหมือนฟ้าสาง ๆ แล้วก็สว่างเหมือนตอน ๖ โมงเช้า ๗ โมง แล้วก็จะค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องเพียรฝึกต่อไป ฝึกไปเรื่อย ๆ ทุกวันสม่ำเสมอ

แล้วก็หมั่นสังเกตเมื่อเราเลิกหรือลืมตาขึ้นมาแล้ว วันนี้เราทำอย่างไร เราถึงเข้าสู่ความสงบ สู่แสงสว่างได้เร็ว หรือวันนี้เราทำอย่างไรถึงช้า เมื่อเข้าถึงจุดตรงนั้น ก็ค่อย ๆ สังเกตไป ตรึกไปเรื่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ

หัดตัดใจ ตัดอารมณ์ต่าง ๆ เครื่องกังวล ใจก็จะมาอยู่ตรงนี้ได้เร็วเข้า ความสว่างก็จะค่อย ๆ เพิ่มพูนมากขึ้น จนกระทั่งถึง ๘ โมง ๙ โมง ๑๐ โมงถึงเที่ยงวัน มันก็จะเป็นขั้นเป็นตอนของมันไป อยู่ที่การฝึกฝน เมื่อมาถึงตรงนี้ การเปลี่ยนแปลงของจิตใจเราก็จะเกิดขึ้น คือ เราอยากจะคิดแต่เรื่องดี ๆ พูดแต่เรื่องดี ๆ แล้วก็ทำแต่เรื่องดี ๆ สิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่อยากจะทำหรอก เวลาใจมันใสมันสว่าง

ดวงปฐมมรรค ต้นทางพระนิพพาน

พอเราฝึกไปอีก ในกลางความสว่างเจิดจ้า มันก็จะเริ่มเห็นดวงใส ๆ เกิดขึ้นเอง ลอยขึ้นมาจากฐานที่ ๖ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับสะดือในกลางท้อง เป็นดวงใส ๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้น หรือโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ เป็นต้น

ดวงธรรมดวงแรกปรากฏขึ้น มันจะสุกใส อย่างน้อยก็เหมือนน้ำใส ๆ เหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าใส ๆ เหมือนเพชรที่ต้องแสงบ้าง หรือใสกว่านั้น ใสเกินใส ก็ปรากฏเกิดขึ้น นั่นแหละ คือ ดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเราท่านบัญญัติเอาไว้ ดวงใส ๆ ปรากฏ

เราก็ต้องฝึกให้เห็นชัดทั้งหลับตาและลืมตา ในทุกอิริยาบถ หลับตาก็ชัด ค่อย ๆ ลืมตาขึ้นก็ยังชัดอยู่ที่กลางกาย จะนั่ง นอน ยืน เดิน หกคะเมนตีลังกาอย่างไรในทุกอิริยาบถ มันก็ยังชัดใสแจ่ม ซึ่งตอนนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้น คือ จะคิดดีมากขึ้น พูดดีมากขึ้น ทำดีมากขึ้น ใจอยากจะสั่งสมแต่ความดี จะละชั่ว จะทำดี อยากจะทำใจให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น

เมื่อดวงใส ๆ นี้ปรากฏ มาถึง ณ ตรงนี้เราก็ปิดประตูอบายแล้ว เปิดประตูสวรรค์นิพพานแล้ว อย่างน้อยก็ไปสู่สุคติภพ ที่ว่าเปิดประตูนิพพาน คือ ดวงธรรมใส ๆ คล้ายดวงแก้วนี้คือต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

ดวงธรรมตรงนี้กับดวงแก้ว มันคล้ายกันตรงที่กลมรอบตัว แต่ความใสแตกต่างกัน ความสว่างก็ต่างกัน ความสุขก็ต่างกัน ความสงบต่างกัน ความสะอาดของดวงจิตต่างกัน ต่างกับการที่เราเห็นดวงแก้วภายนอก มันจะสะอาด สว่าง สงบ จะมีความสุข อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนเลย ใจก็จะตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนี้ หลับตา ลืมตา นั่ง นอน ยืน เดิน มันก็จะอยู่ตรงนี้ เป็นดวงใส ๆ จะมีความเบิกบาน จะรู้จักคำว่า เบิกบาน ต่อเมื่อเห็นดวงใส ๆ หรือเข้าถึงดวงธรรมดวงแรก ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรคเบื้องต้น ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

เราก็ฝึกทำให้ชำนาญ อย่าชะล่าใจว่า “เออ เราจะทำเมื่อไรก็ได้” มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะจิตใจเรายังไม่มั่นคง ยังโลเลอยู่ ถ้ามีเรื่องภารกิจหยาบ ๆ เข้ามา มันก็จะดึงใจออกไปติด ไปคิด ไปพูด ไปทำเรื่องหยาบ ๆ ความละเอียดของใจก็จะหย่อนลงไป พอหย่อนไปที่เคยเห็นมันก็จะเลือนราง พอเลือนรางเราก็อยากจะเห็นอย่างเดิมอีก ก็จะตั้งใจมากเกินไป ยิ่งตั้งใจมันก็จะยิ่งเลือนรางหายไปเลย แล้วความกลุ้มก็จะเข้ามาแทนที่ ความเสียดายที่เคยได้อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อได้ดวงใสแล้ว ก็จะต้องรักษาเอาไว้ให้ยิ่งชีวิตทีเดียว

ใบลานเปล่า

มนุษย์จำนวนมากที่มาเกิดไม่เคยเห็นดวงใสในตัวเลย อย่าว่าแต่คฤหัสถ์เลย แม้แต่นักบวชก็เหมือนกัน ดวงใสนี้ยังไม่เคยเห็น จะจบปริยัติมาถึงประโยคอะไรก็แล้วแต่ จะแตกฉานทางด้านปริยัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเรียกว่า ใบลานเปล่า

พวกที่เป็นแบบใบลานเปล่า ยิ่งแตกฉานยิ่งเป็นนักคิด ก็คิดไปเรื่อยเปื่อยไปตามทัศนะของตน แต่ความจริงก็ยังได้ชื่อว่า ใบลานเปล่า เพราะว่ายังเข้าไม่ถึงดวงธรรมภายใน

นี่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เข้าถึงอย่างนี้ ถึงแล้วก็เห็นไปตามลำดับ เห็นกายในกาย กระทั่งไปถึงกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

นักคิดทางทฤษฎี ที่เขาเรียนปริยัติมามากๆ เป็นนักคิด นักพูด นักเขียน ก็มักจะมีความมั่นใจว่า ต้องปริยัติอย่างเดียว ไม่ต้องปฏิบัติ ทั้งหมดมีอยู่ในปริยัติ แล้วก็บอกปริยัติต้องมาก่อนปฏิบัติ เขาก็จะยืนยันกันอย่างนี้ ซึ่งจริง ๆ เขาพูดน่ะถูกครึ่งเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าจับตอนไหน ถ้าจับตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเป็นบรมโพธิสัตว์ พระองค์ปฏิบัติก่อนนะ ถึงจะเข้าไปถึงความรู้ แล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นคำสอนที่เรียกว่าปริยัติ คือพระองค์ก็เรียนตามความรู้จากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ มาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แต่ก็ดับทุกข์ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งความรู้ทั้งหมดที่เคยเรียนมา แล้วก็มาลงมือปฏิบัติที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

โดยทำใจให้หยุดนิ่งแล้วก็ว่าง ๆ ไม่คำนึงถึงความรู้ที่เรียนมา เพราะมันเอามาใช้ไม่ได้ หลักสูตรนั้นมันไม่จบ มันค้างคาใจอยู่ แล้วท่านก็มาหยุดนิ่ง ๆ โดยตั้งมโนปณิธานว่า “เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ถ้าหากว่า ไม่หลุดพ้น ไม่พบความรู้ในการดับทุกข์ แล้วยังดับทุกข์ไม่ได้ จะไม่ลุกจากที่” ก็แปลว่าพระองค์ก็ต้องปฏิบัติก่อน ปฏิบัติคือทำนิ่ง ๆ นั่นแหละ จนกระทั่งเห็นไปตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นไปตามลำดับ วิชชา 3 ก็บังเกิดขึ้นไปตามลำดับของวิชชา

นี่ปฏิบัติต้องมาก่อน ในระดับของพระบรมครู ปริยัติมาตอนที่ท่านจะสอนพระสาวก สอนนักเรียน สอนมนุษย์ เทวดาทั้งหลาย จึงถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด ใช้คำพูดเป็นสื่อของความรู้ แล้วเขาก็บันทึกรวบรวมเป็นพระไตรปิฎก เป็นภาคทฤษฎี ปริยัติให้นักเรียนหรือพระสาวกได้ศึกษากันต่อไป เพื่อที่จะได้นำไปปฏิบัติ แล้วก็เข้าถึงปฏิเวธ คือ มีประสบการณ์ภายใน เช่นเดียวกับพระองค์

เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่าอันไหนมาก่อนกัน มันก็ขึ้นอยู่กับพูดตอนไหน ถ้าหากว่าจะเริ่มจากพระบรมศาสดา ปฏิบัติก็ต้องมาก่อน และก็ไม่ได้อาศัยความรู้มาจากครูบาอาจารย์อื่น ๆ เลยดังกล่าวนั้นแหละ แต่ว่าเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว แล้วด้วยมหากรุณาก็อยากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงเทศน์สอน แล้วก็มีการทรงจำต่อ ๆ กันมา ด้วยปากต่อปาก เขาเรียกว่ามุขปาฐะ แล้วก็นำมารวบรวมเป็นตำรับตำรา

ถ้าสำหรับนักเรียน ปริยัติก็ต้องมาก่อน เพราะเรียนความรู้จากครูบาอาจารย์ ก็ต้องศึกษาภาคทฤษฎีแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ถึงปฏิเวธ ส่วนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ปฏิบัติแล้วก็เข้าถึงปฏิเวธ มีประสบการณ์ภายใน หลุดพ้น

แต่นักคิดปัจจุบันนี้ ก็จะติดอยู่ในตำรับตำรา จะยืนยันเฉพาะปริยัติอย่างเดียวว่า ทุกอย่างมีอยู่ในปริยัติ ปฏิบัติไม่มี ซึ่งมันก็ไปค้านกับคำสอนของพระบรมศาสดา แต่เนื่องจากมีชื่อเสียงพูดอะไรคนก็ฟัง แต่ฟังกันไปก็จะเป็นประเภทใบลานเปล่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ลูกทุกคนก็จะต้องเดินตามรอยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เมื่อเราฟังภาคทฤษฎีแล้ว เราก็นำมาปฏิบัติเลย เพราะการพิจารณาแล้วปล่อยวาง มันใช้เวลาแค่นาทีสองนาทีก็จบแล้ว ว่าทุกอย่างสรรพสิ่งทั้งหลายสรรพสัตว์ทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องใช้เวลานานเลย นาทีสองนาทีก็จบแล้ว หรือกายมนุษย์มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะไปสู่จุดสลาย คือ เชิงตะกอนนั่นแหละ ความเสื่อมปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วก็จะสลายไปในที่สุด ซึ่งเราใช้ความนึกคิดตรงนี้แค่นาทีเดียวก็จบแล้ว

แล้วหลังจากนั้นก็มาฝึกหยุดนิ่ง ทำให้มันได้ เดี๋ยวก็จะเป็นไปตามลำดับ ดังที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นนั่นแหละ คือ โล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย แล้วก็ตัวหายไป แสงสว่างเกิดขึ้น ดวงธรรมปรากฏขึ้น แล้วจากดวงธรรมดวงแรก เดี๋ยวก็จะก้าวไปถึงดวงธรรมดวงถัด ๆ ไป กระทั่งเห็นกายในกาย กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม กระทั่งเข้าถึงกายธรรม พอถึงกายธรรมแล้วตอนนั้นแหละ เราถึงจะมั่นใจว่า สรณะที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง คือ พระธรรมกายในตัว หรือพระรัตนตรัยในตัวนี่เอง จะเข้าใจแล้วก็จะซาบซึ้งเมื่อเข้าถึงกันจริง ๆ

ทีนี้พอถึงแล้วก็หมั่นทำให้ได้ตลอดเวลาทั้งหลับตา ลืมตา นั่ง นอน ยืน เดิน ฝึกไปเรื่อยๆ เลย เราก็จะเห็นองค์พระอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวท่านก็ขยายขึ้นมาบ้าง มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเรา ครอบตัวเราก็มี ผุดผ่านมาในกลางกาย เพิ่มขึ้นมาอีกก็มี ขึ้นมาเรื่อย ๆ ต่อกันไป ไม่ขาดสายเลย ผุดผ่านเข้ามาในกลางกายในช่วงที่ความรู้สึกของกายมนุษย์หมดไปแล้ว แล้วจะมีความรู้สึกว่าเป็นพระ ตอนที่เข้าถึงพระ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระในตัวนั้นแหละ มันจะใสสว่าง

วิชชาธรรมกายศึกษาด้วยกายธรรม

แล้วพอถึงตอนนี้ เข้าถึงองค์พระ เห็นองค์พระตลอดเวลาแล้ว จะศึกษาวิชชา ๓ อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาก็ได้แล้ว ศึกษาวิชชา ๓ ก็ศึกษาด้วยธรรมกาย จึงได้เรียกว่า วิชชาธรรมกาย

คำว่า วิชชา เขาเขียนแตกต่างจาก วิชา ทางโลก คือ มี ช. ช้าง ๒ ตัว

วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง ไม่ได้เกิดจากการคิดคำนึง คาดคะเน หาเหตุหาผลด้วยตรรกะ หรือจากการอ่าน การฟัง แต่เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เมื่อใจหยุดนิ่งแล้ว มันจะสว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระภายในแล้ว

พระพุทธเจ้าพระองค์ก็จะใช้กายธรรมนี่แหละศึกษาวิชชา ตั้งแต่กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ศึกษาวิชชาปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ พอไปถึงตรงนั้นท่านก็อยากจะรู้ว่า ก่อนมาเกิดท่านมาจากไหน แล้วก็นิ่งไปในกลางกายธรรม ด้วยบารมีที่ได้สั่งสมมาก็ส่งผล ตอนนี้สังโยชน์ได้ละไปบางส่วนแล้ว จางลงไปแล้ว

เพราะฉะนั้น การรู้เห็นอะไรก็แจ่มแจ้ง เพราะบารมีท่านมาก ก็จะเห็นเป็นเรื่องราว เป็นภาพต่อเนื่องกันไปว่า ก่อนมาเกิดท่านมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นท้าวสันตดุสิต ก่อนที่จะมาเป็นท้าวสันตดุสิตท่านเป็นอะไรก็เห็นไปเรื่อยๆ มาจากตรงไหน สร้างบารมีมาอย่างไร สาวไปเรื่อยๆ ดูไป มองไปแล้วก็รู้เรื่องราว เพราะว่ามันเห็นเป็นภาพ เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเข้าใจแจ่มแจ้งในเวลาเดียวกัน ก็ศึกษากันอย่างนี้ด้วยธรรมกาย เขาเรียกว่า วิชชาธรรมกาย

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติหนหลังของตัว

จุตูปปาตญาณ ศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมว่า ทำกรรมอย่างนี้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ จะไปเกิดในภพภูมิอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะทำให้เข้าใจถึงความแตกต่างของมวลมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลาย มันมีเหตุผลอย่างไร ก็จะเห็นเรื่องราวไปเลย

การเกิดขึ้นและการดับไปของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ประกอบกรรมอย่างนี้ พอตายจากนี้ ก็ไปเกิดตรงโน้น เหมือนปลาในท้องทะเลที่โผล่ตรงนี้ ผุดตรงโน้น ดำน้ำตรงนี้ ไปโผล่ตรงโน้น ตายจากมนุษย์ไปเป็นอะไรต่ออะไรสารพัด ด้วยวิบากกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราวไป ก็เป็นวิชชาที่สอง

อาสวักขยญาณ แล้วถึงสาวไปหาเหตุว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดอีก ก็มองดู ตรวจตราดู เพราะฉะนั้นต้องเห็นทั้งนั้นแหละ ไม่เห็นไม่ได้หรอก คิดไม่ออก คิดไม่มีทางหมดกิเลส

พระองค์เห็นไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งหลุดหมดเลยจากกิเลสทั้งหลาย ด้วยบารมีที่เต็มส่วน กำลังของบารมีส่งผลให้เต็มส่วน ฉุดท่านหลุดไปเลย ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สว่างไสว จึงปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากกฎแห่งกรรม หลุดพ้นจากกฎของไตรลักษณ์ หลุดพ้นจากภพทั้ง 3 แล้วก็เข้าสู่นิพพานภายใน ที่เข้าด้วยกายมนุษย์ เขาเรียกว่า อุปาทิเสสนิพพาน ด้วยกายอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยวิมุตติสุข คือ สุขที่หลุดพ้นจากกิเลส

ความสามารถทั้งหมดเหล่านี้ ที่มีอยู่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีอยู่ในตัวของเราและมวลมนุษยชาติทั้งสิ้น แต่ว่าเราไม่เคยศึกษากัน หรือศึกษาแล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ ไม่ได้ให้ความสำคัญกันอย่างจริงจัง เราจึงยังไม่รู้ไม่เห็นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเพียร ทำความเพียรแล้วทำให้ต่อเนื่องกันไป ถ้าทำกันจริง ๆ แล้วก็ต้องเข้าถึงกันทุกคน

ทั้งหมดนี้คือกรณียกิจ คืองานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ต้องทำกันอย่างนี้ ลูกทุกคนเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมกันมาดีในระดับหนึ่งทีเดียว จึงมาถึง ณ ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีของเรา ที่เราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ก็อย่าปล่อยให้โอกาสนี้เป็นวิกฤต ให้ตั้งหน้าตั้งตาฝึกใจให้หยุดให้นิ่งกันไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ สักวันหนึ่งก็จะเป็นวันแห่งความสมปรารถนาของเรา

อธิษฐานจิตตั้งผังชีวิต

ตอนนี้เราก็หยุดนิ่ง ๆ สบาย ๆ ตรึกระลึกนึกถึงบุญที่เราทำผ่านมา จนกระทั่งมาถึงวันนี้ เอามาเป็นบุญต่อบุญ เราจะได้อธิษฐานจิตไปดุสิตบุรี วงบุญพิเศษ เขตบรมโพธิสัตว์ ไม่ให้พลัดกันเลย ภพชาติต่อไปก็ให้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข มรรคผลนิพพาน วิชชาธรรมกาย เกิดมาก็ให้ระลึกชาติได้ ให้เห็นธรรมะกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย สร้างบารมีเรื่อยไปจนกว่าจะหมดอายุขัยไป
ทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

ให้บังเกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ได้เกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการสร้างบารมีของเรา จะมีพวกพ้องบริวารหมู่ญาติก็ให้เป็นคนดี มีศีล มีธรรม เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ มีทรัพย์แล้วก็อย่าได้ตระหนี่ อย่าได้มีมานะทิฏฐิ ให้ใช้ทรัพย์เป็นด้วยดวงปัญญาของเราในการสร้างบุญต่อบุญบารมีต่อบารมีไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหมายปลายทาง

ปัจจุบันชาตินี้เรากำลังสร้างบารมีอยู่ ก็ให้บุญทุกบุญนี้ไปเชื่อมสายสมบัติ ให้เราได้มาใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้หาย ให้แข็งแรง อายุขัยยืนยาว สร้างบารมีกันไปนาน ๆ ปฏิบัติธรรมะก็ให้พบพระธรรมกาย ครอบครัวก็ให้เป็นครอบครัวธรรมกาย ให้มีสมบัติใหญ่ไหลมาเทมา ให้เราได้ใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น หมดหนี้สิน เหลือกินเหลือใช้ เหลือไว้สร้างบารมีอย่างนี้ เป็นต้น

แล้วก็อธิษฐานนึกถึงบุญอุทิศส่วนกุศลไปยังบรรพบุรุษ บุพการี หมู่ญาติที่ละโลกไปแล้ว ไปอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม ให้บุญนี้ได้ไปถึงท่านเหล่านั้น ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก ที่มีสุขมากก็ให้มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วบุญนี้ให้ถึงแก่คู่กรรมคู่เวรเราจะได้เป็นอโหสิกรรมกันไป แล้วก็ถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ให้ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

บทความที่เกี่ยวข้อง