ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะ หรือจำง่าย ๆ ว่าอยู่ในกลางท้องของเรา ตรงไหนก็ได้ในกลางท้อง แล้วเราก็นึกว่าตรงนั้นแหละคือ ฐานที่ ๗
อย่าไปกังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป แต่ต้องให้รู้จักเอาไว้ว่า อยู่ตรงไหน แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ การหลับตา สบาย หยุดใจไว้ในกลางกายนิ่ง ๆ เฉย ๆ จะนึกเป็นภาพองค์พระ หรือดวงแก้วก็ได้ นึกในลักษณะที่เราเห็นเป็นภาพ องค์พระ top view หรือวางใจนิ่ง ๆ กลางท้อง แล้วก็ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ตรงนี้ต้องฝึกให้ได้นะ ฝึกทุกวัน
อย่าให้ขาด
ความสม่ำเสมอนี่สำคัญ จะทำให้เราค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง มันจะค่อย ๆ ปรับไป ใจเราก็จะถูกบ่มอินทรีย์ให้แก่รอบขึ้น แก่กล้าขึ้นไปเรื่อย ๆ คือใจจะค่อย ๆ คุ้นกับศูนย์กลางกายกับกลางท้องมากขึ้น แล้วก็อยู่กับเนื้อกับตัว เราได้มากขึ้น นานขึ้นกว่าเดิม เพราะแต่เดิมเรา ส่งใจไปข้างนอกไม่เคยเอาใจไว้กลางกายเลย นี่สำหรับผู้ที่มาใหม่นะ
เราก็ต้องฝึกไปเรื่อย ๆ ใหม่ ๆ มันก็ไม่คุ้นเคยกับการนึก อย่างนี้ในกลางท้อง แต่พอทำบ่อย ๆ เข้า มันก็จะค่อย ๆ ง่ายขึ้น ชำนาญขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ต้องจับหลักให้ได้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราต้องการตรงนี้
หยุดกับนิ่งเฉย ๆ ไม่ว่าจะมืดหรือสว่างก็ตาม หมายความว่า เวลาเราหลับตาไปแล้วมันมืด เราก็อย่าไปทุกข์ใจ อย่าไปรำคาญว่า ทำไมมันมืดอย่างนี้ หรืออย่าไปกังวลกลัวว่าเรานั่ง แล้วมันจะไม่สว่าง แล้วก็คิดเลยเถิดไปว่า ชาตินี้เราคงไม่ได้มั้ง อย่างนั้นแสดงว่าไม่นิ่งแล้ว ถ้านิ่งมันจะปลอดความคิด
หลับตาแล้วมืด เราก็ต้องถือว่า ความมืดคือสหายหรือเกลอ ของเรา เป็นมิตรของเรา เหมือนเรานั่งอยู่กลางแจ้งในคืนเดือนมืด เมื่อเรานิ่ง ๆ พอคุ้นกับความมืด เดี๋ยวเราจะเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าปรากฏขึ้น ทำลักษณะอย่างนั้น นิ่ง ๆ ไม่ว่ามืดหรือสว่าง พอเรานิ่งหนักเข้า พอถูกส่วน ทำถูกวิธีเข้า มันก็สว่างขึ้น
พอสว่างขึ้นก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจ หรืออย่าดีใจจนเกินไป พอตกใจ ตื่นเต้นหรือดีใจเกินไป เดี๋ยวมันก็มามืดอีกแล้ว มันหรี่สลัวไป เพราะฉะนั้นจะมืดหรือสว่างก็ตาม เราก็ต้องหยุดนิ่งเฉย ๆ ต้องเข้าใจตรงนี้ให้ดีนะ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ เดี๋ยวทำไม่ถูกวิธี
ถ้ามืดแล้วเรากลุ้ม มันก็ยิ่งมืดหนักเข้าไปอีก เดี๋ยวก็จะยิ่งเบื่อ ถ้าสว่างแล้วไปตื่นเต้นดีใจ เอ้า กลับมามืดอีก เดี๋ยวเราก็จะเสียดาย พอเสียดาย มันก็จะโหยหา อยากได้ความสว่างหวนคืนมา ยิ่งอยาก ก็ยิ่งหยาบ หยาบเพิ่มไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เบื่ออีก เพราะฉะนั้นตรงนี้อย่าฟังผ่านจะมืดหรือสว่างก็ตาม เรามีหน้าที่หยุดกับนิ่ง อย่างเดียว เหมือนคนมีอารมณ์เดียว หรือไร้อารมณ์ นิ่ง ๆ
ทีนี้พอนิ่งไปนาน ๆ เข้า บางคนภาพไม่เกิด แต่รู้สึกสบายคือ ตัวมันโล่ง โปร่ง เบา สบาย ไม่ฟุ้ง ความคิดอื่นที่เป็นความคิดหยาบ ๆ ไม่เข้ามาแทรกเลย แต่ภาพไม่เกิด พอเราเลิกนั่ง ไปฟังเพื่อนวงบุญของเรา เพื่อนนักเรียนด้วยกันเขาเล่าให้ฟังว่า เขาเห็นภาพ พอเราฟังเราก็กลุ้มว่า เรานั่งก็ไม่ได้ฟุ้งเลย แถมสบายด้วย ตัวโล่ง โปร่ง เบา สบาย แต่ไม่เห็น พอไม่เห็นก็จะมีความคิดว่า เอ้ นิ่งอย่างนี้ทำไมไม่เห็น มันน่าจะเห็น แต่มันไม่เห็น พอใจคิดอย่างนี้ก็ถอยมาหยาบอีก ต้องมานับหนึ่งใหม่อีก เพราะฉะนั้นแม้ไม่เห็นภาพ แต่ไม่ฟุ้งหยาบ เราก็ไม่ควรฟุ้งละเอียด ก็คือต้องทำหยุดทำนิ่งเฉย ๆ
ทีนี้พอเราทำหยุดนิ่งเฉย ๆ ไประดับหนึ่งเข้า ความสว่างเกิด ภาพเกิด เป็นองค์พระบ้าง ดวงบ้าง ก็ปลื้มตื่นเต้นดีใจอ้ะ พอดีใจหายไปอีกแล้ว พอหายไปอีกก็เสียดาย นั่งครั้งต่อไปก็อยากจะเห็นเหมือนเดิม แต่ว่าความอยากที่จะเห็นมันเดินหน้า ภาวนาตามหลัง ก็เลยไปไม่ถึงจุดนั้นสักที มันก็ไม่เห็นภาพอีก ไม่เห็นดวง ไม่เห็นองค์พระ เพราะฉะนั้นจึงให้ทำเฉย ๆ แม้เห็นภาพก็ต้องเฉย ๆ
ทีนี้พอเห็นภาพไปในระดับหนึ่ง เห็นบ่อยเข้า พอเราเฉยบ่อยเข้า แต่ว่ามันเป็นความเฉยที่ยังไม่สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เฉยในระดับ ๙๘ เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่มีภาพใหม่ให้ดู ก็จะมีแต่ดวงเดิม องค์พระเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พอเราเลิกนั่ง เราก็มาฟังเพื่อนนักเรียนพูดว่า โอ้ องค์พระขยาย มีผุดผ่านมาเยอะแยะ เอ้ ทำไมเราไม่เห็นอย่างนั้นบ้าง เห็นแต่องค์พระเฉย ๆ ดวงเฉย ๆ ทีนี้ก็พยายามเร่งสิ แหวก ๆ ดัน ๆ จะเข้ากลางดวง จะเข้ากลางองค์พระ ยิ่งแหวกก็ยิ่งแวบหายไปเลย ยิ่งดันจะเข้ากลาง ยิ่งเด้งออกมาอีก
เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่าให้ดูเฉย ๆ หยุดนิ่งเฉย ๆ พอเรานิ่งถูกส่วน เอ้า คราวนี้มากันใหญ่ มาเยอะแยะ พอมาเยอะแยะอ้ะ ความสงสัยมาอีกแล้ว เพราะไปได้ยินเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นั่งมา ๑๐ ปี แล้วก็ไม่เห็น แต่ทำไมเราเห็นขนาดนี้ สงสัยเราจะคิดไปเองมั้ง ถึงได้เห็นง่ายอย่างนี้ คือมันง่ายจนสงสัย อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน สงสัยว่า คิดไปเอง หรือว่ามันไม่ใช่ เพราะธรรมะลึกซึ้งมันต้องเข้าถึงยาก ๆ เชื่อมั่นอย่างนั้น แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าทำถูกวิธี แม้ลึกซึ้งก็เข้าถึงง่ายเพราะฉะนั้นถึงให้ดูเฉย ๆ
ดังนั้น จึงบอกว่า จะเห็นหรือไม่เห็นก็ตามให้หยุดกับนิ่งเฉย ๆ อย่างนี้เรื่อยไป และก็มีคำของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มารองรับอีก “หยุด” อย่างเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ก็แปลว่า ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากหยุด จะไปบีบ ไปเค้น จะไปกำกับ จะไปแหวก ไปดัน ไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะมันผิดหลักวิชชา
หลักวิชชาพระเดชพระคุณท่านก็บอกอยู่แล้ว หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ มันง่ายขนาดนี้แล้ว ไม่เห็นจะต้องไปค้นอะไรอีก แค่คว้าตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ บอก ก็จะจบกันในวันนี้แหละ จะเข้าถึงกัน คือ ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ความจริง มันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเอาอะไรมารกรุงรัง แค่หยุดนิ่งเฉย ๆ สบาย ๆ เดี๋ยวเราก็จะเห็นเป็นขั้นตอนกันไป เรื่อย ๆ ฝึกอย่างนี้ไป
ทีนี้บางคนทำไปได้ในระดับหนึ่ง จริง ๆ แล้วจิตยังหยุดนิ่ง ไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันหยุดระดับหนึ่ง ก็เห็นภาพอะไรต่าง ๆ เยอะแยะ ดูแล้วคล้าย ๆ กับ ๑๘ กาย ซึ่งมันละเอียดอ่อน ได้ยินได้ฟังเรื่องนรกสวรรค์ ก็อยากจะไปเรียนรู้บ้าง แต่เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจว่าในระดับนี้น่าจะไปเรียนรู้ได้ ซึ่งความจริงยังไม่ใช่ แม้หยุดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังต้องหยุดในหยุดไม่ซ้ำที่เข้าไปอีก คือ จากร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นพันเปอร์เซ็นต์ เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านเปอร์เซ็นต์ ยังมีสิ่งที่จะต้องศึกษากันอีกเยอะ ดังนั้นเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน ในระดับที่ เราจะไปศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม
เอาว่าทำตรงนี้ให้คล่องเสียก่อน ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งกันจริง ๆ เลย แล้วเราก็จะค่อย ๆ หายสงสัยไปทีละเล็กทีละน้อย บารมีก็จะถูกบ่มไปเรื่อย ๆ ญาณก็ถูกบ่มไปเรื่อย ๆ บ่มญาณบ่มบารมี เติมความบริสุทธิ์ไปเรื่อย ๆ มันต้องถึงจุด ๆ หนึ่ง นั่นแหละถึงจะไปศึกษาวิชชาธรรมกายได้ แต่ต้องทำเป็นขั้นตอน ตามแบบฝึกหัด หรือบทเรียนที่ให้เอาไว้ ค่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็จะทำได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราถึงขั้นไหนก็หยุดไปเรื่อย ๆ นิ่งไปเรื่อย ๆ มีอะไรให้ดู เราก็ดูไปอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความรู้ต้องคู่กับความสุข คือ ต้องมีความสุข มีความสบาย มีความบริสุทธิ์ ความรู้ก็ค่อย ๆ รู้ไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ไปตามลำดับอย่างนี้
ให้ตั้งใจฝึกกัน เพราะเป็นงานที่แท้จริงของเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ และเป็นทางมาแห่งบุญใหญ่เป็นมหัคคตกุศล ไม่ใช่บุญเล็ก ๆ แค่กามาวจร ที่ยังข้องอยู่ในกามภพ แต่เป็นบุญที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บรรลุมรรคผลนิพพานได้
แล้วที่สำคัญเราเกิดมานี่ ถึงแม้ว่ายังไม่รู้ว่า พระนิพพาน เป็นเป้าหมาย แต่เราก็อยากจะได้ความสุข ความสุขคือยอดปรารถนา อยากนั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข จะอยู่แห่งหนตำบลใดก็เป็นสุข จะเข้าถึงความสุขอย่างนี้ได้ ต้องหยุดกับนิ่งอีกนั่นแหละ
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งไม่มี
ไปหาดูเถอะ ไม่มี ไม่ว่าสุขจากการแสวงหาทรัพย์ มีทรัพย์ ได้ใช้จ่ายทรัพย์ ประกอบการงานไม่มีหนี้ ประกอบการงานไม่มีโทษ มันก็เป็นสุขแบบโลก ๆ จะไปดริ๊งค์ ไปดื่ม ไปดูด ไปดู ไปฟัง ไปเที่ยวอะไรก็แล้วแต่ มันสุขน้อย แต่ทุกข์มาก คือ สุขไม่จริง แล้วก็แคบ ไม่ค่อยกว้าง มักจะมีความหายนะเข้าครอบงำเราอยู่ในตัว แต่ถ้าหยุดกับนิ่ง ไม่ต้องเสียเงินเสียทองหรือทำอะไรเลย แต่เป็นสุขที่เป็นอิสระ กว้าง ขยาย เบาเนื้อเบาตัว เบากายเบาใจ เบาสบาย เกลี้ยงเกลา
เพราะฉะนั้น หยุดนิ่งนอกจากจะเป็นทางมาแห่งบุญแล้ว ยังเป็นทางมาแห่งความสุข และเป็นทางไปสู่อายตนนิพพานด้วย จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องทําให้สม่ําเสมอ แล้วนอกจากบุญ จะเกิดขึ้นกับตัวของเราแล้ว ยังไปถึงพ่อแม่ บรรพบุรุษบุพการี หมู่ญาติของเรา ทั้งมีชีวิตอยู่หรือละโลกไปแล้ว โดยเฉพาะที่ละโลกไปแล้วเขาทําบุญเองไม่ได้ ก็หวังจะได้บุญจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ทําและอุทิศไปให้ หยุดนี่แหละเป็นทางมาแห่งบุญทางหนึ่ง นอกเหนือจากทานบารมี ศีลบารมี ที่จะทําให้บรรพบุรุษบุพการี หมู่ญาติดังกล่าว มีส่วนแห่งบุญนี้
พอเราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวได้ นิสัยอยากเด่นอยากดังจะหมดไปเรื่อย ๆ เหลือแต่อยากดีอย่างเดียว อยากได้บุญ เยอะ ๆ ไม่ยินดียินร้ายในรูปธรรมต่าง ๆ มันอยากจะมุ่งเข้าไปสู่ภายใน ศึกษาความรู้ภายในไปเรื่อย ๆ อยากมีความรู้เพิ่ม อยากได้ความดีเพิ่ม อยากได้ความบริสุทธิ์เพิ่ม อยากได้บุญเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างอื่นก็จะเฉย ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จะดีไปเรื่อย ๆ ใสไปเรื่อยๆ อันนี้คือข้อสังเกตตัวของเรา
อยากศึกษากายทั้ง ๑๘ ไปแล้วเป็นอย่างไร วิชชา ๓ วิชชา๘ เป็นอย่างไร โดยที่สุดวิชชาที่ทําอาสวะให้สิ้น อาสวะคืออะไร เครื่องหมักดองใจเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นอย่างไร ทําให้เราอยากจะรู้ว่า ทําไมมันถึงมีฤทธิ์มาก บังคับข้ามชาติได้ แล้วก็นับชาติไม่ถ้วนด้วย ลักษณะมันเป็นอย่างไร เข้ามาอย่างไร มาหุ้ม มาเคลือบ มาเอิบอาบซึมซาบปนเป็นสวมซ้อนร้อยไส้ธาตุธรรมเห็นจําคิดรู้ของเราอย่างไร เราก็อยากจะศึกษาเรียนรู้ เราอยากจะรู้ว่า ใครเป็นคนผลิตอาสวกิเลสเหล่านี้มาหมักดองแช่อิ่มใครมีวัตถุประสงค์อย่างไร ทําไมต้องเป็นเรา หรือชาวโลก หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย มันก็มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แล้วใครนั้นน่ะเขาอยู่ที่ไหน ที่อยู่ของเขาเป็นอย่างไร ทําไมต้องคิดอย่างนี้ ก็จะค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้กันไป สาวกันไป
มันก็มีรสมีชาติในการศึกษา เขาเรียกว่า รสแห่งธรรม มีรสมีชาติ อร่อย สนุกสนาน เบิกบาน เราก็จะค่อย ๆ เข้าใจไปเรื่อย ๆ เป็นความเข้าใจที่เมื่อหันมามองชาวโลกแล้วมันจะแตกต่างกัน ชาวโลกเข้าใจอย่าง เราเข้าใจอีกอย่าง ชาวโลกเข้าใจอย่างไรเขาก็แสวงหาอย่างนั้น เราเข้าใจอย่างไร เราก็จะแสวงหาไป อีกอย่าง เพราะฉะนั้นก็จะค่อย ๆ สาวไป ศึกษาไปเรื่อยๆ ด้วยหยุดกับนิ่งนี่แหละ
เพราะฉะนั้น หยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่ลูกทุกคนจะต้องให้ เวลาเพื่อการนี้ ควบคู่กับภารกิจในชีวิตประจำวัน เพื่อตัวของเราเอง และคนรอบข้าง กระทั่งขยายไปในสังคม ประเทศชาตินานาชาติ โลกใบนี้
ถ้าเรามีความสุข คนรอบข้างก็จะพลอยได้รับกระแสแห่งความสุขนี้ไปด้วย แล้วก็จะเกิดแรงบันดาลใจ แสวงหาความสุขภายในตนเองเช่นเดียวกับตัวของเรา การขยายนี้มันก็จะขยายต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ ทุกสิ่งก็เริ่มต้นจากตัวเรา ตัวเราก็เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกต้อง ด้วยวิธีหยุดกับนิ่ง ต้องแจ่มแจ้งแทงตลอดในหลักวิชชานี้
จับสูตรหลักนี้ให้ได้ หลักคือ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้อง ต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ในเส้นทางเอกสายเดียว ที่เรียกว่า เอกายนมรรค มันง่ายที่เราจะปฏิบัติไปสู่ทางหลุดพ้น ในสิ่งที่เราปรารถนา เราจะได้สมหวังในชีวิตว่า มีทางเดียวไม่มีสองทาง ซึ่งมันง่ายกว่าทางโลกซึ่งมีหลายทาง มันทำให้เราสับสน ไม่ทราบว่าจะไปทางไหน เราก็หมดเวลาไปกับการแสวงหา ทดลอง ลองผิดลองถูกกันไปอย่างนั้น แต่นี่ไม่ต้องเลย วิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ เพราะฉะนั้นเรามีบุญมาก ที่ได้มาถึง ณ จุดนี้
ดังนั้น จับหลักให้ได้ แล้วลงมือฝึกฝนอบรมใจตัวเราเองทุกวัน ให้สม่ำเสมอ ให้เป็นกิจวัตร เหมือนอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันอย่างนั้น เดี๋ยวเราก็ทำได้ จากคนทำไม่ได้ มันก็จะทำได้ จากคนที่ไม่เคยมีความสุขก็จะมีความสุข จากมืดก็มาสว่าง เป็นต้น อย่างนี้นะ
วันอาทิตย์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗