อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ตำแหน่งแห่งความสมปรารถนา

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้รู้สึกสบาย แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบา ๆ สบาย ๆ

ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุด อยู่ที่กลางดวงใส ๆ หรือใครคุ้นเคยกับองค์พระก็ตรึกนึกถึงพระแก้วใส ๆ ใจหยุดอยู่ในกลางองค์พระแก้วใส ๆ อย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจแตะไปเบา ๆ สบาย ๆ ให้ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ

ค่อย ๆ ประคองใจให้อยู่ภายใน โดยที่ไม่กดลูกนัยน์ตาแบบก้มมอง ให้นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ใจใส ๆ เย็น ๆ ถ้าเปลือกตาเราปิดพอดี ๆ จะทําให้การรวมใจมาหยุดนิ่ง ๆ ที่กลางกายได้ง่าย นึกถึงดวงหรือองค์พระก็ง่าย

ถ้านึกไม่ชัดเจน ให้ทำความรู้สึกว่ามีไปก่อน

สำหรับนักเรียนใหม่ก็ค่อย ๆ นึกเบา ๆ ชัดเจนแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน ไม่ชัดเจนก็ทำความรู้สึกว่า มีดวงใส ๆ เหมือนเพชรสักเม็ดหนึ่งก้อนใหญ่ ๆ หรือทำความรู้สึกว่ามีองค์พระใส ๆ อย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แม้ยังนึกไม่ออก ก็ให้ทำความรู้สึกว่ามีอยู่กลางกาย กลางท้องของเราไปก่อน

พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ สม่ำเสมอ โดยให้เสียงดังออกมาจากในกลางท้องของเรา สัมมา อะระหัง ๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ หรือตรึกนึกถึงองค์พระใส ๆ ใจหยุดอยู่ในกลางองค์พระใส ๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้นะ

หยุดแรกยากพอสู้

หยุดแรกก็จะยากสักนิด แต่ยากไม่มาก ยากพอสู้

ยาก คือ มันไม่ได้ดั่งใจเรา ที่เวลาเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เห็นคน สัตว์ สิ่งของ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น มันง่าย มันได้ดังใจ มันชัดแจ่มกระจ่างเลย แต่พอเราหลับตาจะให้เห็นภาพภายใน เรานักเรียนใหม่ยังไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้นก็ต้องทำใจเย็น ๆ

เหมือนเราอยู่ห้องมืด ๆ เราทำนิ่ง ๆ เฉย ๆ ให้สายตาคุ้นกับความมืดในห้องสักพัก พอคุ้นเคยเราก็จะมีความรู้สึกว่า เราพอที่จะคลำหนทางไปสู่ประตู หรือที่ที่เราจะไปได้ หรือไปหยิบวัตถุสิ่งของได้ ภาพภายในใจก็เช่นเดียวกัน ใหม่ ๆ มันก็เป็นมโนภาพที่เราสมมติขึ้นมา ต่างแต่ว่าเรานำมาตั้งในตำแหน่งที่สำคัญของชีวิตคือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งความสุข ความสมปรารถนา ความสมหวังในชีวิต

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตำแหน่งแห่งความสุข

ชีวิตในแต่ละวันตั้งแต่เราเกิดมาสิ่งที่เราปรารถนาจริง ๆ นั้นคือความสุขตามความเข้าใจของเรา ความสุขอยู่ที่ไหนเราก็จะไปตรงนั้น โดยคิดว่าตรงนั้น สิ่งนั้น คนนั้นจะทำให้เรามีความสุขได้

คิดว่าอยู่ที่คนก็ไปที่คน คิดว่าอยู่ที่สัตว์ก็ไปที่สัตว์ คิดว่าอยู่ที่สิ่งของก็ไปที่สิ่งของ คิดว่าอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ วาสนา ตำแหน่งหน้าที่การงานอะไรต่าง ๆ เราก็จะไปตรงนั้น ไปสู่ตำแหน่งนั้น แต่พอไปถึงตำแหน่งนั้นจริง ๆ ปรากฏว่า เรายังไม่สมหวัง ตรงนั้นไม่เคยให้ความสุขอย่างที่เราอยากได้ บางครั้งกลับมีปัญหาและแรงกดดันเกิดขึ้น ต้องคอยแก้ปัญหา รักษาตำแหน่ง ซึ่งมันก็มีปัญหาแรงกดดันเยอะแยะ เพราะแต่เดิมเราเข้าใจผิดว่าความสุขมันอยู่ที่ตำแหน่งตรงนั้น

ดังนั้น ชีวิตที่ผ่านมาเราจึงไม่เจอความสุขเลย เพราะในทุก ๆ ตำแหน่งที่ผ่านมาไม่ใช่ตำแหน่งที่จะให้ความสุขได้ ไม่ว่าจะตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือในฐานะอะไรก็แล้วแต่ แต่มีอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ที่เราไม่เคยรู้จักเลย และเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ที่จะให้ความสมปรารถนาแก่เราได้ คือให้ความสุขอันไม่มีประมาณ ให้ความพึงพอใจ จนเราไม่อยากได้อะไรอีกเลย ตำแหน่งตรงนี้ที่สำคัญมันอยู่ในตัวเรา ในกลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ ที่เรามองข้ามไป เราไม่เคยมองเข้าไปเลย เพราะไม่เคยได้ยินใครสอน หรือแม้ใครสอนเราก็ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ หรือดูเบาไป

เราจะเห็นความแตกต่างได้ เมื่อใจเรามาหยุดนิ่งที่ตำแหน่งฐานที่ ๗ ตรงนี้ได้ ถ้าหยุดนิ่งตรงนี้ได้เราจะเห็นความแตกต่างอย่างมากมายทีเดียว

ที่มันยากเพราะเราคุ้นเคยกับตำแหน่งข้างนอก ตำแหน่งบุตร ภรรยา สามี นักเรียน ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เศรษฐี มหาเศรษฐี ตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ใจมันจะแล่นไปอย่างนั้นด้วยความคุ้น เหมือนนกพอเราปล่อยมันก็บินไปในอากาศ ปลาปล่อยก็ลงน้ำไปตามที่มันคุ้นมันเคย

มันจึงยากในตอนช่วงแรก แต่ถ้าเราฝึกหนักอย่างถูกหลักวิชชา นำใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ด้วยวิธีที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ด้วยวิธีที่เรานึกไม่ถึงว่ามันจะง่ายอย่างนี้ เพราะเรามัวไปทำสิ่งที่ยาก ๆ ยากจนยุ่ง กว่าจะนำเอาใจกลับมาหยุดอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวมันก็หลุด เดี๋ยวมันก็ติด เดี๋ยวมันก็อยู่ภายในก็ช่างมัน แล้วก็ภาวนา สัมมา อะระหัง เรื่อยไปเลย

คำว่า “โล่งใจ”

พอใจหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ มันจะเกิดความรู้สึกโล่ง ตัวโล่ง คำว่า โล่งใจ นี่ชาวโลกเขาขอยืมเอาไปใช้ คือเวลาทุกข์มันลดลง หรือปัญหาลดลง เขาก็บอกว่ามันโล่งใจ แต่จริง ๆ แล้วไม่เคยรู้จักเลย

โล่งใจ เราจะรู้จักต่อเมื่อมีประสบการณ์ภายในเมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางกาย พอหยุดถูกส่วนสนิท ตัวก็จะโล่งเลย ใจจะโล่ง เหมือนอยู่ที่โล่ง ๆ โปร่ง เบา สบาย พอสบายตัวก็จะขยาย ความรู้สึกของเราขยาย รู้สึกว่าใจขยาย กายขยาย ขยายโตใหญ่จนกระทั่งกลมกลืนไปกับบรรยากาศ เหมือนเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่โล่ง ๆ กว้าง ๆ แล้วใจก็จะใสเย็น มีปีติ มีความสุข คือสบายกาย สบายใจอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน คล้าย ๆ กับที่โล่งว่างนั้นบรรจุไปด้วยอณูแห่งความสุขที่อัดแน่น หนาแน่นเป็นสุขอยู่ภายใน

คำว่า “แสงสว่างส่องนำทางชีวิต”

พอหยุดแรกได้ หยุดสอง หยุดสาม หยุดสี่ หยุด infinity มันก็ได้ ใจก็จะนิ่ง พอใจนิ่งมันจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน โดยจะมีแสงสว่างส่องทางชีวิต คำนี้ เราขอยืมเอามาใช้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จัก แต่เราจะคุ้นคำนี้ แสงสว่างส่องทางชีวิต แต่จริงๆ แล้วเรายังไม่เคยเห็นเลย

แสงสว่างส่องทางชีวิต จะรู้จักเมื่อหลับตาแล้วไม่มืด มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรา ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือมีชีวิตใหม่หลังตายแล้ว เป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าละมุนละไมกว่าแสงใด ๆ ในโลก ที่ให้ความปีติสุขหล่อเลี้ยงใจตลอดเวลาเลย ทั้งในมนุษย์และในปรโลก ในโลกใหม่ หลังชีวิตใหม่หลังจากตายแล้ว นี่แหละถึงจะเรียกว่า แสงสว่างส่องทางชีวิต

ความรู้ภายในจากการเห็นแจ้ง

ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในที่กว้างขวางใหญ่โตไปเรื่อย ๆ โดยผ่านจุดเล็ก ๆ ใส ๆ ที่กลางกาย และก็จะไปเห็นของจริงที่อยู่ภายใน

ความรู้จะเกิดจากการเห็นแจ้งที่เขาเรียกว่า ปัญญายะปัสสติ คือ ดวงปัญญา หรือความรอบรู้เกิดจากการเห็น

ที่ว่าปัญญาเป็นเครื่องเห็นนั้น หมายความว่า เห็นแล้วเข้าใจรู้เรื่อง จะเห็นเป็นภาพขึ้นมาในขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ยิ่งกว่าปกติ สติก็เป็นมหาสติเกิดขึ้น ปัญญาก็เป็นมหาปัญญา คือ รู้ยิ่งกว่าปกติ

เราจะเห็นภาพภายในตั้งแต่ดวงใส ๆ เป็นดวงประจำชีวิตของเรา ถ้าได้ดวงนี้ล่ะก็ เราเป็นอยู่ได้ด้วยตัวเอง จะอยู่ป่า อยู่เขา ห้วย หนอง คลอง บึง อยู่ใต้โคนไม้ เรือนว่าง ป่าช้า ป่าชัฏที่ไหน ๆ ในโลกก็อยู่ได้ทั้งสิ้นเลย มันเป็นอิสระ อิสรภาพทางใจที่ใสบริสุทธิ์ มีความสุขด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงวัตถุหรือสิ่งอื่น จะมีก็เพียงแค่ปัจจัย ๔ เท่านั้น ปัจจัยที่ ๕, ๖, ๗, ๘ ไม่มี มีเพียงปัจจัย ๔ ก็พอประมาณในระดับกินอยู่ใช้แต่พอดี คือจะรู้สึกว่ามันพอ พอถึงจุดแห่งความดี สุขกายสุขใจแล้วมันพอ มันจะพอดีของมัน เราจะรู้จักคำว่า พอดี ต่อเมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ แค่ไหนพอดีที่เราจะกินอยู่ใช้แต่พอดี

เมื่อใจเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จะเห็นหนทางที่จะไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ว่า เรามีเวลาอย่างจำกัดในโลกนี้ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบบประหยัดสุดประโยชน์สูง มีชีวิตเรียบง่ายแต่สูงส่ง มีสุขล้วน ๆ ที่ไม่มีทุกข์ในใจเจือเลย แม้ยังไม่หมดกิเลสอย่างบริบูรณ์ แต่ความบริสุทธิ์ของใจก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นดวง เห็นกายภายใน เห็นองค์พระ พระรัตนตรัยที่อยู่ภายในที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง สิ่งอื่นไม่ใช่

ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงอยู่ภายในตัวเรา

มนุษย์เมื่อมีความทุกข์ก็จะแสวงหาที่พึ่ง และก็สร้างพระเจ้าขึ้นมา สร้างที่พึ่งที่ระลึกขึ้นมา โดยคิดว่าสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จะต้องยิ่งใหญ่สร้างสรรพสัตว์สรรพสิ่ง หรือว่าสิ่งนี้อยู่ที่ไหนก็จะไปกราบไหว้ตรงนั้น นึกว่าอยู่ที่ต้นไม้ก็จะไปไหว้ต้นไม้ นึกว่าอยู่จอมปลวกก็ไปกราบไหว้จอมปลวก นึกว่าอยู่ที่สัตว์ประหลาดก็ไปไหว้สัตว์ นึกว่าอยู่ที่ภูเขา อารามศักดิ์สิทธิ์ คิดว่าอยู่ตรงไหนก็จะไปตรงนั้น จนกระทั่งในที่สุดไม่อาจจะสัมผัสได้ ก็เลื่อนลอยกันไปอย่างนั้น

แต่ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ พระรัตนตรัยที่อยู่ภายในตัว ส่วนพระรัตนตรัยภายนอกเขาจำลองจากภายในออกมาสู่ภายนอกเพื่อให้รู้จักว่า ข้างในมีอย่างนี้ แต่เมื่อยังไม่เห็นข้างใน ก็ดูข้างนอกไปก่อน

ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของเรา เมื่อใจหยุดนิ่งแล้วจึงจะเห็นได้ เมื่อเห็นแจ้งก็รู้แจ้ง ความรู้แจ้งเกิดการเห็นแจ้งเขาเรียกว่าตรัสรู้ คือ ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นได้ เมื่อนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้

ชีวิตคฤหัสถ์เหมือนอยู่ที่แคบ

ชีวิตของบรรพชิตจะง่ายกว่าคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์มีเครื่องพันธนาการของชีวิต มีครอบครัว มีธุรกิจการงาน บ้านช่อง ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งโน้นสิ่งนี้ คน สัตว์ สิ่งของอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น บางอย่างก็จำเป็น บางอย่างก็ไม่จำเป็น บางอย่างก็มีโทษมีภัยโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ามันมีโทษมีภัยกับตัว ไม่ใช่ใกล้ตัวหรือไกลตัว ซึ่งก็คือกฎแห่งกรรมนั่นแหละ

ชีวิตของคฤหัสถ์เหมือนอยู่ที่แคบ มันอึดอัด มีเครื่องพันธนาการของชีวิต กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ แล้วทุกวันก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยววันเดี๋ยวคืนเดี๋ยวก็หมดเวลาของชีวิตไปแล้ว ก่อนวัยอันควรบ้าง เท่าอายุขัยเฉลี่ยมนุษย์บ้าง เกินกว่านั้นก็มีน้อย ชีวิตก็วน ๆ เวียน ๆ กันอยู่อย่างนี้

ที่จะให้โอกาสตัวเอง ให้ของขวัญกับตัวเองมาปฏิบัติธรรมก็น้อยมาก เพราะเวลาถูกดึงเอาไปใช้อย่างอื่น

๒๔ ชั่วโมง ต่อ ๑ วัน แบ่งเป็น ๓ ช่วง

๘ ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อน

อีก ๘ ชั่วโมง ใช้ในการบริหารขันธ์ ตั้งแต่อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ขับถ่าย exercise บ้าง เป็นต้น

๘ ชั่วโมงที่เหลือ ก็ทำงาน บางทีก็ทำงานล่วงเวลาไปกินเวลา ๒ ส่วนไปอีก

ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีเวลาแบ่งให้สำหรับการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ยิ่งผัดผ่อนไม่เห็นความสำคัญในสิ่งนี้ เพราะไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ ไม่มีประสบการณ์ภายใน ชีวิตก็หมดไปเปล่า ๆ เหมือนนกเหมือนกาที่ตื่นขึ้นมาก็ร้องกา ออกไปทำมาหากิน พอตกเย็นก็ร้องกา แล้วกลับเข้านอน

ชีวิตคฤหัสถ์จึงเหมือนอยู่ที่แคบ อยู่ที่แคบมันจะอึดอัดแต่ก็หาทางออกไม่ได้

ชีวิตสมณะประเสริฐที่สุด

แต่ถ้าชีวิตของสมณะจะว่างกว่าคฤหัสถ์ คือ ไม่ต้องไปทำตรงนั้น แต่มุ่งสู่จุดหมายในการทำพระนิพพานให้แจ้งเลย เป็นอยู่ได้แค่ปัจจัย ๔ นิด ๆ หน่อย ๆ ที่เกิดจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ญาติโยมเกื้อกูลด้วยการสนับสนุนและให้กำลังแห่งการตรัสรู้ธรรม คอยใส่บาตร สนับสนุนเรื่องเสนาสนะ เรื่องจีวร เรื่องยารักษาโรค เรื่องบริขารเท่าที่จำเป็น ส่วนพุทธบุตรก็เป็นครูสอนศีลธรรมชักจูงญาติโยมให้ละชั่ว ทำความดี ทำใจให้ใส ด้วยทาน ด้วยศีล ด้วยภาวนา ต่างก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ชีวิตสมณะจึงเป็นชีวิตอันประเสริฐ ที่เลิศกว่าชีวิตทั้งหลาย ยิ่งกว่าของฆราวาส เหมือนออกมาจากที่แคบสู่ที่โล่ง กว้างขวางไปเรื่อย ๆ ก็มีตัวอย่างของผู้มีบุญในกาล
ก่อน มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นต้น ซึ่งเป็นกุลบุตรออกจากเรือนจากตระกูลต่าง ๆ เพราะเห็นโทษภัยในสังสารวัฏและการครองเรือนซึ่งเป็นพันธนาการของชีวิต เมื่อมีโอกาสว่างแล้วจึงได้ออกบวชทำตามโอวาทของพระอุปัชฌาย์ที่ประทานโอวาทในวันบวช ดำเนินรอยตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชีวิตนักบวชประเสริฐที่สุด และยังมีสิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้ภายในอีกเยอะแยะ เมื่อใจหยุดนิ่งได้ เข้าถึงดวง เข้าถึงกายเข้าถึงองค์พระธรรมกายภายใน

เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายภายในจะเกิดธรรมจักษุ คือดวงตาที่เห็นได้รอบตัว ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เห็นถึงไหนญาณทัสสนะก็ไปถึงตรงนั้น มีธรรมจักษุ มีญาณทัสสนะ จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง จะเกิดขึ้น อยู่เป็นสุข นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นสุข ประกอบกิจวัตรกิจกรรมก็เป็นสุข เมื่อมีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง

เมื่อเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองได้แล้วก็เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่น ได้แก่ โยมพ่อ โยมแม่ ญาติโยมทั้งหลาย มนุษย์ เทวดา สรรพสัตว์ทั้งปวง นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญว่า บวชแล้วก็ต้องเรียน ต้องปฏิบัติ ถ้าทั้งพระทั้งโยมให้โอกาสตัวเองทำความเพียรได้อย่างนี้ ชีวิตที่เกิดมาในชาตินี้ก็มีกำไรชีวิต

กำไรชีวิต

กำไรชีวิตเขาดูที่ว่า เราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้แค่ไหน เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวไหม หนทางสวรรค์ของเราเปิดขึ้นแล้วหรือยัง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า กำไรชีวิต ไม่ใช่ดื่มเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ติดอบายมุข ไปสูบไปเสพอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วเข้าใจผิดว่านั่นคือกำไรชีวิต ที่จริงเป็นขาดทุนชีวิต เพราะจะต้องไปใช้ชีวิตใหม่ในอบายที่ทุกข์ทรมานอย่างไม่มีอะไรเปรียบอีกยาวนาน

ดังนั้น การฝึกใจให้หยุดนิ่งนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าสูงส่ง หลับเป็นสุข นั่ง นอน ยืน เดินเป็นสุข ไม่ใช่หลับเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง นุ่ม เบาสบาย ให้ใจใส ๆ เย็น ๆ

เกิดมาชาติหนึ่งก็ต้องให้เข้าถึงแสงสว่างภายใน ดวงธรรมภายใน รู้จักชีวิตใหม่ภายในเป็นชั้น ๆ ที่ซ้อน ๆ กันอยู่ กระทั่งรู้จักพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญนะ

เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้ลูกทุกคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ ประคับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยการตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ว่า สัมมา อะระหัง เรื่อยไป ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

วันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

บทความที่เกี่ยวข้อง