อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ฐานที่ ๗ ที่เกิด ดับ หลับ ตื่น

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจนั่งธรรมะกันนะ หลับตาของเราเบาๆ พอสบาย ๆ แล้วก็เอาใจหยุดไปนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หรือนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ หรือใครเห็นองค์พระก็นึกถึงองค์พระใส ๆ หยุดอยู่ในกลางองค์พระใส ๆ

ใครยังนึกไม่ค่อยชัด ก็ค่อย ๆ ทำไป อย่าไปบีบเค้นใจเพื่อจะให้เห็นภาพองค์พระได้ชัดเจนนะ ค่อย ๆ นึกไป ตอนนี้ต้องใจเย็นที่สุดเลย ค่อย ๆ ก็คือ นึกเบา ๆ นึกเหมือนเราไม่ได้นึก ไม่ได้นึกก็เหมือนกับนึก คือมันเบา ๆ สบาย ๆ นึกธรรมดา ๆ ถึงดวงใส ๆ กลมรอบตัว ไม่มีหยักไม่มีงอเลย กลมเหมือนดวงแก้ว

บางคนนึกไม่ออกจริง ๆ เพราะตั้งใจมากเกินไป พยายามจะไปบีบเค้นให้เห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่เราคุ้นเคยก็ตาม ถ้าตั้งใจจะนึกจริง ๆ ก็ยังนึกไม่ออก เพราะฉะนั้นนับประสาอะไรกับสิ่งที่เรายังไม่ค่อยคุ้นภายใน ถ้าเราตั้งใจมากเกินไปก็นึกไม่ออก อย่าไปฝืนธรรมชาติของการนึกคิด ให้ค่อย ๆ นึก อย่างสบาย ๆ แต่ถ้าหากว่าค่อย ๆ นึกแล้วก็ยังทำไม่เป็น ยังไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไร ถ้าอย่างนั้นก็ให้วางใจเฉย ๆ หยุดกับนิ่งอย่างเดียว หยุดนิ่ง ๆ นะ ให้หยุดนิ่งๆ ไม่มีภาพให้เรานึก ไม่ว่าจะเป็นดวงแก้วองค์พระก็ไม่เป็นไร เราก็นิ่งเฉย ๆ ใจหยุดนิ่ง ๆ ให้สบาย ๆ

สบาย ก็คือไม่ตึงเกินไป ต้องอย่าให้ตึงนะ ให้นิ่ง ๆ เฉย ๆ ถ้าใครทำการบ้าน สม่ำเสมอได้ทุกข้อ หรือเกือบจะทุกข้อ เวลามานั่งธรรมะพร้อม ๆ กัน มันจะง่ายต่อการนึก อานิสงส์ของการทำการบ้านสม่ำเสมอ จากยากก็มาเป็นง่าย จากง่ายมาเป็นได้ คือทำได้เลย เห็นไหมจ๊ะว่า การบ้านที่ให้ไปเพื่อตัวของเราเอง เพื่อให้ใจของเราคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

ฐานที่ ๗ ที่เกิด ดับ หลับ ตื่น

พระเดชพระคุณหลวงปู่ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านตอกย้ำเสมอว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น

เกิด เราเกิดมาแล้ว จะไม่สนใจก็ไม่เป็นไร หลับหรือตื่น ตรงนี้จะไม่สนใจก็ไม่เป็นไร แต่ตายตรงนี้สิ ดับคือตาย ตายตรงฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นประตูสู่ปรโลกนี่ ไม่สนใจไม่ได้ ไม่สนใจอันตราย ถ้าหากว่าเราทำผิดสูตรชีวิตหมองกับใส คือถ้าใจใสก็ไปดี ใจหมองก็ไปไม่ดี ถ้าผิดสูตรเมื่อไรก็เป็นอันตรายเมื่อนั้น บาปที่เราได้ทำเอาไว้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามมันจะได้ช่อง ชิงช่วงช่วงชิงเราไปสู่อบายเลย

ไม่ว่าจะไปอบายช่วงสั้นก็ไม่ควรไป จะไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแก อยู่ในภูมิสัตว์เดรัจฉานช่วงสั้น ๆ หรือเป็นยุงแค่ ๗ วัน ก็ยังไม่ควรจะไป ยิ่งไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ชีวิตยิ่งยาวนาน ลำบาก มีความทุกข์ทรมานเยอะ ไปยมโลกก็ไม่เหมาะ เพราะมันเร่าร้อนทุกข์ทรมานยาวนานมาก ไปขุมบริวารหรือมหานรกก็ไม่ต้องพูดถึงกันน่ะ

ทุคติเป็นที่เดียวที่ไม่ควรจะไปอยู่ ไม่ควรจะไปเลย หรือไปมีชีวิตอยู่ในอบาย ไม่ควรไป ที่ควรไปคือสุคติภพ อย่างน้อยก็ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็ยังดี ได้มาสร้างบารมีกันต่อ ได้มาเป็นภุมมเทวา รุกขเทวา อากาศเทวา มันก็ยังดีกว่าไปอบายภูมิ ถ้าไปสวรรค์ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา เรื่อยไปนั่นไม่ต้องพูดถึงล่ะ ถือว่าดีมาก ๆ สำหรับชีวิตของนักสร้างบารมีที่จะไปพักชั่วคราวในระหว่างที่เราได้เหน็ดเหนื่อยกับการสร้างบารมีด้วยกายมนุษย์มาแล้ว นี่มันสำคัญอย่างนี้นะลูกนะ

หมั่นฝึกใจให้คุ้นเคยกับศูนย์กลางกาย

ฐานที่ ๗ ต้องทำความคุ้นเคยเอาไว้ให้ดี ไม่ว่าเราจะเบื่อหรือไม่เบื่อก็ตาม ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ต้องทำความคุ้นเคยเอาไว้ ไม่ใช่พอนึกไม่เห็นแล้วเราก็เลยขี้เกียจ เบื่อ แล้วก็เลิกอย่าไปคิดอย่างนั้น

เราทำเพื่อตัวของเราเองนะ ไม่ใช่เพื่อใครเลย ถ้าเราไม่รักตัวเองนี่อันตราย เพราะฉะนั้นอย่าเบื่อหน่าย อย่าขี้เกียจในการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพื่อทำความคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องทำบ่อย ๆ

การบ้านที่ให้ไปนั้น ทำไม่ครบก็ต้องทำให้เกือบครบ ให้สม่ำเสมอทุกวัน อย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว อย่าให้อะไรมาเป็นข้ออ้าง ข้อแม้ เงื่อนไข

ธรรมชาติของใจ ถ้านึกถึงอะไรบ่อย ๆ มันจะจำแม่น แล้วจะนึกได้ง่าย ไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม ถ้าทำบ่อย ๆ แล้วมันจะจำได้และมันจะทำได้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าเรานึกดวงแก้วใส ๆ หรือองค์พระใสๆ บ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ จากยากก็มาเป็นง่าย จากง่ายก็มาเป็นได้ เดี๋ยวมันก็ได้ จากมืดก็มาสว่าง จากไม่ชัดมันก็มาชัด เดี๋ยวมันก็ชัดเอง ถ้าเราทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง

ขนาดจะใหญ่จะเล็กแค่ไหนเราก็นึก ๆ ไปก่อน ช่วงไหนชอบดวงเล็ก ก็นึกดวงเล็ก ช่วงไหนชอบดวงใหญ่ เราก็นึกดวงใหญ่ ช่วงไหนชอบนึกองค์พระ เราก็นึกองค์พระ ช่วงไหนอยากนึกองค์เล็ก เราก็นึกองค์เล็ก ช่วงไหนอยากนึกองค์ใหญ่ เราก็นึกองค์ใหญ่ นึกว่าท่านเป็นแก้วไม่ได้ เราก็นึกให้เป็นโลหะก่อนก็ได้ เป็นอิฐ เป็นหิน เป็นปูน เป็นโลหะอะไรก็ได้ทั้งนั้น ฝึกฝนไป ค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ คิดในทุกอิริยาบถที่เราระลึกได้ ฝึกไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป ไม่ช้าเราก็จะสมหวังนะลูกนะ

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

บทความที่เกี่ยวข้อง