Getting your Trinity Audio player ready...
|
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ ค่อนลูก พอสบาย ๆ อย่าถึงกับปิดสนิทเหมือนคนเม้มตา บีบเปลือกตานะ พอสบาย ๆ ถ้าเราหลับตาเป็น ใบหน้ามันจะผ่อนคลาย พลอยให้ร่างกายผ่อนคลายตามไปด้วย เพราะฉะนั้นตรงหลับตานี่สำคัญ เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึกฝนให้ดีทีเดียว หลับเบา ๆ พอสบาย ๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายเลย
การนึกบริกรรมนิมิต
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือกะประมาณเอา
แล้วใช้ใจนึกเหมือนเรานึกถึงภาพมหาธรรมกายเจดีย์ นึกธรรมดาอย่างนั้น หมั่นนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรารู้สึกถนัด ชอบเพราะคุ้นเคยในการนึก ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร นึกเท่าที่เราจะนึกให้เห็นได้ เป็นภาพทางใจ ซึ่งมันไม่เห็นทันทีเหมือนภาพที่เราเห็นด้วยลูกนัยน์ตาเนื้อนะ การที่เราลืมตามองดูอะไรมันก็เห็นชัดทันที ถ้าอยู่ใกล้ก็ชัดมาก อยู่ไกลก็ชัดน้อย ของใหญ่ก็ชัดมาก ของเล็กก็ชัดน้อย
ดวงตาภายนอกเห็นชัดทันที ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่หลับตานึกถึงภาพทางใจ ก็จะมี ๒ ประเภท คือ บางคนก็นึกออก บางคนก็นึกไม่ออก ที่นึกไม่ออกเพราะตั้งใจมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่เราเคยเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงแก้วลูกกลม ๆ ยิ่งเป็นชาวพุทธ พระพุทธรูปเราก็เคยเห็น ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นโลหะบ้าง เป็นอิฐ หิน ปูน รัตนชาติ เป็นต้น
จริง ๆ แล้วนึกมันต้องเห็น แต่บางคนนึกไม่ออก ที่นึกไม่ออกก็จะเป็นดังกล่าวนั้นแหละคือ ตั้งใจมากเกินไป หรือนึกออกแต่ว่าไม่ชัดเจน เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เมื่อภายนอกเทียบเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ บางคนนึกออกภายในกลางท้องเรา ๒ เปอร์เซ็นต์บ้าง ๕ เปอร์เซ็นต์บ้าง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นาน ๆ ก็จะมีสักคนหนึ่ง ๖๐, ๗๐ บ้าง นี่พูดถึงนักเรียนใหม่นะ ไม่ค่อยจะเจอว่าใครหลับตาแล้วเห็นทีเดียว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากผู้มีบุญที่สั่งสมการปฏิบัติธรรมข้ามชาติมามาก นั่นเรายกเอาไว้ เพราะเขาทำมามาก ลำบากมามาก ยากมามาก เมื่อบุญส่งผลมันก็ง่ายมาก ๆ
เราต้องยอมรับตรงนี้กันก่อนว่า เราอยู่ในประเภทที่นึกได้ไม่มากนัก ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง เหมือนของที่ตั้งอยู่ในที่มืดบ้าง สลัวบ้าง เมื่อเรายอมรับอย่างนี้ และเข้าใจว่าการเห็นทางใจกับการเห็นด้วยลูกตาเนื้อมันต่างกัน ความทุกข์ใจมันก็จะไม่มี
ความกังวลใจว่ากลัวจะไม่เห็นมันก็หมดไป ความตั้งใจมากเกินไป ลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ก็จะไม่หลงเหลือ ทำความเข้าใจตรงนี้สักนิดหนึ่ง เสียเวลาตรงนี้นิดหนึ่งสำหรับนักเรียนใหม่
ถ้าไม่บอกอย่างนี้ เดี๋ยวเราจะเผลอเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู เผลอไปเค้นภาพจนปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เค้นภาพเพื่อต้องการให้ภาพมันชัดเจน หรือไปควานหาอะไรในที่มืด นี่ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะพลอยเบื่อหน่ายในการทำสมาธิ เพราะว่าไม่ได้สุขที่เกิดจากสมาธิ ทำให้เบื่อหน่าย ท้อแท้ ท้อถอย น้อยใจ เข้าใจผิดว่าบุญเรามีน้อย วาสนาน้อย แต่ความจริงทำไม่ถูกวิธี แล้วไม่เข้าใจธรรมชาติของการเห็นทางใจว่ามันเป็นอย่างไร กับวัตถุประสงค์ของการนึกภาพภายในกลางท้อง
วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ ต้องการให้ใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว มาหยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของพระรัตนตรัยในตัว แต่เราไม่คุ้นเคยกับการทำสิ่งเหล่านี้ คุ้นกับการส่งใจไปข้างนอก ไปคิดในเรื่องราวต่าง ๆ เราคุ้นอย่างนั้น เราไม่คุ้นที่จะเอาใจไปวางภายใน เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ต้องการให้ใจหยุดนิ่ง ๆ อยู่ภายในกลางกาย เพราะว่าหยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรืออย่างน้อยก็เข้าถึงความสุขภายใน ได้เข้าถึงแสงสว่างภายใน ถึงดวงธรรม กายภายใน องค์พระใส ๆ เพราะฉะนั้นหยุดนี่สำคัญตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ นี่คือวัตถุประสงค์ของการนึกภาพทางใจไว้ที่กลางกายนะ ต้องทำความเข้าใจให้ดี
แต่เริ่มต้นใจมันยังคงไม่หยุดง่าย ๆ อย่างนั้นหรอก มันได้เป็นบางคน เพราะฉะนั้น เริ่มต้นเราก็ต้องเอาให้ใจมันอยู่เสียก่อน อยู่ภายในบริเวณกลางท้อง โดยทำความรู้สึกว่าใจอยู่ตรงนี้ มีดวงแก้วใส ๆ มีพระแก้วใส ๆ ขนาดใหญ่เล็กก็แล้วแต่ใจเราชอบให้รู้สึกว่ามีไปก่อน แล้วก็รักษาความรู้สึกนั้นให้ต่อเนื่องกันไป อย่าเผลอไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าห้ามไม่ได้ มันจะเผลอไปคิดเรื่องอื่นด้วยความคุ้นเคยก็ช่างมัน เพราะเรายังเป็นนักเรียน ยังฝึกฝนอยู่ พอรู้ตัวเราก็กลับมาใหม่
บริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง
พร้อมทั้งบริกรรมภาวนาในใจกำกับไปด้วย บริกรรมภาวนาเบา ๆ สบาย ๆ คล้ายกับเสียงบทสวดมนต์ที่เราคุ้นเคย หรือบทเพลงที่เราเคยได้ยิน เราคุ้นเคย ให้เสียงนั้นดัง
ออกมาจากในกลางท้อง ต้องกลางท้องนะ ซึ่งใหม่ ๆ เราจะคุ้นกับสมอง จะสวดจะท่องจะภาวนาก็จะคุ้นว่าต้องสมอง เราก็เปลี่ยนความคุ้นมาที่กลางท้อง
บริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ สบายๆ สัมมา อะระหัง ดังออกมาจากในกลางท้อง บริเวณแถวฐานที่ ๗ ทำประหนึ่งว่า เป็นเสียงแห่งความบริสุทธิ์ ที่มาจากแหล่งแห่งอานุภาพที่ไม่มีประมาณ ในอายตนนิพพานที่เรายังไปไม่ถึงโน้นผ่านมาในกลางกาย ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจเราให้หมดสิ้นไป ขจัดทุกข์โศกโรคภัย อุปสรรคต่าง ๆ นานาในชีวิต วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม วิบากมารให้หมดสิ้นไป
ภาวนาอย่างมีความสุข แล้วก็สนุกสนานกับการภาวนา บันเทิงใจ สัมมา อะระหัง เรื่อยไป อย่าไปคิดว่ามันจำเป็นจำยอมต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้มันก็ไม่มีความสุข เพราะคำว่า สัมมา อะระหัง มีอานุภาพมาก มีความหมายที่สูงส่ง
สัมมา ย่อมาจาก มรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เรื่อยไปถึงสัมมาสมาธิ การทำสมาธิชอบ รวมถึงการประพฤติชอบทั้งกาย วาจา ใจ เป็นต้น ก็คือให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ นี่ความหมายของสัมมาย่อ ๆ
อะระหัง หมายถึง ห่างไกลจากกิเลส จากความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งที่ไม่ดี วิบากกรรม วิบากมาร วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตที่ผิดพลาดที่ผ่านมาแล้วจะห่างไกลจากสิ่งนั้น จนกระทั่งใจนั้นสะอาดบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ในระดับที่เห็นความบริสุทธิ์ด้วยใจของเราได้
เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมา อะระหัง จึงมีความหมายที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง ทุกคำที่เราภาวนาในใจ ใจเราจะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศธาตุ เห็นจำคิดรู้สะอาดไปหมด
เมื่อความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นในใจแทนที่ความไม่บริสุทธิ์ อานุภาพอันไม่มีประมาณก็จะติดตามมาด้วย ทำให้ใจเรามีพลังที่จะทำแต่ความดี มีพลังที่จะกล้าละความชั่ว และมีพลังที่จะทำให้ใจเราใสสะอาดบริสุทธิ์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภาวนา กับ การท่อง ไม่เหมือนกัน
แต่ ภาวนา กับคำว่า ท่อง ความหมายจะแตกต่างกัน
ท่อง เราต้องใช้กำลังในการนึก การคิด แม้ท่องในใจก็ยังต้องใช้กำลัง แต่ถ้าภาวนา มันละเอียดไปกว่านั้น คือ เหมือนเป็นเสียงที่ละเอียดเป็นสำนึกลึก ๆ ที่ดังออกมาเองโดยไม่ได้ใช้กำลังในการท่อง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ภาวนา
ใหม่ ๆ เราต้องยอมให้เป็นการท่องไปก่อน เพื่อให้คล่องปากขึ้นใจ แต่ต่อไปมันก็จะปรับของมันไปเอง ไปสู่ในระดับของคำภาวนา คือเป็นเสียงละเอียด สำนึกลึก ๆ ที่ดังออกมาเองจากในกลางท้องของเรา เมื่อเราคล่องปากขึ้นใจแล้ว ก็จะผ่านมาในกลางท้องกลางกายเอง
ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่ในกลางท้องเรา เพราะเป้าหมายของเราคือฐานที่ ๗ จะอยู่บริเวณแถว ๆ นั้น จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่งเมื่อมันถูกส่วนเข้า คือ ความพอดีมันเกิดขึ้นเอง ใจก็จะหยุดนิ่ง ๆ เมื่อใจหยุดนิ่งมันก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง คือหมดความจำเป็นที่จะต้องประคองใจแล้ว หมดความจำเป็นที่จะเป็นพี่เลี้ยงของใจ ประคับประคองให้อยู่ที่ฐานที่ ๗ เมื่อถึงที่หมายแล้ว คำภาวนา สัมมา อะระหัง ก็หมดความจำเป็นที่เราจะใช้ เหมือนเรือจ้างที่แจวมาส่งถึงฝั่งแล้วก็จอดที่ริมฝั่ง หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อไป ไม่จำเป็นที่จะต้องแบกเรือจ้างขึ้นฝั่งไปด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราภาวนาถึงจุดแห่งความสมบูรณ์ของหน้าที่การประคองใจ หน้าที่ของการเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ใจ คำภาวนานั้นก็จะเลือนหายไปเอง จนกระทั่งเราเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ อย่างนี้อย่างเดียว
ความรู้สึกภายในที่พัฒนาไปเมื่อใจหยุดนิ่ง
แล้วคำว่า นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม จะรู้จักตอนที่ใจหยุดจริง ๆ นั่นแหละ คือมันนุ่มจริง ๆ ใจมันละเอียดอ่อนลงไป ละเอียดลงไป ละมุนแต่มีพลัง แล้วพอถึงตอนนี้มันก็จะปรับสภาพความรู้สึกที่ร่างกายที่เคยทึบ ก็จะโล่ง โปร่ง ร่างกายที่เคยหนัก ๆ มันก็จะเบา ที่เคยลำบากก็จะสบาย โล่ง โปร่ง เบา สบาย ที่คับแคบก็จะขยาย
รู้สึกตัวขยายกว้างออกไป เหมือนลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป ค่อย ๆ พองโตขึ้น แต่ลูกโป่งยังมีข้อจำกัดในการพองโต มันก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ใจหยุดนิ่งแล้ว อาการพองโตของกายและใจมันไม่มีขอบเขต ตั้งแต่พองโตใหญ่กว่าตัวเรา ถ้าเรานั่งที่บ้านก็ใหญ่กว่าห้อง นั่งในสภาธรรมกายสากลก็ใหญ่ขนาดสภาธรรมกายสากลบ้าง ใหญ่กว่านั้นบ้าง จนกระทั่งกลมกลืนไปกับบรรยากาศ คือมันขยายหายไปเลย โตอย่างไม่มีขอบเขต ใจก็จะขยาย ความรู้สึกที่ร่างกายหายไป ไร้น้ำหนัก
แล้วมีความสุขอย่างไม่มีประมาณบังเกิดขึ้น แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม แต่ก็เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียรฝึกใจให้หยุดนิ่ง ๆ อย่างถูกหลักวิชชา เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการฝึกใจหยุดใจนิ่ง คือ ความสุขจะเกิดขึ้น กายก็สบาย ใจก็สบาย เบิกบาน เหมือนอยู่กลางอวกาศที่ไม่มีขอบเขต เคว้งคว้างแต่นิ่ง กว้างขยายไปทุกทิศทุกทาง
เข้าเขตอาณาจักรแห่งความใสของใจ
แต่มีจุด ๆ หนึ่งที่นิ่งเป็นหลักของอาการที่ขยายออกไปรอบตัวนั้น แล้วเราจะเริ่มสัมผัสความใสของใจได้ ที่ได้ยินว่าใจใส เราจะเริ่มสัมผัสเหมือนเข้าไปสู่ขอบเขตนั้น พรมแดนของความใส อาณาจักรความใสของใจ จะเริ่มสัมผัสตรงนั้น
แล้วใจก็จะนิ่งต่อไปอีก คือ จะนิ่งยิ่งขึ้น จนนิ่งในระดับที่มันไม่เขยื้อน คือมันนิ่งแน่น แต่แน่นที่ไม่อึดอัด แน่นที่มีความสุข คือขอบเขตอาณาจักรนั้นเต็มไปด้วยความนิ่ง สมมติว่าตัวขยายไปเท่ากับท้องฟ้า ถ้าเราจะเขียนคำว่า นิ่ง มันโตเต็มท้องฟ้า นิ่งอย่างนั้นแหละ และความรู้สึกของเราก็เลยความรู้สึกที่อยู่ในโลกใบนี้ ที่มีขอบเขตจำกัด เหมือนเราตัดเส้นรอบวงออกไป อาณาจักรของใจดูเหมือนว่า มันไปสุดขอบฟ้า ฟ้าที่ไม่มีฝาครอบ ฟ้าที่ไม่มีขอบเขต และความสว่างก็จะเรืองรองขึ้นมา
แสงสว่างภายในที่น่าอัศจรรย์
บ้างก็เหมือนฟ้าสาง ๆ ตอนตี ๕ ในฤดูร้อน บ้างก็สว่างเหมือน ๖ โมงเช้า สว่างเหมือนเห็นแสงเงินแสงทองในยามอรุโณทัย ดวงอาทิตย์ขึ้น ความสว่างนั้นมากับความสุขที่เพิ่มขึ้น ความสุขจะเพิ่มขึ้นไปตามความสว่าง เป็นแสงสว่างภายในที่น่ามหัศจรรย์ เราหลับตาแล้วมันไม่มืด แสงสว่างที่ใสเหมือนแสงแก้วที่เนียนตาละมุนใจ ความสว่างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยไป เมื่อใจยิ่งนิ่งยิ่งหยุด ยิ่งหยุดยิ่งนิ่งยิ่งสว่างเพิ่มขึ้นกระทั่งไปถึงความสว่างประดุจดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน เป็นความสว่างที่กระจายออกไปทุกทิศทุกทาง ความสว่างนั้นก็ใส บริสุทธิ์ ยิ่งหยุดยิ่งนิ่งยิ่งสว่างกว่านั้นเพิ่มเข้าไปอีก
เราคุ้นเคยกับความสว่างแค่ดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ซึ่งถือว่าสว่างที่สุดเท่าที่ตามนุษย์เราจะพึงเห็นได้ แต่แสงสว่างภายในมันยิ่งกว่านั้น มันเป็นความสว่างที่ไม่มีอยู่ในโลกใบนี้ เราไม่คุ้นเคย ไม่ทราบว่าจะใช้คำว่าอะไร เพราะคำว่าเที่ยงวันในโลกมนุษย์ คือที่สุดแห่งความสว่างของดวงอาทิตย์ เลยไปกว่านั้นแสงสว่างมันก็จะหรี่ลงไปเรื่อย ๆ แต่นี่มันสว่างกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ถ้าจะเทียบก็เหมือนกับเอาดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันสัก ๒ ดวง มาขยายความสว่างนั้นเพิ่มขึ้น แต่ความไม่แสบตาเคืองตาก็ยังคงเดิม ยิ่งเจิดจ้าก็ยิ่งมีความสุข มีความเบิกบาน
เราจะรู้จักคำว่า เบิกบาน เมื่อความสว่างภายในบังเกิดขึ้น ในยามที่ไร้น้ำหนัก ไร้ความรู้สึกของความเป็นตัวตนของร่างกาย มันเหมือนอาการขยายของดอกบัวที่ได้รับแสงตะวันแล้วคลี่ขยายกลีบเบ่งบาน แต่นั่นเป็นเพียงข้ออุปมาเท่านั้น แต่นี่คืออาการขยายของใจ ซึ่งแต่เดิมมันเคยคับแคบ อึดอัด ถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตแห่งความโศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน เศร้า ซึม เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้มอะไรอย่าง
นั้น แต่อารมณ์เหล่านั้นมันไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ไม่รู้จักว่ามีอารมณ์นั้นเกิดขึ้น มันจะสบายอย่างที่เราก็ไม่ทราบว่าจะไปเทียบกับอะไร เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรจะสบายเท่า ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตแบบชาวโลกในสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น แล้วเราก็ได้ แล้วเราก็มี แล้วเราก็เป็น แต่มันก็ไม่ทำให้ใจเราอิ่มหรือพองโตขนาดนี้
ใจนิ่งแน่นจนเห็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างภายใน
ใจเราจะใส จะบริสุทธิ์ ซึ่งมันดึงดูดให้ใจนิ่งแน่นหนักขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงในระดับที่เราเห็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างภายในนั้น บ้างก็เป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนดวงดาวในอากาศ บ้างก็เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ บ้างก็โตขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน บ้างก็ใหญ่กว่านั้น บ้างก็เท่ากับฟองไข่แดงของไก่ คือพอถึงแหล่งกำเนิดของแสงที่โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ เราจะนึกอะไรไม่ออกเลยในโลก ที่เราจะไปเทียบกับขนาดของแหล่งกำเนิดของแสงสว่างภายในดังกล่าวนั้น นอกจากฟองไข่แดงของไก่ ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหนก็แล้วแต่ เมื่อใจหยุดนิ่งเข้าถึงในระดับที่เห็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างภายในโตขนาดนี้ จะใช้คำนี้ทั้งสิ้น
เข้าถึงดวงที่มีชีวิต
นี่คือความมหัศจรรย์ของใจที่เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของทุก ๆ คน โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ใส ๆ ความใสตรงนี้จะชัดเจนกว่าเมื่อกี้นี้ เมื่อกี้นี้เราเข้าเขตอาณาจักรแห่งความใสของใจ แต่พอเราเห็นดวงใส ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เราจะเข้าถึงความจริงความหมายของคำว่า ใส มันจะเป็นดวงใส ๆ บ้างก็เรียกว่า ดวงแก้ว เพราะว่าไม่รู้จัก แต่ก็ยอมรับว่า เราไม่อาจจะเรียกว่าดวงแก้วได้ เพราะดวงแก้วเราก็เคยเห็น เห็นแล้วมันก็ธรรมดา ๆ มันกลมเหมือนกันจริง แต่นี่มันใสกว่า สว่างกว่า สำคัญที่อารมณ์สุขเวทนามันเกิดขึ้น ใจเป็นสุข สุขอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูกทีเดียว
แล้วดูเหมือนดวงนั้นมีชีวิต คือมันขยายได้ และบาง มันฟ่องเบาบาง ยิ่งเรานิ่งแล้วมันชวนดูด้วย ชวนหยุดใจมาอยู่ตรงนี้ ยิ่งเรานิ่งนุ่มหนักเข้าไปอีก ดวงนั้นจะขยาย แต่ดวงแก้วภายนอกเรามองเท่าไรมันก็โตเท่าเดิม และความรู้สึกว่าดวงข้างในกับดวงแก้วข้างนอกนั้นมันกลมไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ดวงแก้วข้างนอกเขาก็เจียระไนกลมดิกเลย แต่พอถึงดวงสว่างภายใน ที่เป็นต้นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์
ภายในนั้น เราจะมีความรู้สึกว่าตรงนี้กลมกว่า ดวงแก้วข้างนอกดูเหมือนมันยังไม่ค่อยกลม มันก็เป็นความรู้สึกที่แตกต่าง แล้วก็น่าทึ่งน่าอัศจรรย์ทีเดียว
ใจเราก็จะมีปีติ ใจจะสงบนิ่ง เราจะรู้จักคำว่า อุเบกขา นี่มันเป็นอย่างไร คือใจจะเป็นกลาง ๆ แต่มีความสุขด้วย อุเบกขาที่มีความสุข อุเบกขาบางชนิดมันไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พอถึงนิ่งตรงนี้แล้วละก็เป็นดวงใส ๆ ใจมันนิ่งเป็นกลาง ๆ แล้วบริสุทธิ์ มีความสุขมาก กลางดวงธรรมนั้นจะเชิญชวนให้เราเข้าไปสู่ภายใน จะดึงดูดเข้าไปเพื่อที่จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ได้รู้เรื่องมาก่อนเลย แล้วเป็นความรู้คู่กับความบริสุทธิ์ ความรู้คู่ความสุขก็เกิดขึ้น เราจะมีหลักของใจแล้ว ใจจะมีที่ยึดที่เกาะ ไม่ว้าเหว่ ไม่เหงา ไม่ซัดส่ายไปที่อื่นเลย
แล้วก็จะชวนให้เราสมัครใจนั่งสมาธิทุกวัน ไม่ฝืน ไม่พยายามนั่ง เหมือนความรู้สึกเก่า ๆ ที่ผ่านมาว่า เราต้องฝืนเราต้องพยายามที่จะนั่งทำความเพียร แต่นี่ฉันทะมันเกิดขึ้นเอง คือรักที่จะหยุดใจไว้ตรงนี้ มีฉันทะ วิริยะมันก็ตามมา ความเพียรจะต่อเนื่อง โดยไม่คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค ใจจะจดจ่อทั้งวันทั้งคืนเลย นั่ง นอน ยืน เดิน จะกิน ดื่ม ทำ พูด คิด หยุดนิ่ง ลิ้มรส เหยียดแขน คู้แขน หรือทำอะไรก็แล้วแต่ มันอยากจะอยู่ตรงนี้อยู่ที่เดียวเลย ใจก็จะตรวจตราอยู่ที่ตรงนี้ จะหยุดจะนิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ แล้วเดี๋ยวเราก็เห็นไปตามลำดับ
อานิสงส์ใหญ่จากใจที่หยุดนิ่ง
อานิสงส์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับเราเลย คือความรู้สึกว่าเราได้ถอดออกจากวิบากกรรมทีละเล็กทีละน้อย เพราะรู้สึกถึงความบริสุทธิ์ของใจที่หลุดพ้นจากชีวิตที่ผิดพลาดดังกล่าว ใจมันจะเกลี้ยง ๆ รู้สึกสะอาด ขยาย
มหากรุณาก็จะเกิดขึ้นตอนนี้ด้วย คืออยากให้ทุกคนในโลกได้เห็นเหมือนเรา เข้าถึงเหมือนเรา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเราเป็นเบื้องต้น ความรู้สึกเหล่านี้ก็ค่อย ๆ บังเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน
เพราะฉะนั้น ลูกทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจนะ ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วสักวันหนึ่งเราจะได้ครอบครองความรู้สึกชนิดนี้ ใจเราจะเบิกบาน แช่มชื่น นอนเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นั่งเป็นสุข ทุกอิริยาบถก็จะเป็นสุข
ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นทุกข์เพียงใด ใจเราก็มีหลักของใจ มันจะยึดตรงนี้ แล้วก็จะมีดวงปัญญา คือ ความรู้ที่พอเหมาะกับปัญหาที่เราจะแก้ มันจะเกิดขึ้นมาเอง เวลาหลับมันก็จะหลับอยู่ตรงนี้ อยู่ในกลางความสว่าง แตกต่างจากเคยหลับในความมืด เคลิ้ม ๆ มึน ซึม ตึง เมา ไม่รู้เรื่องรู้ราว หลับแบบขาดสติ ตรงนี้หลับแบบมีสติ หลับที่มันอิ่ม เราจะเห็นว่ากายหยาบเท่านั้นแหละที่พักผ่อน แต่กายละเอียดภายในก็ยังคงทำสมาธิ เราจะเห็นความแตกต่างและดูเหมือนว่าเราก็หลับปกติ แต่เหมือนประเดี๋ยวเดียว หลับอยู่ในกลางความสว่าง ตื่นออกมาก็ตื่นอยู่กลางความสว่าง แล้วก็ดึงเอาความสุขภายในออกมาขยายสู่ภายนอกด้วย ก็จะค่อย ๆ ขยายออกไป
ความสุขที่ติดออกมาจากการตื่นในกลางดวงธรรมใส ๆ ความสว่างภายใน แล้วชีวิตในวันใหม่ของเราก็จะสดใส ตั้งแต่อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร กระทั่งไปทำมาหากิน ไปเรียนหนังสือ ทุกหนทุกแห่งเราก็จะเป็นแสงสว่างให้กับทุกสถานที่อย่างมีความสุขแล้วก็บันเทิงใจ เพราะฉะนั้นต้องหมั่นฝึกนะลูกนะ หมั่นฝึกฝนอบรมใจ แล้วลูกจะเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ก็อยากจะเป็นแบบลูก
เราจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจเหมือนกาลเวลาที่ผ่านมาว่า ทำไมเราไม่รวยอย่างเขา ไม่มีอะไรทุกอย่างสมบูรณ์อย่างเขา เรามันต่ำต้อยอะไรต่าง ๆ พวกนั้น มานะทิฏฐิเหล่านั้นก็จะหมดไปหรืออย่างน้อยก็ระงับไป เพราะว่าเราไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นเลย ใจก็จะอยู่ตรงนี้ หยุดอยู่ตรงนี้สว่าง โดยจิตดำเนินเข้าไปเรื่อย ๆ กระทั่งถึงองค์พระภายใน
เราจะเป็นมนุษย์มหัศจรรย์ที่มีพระในตัว เห็นตลอดเวลา ชัดใสแจ่มทีเดียว เป็นปุถุชนที่มีพระภายใน เป็นคฤหัสถ์ที่มีพระภายใน ที่ยังวนอยู่ในโลกนี้ แบบผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม ใจเราจะสบาย เพราะฉะนั้นต้องขยันนะ เวลาที่เหลืออยู่นี้ เราก็หยุดใจนิ่งไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ วางเบา ๆ ตามที่ได้แนะนำมานะ
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙