อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

หลักวิชชาใจหยุดนิ่งและอาการตกศูนย์

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิกันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ รวมใจไปหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หยุดใจนิ่งอย่างสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายเรา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้สบาย ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง

ทำจุดเริ่มต้นให้เป็น

การทำใจของเราให้หยุดนิ่ง ๆ อยู่ภายใน ไม่ใช่เรื่องยากมากเกินไป ยากในระดับที่เราสามารถทำได้ เข้าถึงได้ ถ้าเรารู้หลักวิชชา มันสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้นตรงนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปิดเปลือกตาในระดับที่ปรือ ๆ นิด ๆ แล้วก็ทำความรู้สึกในกลางท้องเบา ๆ สบาย ๆ แล้วก็ผ่อนคลาย เราต้องทำตรงนี้ให้เป็นแล้วจะง่าย

ผ่อนคลายก็ต้องผ่อนคลายจริง ๆ ทั้งเนื้อทั้งตัว เปลือกตา หน้าผาก ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ลองผ่อนคลายดูนะ ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย

อย่าคาดหวัง นิ่งให้เป็นเสียก่อน

แล้วก็อย่าไปคาดหวังว่า เราจะต้องเห็นโน่น เห็นนี่ เห็นนั่น เอาว่านั่งให้ถูกต้อง ถูกหลักวิชชาเสียก่อน แล้วก็นิ่งให้เป็นเสียก่อน นิ่งในระดับที่ไม่ตึง ไม่เกร็ง นิ่งแบบผ่อนคลาย นิ่ง นุ่ม เบา ๆ นี่ทำตรงนี้ให้เป็นนะ เดี๋ยวเราจะเห็นว่า มันไม่ยากหรอก ทำสองสามประโยคที่หลวงพ่อบอกไว้ให้เป็น นิ่งให้เป็น นิ่งนุ่มให้เป็น นิ่งนุ่มผ่อนคลายให้เป็น ให้ใจใส ๆ อยู่เหนือความอยากได้ อยากเห็น อยากมี อยากเป็น ให้ใจเป็นกลาง ๆ ลองทำตรงนี้นะ ให้เป็นกลาง ๆ รู้สึกสบาย

ถ้าทำสามสี่ประโยคนี้ได้ถูกหลักวิชชา ถ้าทำเป็นตัวของเราจะกลืนกับบรรยากาศ แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรหรอก มันจะกลืนอยู่ในระดับที่เราพึงพอใจ ชอบใจที่นั่งอย่างนี้ ‘เออ รู้สึกไม่ยาก’ ความรู้สึกว่า ไม่ยากเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ‘อือ ถ้าไม่เห็นภาพอะไร ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เห็นก็ดีไม่เห็นก็ไม่เป็นไร’ ถ้าเมื่อไรเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แสดงว่าถูกหลักวิชชาแล้ว

เรานั่งนิ่งเห็นได้ก็ดี เห็นได้แค่ไหนก็ดี ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร นิ่ง นุ่ม สบาย ถ้าทำตรงนี้เป็น เพียงไม่กี่นาที ใจก็รวมแล้วตัวจะโล่ง ๆ โปร่ง เบา เราจะรู้จักคำนี้เลย เข้าถึงคำคำนี้ จากประสบการณ์ภายในที่เป็นอย่างนี้ จะไปใช้คำอื่นไม่ได้ คือตัวมันโล่ง กลวง ๆ เป็นโพรง บางทีก็พอง ๆ โต ๆ แล้วก็ขยาย โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงว่า เราจะได้เห็นอะไร ถ้าได้อย่างนี้ก็ยิ่งถูกหลักเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เราทำถูกวิธีแล้ว

แล้วหลังจากนั้น เราก็ไม่ได้คิดเรื่องอะไร ไม่กังวลอะไร เฉย ๆ อยากอยู่อย่างนี้อย่างสบาย ๆ ทีนี้พอเราทำอย่างนี้ มันจะเกินกว่าที่เราคาดคิด เริ่มรู้สึกมีปีติที่เราสามารถทำได้ แล้วก็จะมีความสุขน้อย ๆ ขึ้นมา อยู่ในระดับที่เป็นรางวัลให้เราอยากทำถูกวิธี แล้วก็มีแรงจูงใจให้เราอยากนั่งอีก ไม่ใช่ไม่อยากนั่งอีก นั่งเองโดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม แล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่า ‘แหม เวลาทำไมหมดเร็วจัง พระอาจารย์ไม่น่าสัพเพเลย’ ถ้าถูกวิธีนะมันจะเกิดอย่างนี้ แม้ยังไม่มีแสงสว่างให้ดู ยังไม่มีภาพอะไรให้ดูเลย ก็พึงพอใจ ถ้าใครมาถึงตรงนี้ เท่ากับเรากำความสำเร็จในการที่จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวล้านเปอร์เซ็นต์เลย

หมั่นสังเกต ๒-๓ นาที ก่อนเลิกนั่ง

นี่คือ ข้อสังเกตของเราในแต่ละครั้งที่เรานั่ง ตอนที่เราเลิกนั่งแล้วนะ อย่าไปสังเกตตอนนั่ง แต่ถ้าเลิกนั่งแล้วให้ทบทวนดู สมมติว่า เราจะนั่งสัก ๑ ชั่วโมง หรือกี่ชั่วโมง หรือกี่นาทีก็แล้วแต่ พอเราอยากจะเลิกให้นิ่ง ๆ อีกสัก ๒-๓ นาที เพื่อทบทวนว่า วันนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเราทำมาอย่างไร ทำไมรู้สึกวันนี้เราอยากนั่งจังเลย รู้สึกชอบจัง มีปีติ มีความเบิกบาน ให้ทบทวนสัก ๒-๓ นาที แล้วค่อยลุกไปเปลี่ยนอิริยาบถจะไปทำอะไรก็ไปทำเถอะ

นี่สำคัญนะลูกนะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเรา ที่จะแสวงหาพระรัตนตรัยในตัว ถ้าทำตรงนี้ไม่เป็นมันก็นาน จะเสียเวลา และเวลาเราก็ไม่ควรจะเสียไปมาก เพราะเรามีเวลาไม่มากในโลกนี้ ก็จะต้องทำให้ถูกวิธีเสียตั้งแต่ตอนนี้

ลูกทุกคนมีบุญมากอยู่แล้วที่จะเข้าถึง แล้วก็เคยเข้าถึงกันมาแล้ว แต่ว่าชาตินี้เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ มัวไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารหรือเกิดประโยชน์อะไรมากนัก เสียเวลากับสิ่งนั้นมากเกินไป และต้องมาเสียเวลาเพิ่มอีกในการที่จะคลี่คลายตัวเองให้ผ่อนคลายจากความคิดคำนึงต่าง ๆ เหล่านั้นให้หมดไป

จากนี้ไปเรามีเวลาเหลืออีกไม่มากแล้วสำหรับชาตินี้ ทำให้ถูกหลักวิชชาเสีย ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วก็ให้สังเกตทบทวนทุกครั้งที่เลิกนั่ง แล้วก็จดจำไว้

มีข้อสังเกตอยู่ที่ลูกทุกคนจะต้องจำก็คือ วันไหนเรามีอารมณ์ดีทั้งวัน จิตเป็นกุศล คิดแต่เรื่องความดี เรื่องบุญกุศล หรือรู้สึกสบายใจ ใจว่าง ๆ ไม่ติดอะไรเลย ในคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง วันนั้นเราจะนั่งดีเป็นพิเศษ หรือเราปลื้มในความดีอะไร ในบุญของเราสักบุญหนึ่ง หรือหลาย ๆ บุญที่นึกแล้วปลื้มเป็นกุศลธรรม เวลาเรามานั่ง ขายังไม่ทันได้คู้เข้ามาเลยนะ ใจมันก็พรึบรวมเข้าไปข้างในแล้ว

ลูกทุกคนมีบุญ บุญเก่ามีเยอะมากพอที่จะเข้าถึง ถ้าศึกษาวิธีการให้ถูกหลักวิชชา แล้วก็ฝึกฝน ปรับปรุงวิธีการปรับใจไปเรื่อย ๆ ให้ผ่อนคลายแค่นั้นแหละ เดี๋ยวก็จะเป็นของมันไปเอง

แต่บางครั้งเราก็ต้องยอมที่จะให้ความคิดผ่านมาในใจบ้างในบางครั้งบางคราว แต่ถ้าหากเราคิดว่า จะเอาไม่อยู่แล้ว เราก็เผยอเปลือกตาขึ้นมาสักนิดนึง มันก็จะหายฟุ้งเอง แล้วก็ค่อย ๆ เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ เราต้องพร้อมที่จะเป็นนักเรียนอนุบาลเสมอ ทุก ๆ ครั้งที่ใจเริ่มไม่หยุด ไม่นิ่ง มันฟุ้ง เราก็ปรับไปสบาย ๆ

อาการตกศูนย์ ๒ แบบ

ถ้าวิธีถูกต้อง ก็จะทำให้ถูกส่วนเอง จะโล่ง โปร่ง เบาสบาย กายสงบ ใจสงบ ไม่ค่อยปวดเมื่อยเท่าไร แล้วก็เริ่มเบิกบาน ใจจะถูกตรึงให้ติดแน่นอยู่กับกลางท้อง กลางกาย โดยที่เราไม่ได้คำนึงว่าฐานที่ ๗ หรือเปล่า แต่รู้สึกจะถูกตรึงตรงนั้น จากถูกตรึงก็จะถูกดึง มีอาการเหมือนถูกดูดลงไปคล้าย ๆ กับมีแม่เหล็กโลก แม่เหล็กยักษ์ที่มองไม่เห็นมันดึงแล้วให้เคลื่อนเข้าไป ถ้าค่อยๆ ดึงเคลื่อนไปช้า ๆ เหมือนน้ำที่ไหลรินไปล่ะก็ รู้สึกชอบ เป็นสุข แต่ถ้าพรวดพราดเหมือนตกจากที่สูง ลงเหวบ้าง เหมือนตกหลุมอากาศ วูบลงไป ตรงนี้เราจะผวา บางทีเหมือนเจียนแทบจะขาดใจตาย ซึ่งเราคิดไปเอง ว่า ‘โอ ท่าจะตายแล้วมั้ง’

ตรงนี้ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้ผู้รู้ที่แนะนำ บางทีเราก็มาตกม้าตาย ทั้ง ๆ ที่มันกำลังจะดีมาก ๆ เขาเรียกว่า อาการตกศูนย์ มันถูกดึงดูดเข้าไปอย่างนั้นแหละ เราต้องทำเฉย ๆ เป็นไงเป็นกันแล้วเดี๋ยวจะดีจ้ะ จะดีมาก ๆ เลย แต่จะนำภาคทฤษฎีนี้ไปใช้ในภาคปฏิบัติ ในกรณีที่เรารู้แล้ว และเรากำลังมีประสบการณ์อย่างนี้ บางทีรู้มากก็ยากนาน พอถูกดึงดูดเราก็เลยช่วยเร่งโดยการดันมันลงไป พอดันลงไปเพื่อจะให้ไปถึงจุดที่ดี ๆ ปรากฏมันเด้งขึ้นมา

เราก็ต้องย้อนกลับมาดูหลักวิชชาใหม่ว่า ให้หยุดนิ่งเฉย ๆในทุก ๆ ประสบการณ์ แล้วเราก็จะผ่านตรงนี้ไปได้อย่างสบาย เราต้องพร้อมที่จะเป็นนักเรียนอนุบาลทุกครั้งที่จิตมันหยาบหรือไม่ได้ผลตามที่เราต้องการ มาทบทวนใหม่ ฝึกใหม่ ฝึกฝนกันไปอย่างนี้แหละ ไม่ช้าเราก็จะกำความสำเร็จได้ แล้วก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา เป็นรางวัลสำหรับชีวิตที่เกิดมาในชาตินี้ ช่วงนี้อากาศกำลังดี เราหยุดใจไปอย่างสบาย ๆ นิ่ง นุ่ม เบา ๆ ผ่อนคลาย นิ่ง นุ่ม เบา ๆ ผ่อนคลาย ให้ใจสบาย ลองทำกันดูนะ

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

บทความที่เกี่ยวข้อง