อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดสุข

Getting your Trinity Audio player ready...

พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดสุข

 ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯลฯ
          สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท สุขา สทฺธมฺมเทสนา
          สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโขติ ฯ

 

          ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดสุข พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาก็เป็นเหตุให้เกิดสุข พระธรรมเทศนาของพระองค์ได้สำเร็จแก่พุทธบริษัทปรากฏชัด ท่านผู้สำเร็จด้วยเทศนานี้ รวมเข้าเป็นหมวดหมู่ที่เกิดสุขก็เกิดจากความพร้อมเพรียงซึ่งกัน และกัน ความสุขเป็นตัปปธรรมของความพร้อมเพรียงโดยแท้ในกระแสเทศนานี้ ออกจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดา พระองค์ได้ทรงบรรลุพุทธการกธรรมสมมาดปรารถนา จึงได้ทรงเทศนาวางเนติแบบแผนเห็นสภาวะปานฉะนี้ ก็บัดนี้ เราท่านทั้งหลายที่เป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนา เรื่องพุทธปัญญาปรากฏต่อไปบัดนี้

          สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท
          ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า

          สุขา สทฺธมฺมเทสนา
          การแสดงพระสัทธรรมของพระองค์เป็นสุข

          สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี
          ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข

         สมคฺคานํ ตโป สุโข สุขเป็นตัปปธรรมของความพร้อมเพรียงทั้งหลาย ธรรม ๔ ข้อนี้ เป็นตำรับตำราที่เราท่านทั้งหลายจะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระบรมศาสดา

        ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสุขนั้น เป็นไฉน พระจอมไตรแสวงหาพุทธการกธรรม ตั้งแต่ละราชสมบัติคือเมืองกบิลพัสดุ์ออกบำเพ็ญทุกรกิริยา ถ้วน ๖ พระพรรษา ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ที่ได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงมีความรู้เห็นแปลกออกไปอย่างไร เมื่อพระองค์ได้ไปศึกษาในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบสพระองค์ได้ทรงบรรลุฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ฌานที่ ๕ ฌานที่ ๖ ฌานที่ ๗ ฌานที่ ๘ อรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เรียกว่า สมาบัติ ๘ นั้น พระองค์ทรงทราบรู้จักกายรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียด แต่ว่าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์นั้น ท่านเป็นผู้รู้พิเศษขึ้น เมื่อได้รู้จักกายธรรมทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป แต่พอรู้จักกายธรรมทั้งหยาบทั้งละเอียดแล้ว ความรู้ความเห็นผิดกับกายรูปพรหมอรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียด ยิ่งละเอียดหนักเข้า ยิ่งเห็นไกลหนักขึ้นเห็นลึกซึ้งหนักขึ้น ไม่มีกายใดกายหนึ่งเข้าไปถึงกายธรรม ธรรมกายเมื่อเกิดขึ้นแล้วในปฐมยามเบื้องต้น พระองค์ก็ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ด้วยตาธรรมกาย ด้วยญาณธรรมกาย ทรงเห็นความจุติและปฏิสนธิ เห็นความบังเกิดขึ้นของตัวเอง กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ทั้ง ๘ กายเห็นตลอด เห็นชาติเดียวหรือ เห็นนับชาติไม่ไหว เห็นอเนกชาติ เห็นตลอด เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกาย ทั้งหยาบทั้งละเอียดเห็นชัด ๆ นี่ยามต้น

       ยามที่ ๒ พระองค์ได้ทรงบรรลุเป็นลำดับขึ้นไป เข้าถึงกายธรรมที่เป็นโสดา สกทาคา ทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นลำดับขึ้นไป เข้าถึงกายธรรมที่เป็นโสดา สกทาคา ทั้งหยาบทั้งละเอียด พระองค์ทรงรู้ละเมียดละไมเข้าไปอีก จุตูปปาตญาณ ญาณเครื่องหยั่งรู้การปฏิสนธิของสัตว์ในโลกที่ไปเกิดมาเกิด เหมือนกับคนยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนที น้ำใสสะอาดเป็นอันดี ปลาจะว่ายไปในทิศเหนือทิศใต้ ก็ปรากฏด้วยตาของบุคคลผู้ที่ยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น เห็นปรากฏชัดด้วยตาธรรมกายโสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด เห็นปรากฏชัดอยู่ที่ปฏิสนธิของสัตว์ ปรากฏหมด ไปเกิดมาเกิด เกิดจากสัตว์พวกนี้ ตายจากสัตว์พวกนี้ไปเกิดเป็นสัตว์พวกโน้นก็เห็นปรากฏ เกิดจากสัตว์พวกโน้น ตายจากสัตว์พวกโน้นไปเกิดเป็นสัตว์พวกโน้น ไปเกิดเป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหมก็เห็นปรากฏชัด เห็นเหมือนปลาว่ายน้ำดังนี้ ผุดจากนี้ลงดำน้ำไปเห็นตัวว่ายเรื่อยไป ไปผุดขึ้นโน่นก็เห็นปรากฏ หรือดำจากโน่นไปผุดขึ้นที่โน่นก็เห็นปรากฏ เห็นหมดทุกสกลกายของปลานั้น ในน้ำนั้นเห็นปรากฏหมดอย่างนี้ เรียกว่าจุตูปปาตญาณ รู้จักปฏิสนธิของสัตว์อื่น แต่ว่ายังไม่ถึงอาสวักขยญาณ

        พอเข้าปัจฉิมยามท้าย พระองค์ได้ทรงบรรลุอรหัตตูปนิสสัย ได้บรรลุเป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ถึงวิราคธาตุวิราคธรรม หมดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เข้าถึงวิชชาแท้ ๆ เข้าถึงวิชชาวิมุตติแท้ ๆ เรียกว่าวิชชาวิมุตติ หลุดจากอาสวะนั้นตลอดถึงอวิชชา เมื่อได้ทรงบรรลุโพธิญาณเป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานดังนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงรู้ตลอดเห็นตลอด ว่าสุขจริงสบายจริง พอเป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานแล้วสุขจริง สบายจริง นี่เป็นปัฏฐานที่ ๑ ของสัตตมหาปัฏฐาน ๗ แห่งในสถานที่ใกล้เคียงกันเหล่านั้น ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขแห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน คือได้ตรวจตราเสียหมดทีเดียว ที่ได้เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยธรรมอะไร พระองค์ทรงตรวจตลอด ทรงตรวจตลอดแล้วอยู่ที่อัชชปาลนิโครธ(ต้นไทร)นั้น จะไปโปรดสัตว์ทรงนึกถึงอาฬารดาบส อุทกดาบส และทราบว่าทิวงคตเสียแล้ว จึงทรงเปล่งวาจาว่า “ฉิบหายใหญ่” ท่านดาบสทั้งสองนี้ มีอีกกายเดียวเท่านั้นก็จะบรรลุถึงกายธรรมอย่างตถาคตอย่างนี้ นี่เธอทิวงคตเสียแล้ว จะไปเสวยความสุขอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ๘๔,๐๐๐ มหากัป นี่เกิดฉิบหายใหญ่อย่างนี้ ทำไมจะแก้ตัวได้เล่าเป็นสุขอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกนับไม่ไหวก็ไม่มาพบพระพุทธเจ้า รับความสุขอยู่อย่างนั้น ไม่เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ เพลินสุขเสียมัวนอนหลับเสีย

     เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์ก็ทรงสอดส่องพระญาณต่อไป จะไปโปรดใครอีกต่อไป พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ตามเรามานาน เขาตามเรามานานเราจะต้องไปสงเคราะห์เขาให้เขารู้เห็นเหมือนอย่างเราบ้าง เราจะเดินไปหรือจะเหาะไป หรือดำเนินไป ประเพณีของพระพุทธเจ้าในปางก่อนไปอย่างไร ไปโปรดสัตว์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว นี่ไปโปรดในปางก่อนไปอย่างไร ไปโปรดสัตว์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว นี่ไปโปรดครั้งแรก ก็ทรงเห็นว่าทุก ๆ พระองค์มาในอดีตล่วงแล้วเท่าไร ปัจจุบันนี้ก็ดี อนาคตก็ดี เป็นประโยชน์ทางไหนท่านก็ไปทางนั้น ถ้าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านด้วย เหาะเหินเดินอากาศไปโปรด ถ้าจะดำดินไปโปรดท่านก็ทรงดำดินไปโปรด ถ้าจะดำเนินไปด้วยย่างพระบาทไปโปรด ท่านก็ทรงดำเนินไปด้วยย่างพระบาท บัดนี้เป็นโอกาสที่จะไปอย่างไร อ้อ เป็นประโยชน์ที่จะดำเนินไปด้วยย่างพระบาท จะไปพบอาชีวกปัจฉิมสาวกของเรา จะได้สำเร็จมรรคผลตอนเมื่อเราจะเสด็จดับขันธปรินิพพานโน้น เห็นชัด ๆ ก็ทรงดำเนินไปเป็นลำดับ พอถึงท่ามกลางมรรคาก็ไปพบอาชีวกเข้าจริง ๆ อาชีวกเมื่อเห็นพระศาสดาก็แปลกประหลาดใจ เห็นรัศมีพุ่งพล่านไปทั่วทั้งเนื้อตัว ฉัพพรรณรังสีสว่างไสวน่าเลื่อมใส น่าไหว้น่าบูชานัก เข้าไปใกล้ ๆ ถามว่า โภ ปุริส ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านเป็นใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน สั่งสอนท่านให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าดังนี้ พระองค์ทรงรับสั่งว่า ใครจะเป็นศาสดาของเราไม่มี เราเป็นสยัมภูผู้รู้เอง อาชีวกก็สั่นศีรษะกรอกหน้าไม่เชื่อ หลีกไป ถึงอย่างนั้นก็ขึ้นในใจเสมอว่า ไปพบมนุษย์อัศจรรย์นัก แต่ว่าไม่รู้จักว่านั่นเป็น พระพุทธเจ้า

       ต่อจากนั้นพระองค์ก็ได้เสด็จไปเป็นลำดับ ไปถึงอิสิปตนมฤคทายวัน พระปัญจวัคคีย์เห็นพระศาสดาแต่ไกลก็ตกลงกันว่าเราจะไม่ไหว้ไม่บูชา ไม่เคารพละ เธอคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนเลวแล้วจะดีไม่ได้ จะรู้ความจริงไม่ได้ ครั้นพอพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้เกิดมีความเกรงพระทัย ต่างคนต่างขลุกขลักช่วยกันตั้งโน่นตั้งนี่เข้า บ้างก็ตักน้ำ บ้างก็หาภาชนะ บ้างก็วางผ้าเช็ดเท้าไว้ บ้างปูอาสนะให้ บ้างวางอาสนะไว้หน้าที่นั่งบ้าง สุดแต่การต้อนรับจะพึงทำได้ ที่พระองค์ทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ในครั้งนั้นก็โปรดด้วยพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ตอนหนึ่ง เป็นตอนต้น  สุโข พุทฺธา นมุปฺปาโท ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าได้รับความสุขจริง ๆ เสวยความสุขอยู่ ๔๙ วันในที่มหาปัฏฐานนั้น สุขเสียจริง ๆ คราวจะโปรดสัตว์  สุขา สทฺธมฺมเทศนา โปรดสัตว์ให้ได้รับความสุขต่อไป แสดงธรรมให้พระปัญจวัคคีย์ฟังว่า  เทฺว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ว่าดูกรฤษีปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่สุดทั้ง ๒ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ กามสุขัลลิกานุโยค ยินดีอยู่กับกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่เป็นที่สุดอันหนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค ยินดีในการปฏิบัติทรมานร่างกายผิดธรรมผิดวินัยไม่ได้บรรลุมรรคผล เป็นทางไปของปุถุชนอันมีกิเลสหนา ไม่ใช่ทางไปของพระอริยบุคคลผู้มีกิเลสบาง เพราะฉะนั้นทางทั้ง ๒ นั้นบรรพชิตไม่ควรเสพ ข้อปฏิบัติเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ทางทั้ง ๒ นั้น ข้อปฏิบัติเป็นกลางเป็นไฉน คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ การกล่าววาจาชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ตั้งใจไว้ชอบ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อลงไปเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ บรรพชิตควรเสพ เราได้ดำเนินมาแล้ว

       ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งปรากฏอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใส บริสุทธิ์ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ บริสุทธิ์สนิทเป็นอันดี พอเข้าถึงดวงศีลได้แล้ว กลางดวงศีลมีดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา กลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พระองค์ก็ทรงแสดงตามที่พระองค์ได้ทรงบรรลุมาแล้วตามความเป็นจริงทีเดียว พระปัญจวัคคีย์ก็เห็นตามด้วย ตามเทศนานั้นเป็นลำดับไป พระองค์ทรงแสดงเสร็จลงไปแล้วในหนทางเป็นกลาง และทรงแสดงธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ แสดงโดยสัจญาณ กิจญาณ กตญาณ สัจญาณ ทุกข์เป็นของจริง ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ควรละ ได้ละแล้ว นิโรธเป็นของจริง ควรทำให้แจ้ง ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรค เข้าถึงความดับทุกข์เป็นของจริงควรเจริญ ได้เจริญแล้ว

      เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงในครั้งนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะได้ประกาศในที่ต่อหน้านั้นว่า  ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํนิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งทั้งปวงนั้นก็มีความดับไป เห็นเกิดกับดับหมดทั้งสกลโลก ตัวเองก็มีเกิดดับ ๆ เมื่อเห็นความจริงเกิดดับดังนี้แล้ว เห็นหมดทั้งสกลร่างกาย กายมนุษย์ก็เกิดดับ กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียดก็เกิดดับ กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียดก็เกิดดับ เห็นปรากฏชัดก็บรรลุธรรมกายเหมือนกัน บรรลุเข้าถึงธรรมกายเป็นโคตรภูยังไม่ถึงพระโสดา โคตรภูบุคคลมีตาเห็นเหมือนพระองค์แล้ว คราวนี้ในปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เห็นเหมือนกันแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงแสดงเป็นลำดับไป ให้พระปัญจวัคคีย์อัญญาโกณฑัญญะได้เห็น เห็นเป็นลำดับขึ้นไป ได้บรรลุโสดาทั้งกายหยาบกายละเอียด (ทั้งมรรคทั้งผล) สกทาคาทั้งมรรคทั้งผล จนกระทั่งบรรลุถึงอรหัตผล ได้มรรคผล รู้จักพระพุทธเจ้าทีเดียว พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับความสุขเป็นล้นพัน ตั้งแต่ได้เข้าถึงธรรมกายก็ได้รับความสุขเป็นล้นพ้นเป็นลำดับขึ้นไป พอหมดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานแล้วก็เหมือนพระศาสดาจารย์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระอรหันต์มาก่อน ท่านเป็นก่อนนั้นแหละเรียกว่าพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทีหลังก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เรียกว่าสาวกพุทธเจ้า ท่านผู้รู้เองเห็นเองเป็นสัพพัญญูพุทธ นี่ถูกท่านผู้รู้เองเห็นเองสั่งสอนเข้าเรียกว่าสาวกพุทธ เป็นแบบเดียวกัน ธรรมกายแบบเดียวกัน ไม่คลาดเคลื่อนกัน ไม่มีคลาดเคลื่อนเลยทีเดียว พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุแล้วก็ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิก็ได้บรรลุตามเป็นลำดับไป ทั้ง ๕ ได้อรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นสาวกพระพุทธเจ้าไล่ ๆ กัน ที่ท่านได้บรรลุแค่นี้จะเป็นสุขแค่ไหน

        สุขา สทฺธมฺมเทสนา ธรรมเทศนาของพระองค์ทำให้สัตว์โลกเป็นสุข อย่างนี้เป็นสุขเหมือนพระองค์ได้อย่างนี้ เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ เมื่อทรงแสดงเช่นนั้นแล้ว พอโปรดพระอัญญาโกณฑัญญะแล้ว โปรดปัญจวัคคีย์แล้ว ก็โปรดพระยสะ ๕๕ ภัททิยะราชกุมาร ๓๐ ชฎิลสามพี่น้องมีบริวาร ๑,๐๐๐ ทรงแสดงเทศนาปาฏิหาริย์ตั้ง ๒๐๐ กว่าอย่าง ชฎิลยอมจำนน ยอมเป็นศิษย์พระบรมศาสดา ให้ลอยบริขารลงแม่น้ำ แล้วบวชเสียในธรรมวินัยของพระศาสดา แล้วพากันไปเมืองราชคฤห์พร้อมกัน ๑,๐๐๓ รูป ไปเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเห็นเข้า ราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารเห็นเข้า ตะลึงพรึงเพริดตกอกตกใจ โอ นี่พระสมณโคดมจะเป็นศิษย์ของอุรุเวลกัสสปะ หรืออุรุเวลกัสสปะจะเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม ใครจะเป็นศิษย์ของใครหนอนี่หนอ ทึ่งในใจ ไม่ตกลงใจ พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของราชบริพารทั้งหลายเหล่านั้น พระเจ้าพิมพิสารยังสงสัยเหมือนกัน ก่อนที่จะเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ให้ปุราณชฎิลภิกษุนั้นกราบพระบรมศาสดา ประกาศตนว่าเป็นพระศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระสมณโคดม พระสมณโคดมเป็นศาสดาของเรา ประกาศ ๓ ครั้ง แล้วเหาะไปในอากาศขนาด ๗ ชั่วลำตาล แล้วก็ลงมากราบพระศาสดาอีก ๓ ครั้ง ประกาศอีกว่าเราเป็นสาวกของพระสมณโคดม พระสมณโคดมเป็นศาสดาของเรา ๓ ครั้ง แล้วเหาะขึ้นไปในอากาศ ๗ ชั่วลำตาลอีก แล้วลงมากราบพระศาสดาอีก ๓ ครั้ง พอครบ ๓ ครั้ง ราชบริพาร ๑๒ นหุต มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประธานกราบพระศาสดาจารย์ดุจเดียวกัน ยอมหมดเมืองราชคฤห์ ด้วยธรรมเทศนาของพระองค์สงเคราะห์ชฎิลแล้ว ทรงสงเคราะห์ราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร ตรัสเทศนาจบลงเท่านั้นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร ๑๒ นหุต มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประธานได้สำเร็จมรรคผล เหลือนหุตเดียวตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ นอกนั้นได้สำเร็จมรรคผล ที่ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ก็มีธรรมกายพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ยังเป็นโคตรภู ยังไม่เป็นพระโสดา ทั้งประเทศเป็นสุขหมด นี่ก็ด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดาให้เกิดสุขจริง อย่างนี้ เป็นสุขจริง ๆ อย่างนี้ เมื่อเป็นสุขจริง ๆ อย่างนี้แล้ว ไม่ใช่แต่เท่านั้น ทรงเทศนาเป็นลำดับไป จนถึงพระเจ้าสิริสุทโธทนะ ให้อำมาตย์ไปเชื้อเชิญพระศาสดามาเมืองกบิลพัสดุ์ตามเดิม ให้มาในชาติภูมิของพระองค์ ส่งอำมาตย์ไปเป็นชั้น ๆ กว่าจะสำเร็จได้ก็สี่สิบกว่าชั้น ชั้นละพัน ๆ ส่งไปถึงพระศาสดาพากันบวชเสียหมด ไม่ได้กลับมาเลย แก้ไขอยู่จนกระทั่งเอาอำมาตย์ที่ฉลาด ๆ ที่จะพาพระศาสดากลับมาได้ จึงได้อำมาตย์ที่ฉลาด และก็อาราธนาพระศาสดาเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ เมื่อมาเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว พระญาติทั้งหลายมีทิฐิในพระองค์ว่าพระองค์เป็นเด็กยังหนุ่มอยู่ เป็นเด็กคราวลูกคราวหลานจะนมัสการนั้นไม่สมควร มานั่งนิ่งเฉยอยู่ก็มี มาทำกิริยามารยาทต่าง ๆ กัน ให้ลูกหลานขึ้นหน้าบ้าง ตัวอยู่หลังไม่กล้านมัสการ เพราะถือทิฐิมานะมาก กษัตริย์ในยุคโน้น พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นพระญาติกัน ยังไม่เคารพเราในตถาคตควรกระทำเช่นไร จึงทรงเหาะไปในอากาศเดินจงกรมแล้วทรงเทศนา ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ เพื่อทรมานพระญาติทั้งหลายเหล่านั้น พระญาติทั้งหลายนั้นเห็นว่าพระศาสดาเป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น พระเจ้าสิริสุทโธทนะยกพระหัตถ์ขึ้นนมัสการ พระญาติทั้งหลายก็พร้อมกันนมัสการพระองค์ พระองค์ก็เสด็จกลับลงมา ฝนโบกขรพรรษตกเป็นมหัศจรรย์เป็นน้ำสีแดง แต่ว่าไม่เปียกใคร ไม่เปียกเลย เหมือนอยู่ในร่ม เว้นเสียแต่ใครจะต้องการให้เปียกก็เปียกชุ่มโชกไปหมดตามชอบใจ ตกแล้วไม่เปื้อนบนพื้นแผ่นดิน ซึมลงไปใต้พื้นแผ่นดินหมดก่อน ไม่ปรากฏเป็นมหัศจรรย์ เขาเรียกว่า ฝนโบกขรพรรษ บังเกิดขึ้นในครั้งนั้น ก็ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ พระองค์ได้ตรัสเทศนาโปรดสัตว์อยู่ ๔๕ พรรษา สัตว์ผู้ใดได้รับพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเป็นมหัศจรรย์ ความร่มเย็นเป็นสุขเหลือที่จะพรรณนา

      ในระหว่างที่พระองค์ตรัสเทศนาอยู่ มีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นคือ มีลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่ง บิดามารดาเอาไปรักษาอยู่บนปราสาทเจ็ดชั้น มีสมบัติมาก แต่ว่าเปลี่ยวใจเต็มที แกทนไม่ไหว แกมองจากหน้าต่างของปราสาทเห็นนายพรานเข้า แกก็ตามนายพรานไพรไปในป่า ก็ไปอยู่กับคนป่า พอมีบุตรขึ้นมา ก็คิดถึงความที่คลอดจากมารดาออกมารอดมาได้ เกิดประสงค์จะไปบ้านมารดาให้มารดาอุปถัมภ์ค้ำชู มาได้ครึ่งทาง อ้าวลูกได้คลอดเสียแล้ว สามีภรรยาก็พากันกลับไปอยู่ที่เก่า นี่คนที่หนึ่ง คนที่สองก็เป็นเช่นนั้นอีก ไปไม่ถึงครึ่งทางก็คลอดเสียอีก คลอดคราวนี้เป็นอัศจรรย์นัก กำลังจะคลอดลูก ฝนพายุก็เกิดยกใหญ่เป็นมหัศจรรย์ มหาเมฆตั้งขึ้นยังฝนให้ตกใหญ่ทีเดียว ฝนก็ตกใหญ่ ลูกมันก็จะคลอด สามีก็ไปหาใบไม้มา เพื่อจะแก้ไขป้องกันภรรยาให้ได้รับความสุขไม่ให้เปียกฝน ไปที่ข้างจอมปลวกถูกงูเห่ากัดตายเสียอีกแล้ว ไอ้นี่ก็ลูกเล็กคนหนึ่งจูงไว้ ลูกคลอดใหม่ ๆ นั่นก็อีกคนหนึ่ง ทำไงกันล่ะฝนก็ตกจั้ก ๆ ลงมาให้สนุกสนานนักคราวนี้ พอคลอดเรียบร้อยแล้ว ฝนเงียบเรียบร้อยแล้ว ไปดูสามีตายเสียแล้วจะทำอย่างไร เอาใบไม้มาสะ ๆ ไว้ตามเรื่องมัน นั่นก็ลูกอ่อนออกใหม่ ๆ แล้วก็เดินทางไปถึงแม่น้ำเข้า ทำอย่างไรล่ะ แม่ก็อุ้มลูกจูงลูกขลุกขลักไปอย่างนั้น แล้วจะข้ามแม่น้ำได้อย่างไร ไม่มีเรือข้ามจึงตัดสินใจว่าจะว่ายข้ามไป เอาลูกคนเล็กไปไว้ฝั่งโน้นก่อน ส่วนลูกคนโตเอาไว้ฝั่งนี้ ลูกคนเล็กตัวแดง ๆ ออกใหม่ ๆ พอดีนกเหยี่ยวบินมาเห็นเข้า นึกว่าชิ้นเนื้อมันก็จะจิกกิน มันจึงโฉบลูกคนเล็กเอาไป แม่อยู่กลางแม่น้ำยกมือขึ้นตบเพื่อจะให้นกตกใจ แต่ลูกคนโตข้างนี้นึกว่าแม่เรียก เด็กก็เดินลงไปในน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดเอาลูกคนโตตายเสียแล้ว ลูกข้างโน้นก็เหยี่ยวโฉบเอาไป เหลือแต่ตัวคนเดียวก็เดินทางต่อไปอีก จนถึงตำบลที่ตัวอยู่ครั้งก่อนนั้น ได้ทราบว่าบิดามารดาตายเสียแล้ว  เอาละคราวนี้มันทุกข์เหลือทน ผ้านุ่งก็ไม่มี ถึงกับเป็นบ้า ผ้านุ่งไม่มีติดกาย เดินล่อนจ้อนอยู่ ครั้งนั้นพระศาสดากำลังเทศนาอยู่ นางได้เดินทะเล่อทะล่าเปลือยกายเข้าไป ไม่มีใครจะว่ากระไรเฉยกันอยู่ นางก็เข้าไปในพุทธบริษัทนั้น ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้สติจึงนั่งลง พอฟังไปก็ได้บรรลุมรรคผล เกิดมีความละอาย บุรุษที่อยู่ใกล้เขาสงสารเอาผ้าขาวม้าส่งให้ นางก็นุ่ง ได้มรรคผลในขณะนั้น

         เทศนาของพระศาสดาเป็นมหัศจรรย์อย่างนี้ สัตว์นั้นได้รับความทุกข์เหลือทน หมดจากความทุกข์เป็นสุขทีเดียว ได้ชื่อว่า  สุขา ธมฺมเทสนา ธรรมเทศนาเป็นสุขจริง ๆ อย่างนี้ เหมือนพวกเรานี้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ให้เข้าเนื้อเข้าใจเสีย จะได้มีความสุข นี่ สุขา ธมฺมเทสนา แสดงพระธรรมเป็นสุขอย่างนี้

         สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข เป็นไฉน หมู่ของพระพุทธเจ้ามีเท่าใด ได้มรรคผลมีเท่าใด เป็นพวกเดียวหมู่เดียวน้ำหนึ่งใจเดียว พูดเป็นคำเดียวกันไม่ขัดแย้งกันเลย คนหนึ่งพูดคนหนึ่งฟัง จะถูกจะผิดอย่างไรก็ช่าง ไม่มีการขัดกัน พร้อมเพรียงกันมา พร้อมเพรียงกันไป พร้อมเพรียงกันนั่งลุกละม้ายคล้ายกัน พร้อมเพรียงกันอย่างนี้เป็นสุขล้นเหลือทีเดียว ในหมู่พระสงฆ์อย่างนั้นอยู่สักกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนก็ช่าง ไม่ได้กระทบกระเทือนกันเลย เป็นสุขแท้ ๆ นี่ท่านได้มรรคผลแล้วเป็นสุขอย่างนี้ ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข ไม่ใช่แต่พระอริยบุคคล หมู่ของปุถุชนนั่นแหละถ้าพร้อมเพรียงกันเข้าเวลาใด จะเป็นปุถุชนก็เป็นสุข จะเป็นโคตรภูบุคคลก็เป็นสุข จะเป็นโสดาบันก็เป็นสุข สกทาคา อนาคาก็เป็นสุขทั้งนั้น ขอให้พร้อมเพรียงกันเท่านั้น ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ นี้เป็นตัวสำคัญ บ้าน ๆ หนึ่งถ้าพร้อมเพรียงกันทั้งบ้านแล้วเป็นสุข วัดหนึ่ง ๆ ถ้าพร้อมเพรียงกันทั้งหมู่ละก็เป็นสุข แต่ว่าความไม่พร้อมเพรียงกันนั้นละเป็นข้อสำคัญนัก ทำอะไรไม่ว่าตามกัน ทำอะไรขัดกันแย้งกันเสีย ถ้าว่าตามกันแล้วมันก็สุขจริง ๆ  สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงเป็นสุข ความไม่พร้อมเพรียงไม่เป็นสุข เป็นทุกข์  สมคฺคานํ ตโป สุโข ความสุขเป็นตัปปธรรมของความพร้อมเพรียงกัน เวลาใดความพร้อมเพรียงเป็นเหตุให้เกิดสุขสำคัญ เป็นเครื่องแผดเผากำจัดซึ่งความไม่พร้อมเพรียงได้โดยฉับพลัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นสุข เป็นยอดของสุขทีเดียว อยู่ที่ความพร้อมเพรียง ภิกษุหมู่ใดมีความพร้อมเพรียงกัน ภิกษุหมู่นั้นก็เป็นสุข สามเณรหมู่ใดมีความพร้อมเพรียงกัน สามเณรหมู่นั้นก็เป็นสุข อุบาสกหมู่ใดมีความพร้อมเพรียงกัน อุบาสกหมู่นั้นก็เป็นสุข อุบาสิกาหมู่ใดมีความพร้อมเพรียงกัน อุบาสิกาหมู่นั้นก็เป็นสุข หากขัดแย้งกันอยู่แล้วไม่เป็นสุข อย่าว่าแต่มนุษย์เลย นกก็เป็นทุกข์ เป็นสุขไม่ได้

        กล่าวถึงนก ชั้นเดิมมีความพร้อมเพรียงกัน นายพรานตลบข่ายด้วยประการใด ครอบด้วยตาข่ายด้วยประการใด ตลบติดได้ด้วยประการใด ก็บินพรึบเดียวเท่านั้นแหละ เอาตาข่ายเสียทั้งผืนไปที่กอไผ่ เพราะความเห็นพร้อมเพรียงกันเท่านั้น หัวหน้านกบอกว่า อย่าเพิ่งออกกำลังเอาหัวลอดตาข่ายให้พร้อมกัน เราบอกว่าออกกำลังให้พร้อมกัน พอหัวจุกช่องข่ายให้พร้อมกัน ก็พรึบเดียวเท่านั้นแหละเชือกที่ผูกหลักไว้ก็จะลอยติดไปในอากาศหมด เอาข่ายไปทั้งหมดด้วยกันสิบเอ็ดครั้ง นายพรานตลบนั้นนำเงินไปซื้อด้ายมาอีก เย็บตลบให้ได้ถูกเมียด่าหลายครั้งว่า แกอย่าบ้าคลั่งไปเลย ไม่ได้กินมันหรอก นกมันฉลาดอย่างนี้ แกจะเอาเงินไปให้พ่อค้าด้ายเปล่า ๆ ไปทำมาหากินอย่างอื่นดีกว่า แกอย่าไปเพียรมันเลยเรื่องตลบข่าย สามีนั้นก็ไม่ยอม เอาเถอะน่ามันมีฤทธิ์เดชเท่าไรก็ลองดูทีเถอะ  เราจะเอามันมาแกงกินให้ได้ นายพรานก็ทำตาข่ายตลบอีก ครั้งที่สิบสองจึงสำเร็จ เพราะนกแตกฝูงกัน ไม่พร้อมเพรียงกัน ในวันหนึ่งนกตัวหนึ่งบินลงมาก่อน นกตัวหนึ่งบินลงทีหลัง เหยียบเอาคอนกตัวแรกเข้า มันบอกว่าไม่คิดถึงบุญคุณมันบ้างเลย ได้พ้นตลบมาหลายครั้งแล้วด้วยกำลังของมัน หากว่าพลาดไปก็ว่าเอาเถิดไม่ได้แกล้งเลย นกตัวนั้นก็ขึ้นมายั่วเย้าอยู่ มันก็ว่าเอาบ้าง ไม่ใช่เจ้าจะออกแรงแต่คนเดียวเราก็ออกเหมือนกัน นกก็เลยแตกเป็นสองพวกขึ้น พวกหนึ่งก็ว่าอีกพวกหนึ่ง นายฝูงที่เคยประกาศอยู่ก็รู้สึกว่านกพวกนี้อยู่ร่วมกันไม่ได้ เราต้องแยกกันเถอะ นายฝูงมีนกเท่าไรก็แยกไปหมด พวกที่ไม่ไปกับนายฝูงมีเท่าไรก็อยู่อีกฝูงหนึ่ง นกฝูงเก่าก็มาอย่างเก่า นกที่แยกไปก็ไปยังที่อื่น แต่ว่าแตกฝูงกันอยู่นั่นแหละ คราวนี้ถึงกำหนดติดตลบข่ายของนายพรานอีกแล้ว นกนั้นแย้งกัน ยังไงล่ะท่านมีแรงก็ออกแรงนำเอาซิ เอาตาข่ายไปครอบกอไผ่พ้นจากทุกข์ด้วยกันนั่นไงล่ะ ต่างตัวต่างสอดหัวเข้าที่ตาข่ายย้อกแย้กทีละตัวสองตัว มันไหวอะไรได้ นกทั้งฝูงไปไม่ได้ หมดทั้งฝูงเป็นเหยื่อของนายพราน นี่ความไม่พร้อมเพรียงเป็นอย่างนี้ตายเป็นเหยื่อนายพราน ถ้าว่าไม่พร้อมกันจริง ๆ ละก็เป็นเหยื่อพญามัจจุราช

       บัดนี้เขาประกาศธรรมกายกันในวัดปากน้ำ ให้มีธรรมกายแล้วก็พ้นทุกข์กัน ต้องทำธรรมกายให้เป็น มันจึงจะเป็นหมู่เดียวกันพวกเดียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถ้าทำธรรมกายไม่เป็น ก็เป็นแย้งเขานี่ เขาบอกทำอย่างนี้ ไม่ทำเสียอีกแล้วไปทำอื่นเสีย ไปไถลทางอื่นเสีย ไม่ทำธรรมกายให้เป็นขึ้น ไม่เอาใจใส่จรดอยู่ที่ทำธรรมกาย เอาใจไปคิดเรื่องอื่นเสีย ธรรมกายมันไม่เป็นเมื่อธรรมกายไม่เป็น มันก็แยกออกเหมือนนกกระจาบแตกฝูงนั่นแหละ ไม่มีความพร้อมเพรียงกัน ให้เข้าใจอย่างนี้นะ ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จงทำธรรมกายให้เป็น ถ้าทำธรรมกายเป็นละก็นั่นแหละ  สุขา สงฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่เป็นสุข ทำธรรมกายเกิดขึ้นเท่านั้นเรียกว่า  สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในตัวของเราแล้ว เราจะมีนิบาตบอกความตกใจว่า  อโห พุทฺโธ อ้อนี่พระพุทธเจ้า  อโห ธมฺโม อ้อนี่พระธรรม  อโห สงฺโฆ อ้อนี่พระสงฆ์ ก็จะเกิดความตกใจตื่นตัวของตัว เช่นนี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในตัวของเราเอง  สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในตัวของตัวซิ พระพุทธเจ้าโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด พระพุทธเจ้าที่เป็นโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด สกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด อนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด อรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด แบบแผนที่วัดปากน้ำเขาทำกันเป็นตั้งร้อยกว่าคน เรายังไม่เป็นก็รีบทำให้เป็นขึ้น ถ้าไม่เป็นละก็เหมือนนกกระจาบแตกฝูง ทำลายตัวเองให้ได้รับความทุกข์ละไม่ได้รับความสุข ถ้าเห็นธรรมกายเสียแล้วเข้าถึงธรรมกายแล้วก็เป็นสุขเท่านั้น เมื่อเป็นสุขแล้ว  สุขา สทฺธมฺมเทสนา สิ่งใดเป็นทุกข์ ผิดธรรมผิดวินัยก็สอนตัวเอง เทศนาตัวเอง สอนตัวเองไป แก้ไขตัวเอง ตัวของตัวด้วยธรรมกายของตัวที่มีแล้ว มีพระพุทธเจ้าในตัวแล้ว  สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงกันของตัวเอง เห็น จำ คิด รู้ อย่าเถียงตัวเอง อย่าลงโทษตัวเอง ให้ถูกต้องร่องรอยตามธรรม ธรรมไม่ใสไม่สะอาดแล้วก็อย่าไปทางนั้น ทำให้ถูกต้องร่องรอยให้ใสให้สะอาด ไม่ให้คลาดเคลื่อนของตัวให้พร้อมเพรียงกัน แน่นอนในใจของตัวอย่างนั้น ทั้งกายทั้งใจทั้งวาจาไม่ให้คลาดเคลื่อนทุก ๆ กายให้พร้อมกัน  สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข ความสุขจะเกิดขึ้นด้วยความเพียร เป็นเครื่องแผดเผาของผู้พร้อมเพรียงกัน กำจัดเสียซึ่งความไม่พร้อมเพรียงกัน ก็จะมีความพร้อมเพรียงกันอยู่ สุขก็จะสมมาดปรารถนา

         ที่ได้ชี้แจงแสดงมาในพระธรรมเทศนาที่พระองค์ได้ทรงประทานไว้ทั่วสกลพุทธศาสนา แก่พุทธบริษัททั้ง ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระบวรพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายจะมนสิการในใจทุกถ้วนหน้า ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

          เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง