อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

สิ่งดี ๆ เริ่มต้นที่ใจหยุด

Getting your Trinity Audio player ready...

ปรับกายให้ผ่อนคลาย ปรับใจให้เบาสบาย

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้หมด ตั้งแต่ใบหน้า ศีรษะ คอ ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราให้ผ่อนคลาย

จะนั่งสมาธิให้ดีต้องผ่อนคลายร่างกายให้ดี แล้วก็ปรับใจของเรา ต้องเบา ๆ ทั้งกายและใจ หลับตาก็ต้องเบา อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา เหมือนเรานอนหลับอย่างนั้นแหละ ซึ่งช่วงนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะมีเรื่องผ่านเข้ามาในใจ เมื่อเราปล่อยให้มันผ่านไปก็ถึงจุดที่ไม่ได้คิดอะไร เปลือกตาของเราก็จะปิดพอสบาย ๆ ต้องทำให้ถูกหลักวิชชานะ ใจจะได้หยุดนิ่งได้เร็ว

วิธีแก้ฟุ้ง

ต้องยอมรับว่าในแต่ละวัน ความคิดมากมายที่ผ่านเข้ามาในใจ พอถึงเวลาเราเริ่มนั่งสมาธิ ใหม่ ๆ มันก็คงจะมีความคิดเหล่านี้ผ่านเข้ามาในใจ มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไม่สนใจมัน ความคิดเหล่านั้นก็จะผ่านไป แล้วอย่าไปถือว่าความคิดที่ผ่านไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการงาน บ้านช่อง หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้เป็นอุปสรรคของการทำสมาธิ ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วเดี๋ยวเราจะต่อต้าน คือ
พยายามจะฝืนจะบังคับไม่ให้ใจของเราไปคิดในเรื่องราวต่าง ๆ มากจนเกินไป จนทำให้เกิดอาการตึงเครียดทั้งกายและใจ

ถ้าเราไปต่อต้านไปฝืนสิ่งนั้น หรือพยายามรวมใจให้เป็นสมาธิ ถ้าทำอย่างนี้จะได้ผลไม่เต็มที่ มันได้สำหรับบางคน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะฉะนั้นเรายอมรับธรรมชาติตรงนี้ แล้วเราก็เฉย ๆ กับมัน ไม่ว่าสิ่งที่ผ่านเข้ามาในใจนั้นจะเป็นเรื่องดี เรื่องไม่ดี หรือเรื่องกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เราเฉย ๆ เดี๋ยวมันจะค่อย ๆ หมดไปเอง มันจะอยู่กับเราได้ไม่นานหรอก

ถ้าเรารู้สึกว่า มันผ่านเข้ามามากเหลือเกิน ก็ให้เผยอเปลือกตาขึ้นสักนิด เพราะมันจะฟุ้งตอนเราปิดเปลือกตา เผยอสักนิดหนึ่งความฟุ้งก็จะเบาบางลงไป แล้วเราก็ค่อย ๆ เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ ทำอย่างนี้ทุกวันเลย ให้สม่ำเสมอ จากฟุ้งมากก็จะมาฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็จะไม่ค่อยฟุ้ง และมันก็จะหยุดนิ่งเองอย่างสบาย ๆ ง่าย ๆ ถ้าเราทำถูกหลักวิชชา

ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน

ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราลืมตาทำภารกิจอะไรก็ตาม ให้ทำความรู้สึกว่าใจอยู่ตรงกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้ใจคุ้น ๆ กับภาพดวงแก้วใส ๆ เพชรใส ๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว องค์พระ หรือภาพมหาปูชนียาจารย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็นึกธรรมดา ๆ นึกไปเรื่อย ๆ โดยไม่คาดหวังว่าจะชัดหรือไม่ชัด เพราะวัตถุประสงค์ของเราต้องการให้ใจคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะช่วยได้มากทีเดียว เวลาเรามานั่งหลับตามันจะได้ง่าย

ทีนี้พอเราลืมตาทำภารกิจอะไรก็แล้วแต่ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ปัดกวาดบ้าน ถูบ้าน ไปทำงาน เรียนหนังสือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ก็ฝึกไป ลืมตาก็ฝึกนึกไปเรื่อย ๆ ให้ใจคุ้นกับศูนย์กลางกาย ถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งวัน จะมีอานิสงส์ส่งให้ตอนที่เรามานั่งสมาธิ แค่เราหลับตาเบา ๆ ใจเราก็จะมาอยู่ภายในแล้ว เพราะเราตรึกบ่อย ๆ นึกบ่อย ๆ ชัดไม่ชัดก็ไม่เป็นไร มันก็จะคุ้น พอหลับตาทำสมาธิภาวนา ใจมันก็จะนิ่งง่าย ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม

ฝึกหยุดนิ่งให้เป็นเสียก่อน

อย่าไปคาดหวังว่า เราจะต้องเห็นโน่น เห็นนี่ เห็นอะไร อย่างที่เราเคยได้ฟังในเบื้องต้น แค่ว่าใจคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็ทำหยุดทำนิ่งให้เป็นเสียก่อน ให้ได้ปีติสุขที่เกิดจากสมาธิ ให้ได้ตรงนี้เสียก่อน สิ่งที่เราจะเห็นภายในมันก็เป็นขึ้นมาเอง เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในตัว เราไม่ต้องไปแสวงหาหรือไปควานหาอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งนั้นเป็นของละเอียด ใจเราต้องละเอียดเท่ากับสิ่งนั้น จึงจะเห็นกันได้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเราฝึกให้ใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียวก่อน อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไร

เมื่อหยุดนิ่งแล้ว…ประสบการณ์ภายในจะมาเอง

ใจหยุดใจนิ่งนี่แหละจะทำให้ใจละเอียด พอใจละเอียดเดี๋ยวมันก็เคลื่อนเข้าไปข้างในเอง ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง ยิ่งดิ่งไม่หยุดยั้งเลย มันจะเคลื่อนเข้าไป แล้วเราก็จะได้สัมผัสกระแสธารแห่งความปีติสุขที่เกิดขึ้น

กายสงบ ใจสงบ กายเบา ใจเบา ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ ตัวโล่ง โปร่ง เบาสบาย ถ้าเรารักษาตรงนี้ให้ต่อเนื่อง ความสุขก็จะมา เป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ถ้ากระแสธารแห่งความสุขอย่างนี้มา เมื่อกายใจเราสงบระงับ นิ่ง เราจะเกิดความพึงพอใจ ชอบใจกับอารมณ์นี้มากกว่าสิ่งที่เราเคยเจอในชีวิตประจำวัน คือ กายเบา ใจเบา ขยาย แล้วมันจะมีกระแสแห่งความสุขเกิดขึ้น ชนิดที่เราพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนกันว่า เราจะไปอุปมาเปรียบเทียบกับอะไร เพราะภาษาในเมืองมนุษย์มีข้อจำกัดในการอธิบายความรู้สึกชนิดนี้ ที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจ ชวนติดตามต่อไปอีกอย่างไม่เบื่อหน่าย ยังกระตือรือร้นด้วยความสมัครใจเกิดขึ้น นั่งในเบื้องต้นเอาให้ได้ตรงนี้กันเสียก่อน

ความสุขที่เกิดจากสมาธินี่แหละจะเป็นแรงจูงใจให้เราอยากนั่งต่อไป เหมือนเป็นรางวัลเบื้องต้นสำหรับผู้ทำความเพียร เราจะไม่อิ่มไม่เบื่อในการนั่งสมาธิ หรืออยากทำสมาธิในอิริยาบถอื่น มันจะเกิดขึ้นมาเอง นั่นแหละรางวัลสำหรับผู้มีความเพียร จนกระทั่งเกิดฉันทะขึ้นมา อยากอยู่กับอารมณ์นี้นาน ๆ โดยความสมัครใจ อยากหยุด อยากนิ่ง มีเวลาว่าง ๕ นาที ๑๐ นาที ก็อยากจะอยู่กับตนเองตรงกลางกาย อยู่กับอารมณ์ชนิดนี้ ที่หาไม่ได้จากคน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ หรือที่ใด ๆ เลย ยังอยากจะอยู่กับตรงนี้นาน ๆ อย่างนั้นถูกหลักวิชชาแล้ว ใจก็จะนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ไปเรื่อย ๆ

จนกระทั่งนิ่งแน่นในระดับที่ความคิดอื่นไม่สามารถดึงใจหลุดจากอารมณ์นี้ได้ จะนิ่ง ๆ มีอารมณ์เดียว อารมณ์เป็นสุข เป็นกลาง ๆ บริสุทธิ์จากมลทินของใจ จากความโลภ ความโกรธ ความหลงในระดับหนึ่ง จากความหงุดหงิด งุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ จากการตรึกในเรื่องกาม เรื่องเพศ เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความโกรธ ความพยาบาท ขัดเคืองใจ น้อยใจ โศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน อะไรต่าง ๆ มันหายไป

ใจจะสบาย จะบริสุทธิ์ จนกระทั่งเรามีความรู้สึกเหมือนกายวาจาใจเราบริสุทธิ์ สะอาด เกลี้ยงเกลา จากสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา คล้าย ๆ บาปได้ถูกขจัดล้างออกไปด้วยกระแสธารแห่งบุญ มันจะมีความรู้สึกขึ้นมาเองว่า เหมือนเราหลุดจากข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดวิบากกรรม ใจเราก็จะปีติภาคภูมิใจ เบิกบานว่า เราได้หลุดจากกระแสวิบากกรรมที่ทำผ่านมา มันจะเกิดขึ้นมาเองตอนนั้น

แม้ความจริงนั้นอาจจะหลุดจากวิบากกรรมไปในระดับหนึ่ง ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ โดยความรู้สึกของเรา เราจะรู้สึกว่ามันสูงส่ง เหมือนบาปอกุศลกรรม วิบากกรรมต่าง ๆ ได้ถูกถอดออกจากใจ มันจะยิ้ม ๆ อยู่ภายในลึก ๆ จนกระทั่งขยายมาสู่บนใบหน้า และกระแสที่ออกไปรอบตัวไปในบรรยากาศ และเราจะเข้าใจคำที่บอกว่า ให้ทำใจใส ๆ ถ้าเราไปถึง ณ ตรงนี้ เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง แต่อารมณ์ใสนั้นยังไม่เกิดขึ้น

คำว่า “อยู่ในบุญ”

ถ้าถึงจุดที่หยุดนิ่งในระดับเห็นดวงใสขึ้นมา แม้จะเล็กขนาดดวงดาวในอากาศก็ตาม เราจะรู้ว่า ‘อ๋อ รู้จักแล้วที่ว่าให้ทำใจใส ๆ นั้นมันเป็นอย่างนี้’ เพราะใจที่ใสมันจะปราศจากนิวรณ์ ใจจะเกลี้ยง โปร่ง เบา สบาย บริสุทธิ์ ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งมีความมั่นใจว่า เราบริสุทธิ์หลุดพ้นจากวิบากกรรม ความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นเอง ตรงนี้ เมื่อดวงใสปรากฏเป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น และเราจะเข้าใจคำว่า “อยู่ในบุญ” “ให้นึกถึงบุญ”

ถ้ายังไม่ถึงดวงธรรมใส ๆ นี้ เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง คือเราต้องใช้จินตามยปัญญา คือต้องคิดว่าวันนั้นเดือนนั้นปีนั้นเราได้ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ซึ่งก็ถูกในระดับหนึ่งของความหมายของคำว่า อยู่ในบุญ แต่พอมาถึงดวงใส ๆ ภายในกลางกาย เราจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ‘อ๋อ อยู่ในบุญมันเป็นอย่างนี้นะ’ พอถึงตรงนั้น มันจะแจ่มใส แจ่มกระจ่าง มีความปลื้มปีติเบิกบานในบุญ แต่นิ่งสงบ เยือกเย็น หนักแน่น มีอารมณ์เดียวและเกิดความรู้สึกว่า บุญนี่แหละจะคุ้มครองเราให้ปลอดภัยในทุกสิ่ง และจะนำความสุขความสำเร็จในชีวิตให้บังเกิดขึ้นแก่เรา มันจะเกิดขึ้นเอง พอถึงดวงใส ๆ แต่เบื้องต้นเราก็ต้องฝึกกันไป นี่เป็นภารกิจของเรา เป็นงานที่แท้จริง

 

กระแสธารแห่งความดีอยู่กลางดวงธรรมใส ๆ

ถ้าใจใสอย่างนี้มันก็จะเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด คำพูด และการกระทำที่ดี เพราะกระแสธารแห่งความดีอยู่ตรงกลางดวงธรรมใส ๆ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด ความคิดเราจะคิดแต่เรื่องดี ๆ คิดไม่ดีมันนึกไม่ออก มันไม่ได้ช่อง คิดอยากจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำความดีทั้งด้วยตัวเอง แล้วก็ชวนคนอื่นทำความดีด้วย

กำลังใจที่จะไปชวนคนอื่นทำความดีมีมากมายมหาศาลจนกระทั่งไม่ได้นึกถึงอะไรเป็นอุปสรรค ไม่ว่าบุคคลที่เราไปเชิญชวนนั้นเขาจะมีความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำชักชวนของเราก็ตาม แต่ดวงปัญญาจะเกิดขึ้นให้เรารู้วิธีที่จะตอบปัญหาขจัดข้อขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจของเขาว่า จะต้องพูดอย่างไร แล้วก็นำเขาไปสู่จุดหมายคือเขาสมหวังในการที่ได้สร้างบุญกุศล บุญบารมีก็จะเกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจากดวงใส ๆ นี่แหละ

แล้วจะมีอายตนะไปดึงดูดให้ผู้มีบุญที่พอชักชวนเขาทำบุญอายตนะมันจะตรงกัน แค่เขาเห็นเรา เขาก็จะเกิดความพึงพอใจ ไว้วางใจว่า ถ้ามอบใจของเขาดวงนี้มาไว้แก่เรา เชื่อถือได้ และจะต้องนำเราไปสู่สิ่งที่ดี เมื่อใจเขาเปิด ตอนนี้ความรู้จากภายในก็จะผ่านจากใจเราสู่ใจเขา ที่เราคุ้นเคยคำว่า heart to heart นั่นแหละ จากใจถึงใจ ก็จะสามารถชักชวนให้มาทำความดีต่าง ๆ ได้

อย่าให้หาย

เราก็พยายามทำความคุ้นเคยกับดวงธรรมใส ๆ อย่าปล่อยให้หลุดลอยไป เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ มันไม่ง่ายนัก เมื่อได้แล้วก็ต้องรักษาให้อยู่กับตัวเราให้ได้ตลอดเวลา ด้วยการหมั่นทำความเพียร ใจจรดจ่อ แล้วก็สังเกตว่า เราวางใจหยุดใจด้วยวิธีการอย่างนี้จึงเข้าถึงได้ ฝึกบ่อย ๆ ให้ชำนาญเป็นวสี ทั้งหลับตาลืมตาก็ให้เห็นชัดใสแจ่มอยู่ตลอดเวลา ค่อย ๆ ฝึกกันไป

เวลาเรานอน เราก็หลับอยู่ในดวงธรรมใส ๆ ซึ่งจะมีความสว่างบังเกิดขึ้นด้วย ตื่นแรกก็ต้องเห็นดวงธรรมใส ๆ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย จะรับประทานอาหาร จะแต่งตัว หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ก็อยู่ในดวงธรรมใส ๆ ที่เราหลับตาลืมตาเห็นได้ตลอดเวลา

พอหลังจากนั้นมันก็จะละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเรามีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางเยอะ ๆ ให้โอกาสกับตัวเราเอง อยู่กับตัวเราที่ศูนย์กลางกายกลางดวงธรรมนั้นบ่อย ๆ ก็จะชัดขึ้น สว่างขึ้น แล้วก็จะขยายออกไปเรื่อย ๆ ใจเราก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเรื่อย ๆ

เดี๋ยวก็มีดวงธรรมต่างๆ ผุดเกิดขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มมีความสุขสนุกสนานกับการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ฝึกไปเรื่อย ๆ หยุดในหยุดไปเรื่อย ๆ หยุดอย่างเดียว นิ่งในนิ่ง ๆ ตรงกลาง แล้วก็จะมีกลางใหม่เกิดขึ้นอีก แล้วก็อยู่ตรงกลางของกลางใหม่ คือกลางของใจเข้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง แค่เราหยุดดูไปเฉย ๆ

ไตรสรณคมน์

การดูเฉย ๆ ก็คือการหยุดใจนิ่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าหากว่า เราลุ้น พยายามจะเข้าไปข้างใน พยายามไปดันมัน ยิ่งดันก็จะยิ่งเด้งออกมา ใจก็จะถอนจากความละเอียดในระดับต้นออกมา แต่ถ้าเราดูเฉย ๆ มันก็จะดึงดูดดิ่งเข้าไปสู่ภายใน เคลื่อนเข้าไปเรื่อย ๆ

อาการที่เคลื่อนเข้าไปนี้เขาเรียกว่า คมนะ นี่ไง ที่เราได้ยินคำว่า ไตรสรณคมน์

คมนะ แปลว่า เคลื่อนเข้าไป

แต่เข้าใจคำว่าคมนะได้ ต้องเข้าใจหยุดนิ่งอย่างนี้

ไตรสรณคมน์ คือเคลื่อนเข้าไปหาพระรัตนตรัย ก็แปลว่าพระรัตนตรัยนั้นมีอยู่ในตัวของเรา

ใจของเรากำลังเคลื่อนเข้าไป เรามีหน้าที่เพียงเป็นผู้ดูที่ดี ดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในด้วยใจที่เป็นปกติ เหมือนผู้เจนโลกมองชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ ของมวลมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยใจที่เป็นปกติ หรือเหมือนเราไปยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เห็นเรือผ่านไป ผักตบชวาผ่านไป ใจมันก็เฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไร ให้ดูอย่างนั้น ดูโดยปราศจากความคิดปรุงแต่ง นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ เดี๋ยวก็จะมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราดู

แต่ถ้าไม่มีอะไรใหม่ ๆ มาให้ดู แสดงว่าใจเราหยุดไม่สนิท หรือเราไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้องแล้ว ซึ่งถ้ามีอาการอย่างนี้ เราก็ค่อย ๆ เผยอเปลือกตาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง จนกระทั่งความรู้สึกลุ้น เร่ง เพ่ง จ้องหายไปจากใจ เมื่อมันอันตรธานไปจากใจแล้วก็ค่อย ๆ เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ

สอนตัวเราเองว่า เราเป็นนักเรียนอนุบาล อย่าเพิ่งไปเรียนอะไรให้มันลึกซึ้ง ทำหยุดทำนิ่งตรงนี้ให้มันเป็นอย่างถูกหลักวิชชาที่มหาปูชนียาจารย์ หรือบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อนเขาได้ทำกัน ก็ฝึกไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ เดี๋ยวใจก็จะเคลื่อนเข้าไปเอง

แปลว่าเราบังคับให้เคลื่อนเข้าไปไม่ได้ แต่จะไปเองเมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วความสุขก็จะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เคลื่อนเข้าไป สมมติว่าเราเคลื่อนเข้าไปใน ระยะแรก ๆ ความสุขได้สัก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่พอเรานิ่งเพิ่มขึ้น ความสุขจะเพิ่ม ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไป
เรื่อย ๆ เลย

อานิสงส์ของใจที่หยุดนิ่ง

การฝึกใจให้หยุดนิ่งกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต ยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะจำเป็นเพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงสังขาร แต่ว่าทรัพย์สินเงินทองเรานำติดตัวไปในภพเบื้องหน้าไม่ได้ ยกเว้นเราเปลี่ยนมาเป็นบุญนั่นแหละถึงจะเอาไปได้

และเวลาใกล้จะละโลก จะไปนึกถึงทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ช่วยเราไม่ได้ แต่ตรงนี้ที่เราเห็นดวงธรรมก็ดี กายภายในก็ดี องค์พระก็ดีจะช่วยเราได้ ให้เรามีความสุข แม้มีทุกขเวทนาที่กายเนื้อ แต่ใจมันจะล่อนออก เหมือนเงาะกับเปลือกไม่ติดกันอย่างนั้น ใจจะเกลี้ยง ๆ ข้างนอกอาจจะมีอาการทุกขเวทนาบ้าง เพราะสังขารก็เป็นของมันอย่างนั้น เวลาจะแตกดับมันก็มี แต่ว่าใจข้างในจะนิ่งสงบมั่นคง และมีสุขเกิดขึ้น มั่นใจ อบอุ่นใจ ปลอดภัยว่า ถ้าเราหลุดออกไปแล้วไม่ไปอบาย มีแต่ไปสุคติโลกสวรรค์ก็จะเป็นที่พึ่งได้

การอยู่กับตัวเองอย่างนี้ดีที่สุด อยู่กับคนอื่นนั้น แต่ละคนก็มีปัญหาส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้น คนมีปัญหามารวมกับคนที่มีปัญหาเยอะ ๆ มันก็ทำให้สิ่งแวดล้อมมีปัญหา ความทุกข์ทรมาน ความเครียดก็ระบาด เพราะเราไม่อาจจะแก้ตรงนั้นได้ จะปรับปรุงคนอื่นให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ เราแก้ไม่ได้ก็ต้องทำอย่างนี้ หยุดกับนิ่งอยู่กับตัวเองนี่แหละ

พอใจใส เห็นดวงธรรมใส กายภายในใส องค์พระใส ๆ เราก็จะอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เหมือนลิ้นที่อยู่ในปากงูพิษ งูพิษกัดคนตาย แต่ลิ้นอยู่ใกล้เขี้ยวพิษไม่เป็นไร หรือจุดเย็นในกลางเตาหลอมอย่างนั้น เราจะอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมได้เองด้วยตัวของตัวเองเลย เป็นไปตามธรรมชาติ และเดี๋ยวสิ่งดี ๆ ก็จะค่อย ๆ ขยายจากตัวเราไปสู่คนข้างเคียง

พอไปถึงจุดนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นก็จะเกิดกับเรา โดยที่เราไม่รู้สึกตัว แต่ผู้ที่สังเกตเราอยู่ เพราะเราอยู่ในสายตาเขาตลอดเวลา ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเราไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้เขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำตามบ้าง ถ้าเราเย็น เขาก็จะเย็นตาม ค่อย ๆ เยือกเย็น สงบนิ่งไปเรื่อยๆ สิ่งดีๆ ก็จะค่อยๆ ขยายจากตัวเราถึงผูที่อยู่รอบข้าง และขยายต่อ ๆ กันไป เป็นบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ นานาชาติแล้วก็ทั่วโลก

ที่อยู่รอบข้าง และขยายต่อ ๆ กันไป เป็นบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ นานาชาติแล้วก็ทั่วโลก

สิ่งดีๆ ในโลกนี้ เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จากจุดเล็ก ๆ ที่เราหยุดนิ่งได้นี่แหละ ถ้าลูกทุกคนให้ความสำคัญ ทำให้ได้ เราก็จะมีความสุขในทุกหนทุกแห่ง และพลอยทำให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขตามไปด้วย

ต้นไม้ต้นเดิมที่บ้านเรา หรือที่ไหนก็ตาม ถ้าเราดูด้วยสายตาที่มาจากรากฐานของความสุขภายใน ต้นเดิมต้นเดียวกันนั้น บางวันเราดูไม่สดชื่น เมื่อเรายังเข้าไม่ถึงตรงนี้ ต้นไม้ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เราเปลี่ยนแปลงภายในตัวภายในใจของเรา เราก็จะมองต้นไม้ต้นนั้นด้วยความผาสุก คน สัตว์ สิ่งของก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ

หยุดกับนิ่งนี่สำคัญนะลูกนะ ให้โอกาสกับตัวเราเองฝึกเอาไว้ เพื่อตัวเราและเพื่อชาวโลกทุก ๆ คน หยุดกับนิ่งนี่แหละมีอานิสงส์และอานุภาพอันยิ่งใหญ่

พลังแห่งคำพูดของผู้ที่หยุดนิ่งได้แล้วจะมีพลัง คำเดียวกัน ประโยคเดียวกัน แต่ถ้าออกมาจากใจของผู้ที่หยุดนิ่งได้ คนรับฟังเขาจะมีความปีติ เบิกบาน อาจหาญ ร่าเริง อยากจะทำตาม แต่ถ้าออกมาจากใจของผู้ที่ยังไม่หยุดนิ่ง เขาฟังแล้วเขาก็ผ่านไป หยุดกับนิ่งนี่สำคัญ

การที่จะก้าวไปข้างหน้า ไปได้ไกลอย่างปลอดภัย และมีชัยชนะ มันต้องหยุดนิ่งให้มั่นคงเสียก่อน หยุดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย รับประทานอาหาร แต่งตัว เรื่องครอบครัว การศึกษาเล่าเรียน ธุรกิจการงาน แม้กระทั่งวัยชราที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนดูแลลูกหลานก็ให้ความอบอุ่นลูกหลาน หรือเมื่อเผชิญต่ออุปสรรคของชีวิต ทุกข์ โศก โรคภัย มรณภัย อะไร
ต่าง ๆ ใจก็จะเป็นปกติ ไม่ได้พรากหรือห่างไกลจากความสุขที่แท้จริงเลย

เพราะฉะนั้น ต้องขยันนั่งกันนะ นั่งกันไปทุกวัน เวลาที่เหลืออยู่นี้ก็หยุดใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ

วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

บทความที่เกี่ยวข้อง