อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย หยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาสบาย ๆ พร้อมกับผ่อนคลาย แล้วก็หลับตาพริ้ม ๆ ฝึกไปด้วยกันอย่างนี้นะ ปรับไปด้วยกัน

ปรับเปลือกตา การหลับตา อย่าฟังผ่าน ตรงนี้สำคัญนะ จะได้ไม่ช้า ต้องหลับตาให้เป็นเสียก่อน ให้เกิดความคุ้นเคย แล้วก็ผ่อนคลายจนกระทั่งรู้สึกว่าผ่อนคลายจริง ๆ แล้วก็ขยับท่านั่ง ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน อย่ามองข้ามนะ จะได้เร็ว ปรับพอถูกส่วนแล้ว เราถึงรวมใจหยุดไปตรงกลาง คือ แตะเบา ๆ

ทุกครั้งที่เราเริ่มนั่งหลับตา ให้เริ่มต้นจากจุดที่เราทำได้ง่ายก่อน ที่รู้สึกว่าสบาย ผ่อนคลาย เพราะทุกคนยังมีภารกิจหยาบอยู่ ต้องทำมาหากิน ทำมาค้าขายทางโลก ก็จะมีเรื่องหยาบ ๆ มาทำให้ใจเราหยาบตามไปด้วย ต้องจำนะ ตรงนี้สำคัญ แล้วก็ไปฝึกทำ

สมมติเรานึกภาพไม่ออก อย่างน้อยเราก็หลับตาให้เป็น เอาตรงนี้ที่ง่าย หรือผ่อนคลายเป็น ปรับท่านั่งเป็น แล้วก็วางใจเป็น หยุดใจเป็น ตรงกลางให้รู้สึกสบาย ๆ ต้องง่าย ๆ นะ

เราก็จะนึกถึงดวงใส ๆ หรือองค์พระที่เราคุ้นเคย หรือภาพพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายที่ศูนย์กลางกายง่าย ๆ ไม่สับสนนะว่า จะเอาอะไรดี อะไรง่ายที่สุด ณ ตอนเริ่มต้น เอาตรงนั้นไปก่อน

หรือบางท่านรู้สึกว่า หลับตาแล้วตัวหายแวบ แต่ก็ยังไม่เห็นอะไร ก็นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเรา เฉพาะตัวของเรานะ

หรือบางคนจะเริ่มด้วยการนึกถึงบุญ นึกถึงความดีที่เราได้ทำเพื่อให้ใจชุ่ม ๆ ก่อน บุญที่นึกถึงก็นึกถึงภาพบุญที่เราปีติที่สุดก่อน นึกได้ง่ายก่อน เพื่อสร้างความชุ่มชื่นใจ จะได้ขจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ความฟุ้งคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งความยินดียินร้าย อย่างนี้ก่อนก็ได้

แปลว่าทุกอย่างเราเริ่มต้นจากจุดที่เราทำได้ง่ายก่อน พอรู้สึกสบาย มีความพร้อมแล้ว จึงค่อย ๆ วางใจแตะนึกถึงบริกรรมนิมิต หรือภาพที่เราคุ้นเคย จากที่ชัดน้อยไปหาชัดมาก ซึ่งแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เราก็เริ่มอย่างนี้ไปก่อนอีกเช่นเดียวกัน ต้องจำนะ มันจะได้เร็ว แล้วก็ไปฝึกทำซ้ำๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ

ส่วนผู้ที่หยุดใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ตรึกนึกถึงดวงใสได้หรือเข้าถึงดวงธรรม หรือตรึกองค์พระได้เป็นกุศลนิมิต หรือบริกรรมนิมิตได้แล้วก็นึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งนำไปสู่สิ่งที่มีอยู่จริงภายใน

มีอะไรให้ดูก็ดูไป

ภาพอะไรที่เกิดขึ้นภายในจะเป็นดวง เป็นกาย องค์พระ มหาปูชนียาจารย์ ล้วนดีทั้งสิ้น ไม่ต้องไปกังวลว่า นี่เรานึกไปเองหรือเห็นเองจะนึกเอง หรือเห็นเองก็ช่าง ให้มีให้ดูก็แล้วกัน การเห็นไม่ว่าจะนึกเองหรือเห็นเอง แปลว่าใจของเรามีสมาธิแล้ว นึกให้เห็นก็มีสมาธิระดับหนึ่ง ถ้าเห็นเองก็ระดับที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้นก็ แค่นั้นเอง

ต้องทําความเข้าใจตรงนี้ ไปถึงตรงนั้นเราจะได้ไม่ต้องสงสัย เพราะความสงสัยทำให้ใจถอนจากสมาธิ จิตที่กำลังละเอียดอยู่ก็จะถอยมาหยาบ นี่ต้องจำนะ เพราะถึงเวลาทำจริง ๆ แล้วก็จะลืมทุกที แล้วก็จะถามคำถามเดิม ๆ อย่างนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เคยบอกว่า มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปอย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เคยบอกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ แต่พอถึงเวลาทำจริง ๆ พอมีอะไรให้ดู เราก็กลับคิดว่า เอ้ นึกไปเอง หรือเห็นจริง ๆ มักจะเป็นกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น หมดเวลาแล้วนะ เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย มัวไปลังเลสงสัย มันไม่เกิดประโยชน์ แถมเกิดโทษ คือจิตจะถอนก็จะหยาบ ให้ลูกจำบรรทัดนี้นะ ที่บอกซ้ำๆ เหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปอย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น เพราะเรายังเป็นนักเรียนอนุบาล ถ้าจะวิเคราะห์วิจารณ์นั่นมันขั้น advance แล้ว ขั้นที่เราละเอียดแล้ว ถึงตอนนั้นเราจะเอาอย่างไรก็เอา แต่ตอนนี้เรากำลังฝึกใจให้หยุดนิ่ง มีภาพให้ดู ก็แปลว่าหยุดได้ในระดับหนึ่ง เราก็นิ่งไปเรื่อย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ

การดูไปเรื่อย ๆ ใจก็จะนิ่งนุ่มไปเรื่อย ๆ แล้วก็เข้าสู่ความละเอียดในระดับที่ทำลายความสงสัยของตัวเราเองได้ด้วยตัวของเราเอง ด้วยประสบการณ์ภายในของตัวเราเอง ใจจะตั้งมั่นสงัดจากบาปอกุศลธรรม บริสุทธิ์

เมื่อหยุดนิ่งใจจะบริสุทธิ์ จะนิ่งแน่น นิ่งในนิ่ง แน่นในแน่นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจิตนุ่มนวล คือมันละเอียด นุ่มนวล เหมือนเราเอาของแข็งมาทำเป็นของเหลว เอาของเหลวมาทำให้เป็นแก๊สอย่างนั้นแหละ พอนุ่มนวลมันก็ควรแก่การงาน งานที่จะรื้อภพ รื้อชาติ รื้อกิเลส รื้ออาสวะ หรือจะศึกษาวิชชาธรรมกายต่อไป คือศึกษาวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ ระลึกถึงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรมภพภูมิต่าง ๆ กระทั่งอาสวักขยญาณ ความรู้ที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ กระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ

เพราะฉะนั้น ต้องจำแล้วก็ต้องทำนะ ไปทำซ้ำ ๆ ให้ชำนาญ ทำซ้ำ ๆ นับซ้ำไม่ถ้วน นับครั้งไม่ถ้วน ให้สม่ำเสมอ จนเป็นกิจวัตรประจำวัน เหมือนการอาบน้ำล้างหน้า แปรงฟัน หายใจเข้าออกอย่างนั้นแหละ

แล้วเมื่อจิตนิ่งแน่นนุ่มนวลควรแก่การงาน ความบริสุทธิ์เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ ที่ไม่มีอะไรจะมาเทียบเทียมได้ ความสว่าง สงบเย็น ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งจะมาพร้อม ๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ใจก็จะมุ่งเข้าไปสู่ภายในเรื่อย ๆ เลย จนกระทั่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้

พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ว่าจะอยู่กลางแจ้งก็พึ่งพาตัวเองได้ ไม่เหมือนผู้ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยที่มุงบังที่ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย แต่ผู้ที่พึ่งตัวเองได้ ก็มีความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยในตัวเอง อยู่กลางแจ้งเป็นวัตรก็ได้ อยู่โคนไม้ก็ได้ อยู่ลอมฟางก็ได้ หลืบเขา ตามถ้ำภูเขา ที่สงัด ป่าช้า ป่าชัฏก็ได้ แปลว่าเมื่อใจหยุดแล้ว อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะพึ่งตัวเองได้ เป็นอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง

การที่เรามานั่งฝึกหยุด ฝึกนิ่ง นอกจากเป็นทางมาแห่ง บุญกุศล ความบริสุทธิ์ ก็จะนำพาเราไปถึงจุดที่พึ่งพาตัวเองได้ เป็นอยู่ด้วยตัวของตัวเองได้ ที่เรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ เพราะตนเข้าไปถึงตัวตนที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวตนหยาบ ซึ่งเป็นเปลือกนอก ใจมันจะล่อนเข้าไปเป็นชั้น ๆ ด้วยหยุดกับนิ่ง มิติมันจะเปลี่ยนไปสู่ความละเอียดเรื่อย ๆ จากเห็นดวง ก็จะเห็นดวงในดวง ในดวงมีกาย ในกายมีดวงก็จะไปเรื่อย ๆ ลุ่มลึกไปตามลำดับ

เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่นี้ ฝึกใจให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

บทความที่เกี่ยวข้อง