อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

สุขใด ๆ ก็ไม่เท่าเข้าถึงพระธรรมกาย

Getting your Trinity Audio player ready...

ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้รู้สึกสบาย ๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะ หรือจำง่าย ๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเราบริเวณนั้น แล้วก็ตรึกนึกถึงดวงใส ๆ ใสเหมือนกับเพชร เรานึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่ง ที่กลมรอบตัว ใส อย่างสบาย ๆ หรือนึกถึงองค์พระแก้วขาวใส อย่างใดอย่างหนึ่ง นึกไปเรื่อย ๆ นึกให้ติดเป็นนิสัยเลย

แล้วก็ประคองใจของเรา ด้วยการบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง ทุกครั้งที่ภาวนา จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ

หยุดนิ่งคือบรมสุข

อย่าลืมตอกย้ำซ้ำเดิมทุกวันว่า นี่คือกรณียกิจ เป็นกิจที่ต้องทำ เพราะเป็นงานที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละภพแต่ละชาติ แม้ตายแล้วก็ยังเป็นกิจที่แท้จริงอยู่ดี คือ กิจในการทำใจให้หยุดนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

แล้วเราจะพบกับความสุขที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ในระดับเทวดาชาวสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ที่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า มัวเพลิดเพลินในกามของทิพย์ ยังถือว่าสุขธรรมดานะ ยังสุขไม่เท่ากับใจหยุดนิ่งเลย ถ้าไม่ฝึกใจให้หยุดนิ่งมัวแต่สนุกสนานเพลิดเพลินในทิพยสมบัติ ก็ยังไม่มีความสุขเท่ากับหยุดกับนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยในตัว

แม้เป็นพรหมอยู่ในพรหมโลกที่ไม่ใช่เป็นพระอริยเจ้า ได้รูปฌานสมาบัติธรรมดานั้น สุขยังไม่เท่ากับที่เราได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวเลย อรูปภพก็เหมือนกัน ได้อรูปฌานสมาบัติ สุขก็ยังไม่เท่ากับที่เราได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ถ้าเว้นจากพระอริยเจ้าล่ะก็ สุขอย่างนี้แหละ แล้วที่ใช้คำว่า ยกเว้นพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าท่านก็หยุดใจของท่านได้แล้ว ในกายธรรม ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์อย่างนั้น ถ้าอยู่ในภพก็ถึงพระอนาคามี

ใจหยุดจึงเป็นที่สุดแห่งความสุขทั้งปวง ซึ่งเป็นคำยืนยันของท่านผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเวียนว่ายตายเกิดซ้ำ ๆ ในภพสามนี้นับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในเมืองมนุษย์นี้ก็นับครั้งไม่ถ้วน เป็นตั้งแต่ชนชั้นล่าง ชั้นกลาง แล้วก็ชั้นสูงในระดับพระเจ้าจักรพรรดิก็เป็นมาแล้ว

พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งปกครองทวีปทั้ง ๔ มีชมพูทวีป คือโลกของเราใบนี้ ในยุคที่มีผืนแผ่นดินเดียว เป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ คล้าย ๆ เกาะอย่างนั้นนะ ชนในยุคนั้นนับถือศีล ๕ เป็นประเทศเดียว ท่านปกครองได้ทั่วชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป เป็นทวีปที่มีมนุษย์อยู่รอบ ๆ เขาพระสุเมรุ หรือเขาพระสิเนรุ ไปมาได้ด้วยรัตนะ ๗ ด้วยอานุภาพของจักรแก้ว ท่านก็เป็นมาแล้ว ก็ยังยืนยันว่าใจหยุดนี่แหละมีความสุขกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นสุดยอดของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในฐานะเป็นปุถุชนแล้วล่ะก็ นอกนั้นก็ถือเป็นเรื่องรองลงมา จะเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ พระราชาธรรมดา พระราชาประเทศราช บรมเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือจุลเศรษฐีอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ที่มีทรัพย์มาก ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า มีความสุขเท่ากับใจที่หยุดนิ่งนี้เลย นั่นคือคำยืนยันของท่านผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวงที่หมดกิเลสอาสวะแล้ว

ฝึกใจหยุดนิ่ง คืองานหลักของชีวิต

เมื่อเราได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้ว เราก็จะต้องให้โอกาสกับตัวเราเองฝึกใจให้หยุดนิ่ง แล้วให้ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักของชีวิต นอกนั้นเป็นเรื่องรองลงมา แม้มันจะมีความจำเป็น อย่างเช่น การทำมาหากิน ก็ยังเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งเราสามารถทำสองอย่างนี้ควบคู่กันไปได้

ฝึกกันไปทุกวัน ให้ใจคลอเคลียอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอถูกส่วนแล้วมันก็นิ่ง แล้วก็จะถูกดึงดูดให้ตกศูนย์ลงไปสู่ภายใน แล้วดวงปฐมมรรคก็จะปรากฏเกิดขึ้น นี่ก็เป็นขั้นตอนของการทำสมาธิภาวนา

เรามีเป้าหมายจะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม พักระหว่างทางที่ดุสิตบุรี เราก็จะต้องขวนขวายในการสั่งสมบารมีทุกรูปแบบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น อย่าให้ตก ๆ หล่น ๆ

ตอนนี้เราก็ฝึกหยุดใจนิ่ง ๆ นุ่ม เบา ๆ สบาย ๆ ด้วยใจที่ชื่นบาน ให้สบาย ๆ ฝึกกันไปทุกวัน อย่าเกียจคร้าน แล้วสิ่งนี้นอกเหนือจากให้ความบันเทิงกับชีวิต ในระหว่างที่เรายังแข็งแรง ยังมีความสำคัญสำหรับชีวิตตอนก่อนที่เราจะถูกถอดกายไปสู่ปรโลก ซึ่งเราก็ต้องฝึกกันให้เป็น เราจะได้ตายก่อนตายได้ คือถอดกายออกไปก่อนจะถึงช่วงหมดอายุขัย หรือตายพร้อมกับการหมดอายุขัยของเรา ด้วยใจที่ใสบริสุทธิ์ แล้วก็ไปสู่เทวโลก ดุสิตบุรี วงบุญพิเศษ

ฝึกให้ได้ดวงปฐมมรรคเป็นอย่างน้อย

นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึกฝน และสอนตัวเราเองให้ได้ทุกวัน ให้เราขยันทำความเพียรนะ อย่าเกียจคร้าน ต้องสอนตัวเอง บอกกับตัวเองทุกวัน ที่ต้องสอนอย่างนี้ เพราะมีเรื่องที่จะดึงใจให้หลุดจากกลางได้เยอะ ใจมักจะแวบออกไปในเรื่องราวต่าง ๆ เพราะฉะนั้นก็จะต้องฝืนไว้ ฝืนใจฝึกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงในระดับที่ใจหยุดนิ่งได้สนิท ติดในกลาง เข้าถึงดวงปฐมมรรคเป็นอย่างน้อย ถึง ณ ตรงนั้นความขยันก็จะมาเอง จนมีความรู้สึกว่าอยากนั่งต่อไปอย่างนี้เรื่อย  ๆ อยากศึกษา อยากเรียนรู้ความรู้ภายในให้ยิ่งไปกว่านี้ ด้วยความรู้ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก เราก็อยากจะศึกษาด้วยตัวของตัวเอง เพราะว่าเมื่อใจนิ่งแน่นถูกส่วนเข้าถึงปฐมมรรคแล้ว จะเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะเข้าไปศึกษาเอง

ความเพียรก็จะเป็นอัตโนมัติ ใจของเราจะขยาย จากสติก็เป็นมหาสติ ปัญญาก็เป็นมหาปัญญา แล้วการเรียนรู้ความรู้ภายในก็จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเข้าถึงปฐมมรรคอย่างแนบแน่นแล้วนะ ดวงก็จะใสสว่าง แล้วก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ถึงกายภายใน กายมนุษย์ละเอียด ทิพย์ พรหม อรูปพรหม แล้วก็กายธรรม ซึ่งรอคอยเราอยู่ เป็นชีวิตระดับละเอียด ที่ยกระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ

ทีนี้มันยากตอนแรก ตอนที่จะประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ที่ยากเพราะขี้เกียจนั่ง ถ้าขยันนั่งต้องได้ทุกคน ที่ไม่ได้ก็จะมีประเภทเป็นบ้า เป็นโรคประสาท ปัญญาอ่อน อะไรประเภทอย่างนั้น ถ้าขยันนั่งจะต้องได้

ใหม่ ๆ มันก็ฟุ้ง มืด เมื่อย ถ้านั่งไปนาน ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ หมดไป จิตก็จะค่อยๆ บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ยิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งมีความสุขมาก แล้วมันจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ใจจะขยาย บุญจะไหลผ่านเข้ามาในตัวเรา ยิ่งกระแสธารแห่งบุญไหลผ่านเข้ามา จะยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้น ความบริสุทธิ์เพิ่มกำลังใจที่จะสั่งสมความดีงาม โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคเกิดขึ้นเลย มันจะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่เราขยัน
แล้วก็ปรับปรุงวิธีการให้ดีทีเดียว

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

บทความที่เกี่ยวข้อง