อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ต้องสบายทุกขั้นตอน

Getting your Trinity Audio player ready...

(เมื่อเราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปเราก็นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ…….)

…ตอนนี้เราก็ฝึกน้อมใจหยุดนิ่งเบา ๆ สบาย ๆ อย่าไปตั้งใจเกินไป อย่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู เพราะไม่เกี่ยวกับลูกนัยน์ตา

ให้เรานิ่งเฉย ๆ และต้องสบาย หรือนิ่งเบาสบาย ไม่ตึง ไม่เกร็ง ไม่เครียด ไม่ฟุ้ง นิ่ง ๆ เบา ๆ ถ้าถูกส่วนตัวจะขยาย ถ้ายังไม่ถูกส่วนมันนิ่งแต่ทึบ ตื้อ ๆ ยังไม่สบาย แต่ก็ไม่ทุกข์ ไม่กลุ้มอะไร ยกเว้นเราจะไปดึงความกลุ้มเข้ามาเองว่า

“เอ นิ่งอย่างนี้ ฟุ้งก็ไม่ฟุ้ง ไม่คิดเรื่องอื่นแต่ทำไมไม่ขยาย ไม่มีแสงสว่าง ไม่เห็นภาพอะไรใหม่ ๆ มาให้เราดูเลย”

นั่นเราแส่ไปหาทุกข์ เหมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยน แกว่งใจหาทุกข์ หาความวิตกกังวล ความกลุ้มเข้ามา แต่ถ้าเรานิ่งไปเรื่อย ๆ นิ่งในนิ่ง ๆ นิ่ง นุ่ม เบา ค่อย ๆ สบาย ๆ

ขั้นตอนของใจหยุดนิ่ง

สบาย ในที่นี้ ยังไม่ถึงระดับที่เราเรียกว่าความสุข แต่ในระดับที่ไม่คับแคบ ไม่อึดอัด ไม่รำคาญ ให้นิ่งอย่างนั้นไปก่อน พอเราทำบ่อย ๆ เข้า มันก็ค่อย ๆ ละเอียด มันนิ่งระดับหยาบชั้นหนึ่งก่อน พอเรานิ่งสักพักก็จะเป็นนิ่งระดับละเอียด จะปรับไปเอง

อย่าไปกังวล พอปรับแล้วจะนิ่งละเอียด แล้วจะมีประสบการณ์ภายในเกิดขึ้น ตัวจะโล่ง ไม่ทึบ จะโปร่ง จะเบา แล้วก็ขยาย ตัวพอง ๆ ขยาย ถ้านิ่งมากก็ขยายมาก ถ้ายิ่งนิ่งก็ยิ่งขยายจนตัวหายไปเลย เหมือนไม่มีร่างกาย นี่ก็เป็นขั้นตอนของใจหยุดนิ่ง ซึ่งทำได้ทุกคน ยกเว้นคนบ้า คนตาย คนที่ไม่ได้ทำ

เรานิ่งเฉยซึ่งต้องฝึกต้องสั่งสมทำทุกวันทำบ่อย ๆ ภาวิตา พหุลีกตา บ่อย ๆ เนือง ๆ ซ้ำ ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ ปรับใจกันไปทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ทุกสถานที่ ทุกกิจกรรม ฝึกไป อะไรจะมาสู้ความเพียร เราก็ต้องเพียร ต้องพยายาม ต้องขยันฝึกไปมันก็ค่อย ๆ รู้ทาง ค่อย ๆ ชำนาญขึ้น

พอทำเป็นแล้วก็ไม่ยากอะไร พอนึกน้อมใจก็วื้ดเข้าไปเลย ไม่ต้องทำอะไร ทำเหมือนไม่ได้ทำ พอใจนิ่ง ๆ อยู่ตรงนั้นแล้ว มันได้ดุลของใจ ไม่ตึง ไม่หย่อน แล้วก็ขยาย ใส สว่าง ความสุขก็พรั่งพรูเลย ทะลักออกมาไปสู่ระบบประสาทกล้ามเนื้อ มันก็สบาย ต้องสุขสบายทุกขั้นตอน แล้วก็ค่อย ๆ เห็นขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย

เราก็ต้องใจเย็น ใจต้องเยือกเย็น ต้องยอมรับว่า เราเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เทวดา ฝึกใหม่ ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานกันอย่างนี้ ถ้าเราทำบ่อย ๆ ก็จะชำนาญ จะคล่องขึ้น การเข้าไปสู่แสงสว่างภายในก็ไม่ยากอยู่ในกำมือ หลับตาแล้วไม่มืดและนิ่ง หยุดกับนิ่งอย่างเดียวนะลูกนะ หยุดอย่างสบาย

ดูเฉย ๆ

…อย่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไปนะ ค่อย ๆ ผ่อนคลาย ทำนิ่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ มันไม่ยากเกินไป ทำสบาย ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เอาใจแตะไปเบา ๆ ตรงกลาง แล้วก็อย่าไปกังวลว่า ตรงกลางเป๊ะไหม เอาว่ากลางท้องแถว ๆ นั้นอย่างนั้นไปก่อน แล้วก็ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัวเลย ใจถึงจะรวมได้เร็ว

ถ้าหากมีอะไรผุดขึ้นมาให้เราเห็น ยังไม่ชัดก็อย่าไปพยายามเพ่ง อย่าเค้นภาพเพื่อให้ชัด มีมาให้ดู ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ดู ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีมาให้ดู ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ดู ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ดูไปเฉย ๆ อย่างนี้ ถึงจะเป็นการเพ่งอย่างถูกวิธีที่จะให้ชัดเจนขึ้น

แต่ถ้าไปเค้นภาพ ไปเพ่ง หรือไปจ้อง ไปลุ้น อย่างนั้นเพ่งแบบผิดวิธี มันจะเหนื่อย จะตึงเครียด ไม่ได้ผล ก็จะเบื่อ จะท้อ ถูกวิธีคือนิ่ง มีให้ดูแค่ไหนก็ดูแค่นั้นไปก่อน สบาย ตามใจสิ่งที่มีมาให้เราดูอย่างนั้นไปก่อน

ดูไปเรื่อย ๆ ดูสบาย ๆ และเดี๋ยวเราจะรู้สึกว่า การทำสมาธิไม่ได้ยากอย่างที่เรานึกคิด ขึ้นอยู่กับเข้าใจวิธีการหรือเปล่า ทำเป็นไหม ถ้าเป็นมันก็ง่าย ถ้าทำไม่เป็นมันก็ยาก แต่เราคุ้นกับทางโลก เวลาจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือทำการงาน มันก็ต้องบีบต้องเค้น ต้องกดดัน ต้องต่อสู้ วิธีอย่างนั้นเอามาใช้กับการฝึกใจให้หยุดนิ่งไม่ได้ มันคนละอย่าง เหมือนจะขับรถ ทางโลกจะไปให้เร็วก็ต้องเหยียบคันเร่ง แต่ในทางธรรมจะไปให้เร็วต้องหยุด ต้องนิ่ง เบา สบาย เบิกบาน

ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติธรรมเข้าไปสู่ภายใน มันสบายเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงจะถูก
หลัก ยิ่งทำแล้วยิ่งตึง ยิ่งเครียด ก็อย่าไปฝืนทำต่อ ให้ลืมตาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง ขยับเนื้อขยับตัวให้สบาย ๆ แล้วก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ

นึกทบทวนสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา ต้องอย่างนี้นะลูกนะ ฝึกกันไปเถอะ ศึกษา ฝึกฝน สั่งสม เดี๋ยวก็ได้เอง

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

บทความที่เกี่ยวข้อง