อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

รู้จักดวงธรรมและนิมิตเลื่อนลอย

Getting your Trinity Audio player ready...

เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ

ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับตาค่อนลูกพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะ

แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่าง ๆ

แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้นปราศจากอวัยวะ สมมติว่าไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้ภายในร่างกายของเรานั้นเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ เป็นปล่อง เป็น
ช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้าย ๆ ท่อแก้วท่อเพชรใส ๆ หรือคล้าย ๆ กับลูกโป่งที่เราอัดลมอัดแก๊สเข้าไป ทำให้มันพองขยายลอยได้ ร่างกายของเราก็สมมติอย่างนั้นกันนะ ไม่มีตับ ไต ไส้ พุง โล่งว่างกลวงภายใน

คราวนี้เราก็น้อมนำใจของเรามาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่าย ๆ ว่า อยู่ในกลางท้อง หรือเราจะสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองสูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เกิด ดับ หลับ ตื่น และทางไปสู่พระนิพพาน

เราจะเห็นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ชัดเจนต่อเมื่อใจหยุดนิ่งสนิทสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องกังวลเกินไปว่า เราวางใจไว้ตรงฐานที่ ๗ เป๊ะไหม เอาว่าเราทำความรู้จักไปก่อนว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงกลางท้องเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราพึงพอใจแค่ไหน ก็ประมาณนั้นแหละ แต่ก็ต้องทำความรู้จักเอาไว้เพราะฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญมาก นอกจากเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น แล้ว คือ เกิดก็เกิดตรงนี้ ตื่นตรงนี้ หลับตรงนี้ ตายตรงนี้

เวลามาเกิด เป็นกายละเอียดเข้ามาทางปากช่องจมูกของบิดา หญิงซ้าย ชายขวา มาตามฐานต่าง ๆ มาที่หัวตา กลางกั๊กศีรษะ เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ไปที่กลางท้องระดับสะดือ แล้วก็เหนือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จะมาอยู่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ของบิดา แล้วก็บังคับดึงดูดให้บิดาไปหามารดาเพื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบห่อหุ้มกายละเอียดเอาไว้ พอถูกส่วนก็ดึงดูดเข้าไปสู่ครรภ์มารดา จะไปอยู่ตรงฐานที่ ๗ ของมารดาตรงนี้ แล้วก็หล่อเลี้ยงด้วยธาตุหยาบของมารดา เจริญเติบโตจนกระทั่งคลอดออกมา นี้เรียกว่า มาเกิด

เวลาตาย เมื่อทุกคนต้องตาย รวมทั้งตัวเราต้องตายด้วย ใจก็จะมาอยู่ตรงนี้ กรรมนิมิตมันจะฉายให้เห็นจากตรงนี้ขึ้นมา แต่เวลาเห็นไม่ได้เห็นเหมือนเราก้มมองดูนะ มันก็เห็นเหมือนเรามองวัตถุสิ่งของทั่ว ๆ ไป เห็นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นภาพ ที่เรากระทำมา อันไหนเจตนากล้าเป็นครุกรรมก็จะชัดกว่าเพื่อน ที่เป็นอาจิณกรรมทำบ่อย ๆ ก็จะรองลงมาตามลำดับ กระทั่งถึงไม่มีเจตนา ภาพเกิดขึ้นตรงนี้ใช้เวลาไม่นานเรียกว่า กรรมนิมิต ซึ่งจะมีส่วนที่ทำให้ใจเราหมองหรือใส

ถ้าเป็นภาพแห่งการทำความดี เราจะมีความปลื้มปีติภาคภูมิใจ ใจก็จะใส ถ้าหากภาพไม่ดีมันก็อับเฉาเศร้าสร้อย ใจก็หมอง เพื่อจะทำให้เห็นภาพของคตินิมิต ถ้าใจหมองคตินิมิตก็ดำมืด ถ้าใจใสคตินิมิตสว่าง ก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราว กระทั่งเวลาตาย ก็จะมี 3 เฮือก ใจก็เคลื่อนไปตามฐาน แล้วก็ออกทางปากช่องจมูกของตัวเรา ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีการใด อาจจะออกอย่างกะทันหัน หรือค่อยเป็นค่อยไปหลุดออกมา

เกิดตายตรงนี้ หลับก็ตรงนี้ ตื่นก็ตื่นตรงนี้ เพราะฉะนั้นจำง่าย ๆ ว่า ตรงฐานที่ ๗ เป็นที่เกิด ดับ หลับ ตื่น และนอกจากนี้ยังเป็นทางไปสู่ความไม่เกิดด้วย แต่เดินทางด้วยวิธีการที่ต่างกัน ถ้าจะไปเกิดมาเกิดก็เดินออกไปข้างนอก คือ ออกจากร่างกายแล้วออกไปทางปากช่องจมูก แต่ถ้าจะไม่เวียนว่ายตายเกิด ต้องเดินในเข้าไปในกลางกาย ซึ่งมันจะเห็นแผนผังของชีวิต

 

เส้นทางสายกลางภายใน เริ่มต้นที่ฐานที่ ๗

เราจะเข้าถึงแผนผังของชีวิตที่ติดตัวเรามา แต่เราไม่รู้ เป็นทางเดินไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เขาเรียกว่า เส้นทางอริยมรรค เส้นทางของพระอริยเจ้า อีกนัยหนึ่งเรียกว่า วิสุทธิมรรค เป็นเส้นทางสายกลางภายใน เกิดความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น บางทีก็เรียกว่า วิมุตติมรรค เส้นทางแห่งความหลุดพ้น พ้นจากความทุกข์ พ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นเส้นทางสายกลางภายใน ที่นอกเหนือจากเส้นทางสายกลางภายนอก แต่เรามีข้อปฏิบัติด้วยวิธีเส้นทางสายกลางภายนอกที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ตึงไม่หย่อนไป เราก็จะเข้าถึงเส้นทางสายกลางภายใน เมื่อใจหยุดนิ่ง

ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องศึกษากันเอาไว้ ต้องจำและก็อย่าไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ จำประโยคนี้เอาไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ เอามาอยู่ตรงนี้ อะไรหยุด ใจที่แวบไป แวบมา คิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ เอามาหยุดอยู่ตรงนี้ อยู่จนกระทั่งมันหยุดนิ่งสนิทติดตรงกลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้

เหมือนมีกาวชั้นดีตรึงใจติดไว้กับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ติดอยู่ตรงนี้ และหลังจากนั้นมันก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเอง เราจะเห็นเส้นทางสายกลางภายใน ซึ่งเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ เป็นเส้นทางของการไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า คือ เส้นทางประเสริฐที่จะห่างไกลจากกิเลสทั้งหลาย จากความทุกข์ทรมาน จากความไม่รู้ทั้งปวง

ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อใจติดอยู่ตรงนี้สนิท สนิทจนกระทั่งเรียกว่า อัปปนาสมาธิ มันแนบแน่น คือมันนิ่งนุ่ม แนบแน่น คือแนบติดกับตรงนี้ พอถูกส่วนก็จะตกศูนย์เข้าไปข้างใน วูบลงไป แล้วเดี๋ยวก็จะมีดวงธรรมปรากฏเกิดขึ้นมา กลมเหมือนดวงแก้วภายนอก กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ แต่ว่าใสกว่า สว่างกว่า โปร่งเบากว่า มาพร้อมกับความสุข ปีติ เบิกบาน และความรู้แจ้งภายในจะมาพร้อม ๆ กัน

แต่ต่างจากการมองดวงแก้วข้างนอก ดวงแก้วข้างนอกเห็นแล้วมันก็เฉย ๆ แต่ถ้าดวงธรรม แม้จะกลมเหมือนดวงแก้ว แต่เห็นแล้วความรู้สึกไม่เหมือนกัน มันจะแตกต่างจากความรู้สึกที่เราเคยเห็นวัตถุภายนอก จะมาพร้อมกับความสุข ใจจะขยาย โล่ง โปร่ง เบา สบาย ขยาย บริสุทธิ์ หยุดนิ่ง

ดวงธรรมจะเกิดขึ้นตรงนี้ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ เป็นจุดเล็ก ๆ ใส ๆ เหมือนปลายเข็ม บางทีเหมือนดาวในอากาศ ที่เราเคยมองเห็นในคืนเดือนมืด เห็นที่ไกลลิบ ๆ บางดวงก็เห็นชัด อย่างดาวประจำเมือง ก็จะเห็นชัดสุกใส บางดวงก็ไม่ชัด ธรรมดวงแรกเป็นจุดมันก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่นิ่ง มันไม่เห็น ถ้านิ่งจะเห็นชัด

อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ

อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้นตามกำลังบารมี หรือเหมือนฟองไข่แดงของไก่สุกใสสว่างไสวเกิดขึ้น

ธรรมดวงนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ธรรมดวงแรก ความบริสุทธิ์เบื้องต้นเกิดขึ้น บางครั้งท่านก็เรียกว่า ปฐมมรรค คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน ในเส้นทางของพระอริยเจ้า สิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา แต่เราไม่รู้ว่ามี เพราะเราเอาใจไปหมกมุ่นเรื่องอื่น ไปในเรื่องราวต่างๆ

ธรรมดวงนี้มาพร้อมกับความสุข ความบริสุทธิ์ ความรู้แจ้ง ความเบิกบาน มาพร้อมกันเลย ความตื่นตัวภายใน รู้สึกเราจะกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาเกิดขึ้น คล้าย ๆ เซลล์ในร่างกาย หรือทุกอณูขุมขนเรา ไม่มีส่วนใดที่ไม่ได้รับความสุขหรือกระแสธารแห่งความสุข มันจะมีปีติสุข เบิกบาน เมื่อธรรมดวงนี้เกิด นี่แหละคือต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่เรียกว่า ปฐมมรรค

เราจะปฏิบัติธรรมแบบไหนก็ตาม ถ้ายังไม่เจอธรรมดวงนี้ล่ะก็ ไปนิพพานยังไม่ได้ เพราะธรรมดวงนี้เป็นปฐมเลย เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามาถูกทางแล้ว มาถึงจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ แต่ตอนสุดท้ายต้องได้ธรรมดวงนี้ ถ้าไม่ได้ตรงนี้แล้วไปนิพพานไม่ถูก

เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติมีหลากหลายอย่างเป็นร้อยเป็นพัน แต่สรุปย่อมาในวิสุทธิมรรคมี ๔๐ วิธี แต่ปัจจุบันนี้ก็แตกตัวมาอีกหลายวิธี แล้วก็ใช้คำภาวนาต่างกัน บางแห่งก็ พุทโธ ธัมโม สังโฆ, สัมมา อะระหัง, ยุบหนอ พองหนอ, พุทโธ, นะ มะ พะ ทะ, เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ เป็นต้น บางทีก็นอกเหนือจากคำเหล่านี้

คำภาวนา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดึงใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมภายในตัว มาอยู่กับเนื้อกับตัว แต่พอถึงจุด ๆ หนึ่ง เมื่อใจหยุดนิ่ง ก็จะทิ้งคำภาวนาไป มันจะหายไป คล้าย ๆ กับเราลืมไป เลือนไป หรือไม่อยากจะภาวนา อยากอยู่เฉย ๆ ถึงจุดอิ่มตัวแห่งการภาวนา

ใจมันจะนิ่ง นุ่ม แน่น พอถึงหัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้ เราก็ควรจะปล่อยให้มันนิ่ง นุ่ม แน่น อย่างนั้น อย่าไปเน้น นิ่ง นุ่ม แน่น สบาย ตักตวงความสุข ความปีติ เบิกบาน เป็นรางวัลของการนำใจมานิ่ง ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่ใจเอาชนะนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว ตรงนี้ความเบิกบานจะเกิด แสงสว่างจะเกิด ความสุขเบื้องต้นก็จะเกิด เป็นความสบายกายสบายใจที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยคิดว่าความสุข

บางคนบอกว่า ความสุขอยู่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง ก็ไปหมกมุ่นอยู่ตรงนั้น ความสนุกสนานเพลิดเพลินก็ติดเกมติดอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น บ้างก็ว่าดูหนังดูละคร หรือในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่พอมาถึงตรงนี้แล้วไม่ใช่ บางคนก็ว่าอยู่ที่การพนันอบายมุข จากการเชียร์บอล ซึ่งถูกพ่วงไปด้วยการพนัน มันมีลุ้นระทึก มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะฉะนั้นร่างกายจึงไม่ได้สัมผัสความสุขเลย เรากำลังถูกทำให้หลงทางเบี่ยงเบนไปจากความหมายของคำว่า ความสุขที่แท้จริง

เราจะเห็นว่า สิ่งที่เราเคยเข้าใจว่าความสุข มันถูกครอบด้วยความหายนะของชีวิต แต่เราไม่รู้สึกตัวเลย หลงติดกันอยู่ตรงนั้น แต่เมื่อไรใจหยุดนิ่งแล้ว เราจะเริ่มได้สัมผัสกับความปีติที่สามารถเอาชนะนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ มีกามฉันทะ พยาบาท เป็นต้น แล้วมันก็จะสบายกาย สบายใจ สบาย เบิกบาน ในระดับหนึ่ง มันก็จะนิ่ง เพราะที่ไหนอยู่เย็นตรงนั้นเป็นสุข มันจะอยากอยู่ตรงนั้นแหละ

พอใจมาอยู่ตรงนี้มันเย็น เย็นกาย เย็นใจ สบ๊าย สบาย กายเนื้อหายไปหมด เหมือนไม่มีร่างกาย แสงสว่างมันจะเกิด เป็นแสงแห่งความบริสุทธิ์ แสงแรกที่ใจหลุดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ สว่างแล้วเมื่อตกศูนย์วูบลงไป มีดวงธรรมลอยขึ้นมาตรงนี้มีฐานของใจแล้ว ใจมีฐานแล้ว มั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว เป็นดวงใส

อย่าไปติดนิมิตเลื่อนลอย

แต่ระหว่างการปฏิบัติช่วงนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นที่เรียกว่า วิตก

วิตก คำนี้ไม่ได้แปลว่า วิตกจริต หากหมายถึง การที่เราตรึกระลึกนึกถึงคำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง

วิจาร คือ ทำให้ต่อเนื่องกันไป กระทั่งเอาชนะนิวรณ์ได้ระดับหนึ่ง ก็คือสติว่าชนะแล้ว มีสุขเป็นรางวัล กระทั่งนิ่ง

ในช่วงนี้ บางคนจะมีนิมิตเลื่อนลอยเกิดขึ้นซึ่งมีหลากหลาย เป็นนิมิตที่ทำให้เกิดความยินดีก็มี ยินร้ายก็มี คือ พึงพอใจก็มี หรือไม่ชอบใจก็มี บางทีอาจจะเห็นภาพคน สัตว์ สิ่งของ เห็นต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา เรื่องราวต่าง ๆ ภาพนรกสวรรค์ ตรงนี้เห็นจริงแต่สิ่งที่เห็นไม่จริง เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงแนะนำว่า อย่าไปติดนิมิต คำว่า อย่าไปติดนิมิตหมายเอาช่วงนี้ ช่วงเริ่มต้นจากวิตก วิจาร ก่อนมาถึงปฐมมรรคซึ่งเป็นภาพสุดท้าย เป็นนิมิตสุดท้าย ไม่ใช่เหมาเอาหมด

คล้าย ๆ สมมติเราอยู่ที่บ้านอยากจะมาวัดพระธรรมกาย เราก็นั่งรถมา เราผ่านภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีตึกรามบ้านช่อง เสาไฟฟ้า ถนนหนทาง รถราสวนกัน ผู้คน สุนัข นกกา อะไรต่าง ๆ ถ้าเราไปแวะข้างทางตรงนั้น มันก็มาไม่ถึงวัดพระธรรมกาย ถ้าสมมติมาจากกรุงเทพ มาถึงดอนเมือง เราเห็นภาพเครื่องบิน นึกว่าตรงนี้เป็นวัดพระธรรมกายไปแวะตรงนั้นก็ไม่ใช่ หรือมาถึงรังสิต อ้าว นึกว่าเป็นวัดพระธรรมกาย ก็ยังไม่ใช่ มันจะมีภาพเหล่านี้เรื่อยมาเลย

แต่ถ้าเราไม่สนใจ คือ มีภาพอะไรให้ดู เราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบายเหมือนดูทิวทัศน์ รถสวนมาเราก็หลบกันไป หลีกกันไป แซงเขาบ้าง เขาแซงเราบ้าง ไปเรื่อย ๆ โดยเราก็ไม่ได้คิดอะไร มีแต่ใจมุ่งจะมาวัดพระธรรมกาย และในที่สุดเมื่อเข้ามาถึงวัดพระธรรมกาย อ๋อ มันแตกต่างจากที่เราผ่านมา เพราะมีมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งที่อื่นไม่มี นี่สมมติเอานะ

เพราะฉะนั้น เราต้องแยกให้ออก อันไหนเป็นนิมิตเลื่อนลอยที่ไม่ควรติด ซึ่งเราคุ้นกับคำว่า อย่าไปติดนิมิตหมายเอาช่วงนี้ ช่วงตั้งแต่ใจฟุ้งซ่าน คิดเรื่องกามบ้าง เรื่องทรัพย์บ้าง โกรธ ขัดเคือง ขุ่นมัว สงสัย ลังเล ง่วง เคลิ้ม ท้อ กระทั่งฟุ้งไปในเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน เป็นต้น

ซึ่งพอใจมันว่าง ทีนี้มันก็จะมีภาพอะไรที่สั่งสมอยู่ในใจเรา เพราะเราผ่านประสบการณ์เรื่องราวต่าง ๆ มันมาเป็นภาพ เป็นแสง เป็นสี เป็นเสียงอะไรต่าง ๆ มันก็เก็บเอาไว้ในใจ พอใจจะเริ่มเดินทางเข้าสู่ภายใน สู่การหยุดนิ่ง มันก็จะคลายตัวออกมาเป็นภาพ เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งมันไม่จริงทั้งนั้นแหละ บางทีภาพนรก ภาพสวรรค์อย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา ก็เลยมาปะติดปะต่อเป็นคุ้งเป็นแควกันไป นิมิตเลื่อนลอยจะเกิดตอนช่วงนี้

“ดวงธรรม” ไม่ใช่นิมิตเลื่อนลอย

ถ้าเราไม่สนใจมัน คือ นิ่ง นุ่ม แน่น สบายต่อไป ดูไปเฉย ๆ เหมือนดูทิวทัศน์ ก็จะถึงจุด ๆ หนึ่งที่ใจค่อย ๆ ตกตะกอน ละเอียด นุ่ม ถูกส่วนแล้วตกศูนย์วูบ ธรรมดวงแรกที่เกิดขึ้นเป็นดวงใส ๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือใหญ่กว่านั้น เรามาถึงที่หมายเบื้องต้นแล้ว เหมือนมาถึงสถานีที่เราจะขับรถเคลื่อนกันต่อไป เป็นรถหลาย ๆ ผลัดส่งไปถึงที่หมาย

ดวงธรรมที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่นิมิตเลื่อนลอย

ต้องแยกให้ออกนะ ทีนี้ถ้าใครไม่มีประสบการณ์อย่างนี้มันจะแยกไม่ออก อันไหนจริง อันไหนเลื่อนลอย ดังนั้นก็สรุปจำง่าย ๆ ว่า
 

ภาพสุดท้าย คือ ดวงใส ๆ ในจุดเบื้องต้น ถ้าถึงดวงใส ๆ แสดงเราผ่านนิมิตเลื่อนลอยมาแล้ว ใจตั้งมั่นแล้ว เป็นเอกัคคตา เป็นหนึ่งแล้ว ดวงใสก็เกิดที่เรียกว่า ปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอมาถึงตรงนี้ได้ก็เย็นใจได้เลย เพราะเราต้องไปถึงที่หมายโดยปลอดภัย มีสุขแล้วก็มีชัยชนะอย่างแน่นอน

ทีนี้บางท่านพอมาถึงดวงใส ๆ ก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก เพราะไม่ได้รับคำแนะนำ ก็เหมารวมเอาว่าดวงใส ๆ เป็นนิมิตเลื่อนลอยไปด้วย นี่คือข้อพลาด พอมาถึงตรงนี้ เห็นแล้วก็แนะนำให้หายไปเสีย โดยเหมาว่าเป็นนิมิตเลื่อนลอย ด้วยประโยคถ้อยคำที่คล้าย ๆ กันบ้าง ไม่ให้สนใจบ้าง หรือนึกถึงคำภาวนา หรือคำใดคำหนึ่งขึ้นมา เดี๋ยวมันก็หายไป ไม่ว่าจะนึกคำอะไรขึ้นมา มันก็หาย เอ๊ะอ๊ะ ก็หาย เอ๊ะ นิมิตเลื่อนลอยมั้ง หายอีก หรือจะนึกถึงประโยคคำอะไรที่เราคุ้น ๆ มันก็หายอีก พอถึงตรงนี้แล้ว ไม่ควรจะไปกระตุ้นให้เกิดความคิดใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องนิ่งต่อไปจึงจะถูกต้อง

พอถึงตรงนี้บางแห่งบอกให้หายไป อย่าไปสนใจ ใช้คำว่า “ดวงใส ๆ คือกองขี้ควาย” บางคนเขาใช้นะ “มันไม่มีความหมาย มันเหมือนขี้ควาย ควายมันยังไม่สนเลย ไม่มีประโยชน์” พอไม่สน มันก็หายไป เหลือแต่ความสว่างที่กว้าง ๆ

ความสว่างที่กว้าง ๆ นี่ บางทีมันก็ทำให้หลงทางได้ เพราะช่วงนี้มันมีความสุข แล้วมันมีความรู้อะไรที่ดูเหมือนจะแจ่มแจ้งในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คล้าย ๆ จะแตกฉานไปหมดทุกคำ เลยเข้าใจว่าเป็น ธัมมวิจยะ คือการวิเคราะห์วิจัยธรรม มันจะชุ่มชื่นใจ ปีติใจ ภาคภูมิใจว่าเราแจ่มแจ้ง ขบคิดข้อธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้สึกแตกฉาน อิ่มอกอิ่มใจ

บางคนใช้ความสว่างตอนช่วงนี้ มาพิจารณากายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือจะเจริญอสุภกรรมฐาน ตอนนี้จะเห็นภาพของซากศพชัดเลย แต่มันแปลก ซากศพมันจะเป็นแก้ว เราจะนึกคิดให้มันแยกแยะอย่างไรก็ได้ ให้เป็นปฏิกูลก็ได้ ไม่เป็นปฏิกูลก็ได้ หรือไม่เป็นทั้งสองอย่างก็ได้ ปฏิกูลก็ไม่ใช่ ไม่ปฏิกูลก็ไม่เชิง

พอพิจารณาบ่อยๆ ในกายคตาสติ ใจมันก็เบื่อหน่ายในกายน่ะ ในกายเรา และกายคนอื่น จิตมันก็รวม สงบนิ่งอีกแล้ว พอถึงดวงก็เพิกดวง คือปล่อยดวงเอาแต่ความสว่าง สงบ นานบางทีเป็นวัน บางทีหลายวัน พอใจถอนขึ้นมา มันก็ดึงเอาความสุข ความสดชื่น ติดออกมาด้วย และดูเหมือนว่า จะแตกฉานในข้อธรรมะ มีความปลื้มปีติ ตรงนี้ใครจะไปแนะนำล่ะ ยากแล้ว บางคนติดอย่างนี้จนตาย แต่ก็สบาย ความสุขมันจะขยายไปสู่ระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผิวพรรณวรรณะจะเปล่งปลั่ง ผ่องใส เบิกบาน เพราะใจของผู้ที่เข้าถึงจะชุ่มเย็น มันเย็นใจ และเข้าใจอะไรต่างๆ ได้ดีทีเดียว

ตรงนี้แหละที่จะทำให้เราไม่ได้เดินทางกันต่อไป ยกตัวอย่าง เหมือนจะมาวัดพระธรรมกายแต่ไปติดแถวรังสิตอย่างนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อเข้าถึงดวงธรรมแล้วอย่าให้หาย แล้วอย่าเอาตรงนี้มาใช้ในขบวนการคิดต่อ ไม่ว่าความคิดนั้นจะเป็นกุศลธรรมก็ตาม หรือเป็นข้อธรรมะก็ตาม สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างเดียว หยุดเป็นตัวสำเร็จนี่แหละ

เพราะฉะนั้น พอถึงดวงตรงนี้ เมื่อเราผ่านนิมิตเลื่อนลอยมาแล้ว และเข้าใจดีขึ้นว่าไม่เหมาเอาดวงปฐมมรรคเป็นนิมิตเลื่อนลอยไปด้วย ให้ทำใจนิ่งต่อไป พอนิ่งนุ่มต่อไปก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ที่เรียกว่า คมนะ เราได้ยินคำว่า ไตรสรณคมน์หรือไตรสรณะ คมนะ คือการแล่นเข้าไปหาพระรัตนตรัย ที่มีอยู่ภายในตัวของทุกคนในโลก ใจกำลังเคลื่อนเข้าไปนี่แหละ เราอย่าไปยั้ง อย่าไปฝืน ก็ต้องอาศัยครูผู้มีประสบการณ์ภายในแนะนำ ให้ปล่อยลงไปเรื่อย ๆ คือดูไปเรื่อย ๆ

ถ้าเข้าถึงของจริงจะหมดข้อสงสัย

แวะอีกนิดหนึ่ง ทีนี้ก่อนที่จะถึงปฐมมรรคตรงนี้ สำหรับบางคนที่นึกองค์พระเป็นนิมิต เพราะมาปฏิบัติที่สำนักนี้ ให้ตรึกดวงหรือองค์พระ บางทีก็จะเห็นองค์พระขึ้นมา อะไรขึ้นมา แต่ขึ้นมาในระดับช่วงนี้ ช่วงระหว่างเริ่มต้นกระทั่งใจนิ่งระดับหนึ่ง ถ้าตรึกองค์พระก็จะเห็นองค์พระ ตรึกดวงก็จะเห็นดวง ตรึกดวงในองค์พระก็จะเห็นดวงในองค์พระ ตรึกองค์พระในดวงก็จะเห็นองค์พระในดวง มักจะมีข้อสงสัยว่า เราคิดไปเอง หรือว่าเกิดขึ้นจริง

ความสงสัยหรือวิจิกิจฉาตรงนี้ก็เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง คือเป็นอุปสรรคที่ทำให้ใจมาคิดแล้ว เอ๊ะ ใช่หรือไม่ใช่ คิดเองหรือเกิดขึ้นจริง ความคิดอย่างนี้จะเกิดในช่วงเริ่มต้นก่อนไปถึงปฐมมรรค ถ้ามีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมาแสดงว่ายังไม่ใช่ เพราะถ้าใช่จะไม่มีความคิดอย่างนี้

ทีนี้มันเกิดขึ้นในตอนช่วงนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำมีเพียงประการเดียว คือ ดูไปเฉย ๆ เห็นองค์พระก็ดูองค์พระ เห็นดวงก็ดูดวง เห็นดวงในองค์พระก็ดูดวงในองค์พระ เห็นพระอยู่กลางดวงเราก็ดูพระในกลางดวง ก็ดูไปเรื่อย ๆ ตกม้าตายตรงนี้กันเยอะ ที่มาเรียนในสำนักนี้ หรือสำนักเดียวกัน แต่ว่าอยู่ที่ต่าง ๆ กัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคือดูไปเฉย ๆ ไม่ต้องคิดว่าอะไร อย่าไปวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ประสบการณ์ เพราะเรากำลังเรียนกันในระดับนักเรียนอนุบาล ไม่ใช่เรียนในระดับ Professor หรือ Doctor ที่จะต้องทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ว่าคิดเองหรือว่ามันเกิดขึ้นจริง เรายังไม่ถึงขั้นนั้น ความคิดขั้นนี้ยังเอามาใช้ไม่ได้ ต้องใช้ความไม่คิด คือมีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น

มันแปลกอยู่อย่าง เหมือนมีกรรมมาบัง หลวงพ่อก็แนะนำอย่างนี้มา ๔๐ ปีแล้ว แต่พอถึงตรงนี้ตกม้าตายกันเกือบจะทุกคน ‘เอ๊ะ ใช่หรือไม่ใช่ คิดเองหรือว่าใช่ ไม่ใช่มั้ง มันง่ายเหลือเกิน’ อะไรอย่างนี้ เพราะธรรมะเป็นของลึกซึ้งจะต้องเข้าถึงยาก คิดว่ามันต้องยาก พอเราได้ง่ายขึ้นมา เราก็นึกว่าไม่ใช่

ดังนั้น สิ่งที่เห็นขึ้นมา แม้ยังไม่ใช่ปฐมมรรค ก็ไม่ควรเอาความคิดมาคิดในช่วงนี้ ต้องจำนะลูกนะ ถ้าไม่จำมันเป็นอย่างนี้ไปจนตายน่ะแหละ ซึ่งเราก็จะต้องไปแก้ไขอีกทีตอนเราเกิดใหม่นั่นน่ะ เราก็จะต้องเลือกเอาว่า เราจะทำความเข้าใจตอนนี้ หรือจะเอาเข้าใจชาติหน้า หรือสิบปีข้างหน้า หรือยี่สิบปี หรือก่อนตายดี มันก็แล้วแต่เรา ก็ตัดสินใจเอา ถ้าจะออกแบบชีวิตว่า ไปเข้าใจชาติหน้าก็เอา ก็คิดวน ๆ กันไปอย่างนั้นน่ะ ใช่หรือไม่ใช่ คิดเองหรือว่าเกิดขึ้นจริง หรือนิมิตเลื่อนลอยมั้ง หรือเพิกนิมิตให้หายไป ก็แล้วแต่เราน่ะ

ถ้าเราอยากแค่ว่ามีประสบการณ์ภายในเล็กน้อย ได้ขันติบารมี ความเพียร แล้วเราไปเอาดีชาติหน้า ก็ให้ทำอย่างที่เคยทำกันเองนั่นแหละ ที่หาวิธีกันเองน่ะ แต่ถ้ารักอยากจะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวเร็ว ๆ เพราะว่าเรามีเวลาจำกัดอยู่ในโลกนี้ ก็ทำตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ซึ่งท่านผ่านขั้นตอนแบบพวกเรามาแล้วน่ะ เอ๊ะ ใช่ไหม ใช่ เอ๊ะ งั้น เอ๊ะ งี้ นิมิตเลื่อนลอยหรือจริง มานานแล้วน่ะ

ท่านก็สรุปให้ได้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ คือไม่ต้องทำอะไรที่นอกจากนี้ นอกเหนือจากหยุดกับนิ่งอย่างเดียว

ถ้าเราทำตามนี้ เราก็สามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวได้ในชาตินี้ ไม่ต้องไปคอยชาติหน้า แล้วภพชาติต่อไปจะได้ศึกษาเรียนรู้ต่อกันไปอีก ไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นกันใหม่ เพราะฉะนั้นหยุดเป็นตัวสำเร็จนะ สำคัญนะ สิ่งที่พูดไปอย่าฟังผ่าน ๆ ถ้าฟังผ่านแล้วติดข้ามชาติไปเลย

ที่เสียเวลาในการสร้างบารมีกันมาหลายชาตินั่นก็

๑. ขี้เกียจทำ

๒. ไม่ได้ทำ หรือ

3. ได้ทำ แต่ว่าค้นหาตามวิธีของตัว มันก็ช้า

ไม่ทำตามที่บรมโพธิสัตว์ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านแนะนำสั่งสอน ท่านค้นมาให้แล้ว เราแค่คว้าทำตามเท่านั้นแหละ เหมือนอาหารตักเข้าปากแล้วเคี้ยวอย่างเดียว ไม่ต้องไปปลูกข้าวในนาอย่างนั้นน่ะ กว่าขบวนการนั้นมาถึงข้าวเข้าปากนี่ มันยาก อย่าไปเสียเวลากันเลย

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปเวลาที่เหลืออยู่นี้ ฝึกใจหยุดนิ่ง อย่างสบาย ๆ ไม่ใช่ลำบาก ๆ นะลูกนะ ทำใจหลวม ๆ เหมือนสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ทำใจให้เบิกบานสมกับเป็นผู้มีบุญที่จะเข้าถึงธรรมภายในได้อย่างง่าย ๆ

อากาศกำลังสบาย เป็นสัปปายะ เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ก็ให้ลูกทุกคนฝึกหยุดใจนิ่ง ๆ อย่าไปตั้งใจมากเกินไป อย่าอยากได้ อยากเห็น อยากมี อยากเป็นเกินไป อย่าไปลุ้น อย่าไปเร่ง อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง มองเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ มีความมืดให้มองก็มองความมืด แต่ให้เป็นมืดสบาย มีอะไรให้ดู เราก็ดูไปนิ่ง ๆ

หรือจะภาวนาว่า สัมมา อะระหัง ให้เสียงดังออกมาจากในกลางท้อง ไม่ใช่ดังที่สมองนะ เหมือนเสียงที่ล่องลอยมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ภายใน จากอายตนนิพพานผ่านมาในกลางกาย ขจัดมลทินที่มีอยู่ในใจเราให้หมดไป แปรเปลี่ยนอกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม สงัดจากกาม จากบาปอกุศลทั้งหลาย และใจก็ตั้งมั่นอย่างดีเลย ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุก ๆ คนนะ

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

บทความที่เกี่ยวข้อง