อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ความละเอียดภายใน

เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ

หลับตาของเราเบา ๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาให้สบายๆ แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ว่างเปล่าจากอารมณ์ ทั้งหลาย

แล้วก็ให้สมมติว่า ร่างกายของเรานั้นตั้งแต่ภายในกะโหลกศีรษะ ในปาก ลำคอทรวงอก แล้วก็กลางท้อง ปราศจากอวัยวะภายใน ไม่มีมันสมอง ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ ไส้ใหญ่ ไส้น้อย เป็นต้น สมมติว่า เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กลวง ๆ เป็นโพรงภายใน คล้ายท่อแก้วใส ๆ

ให้เป็นทางไหลผ่านของกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์และ ความดีงามที่เราได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้างบุญบารมี ๓๐ ทัศ เรื่อยมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ รวมกับอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ และพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์

ทั้งหมดนี้รวมเป็นกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ ไหลผ่านกลางท่อแก้วใสๆ ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินในใจของเราให้หมดสิ้นไปตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง อุปกิเลสทั้งหลาย นิวรณ์ทั้ง ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำ เบื้องสูง วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม วิบากมาร อุปสรรคต่าง ๆ นานาในชีวิต ทุกข์ โศก โรค ภัย สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ให้ละลายหายสูญไปให้หมด

ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นดวงใส ๆ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว ไม่มีไฝฝ้า ไม่มีตำหนิ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศอย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน

 

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน ก็ให้สมมติว่า หยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ซึ่งจะเห็นได้เมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

เพราะฉะนั้น เราจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้อง ในตำแหน่ง ที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือให้ง่ายกว่านี้ไปอีกก็คืออยู่ตรงกลางท้อง ตรงตำแหน่งที่เรามีความรู้สึกมั่นใจ พึงพอใจสบายใจ แล้วต่อจากนี้ไปก็ไม่ต้องไปกังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย เพราะเรามั่นใจว่า อยู่ตรงนี้ก็ตรงนี้

ดวงใส ๆ ดังกล่าว ที่อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศอย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ปรากฏเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ตรงกลางท้องของเรา ให้เอาใจที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ ที่ตรงกลางดวงใส ๆ อย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ ให้ได้ตลอดเวลา

 

ตรึก

ตรึก ก็คือ การนึกถึงดวงใส ๆ อย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น นึกเหมือนนึกหน้าแม่ หน้าพ่อ หน้าลูก หรือนึกถึงแหวนเพชร ขันล้างหน้า ดอกไม้ ดอกบัว ดอกกุหลาบ เป็นต้น ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่า การตรึก

ไม่ใช่หมายถึง การเพ่งลูกแก้ว หรือไปเค้นภาพลูกแก้วให้ทะลักออกมาในกลางท้อง หรือไปควานหาดวงแก้วในที่มืด ให้นึกอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ถึงดวงใส ๆ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ตรงกลางดวงใส ๆ อย่างนี้เรื่อยไป

ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่น เราก็ดึงใจกลับมาเริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ อย่าไปหงุดหงิด ในกรณีที่ใจอดแวบไปคิดถึงสิ่งที่เราคุ้นเคยไม่ได้ อย่าไปบังคับใจ อย่าไปห้าม อย่าไปฝืนต่อต้าน อย่าไปรำคาญใจที่ชอบแวบไปคิดเรื่องอื่นเรื่อย ใจมันคุ้นกับอะไรก็ไปอย่างนั้นก่อน แต่พอรู้ตัวก็ดึงใจกลับมาใหม่ง่าย ๆ ให้หยุดนิ่ง ๆ กลางดวงใส ๆ อย่างนี้

บริกรรมภาวนา

เมื่อเราตรึกนึกถึงดวงใส องค์พระใส ๆ แล้วใจก็ยังอดที่จะแวบไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ก็ให้ประกอบบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ค่อย ๆ ประคองใจไป คำภาวนานี้ ไม่ได้หมายถึง การท่องโดยใช้กำลัง แต่ให้เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ที่ดังออกมาจากกลางดวงใส ๆ คล้าย ๆ เสียงสวดมนต์ในใจ ในบทที่เราคล่อง หรือเสียงเพลงที่เราชอบ แล้วดังในใจโดยที่ไม่ได้ตั้งใจร้องเพลงเลย ให้บริกรรมภาวนาว่า สัมมา อะระหัง ตรึกนึกถึงดวงใส ให้ใจหยุดลงไปที่จุดกึ่งกลางของดวงใส ๆ พร้อมกับภาวนาเรื่อยไปเลย  ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมา อะระหัง เราก็ยังคงตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของดวงใส ๆ ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ๆ

เมื่อใจหยุดนิ่ง มันจะทิ้งคำภาวนาไปเอง จะมีอาการคล้าย ๆ กับเราลืมคำภาวนา แต่ใจนั้นไม่ฟุ้ง มันหยุดนิ่งเฉย ๆ ที่กลางดวงใส ๆ หรือมีความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนา ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนา ให้รักษาใจที่ใส ๆ หยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงใส ๆ กลางท้องของเรา ที่เรามั่นใจว่า เป็นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น

 

อย่าเค้นภาพ อย่าบังคับใจ

ถ้าหากว่าดวงใส ๆ มันไม่ชัดเจน ก็อย่าไปพยายามเค้นภาพ เค้นใจให้มันชัด ให้มันใส ให้มันสว่าง มีให้ดูแค่ไหน เราก็ดูไปแค่นั้น จะคุ่ม ๆ ค่ำ ๆ รัว ๆ ราง ๆ ก็ช่างมัน ก็ตรึกไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ประคองใจของเราไปเรื่อย ๆ

ถ้าหากว่า นึกไม่ออกก็ช่างมัน เอาใจนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงตำแหน่งที่เรามั่นใจ พึงพอใจ สบายใจในกลางท้องของเรา นิ่งเฉย แม้ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ภาวนา สัมมา อะระหัง หรือจะไม่ภาวนาก็ได้ ให้นิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ

มืดหรือสว่าง ไม่ต้องไปสนใจ จะเห็นภาพ หรือไม่เห็นภาพ หรือไม่มีอะไรใหม่ก็ช่างมัน อย่าไปหงุดหงิด อย่าไปรำคาญ อย่าไปฮึดฮัด ให้ทำใจเย็น ๆ เบา ๆ คล้าย ๆ กับตอนที่เราเคลิ้ม ๆ ใกล้ ๆ จะหลับ แต่เรายังมีสติรู้ตัวอยู่ ก็ค่อย ๆ ประคองใจให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไมไปเรื่อย ๆ

 

ง่วงก็ปล่อยให้หลับ

แต่ถ้าหากว่า มันจะเผลอหลับ เพราะร่างกายต้องการพักถึงแม้ว่าใจจะสู้ ถ้ามันเผลอ ก็ปล่อยให้หลับไป อย่าไปฝืนนะ พอฝืนแล้วมันจะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มันจะสะเทือนถึง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

ถ้าจะหลับก็ปล่อยมัน แต่หลับตรงกลางกายของเรา หลับแล้วต้องได้บุญ หลับแล้วใจของเราจะต้องถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้นปล่อย อย่าฝืน มันจะหลับไม่นานเท่าไร พอสดชื่น มันก็ตื่นเอง

พอตื่นมานี่ ตรงนี้สำคัญ อย่าผลีผลามลืมตานะ อย่าขยับตัว อย่าเผลอลืมตา ให้นิ่ง ๆ ตรงที่สดชื่น มันจะอยู่ตรงไหนก็ช่าง เราก็ยังคงนิ่งเฉย ๆ ตรงที่มีความรู้สึกว่า สบาย แม้ว่ามันอาจจะไม่อยู่ที่กลางท้อง อาจจะอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่รู้ ข้างนอก ข้างหน้านอกตัวเรา หน้าตัวเราก็ช่างมันไปก่อน ตอนนั้นอย่าลืมตานะ นิ่ง ๆ เฉย ๆ หัวเลี้ยวหัวต่อตรงนั้นสำคัญ ถ้าประคองใจเป็นอย่างสบาย ๆ เพราะตอนเราตื่นใหม่ ๆ มันสดชื่น และอารมณ์ยังเบาอยู่ สบายอยู่ เราก็ยังไม่ลืมตา นิ่งเฉย

บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ตัวเราเป็นโพรงกลวงบ้าง ตัวหายไปบ้าง ตอนนี้อย่าไปกังวลหาศูนย์กลางกายนะ กำลังจะดีแล้ว พอไปหาศูนย์กลางกายว่า เอ๊ะ ! มันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้จิตก็เลยหยาบขึ้นมา ตอนนั้นไม่ต้องไปหาแล้ว สบายตรงไหนก็ตรงนั้นแหละ นิ่งเฉย ปล่อยให้ตัวมันหายไป เราจะพักผ่อนอย่างลึก ๆ มันจะสดชื่นแล้วมีพลัง แล้วก็มีกำลังใจที่จะนั่งต่อไปในวันต่อ ๆ ไป แล้วเราจะดื่มด่ำกับความสุขที่ละเอียดอ่อนนั้น ที่มันสบ๊าย สบาย ถ้าตื่นมาแล้วเป็นอย่างนี้ ก็ทำอย่างนี้นะ

แต่บางคนพอนึกอยากจะให้หลับ คือ ปล่อยมัน หลับก็ช่างไม่หลับก็ช่าง มันเกิดไม่หลับแต่กลับสดชื่น คือ ตัวหายไปเลย ก็ให้ทำแบบเดียวกัน คือ ให้ดื่มด่ำกับอารมณ์ที่ละเอียด ละเมียดละไม ที่ความรู้สึกของร่างกายเราไม่มี นิ่งให้นานที่สุด นานแค่ไหนก็ช่าง จนกว่าใจจะถอนขึ้นมาเอง ไม่ใช่เราไปนึกอย่างนี้ว่า เออ มันสบายดี มันน่าจะมีอะไรให้เห็นบ้าง พอคิดแค่นี้จิตเลยถอนขึ้นมาเลย

ตอนนี้อย่าไปใช้ความคิด ทำจิตให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ อยู่ที่ตรงนั้น ตรงไหนก็ได้ ตรงที่สบาย แล้วมันก็จะเพลิดเพลิน สบ๊าย สบาย เริ่มมีความรู้สึกว่า เออ การนั่งสมาธิมันไม่ยากนะ แล้วก็เป็นการพักผ่อนถึง ๒ ชั้น

พักตื้น ๆ ชั้นหนึ่งตอนที่เราปล่อยให้หลับ กับตอนที่เราตื่นจากหลับ มันตื่นตัวภายใน เป็นการพักอีกระดับที่ลึกกว่าเดิม เหมือนเราเดินที่ชายหาดเอาเท้าจุ่มน้ำตื้น ๆ ยังชื่นใจ ถ้าลึก ๆ มันจะชื่นใจขนาดไหน ตรงนี้ก็เหมือนกัน เราจะได้เริ่มรู้จักความละเอียดของใจอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้ยังไม่ถึงดวงธรรมภายใน ก็จะเริ่มรู้ว่า อ้อ มันดี มันประณีตอย่างนี้ แล้วเราก็ทำความคุ้นเคยกับมันให้นานที่สุด พอถอนมาก็ช่างมัน

ส่วนวันหลังเรานั่งแล้วไม่ได้อย่างนี้ ก็อย่าไปเสียอกเสียใจแล้วเวลาเลิกนั่งก็อย่าเพิ่งไปอยาก อยากให้ได้อย่างนี้ อยากก็ไม่เอา ไม่อยากก็ไม่มี ทำเฉย ๆ อย่างที่แนะนำไว้ตั้งแต่เบื้องต้น

 

เมื่อย / ฟุ้ง

ถ้าใครเมื่อย ก็อย่าไปฝืนอิริยาบถ เรานั่งเอาธรรมะ ไม่ใช่นั่งเอาท่าสวย เพราะฉะนั้น เมื่อยเราก็ขยับ ง่วงก็หลับ ฟุ้งก็ภาวนา ถ้าภาวนาสู้ไม่ไหว ก็ลืมตาดูสิ่งที่ทำให้เราสบาย ดูพระพุทธรูป ดวงแก้ว หลวงปู่วัดปากน้ำฯ หรือคุณยายอาจารย์ฯ หรืออะไรที่ทำให้สบายใจ พอสบายใจดีแล้วก็ค่อย ๆ หลับตา อย่าหลับตาทันที ให้ค่อย ๆ หรี่ตาลงทีละน้อย ๆ อย่าถึงกับปิดสนิท เหมือนจะเคลิ้ม ๆ แล้วก็รักษาระดับนั้นเอาไว้ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ สบาย ๆ

ไม่หวังว่าจะได้ผลอะไร แต่ให้การเห็นภาพเป็นผลพลอยได้ ที่เกิดขึ้นมาเพราะเราวางใจได้ถูกส่วน สิ่งที่สำคัญก็คือให้คุ้นเคยกับความประณีต ละเอียด ละเมียดละไมของใจที่เป็นอิสระในเบื้องต้น ที่มันหลุดพัวะจากกายหยาบไป เคว้งคว้างเหมือนอยู่กลางท้องฟ้าในคืนเดือนมืด ท้องฟ้ามืดสนิท มันก็ไม่เห็นอะไร แล้วเราก็นิ่งให้ใจคุ้นกับความละเอียด ละเมียดละไม ที่นุ่ม ๆ นิ่ง ๆ ละมุนละไม แม้ไม่มีอะไรให้ดูก็ช่างมัน นิ่งเฉย ๆ คุ้นอย่างนี้เรื่อยไป มันจะเป็นรางวัลชีวิตให้กับเราทุก ๆ ครั้งที่เรานั่งภาวนา

 

ก่อนออกจากสมาธิ

แล้วเวลาเราจะออกจากสมาธิ ก็ค่อย ๆ เผยอเปลือกตาขึ้นมาเบา ๆ ทีละน้อย ๆ อย่าผลีผลามลืมพัวะขึ้นมาอย่างนั้น ไม่เอานะ แล้วก็นั่งนิ่ง ๆ สัก ๑ หรือ ๒ นาที จนเราคุ้นกับความนิ่ง แล้วถ้ารักษาอารมณ์นี้ได้ก็ให้รักษา นานกี่นาทีก็ช่างมัน อาจจะได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ก็ขยายเวลาเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

ทำอย่างสบาย ๆ ให้สม่ำเสมอ ทำไปวันต่อวัน หากินกันไปวัน ๆ เหมือนหายใจ เราหายใจเข้าไป ครั้งหนึ่ง มันอยู่ได้ไม่กี่นาที เดี๋ยวเราก็หายใจออก ก็อยู่ได้อีกไม่กี่นาทีก็ต้องหายใจเข้า-ออก ๆ ใช้ไปทีละช่วงของเวลา หรือเวลาเรารับประทานอาหาร ทานตอนเช้าก็อยู่ได้แค่ถึงเที่ยง ถ้าทานตอนเที่ยงอยู่ได้ถึงเย็น ทานตอนเย็นอยู่ได้ถึงกลางคืนอย่างนี้ นั่งธรรมะก็เหมือนกัน เราก็ทำวันต่อวัน นั่งอย่างธรรมดา สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ไม่ช้าก็จะสมหวังดังใจ

พอใจเริ่มคุ้นกับความละเอียด และเรามีความสุขกับการนั่ง แม้ไม่เห็นอะไร มันก็จะขยายเวลาในการนั่งของเราออกไปเองด้วยความสมัครใจ เต็มใจ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม

การทําอะไรด้วยใจรัก มีฉันทะ มีความสมัครใจ เต็มใจทำ มันมีความสุข ไม่ต้องฝืน และเราจะทำสิ่งนั้นได้ดี นั่งสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำแล้วรู้สึกเป็นสุข สนุกกับการทำจะนั่งได้นาน นั่งได้บ่อย ๆ และไม่ช้าใจก็จะคุ้นกับความละเอียด

เมื่อความละเอียดสั่งสมเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน มากพอที่จะนิ่งได้สนิทถูกส่วนไปเอง ตอนนี้แหละเราจะเข้าถึงดวงใส ๆ กายใส ๆ องค์พระใส ๆ ที่มีอยู่แล้วภายใน เข้าถึงองค์พระในองค์พระ องค์พระท่านก็จะผุดผ่านขึ้นมา คล้าย ๆ ผุดจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน แต่ความจริงท่านผุดขึ้นมาจากตรงกลางกาย ของเรานั่นเอง จากเห็นองค์เล็ก ๆ ก็จะค่อยขยายโตขึ้นเท่าตัวเรา ใหญ่กว่าตัวเรา แล้วก็มีองค์ใหม่ใหญ่กว่าองค์เดิม ใส ละเอียด ประณีตกว่าเดิม ผุดขึ้นมาทีละองค์ ๆ

เมื่อเข้าถึงองค์พระภายใน

เมื่อเข้าถึงองค์พระภายใน เรารู้สึกว่าใจของเราเกลี้ยงเกลา เหมือนกับถูกกลั่นให้บริสุทธิ์โดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย แล้วก็จะได้สัมผัสความสุขที่เกิดขึ้นจากใจที่บริสุทธิ์เพราะหยุดนิ่ง เมื่อองค์พระใสสว่างผุดผ่านขึ้นมาเรื่อย ๆ องค์พระในองค์พระ องค์พระในองค์พระ เดี๋ยวเราก็ฝันในฝันได้ เห็นองค์พระองค์นี้ ต่อไปเห็นอีกองค์หนึ่ง ผุดขึ้นมาทีละองค์ ๆ ใส ละเอียด สว่าง เนียนตา ละมุนใจ โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

เราจะรู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัย มีความมั่นใจอยู่ในตัวว่า ชีวิตนี้เราปลอดภัยแล้ว มีชัยชนะ มีสุขในทุกสถานที่ จะมีกินหรือไม่มีกินก็มีความสุข ใจจะนิ่งเฉย ๆ สบาย เบิกบาน ความน้อยอกน้อยใจในบุญวาสนาบารมีว่า เรามีทรัพย์น้อย มียศถาบรรดาศักดิ์น้อยก็หมดไป ใจจะมีแต่ความเบิกบาน แช่มชื่นใจฟูอยู่ตลอดเวลา แม้ที่นั่งแค่ ๑ ตารางเมตร อาสนะเดียวที่เรานั่งอยู่ เราก็สามารถแสวงหาความสุขได้ แสวงหาความจริงของชีวิตได้ ความรู้ภายในซึ่งเป็นความรู้ที่แท้จริง เราก็สามารถ แสวงหาได้ด้วยพระภายใน ซึ่งท่านจะกลั่นกาย วาจา ใจ ธาตุธรรม เห็น จำคิด รู้ ของเราให้สะอาดไปเรื่อย ๆ

ยิ่งใจใส สมบัติใหญ่ก็จะไหลมา ยิ่งใจอยู่ตรงกลาง สตางค์ก็ไหลมา ยิ่งใจอยู่ตรงกลาง จะทำมาค้าขายก็รวย สมบัติใหญ่มา รวยทั้งสมบัติ โลกียทรัพย์ รวยทั้งบุญบารมี วิมานของเรา ก็จะใหญ่โตโอฬาร สวยงาม

ตอนนี้เราได้แค่ไหน เราเอาแค่นั้นก่อน ให้พึงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ เป็นอยู่ในตอนนี้ ทำตรงนี้ให้ได้เสียก่อน เดี๋ยวตรงนั้นเราจะได้เองอย่างแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่างคนก็ต่างฝึกใจให้หยุด ฝึกใจให้นิ่ง ให้ใจใส ๆ ในระดับที่เราทำได้นะ

วันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

บทความที่เกี่ยวข้อง