อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ต้องฝึกบ่อย ๆ ให้ชำนาญ

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส แล้วก็เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบาย ๆ

จะตรึกนึกถึงดวงใส หรือองค์พระใส ๆ ก็ได้ หรือจะวางใจเฉย ๆ ก็ได้ ให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม ให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไปตรงกลางเบา ๆ นะ สบาย ๆ

ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน

ฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ แล้วอีกหน่อยเราจะคล่อง จะชำนาญ แล้วใจจะอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นส่วนใหญ่ทีเดียว ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอะไรก็ตาม ใจจะไม่ค่อยห่างจากศูนย์กลางกาย ส่วนใหญ่จะอยู่

ถ้าคนทำเป็นแล้ว เขาเข้าถึงดวงธรรม ถึงกายภายในหรือองค์พระ ทั้งหลับตาลืมตาเขาก็จะเห็นได้ชัดเจนพอ ๆ กัน ใหม่ ๆ บางท่านลืมตาชัดกว่าหลับตา บางท่านหลับตาชัดกว่าลืมตา ฝึกบ่อย ๆ มันก็จะชัดทั้งหลับตาและลืมตา คล้าย ๆ กับว่าเรื่องของลูกนัยน์ตาไม่ได้มีปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการหยุดใจในกลางกาย แล้วยิ่งเข้าถึงพระธรรมกายก็จะชัดใสสว่าง

ก็ต้องอาศัยการฝึกฝน ไม่มีใครเก่งมาก่อน ฝึกเอาทั้งนั้น แต่บางคนทำได้ง่ายกว่าบางคน เพราะเขาสั่งสมมาข้ามชาติ เขาทำบ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ชำนาญกว่าคนที่นาน ๆ ทำที ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนกับการทำของหยาบนั่นแหละ ทำบ่อย ๆ ก็ชำนาญ นาน ๆ ทำทีก็ไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยชำนาญ ใจหยุดก็เหมือนกัน ต้องทำบ่อย ๆ และที่สำคัญมันมีความสำคัญต่อชีวิตของเราเสียด้วย

ถ้าเราปรารถนาที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เราก็ต้องฝึกหยุดใจให้ได้ทุกวัน อยากจะทำใจให้ใสเพื่อเตรียมตัวเอาไว้ถ้าหากเกิดอะไรฉุกเฉิน อยากจะได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต เรื่องราวต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยทำบ่อย ๆ หยุดใจบ่อย ๆ ฝึกกันให้มาก ๆ

จริง ๆ แล้วเราเกิดมาเพื่อการนี้ แต่เรามักให้เวลากับสิ่งอื่นมากกว่า สิ่งอื่นยั่วยวนใจเรามากกว่าสิ่งนี้ แต่ความจริงถ้าเข้าถึงจริง ๆ แล้ว เราจะเห็นว่าภายในเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าติดตาม น่าเรียนรู้กว่ามากทีเดียว เพราะฉะนั้นตอนนี้เราฝึกหยุดไปเรื่อย ๆ นะ แม้ว่าอากาศตอนบ่ายจะสู้ตอนเช้าไม่ได้ เราก็ต้องฝึกให้ชำนาญทุกสภาวะอากาศ ฝึกไปเรื่อย ๆ หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไป ให้ใจใส ๆ ให้ใจสว่างไสว

อย่าตั้งใจมากเกินไป

ถ้านั่งแล้วมันทึบ มันตื้อ มันแคบ แสดงว่าเราได้ตั้งใจมากเกินไปแล้ว ได้ไปบังคับใจ หรือพยายามทำให้สมาธิมันเกิด ควบคุมมันมากเกินไป อย่างนี้ไม่ถูกหลักวิชชานะ

ถ้าถูกหลักพอวางใจแล้วมันต้องขยาย ต้องกว้าง ไม่แคบ นิ่งแต่ไม่แคบ นิ่งแล้วต้องขยาย สบาย โล่ง ต้องโปร่ง โล่งใจ โปร่งใจ จนกระทั่งกลืนไปกับบรรยากาศ แล้วความรู้สึกที่ร่างกายก็หมดไป เหมือนกับเราไม่มีตัวตน เหลือแต่ใจที่หยุดกับนิ่ง แล้วก็หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะชัดจะใสจะสว่างขึ้นมาเอง ถ้าตั้งใจทำเป็นทุกคน ไม่เป็นเป็นไม่มีหรอก ฝึกฝนกันไป

ให้มีสติ สบาย สม่ำเสมอ แล้วก็หมั่นสังเกตว่า เรามีสติกับสบายไหม คือรู้ตัวอยู่ ณ กลางกาย หรือ ณ จุดที่เรารู้สึกสบายตรงนั้นไปก่อน แล้วทำให้สม่ำเสมอ คือให้ได้อารมณ์นั้นต่อเนื่อง สติกับสบายให้ต่อเนื่อง แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม

จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่ง ใจจะนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม แล้วมันจะขยาย แล้วก็จะค่อย ๆ ใส เหมือนใจตกตะกอน คล้าย ๆ กับเราเอาสารส้มไปแกว่งในตุ่มน้ำ ตะกอนมันก็นอนก้น หรือน้ำที่ใส ๆ เราฝึกหยุดใจก็เช่นเดียวกัน ตะกอนของใจก็ตกลงไปเหลือแต่ใจที่ใส ๆ แล้วเราก็รักษาสภาพนั้นไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปพยายามปรุงแต่งหรือไปเปลี่ยนแปลงอะไร นิ่ง ๆ เดี๋ยวมันสว่างขึ้น ชัดขึ้น ใสขึ้น เหมือนไปอยู่ในที่สว่าง แล้วก็เห็นจุดใส ๆ ดวงใส ๆ หรือองค์พระใส ๆ มาให้เห็น

อย่าตื่นเต้น…ทำเฉยกับทุกสิ่งที่เห็น

ซึ่งเราจะต้องระงับความตื่นเต้นให้ได้ เมื่อเห็นของที่ต้องใจ ของที่อยากได้ ถูกใจเรา เป็นดวง เป็นองค์พระ ก็ต้องทำใจให้เป็นปกติ เก็บความรู้สึกยินดีปรีดาเอาไว้ให้ได้ ใจจะได้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เดินทางต่อไป

ทำเฉย ๆ กับทุกสิ่งที่เราเห็น เดี๋ยวภาพนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป คล้าย ๆ กับเรานั่งไปในรถ มองดูรถที่สวนมา ภาพสองข้างทาง เป็นทิวทัศน์บ้าง ตึกรามบ้านช่อง เสาไฟฟ้า ผู้คน เราก็เฉย ๆ เดี๋ยวเราก็ไปถึงจุดหมายจนได้

ภาพที่เกิดขึ้นมาก็เหมือนกัน เราก็เฉย ๆ นิ่ง ๆ เอาไว้ จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่ง มันรวมหยุดสนิท ก็จะตกศูนย์วูบไปเลย ดวงปฐมมรรคก็ลอยเกิดขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เราจะตื่นตาตื่นใจมาก มีความสุขมาก ๆ เบิกบานทีเดียวแหละ มันมีอารมณ์ที่อยู่เหนือคำว่า ความสุข มันมีมากกว่านั้น แต่เราก็ยังอับจนถ้อยคำว่าจะใช้คำาอะไร คือมันจะสบายมาก ๆ เบิกบานมาก ๆ ประเดี๋ยวใจก็จะแล่นเข้าไปข้างใน

ดวงก็ขยาย ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่เราได้ยินได้ฟังก็จะผุดขึ้นมา เกิดขึ้นสว่างไสว นำความบันเทิงใจ เบิกบานใจเราเพิ่มขึ้น ใจของเราก็จะเกลี้ยงเกลาเพิ่มขึ้นไป สะอาดเพิ่ม บริสุทธิ์เพิ่ม ยิ่งเข้าไปถึงกายในกาย ถึงองค์พระ ถึงกายธรรม ก็จะยิ่งบริสุทธิ์สะอาดสว่างสุกใสเพิ่มไปเรื่อย ๆ สว่างไปเรื่อย ๆ ใจก็สบ๊าย สบาย

วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖

บทความที่เกี่ยวข้อง