Getting your Trinity Audio player ready...
|
ปรับร่างกายและท่านั่ง
เมื่อเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ ค่อนลูก คล้าย ๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาให้สบาย ๆ
แล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เปลือกตา หน้าผาก ศีรษะ คอ ลำตัว แขนขาทั้งสองให้ผ่อนคลาย ทำตัวของเราให้สบาย ๆ ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดปล่อยวาง ตัดใจจากทุกสิ่ง ทำใจให้ว่าง ๆ ทำเหมือนเราไม่เคยมีภารกิจเครื่องกังวลมาก่อนเลย หรือคล้ายกับเราอยู่คนเดียวในโลกนี้
ให้ปลด ปล่อย วาง ทำใจให้ว่าง ๆ แล้วก็สมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้าย ๆ ท่อแก้วท่อเพชรใส ๆ สมมติให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กลวงภายใน คล้าย ๆ ลูกโป่งที่เราเป่าลมเข้าไป กลวงภายในนะ
น้อมใจสู่ภายใน
คราวนี้เราก็น้อมใจของเราให้มาหยุดนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจที่คิดแวบไปแวบมาไปในเรื่องราวต่าง ๆ นั้น รวมมาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจําง่าย ๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเรา ในบริเวณแถว ๆ นั้น
ทำความรู้จักฐานที่ ๗ เอาไว้ แต่ไม่ต้องกังวลเกินไป ให้รู้ว่าอยู่บริเวณตรงนี้ ตรงกลางท้องในระดับเหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ให้ทำความรู้สึกว่า ภายในกลางท้องของเรามีดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ คล้ายกับเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย ใสบริสุทธิ์กลมรอบตัว ขนาดก็แล้วแต่ใจเราชอบ หรือจะนึกเป็นองค์พระใส ๆ ก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง
นึกอย่างสบาย ๆ ไม่เค้นภาพ
ให้นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ในอากาศกลางท้องฟ้าในยามราตรี ให้ นึกสบาย ๆ ธรรมดา ๆ นะ สิ่งใดที่เราคุ้นเคยมาก เราก็จะนึกได้ง่าย ถ้าคุ้นเคยน้อยก็นึกได้น้อย ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ให้นึกอย่างสบาย ๆ ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้น ทําความรู้สึกว่ามีอยู่ ชัดเจนแค่ไหนหรือนึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน
ให้นึกในระดับที่รู้สึกสบาย อย่าไปเค้นภาพ ไปเพ่ง ไปจ้อง ไปควานหาดวงแก้ว องค์พระในที่มืด อย่าไปทำอย่างนั้น นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน เพราะวัตถุประสงค์ของเรา ต้องการดึงใจให้กลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมที่กลางกายตรงนี้
เพราะปกติเราปล่อยใจให้กระเจิดกระเจิงไปในเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เรื่องทำมาหากินบ้าง การครองเรือนบ้าง การศึกษาเล่าเรียน การแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราก็ดึงใจมาอยู่ภายใน โดยไม่คิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต ให้ใจนิ่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ
ประคองใจด้วยคำภาวนา
พร้อมกับประคองใจด้วยคำภาวนา สัมมา อะระหัง ภาวนากี่ครั้งก็ได้จนกว่าใจไม่อยากภาวนาต่อไป อยากจะหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ภายใน ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจให้หยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ แม้จะยังนึกภาพไม่ออก หรือยังไม่มีภาพปรากฏเกิดขึ้นก็ตาม ให้นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม สบาย ๆ นิ่งอย่างนั้นอย่างเดียว โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
ไม่ต้องคิดว่า ทำไมไม่มีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราดู หรือมีปรากฏการณ์อะไรที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องการให้ใจหยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เพราะ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ใจจะตั้งมั่น นิ่งอยู่ภายใน สำเร็จก็คือจะทำให้เราได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา ตั้งแต่ดวงธรรมภายใน กายในกายต่าง ๆ กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม กระทั่งกายธรรมซึ่งเป็นตัวพุทธรัตนะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเรา นี่คือวัตถุประสงค์ของการฝึกใจให้หยุดนิ่ง
วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม ๓ ระดับ
ใจที่หยุดนิ่งนี่แหละ จะทำให้เราเข้าถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีประมาณ ความทุกข์ทั้งหลาย ความตึงเครียด หรือปัญหาจะหมดไปเมื่อใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ภายใน เมื่อใจมีความสุข สดชื่น มันก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เคลื่อนไปด้วยตัวของมันเอง แล้วก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
พระรัตนตรัยในตัว คือ พระธรรมกาย นั่นแหละ คือ ตัวพุทธรัตนะ
ในกลางธรรมกาย ก็มี ธรรมรัตนะ เป็นดวงใส ๆ
ในกลางธรรมรัตนะ ก็จะมี สังฆรัตนะ เป็นพระธรรมกายละเอียด
๓ อย่างนี้ คือที่พึ่งที่ระลึกของเรา เข้าถึงแล้วก็จะอบอุ่นใจ จะมีความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ แล้วก็จะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความผาสุก มีความสุข สดชื่น พร้อมที่จะเผชิญปัญหา แรงกดดัน ความตึงเครียดต่าง ๆ ด้วยใจที่สงบตั้งมั่น สะอาด สว่าง ไม่หวั่นไหว เบิกบาน นี่คือวัตุถุประสงค์เบื้องต้นของการปฏิบัติธรรม
ในท่ามกลาง เราจะได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
และเบื้องปลาย คือ ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป สลัดตนพ้นจากกองทุกข์ไปสู่อายตนะนิพพาน
เพราะฉะนั้น นี่เป็นกรณียกิจนะลูกนะ คืองานที่แท้จริงของชีวิตเรา ในทุกภพทุกชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นวัตถุประสงค์หลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองลงมา แต่วัตถุประสงค์หลักเพื่อการนี้
พรรษานี้เป็นพรรษาแห่งการบรรลุธรรม พระเห็นพระ เณรเห็นพระ แล้วก็โยมเห็นพระ เราอย่าให้พรรษานี้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย ฤดูกาลนี้เหมาะต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่ามันไม่หนาวเกินไป แล้วก็ไม่ร้อนไม่อ้าวเกินไป อากาศกำลังพอดี สดชื่น เหมาะสมที่ลูกทุกคนจะตั้งใจฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ดังนั้น เช้านี้ให้ลูกทุกคนประคับประคองใจกันไปเรื่อย ๆ ประคองใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรึกระลึกนึกถึงดวงใส หรือพระแก้วใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างสบาย ๆ พร้อมกับบริกรรมภาวนาประคองใจเบา ๆ ให้สม่ำเสมอ อย่าให้ช้า ให้เร็วนัก ภาวนาเรื่อยไปเลย สัมมา อะระหัง ประคองใจกันไป ปรับใจไปให้อยู่ในระดับที่ไม่ตึงไม่หย่อนนะ
เป็นมิตรกับทุกประสบการณ์
อย่าทุกข์ใจในกรณีที่ใจมันฟุ้งบ้าง หรือความมืดที่ไม่ปรากฏแสงสว่าง หรือไม่เห็นภาพใด ๆ ให้เป็นมิตรกับทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น วัตถุประสงค์หลักต้องการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เพราะฉะนั้นอย่าไปคำนึงถึงความมืดหรือความสว่าง แม้จะมืดก็ช่างมัน สว่างก็ไม่ลิงโลดใจ มืดก็ไม่ทุกข์ใจ ทำใจให้เป็นกลาง ๆ
อย่ายินดียินร้ายในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมืดหรือสว่าง ่จะมีภาพหรือไม่มีภาพภายใน ให้หยุดนิ่งอย่างเดียว เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ เรากำลังจะฝึกในให้หยุดนิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลพลอยได้ เช่น ความโล่ง โปร่ง เบา สบาย แสงสว่างภายใจ ดวงธรรม กายในกายภายในต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นผลพวงที่เกิดจากการที่เราฝึกใจหยุดนิ่ง
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังหยุดนิ่งเรื่อยไป ให้ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้น อย่าไปทำอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนี้ อย่าลืม หยุดเป็นตัวสำเร็จ ประคองใจไป อย่าเพ่ง ให้ผ่อนคลาย ปรับใจให้ใส ๆ ให้มีสติกับสบาย สม่ำเสมอ อย่างนี้เรื่อยไป
เมื่อเราเลิกนั่งสมาธิแล้วก็หมั่นสังเกตว่า เราประคองใจขนาดไหนจึงพอดี ไม่ตึงไม่หย่อนไป แล้วก็ปรับกันไปเรื่อย ๆ ฝึกกันไป และอย่าเดือดร้อนใจในกรณีที่เพื่อนพี่น้องวงธรรมะของเราเขามีประสบการณ์ภายในที่ดีกว่า เราก็อย่าเป็นทุกข์ใจ แล้วถ้าเราดีกว่าก็อย่าลิงโลดใจ ให้รักษาใจเป็นกลาง ๆ อย่าให้เสียสมดุลของใจนะ
เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘