ธรรมนิยามสูตร
๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯ ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ภิกฺขโวติ ฯ ภทนฺเตติ เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ฯ ภควา เอตทโวจาติ ฯ
ส.ม.๒๗๙, องฺ.ติก.(บาลี) ๒๐/๕๗๖/๓๖๘-๓๖๙
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา เป็นธรรมสวนะฉลองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติ ของท่านผู้พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสร เพื่อสวนะกิจในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า จะชี้แจงแสดงธรรมเทศนาในเวลาวันนี้ คือในเรื่อง ธรรมนิยามสูตร ธรรมที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสเทศนายกย่องธาตุธรรมว่าเป็นของเกิดขึ้นก่อนเก่า หรือเก่าก่อนพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น หรือจะไม่บังเกิดขึ้น ธาตุธรรมน่ะเขามีอยู่แล้ว เขาเกิดอยู่แล้ว ตั้งอยู่แล้วเป็นปรกติ พระองค์ทรงแสดงธรรมในข้อนี้ คือจะทรงแสดงชี้แจง แสดงธาตุธรรมให้ปรากฏ ตามกำหนด ตามความเป็นจริงของธาตุธรรมเหล่านั้น บัดนี้จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลีแห่งพระสูตรนั้น เพื่อเป็นเครื่องปฏิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัททุกถ้วนหน้า
เริ่มต้นแห่งพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ พระสูตรนี้ พระอานนท์ได้สดับฟังเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เอวํ อากาเรน ด้วยอาการอย่างนี้ เอกํ สมยํ ณ สมัยครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่วิหารเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีสร้างถวายในกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งหาพระภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายรับพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาลปนคาถาว่า ภทนฺเต ความเจริญจงมีแก่พระองค์ดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาค เมื่อพระภิกษุทั้งหลายเป็นอันมากมาสู่ที่ประชุมนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระสูตรนี้ว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ฐิตา ว สา ธาตุ ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว ธมฺมฎฺฐิตตา เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นของตั้งมั่นแห่งธรรม หรือเป็นที่ตั้งมั่นแห่งธรรม ธมฺมนิยามตา เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม คำว่าเป็นเบาะนี้ขบขันอยู่ สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงดังนี้ ตํ ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ ไต่สวนธรรมนั้นอยู่ หรือ ไต่สวนธาตุนั้นอยู่ อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา อภิสเมตฺวา ครั้นตรัสรู้พร้อมจำเพาะแล้ว ไต่สวนเสร็จแล้ว อาจิกฺขติ เทเสติ ย่อมบอก ย่อมแสดง ปญฺญเปติ ปฎฺฐเปติ ย่อมบัญญติ ย่อมแต่งตั้ง วิวรติ วิภชติ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก อุตฺตานีกโรติ ย่อมทำให้ตื้นขึ้นว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฎฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี หรือว่าความไม่เกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรมว่า สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ตํ ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ไต่สวนธาตุนั้น อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ไต่สวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทำให้ตื้นขึ้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดังนี้
อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฎฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี หรือว่าความไม่เกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นแห่งธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ตํ ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ ไต่สวนหรือสอบสวนธาตุนั้นอยู่ ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ไต่สวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงทำให้ตื้นขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ดังนี้ อิทมโวจ ภควา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้จบลงแล้ว อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทํุ ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการดังนี้ นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา เทศนาดังนี้ ตามที่แปลกันในสยามภาษานี้
ต่อแต่นี้จะแปลขยายจากมคธภาษาเป็นสยามล้วน ให้เราท่านทั้งหลายได้ทบทวน ได้สดับตรับฟังให้เข้าเนื้อเข้าใจ เป็นธรรมอันลุ่มลึกสุขุมนัก ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้ายว่า พระสูตรนี้ อันพระอานนท์เถระเจ้าได้สดับตรับฟังแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีสร้างถวายในกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาสู่ที่เฝ้า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นรับพุทธพจน์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอาลปนคาถาว่า ภทนฺเต ความเจริญจงมีแด่พระองค์ดังนี้ แล้วสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้เริ่มตรัสพระสูตรนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง พระตถาคตเจ้าตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ สอบสวนซึ่งธาตุนั้นอยู่ ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นขึ้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรมว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ สอบสวนอยู่ซึ่งธาตุนั้น ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทางบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นขึ้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดังนี้
ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ความไม่บังเกิดขึ้นของพระตถาคตเจ้าก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม เพราะความที่แห่งธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรมว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว พระตถาคตเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะอยู่ สอบสวนธาตุนั้นอยู่ ครั้นตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้ว ทรงบอก ทรงแสดง ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงกระทำให้ตื้นขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้จบลงแล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจเพลิดเพลินยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการดังนี้ นี่เป็นสยามภาษาล้วน ไม่เกี่ยวด้วยบาลี แต่ว่าเป็นเนื้อความของภาษาแปลอยู่ ไม่ใช่สยามภาษาแท้ เป็นแปลมคธภาษาเป็นสยามอยู่ จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป เพราะธรรมนี่ลึกซึ้งนัก เราไม่รู้ไม่ถึง เราอาศัยกายมนุษย์ก็จริง แต่ว่าหารู้จักธาตุธรรมของมนุษย์ไม่ หารู้จักธาตุธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่ วันนี้จะชี้แจงแสดงให้เข้าเนื้อเข้าใจในธาตุธรรมเหล่านี้
ข้อสำคัญอยู่ก็ที่ พระตถาคตเจ้าน่ะ เราต้องรู้จักคือใคร รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร แล้วก็คำว่าธาตุน่ะ ว่าธรรมน่ะ เราต้องรู้จักว่าเป็นอย่างไร รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร นั่นแน่ะ ต้องรู้ความอันนั้นแน่ะ ที่แสดงมาแล้วนี้ เป็นอุเทศ นิเทศ ต้องเป็นปฏินิเทศออกไป อุเทศน่ะแสดงเนื้อความอยู่ นิเทศน่ะกว้างออกไป นิเทศน่ะพิสดารออกไป จะแสดงให้พิสดารกว้างขวางออกไปอีก ธาตุ คำว่าธาตุนั้นน่ะ พระตถาคตเจ้าจะเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ดี ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว พระตถาคตเจ้าน่ะ รู้กันน่ะ ธรรมกาย เคยเทศน์กันมากแล้ว ธรรมกายมีหลายชั้น ธรรมกายโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด ๑๐ กาย กายหยาบกายละเอียด ทั้งมรรคทั้งผลด้วย รวมทั้งมรรคทั้งผล ๑๐ กาย นี่เรียกว่าธรรมกาย นี่ตัวพระตถาคตเจ้าทั้งนั้น ธรรมกายนี้ตัวพระตถาคตเจ้าทั้งนั้น เมื่อเข้าใจว่าพระตถาคตเจ้าดังนี้ละก็ เราจะแสดงว่าธรรมกายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว ที่ได้ไว้น่ะก็ถูกเหมือนกัน แบบเดียวกัน พระตถาคตเจ้าก็แบบเดียวกัน ชื่อธรรมกายนั่นแหละ เรียกธรรมกายนั่นแหละ
เมื่อเข้าใจแล้วดังนี้ จะแสดงโดยธาตุให้เข้าเนื้อเข้าใจต่อไปว่า ฐิตา ว สา ธาตุ ธาตุนั้นเขาตั้งอยู่แล้ว แต่ว่าความที่ของธาตุนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของธรรม นั่นแน่มีธรรมอยู่ข้างหลังนั่นแน่ เพราะความที่ของธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม ธาตุเป็นที่ตั้งของธรรมเป็นเบาะของธรรมอย่างนี้จริงน่ะ ธาตุน่ะรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ธรรมน่ะรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร โตเล็กเท่าไหน อยู่ที่ไหน ธาตุนั้นตัวจริงน่ะกลม ๆ ธรรมตัวจริงก็กลม ๆ เป็นดวงกลม ๆ เล็กใหญ่ตามส่วน เล็กน่ะ เล็กที่สุดจนกระทั่งเอากล้องส่องไม่เห็น เป็นดวงทั้งนั้น ใหญ่ขึ้นไปก็หมดธาตุหมดธรรม เต็มธาตุเต็มธรรม เต็มไปหมดเป็นดวงใหญ่ขึ้นไปขนาดนั้น นั่นเป็นดวงของธาตุ ดวงของธรรม ธาตุธรรมนี้แยกกันไม่ได้ อาศัยกัน เหมือนกายมนุษย์กับใจทีเดียว แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเกิดเรื่อง ต้องเป็นต้องตายทีเดียว เพราะฉะนั้น ธาตุนั้นก็เป็นเบาะของธรรม ธรรมต้องอยู่ในธาตุ อาศัยธาตุอยู่ ถ้าว่าเมื่อธาตุเป็นเบาะของธรรม ถ้าว่าเมื่อธาตุเป็นที่ตั้งมั่นของธรรมละก็ ธรรมเป็นที่ตั้งมั่นของธาตุได้บ้างไหมล่ะ ได้เหมือนกัน แบบเดียวกัน ถ้าธาตุนั้นเป็นเบาะของธรรม ธรรมเป็นเบาะของธาตุบ้างได้ไหมล่ะ ได้เหมือนกัน แบบเดียวกัน เป็นอย่างไรกันน่ะ
คำว่าเป็นเบาะนั่นแหละ เป็นภาษาพูด เป็นภาษาไทยเราแท้ ๆ แต่ว่าฟังไม่ออก อย่าเข้าใจว่าเบาะที่ปูให้เด็กนอน หรือเบาะปูให้เด็กนอน เข้าใจเสียอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้นหมด ก็ถูกเหมือนกันแหละ แต่ว่ามีวัตถุธาตุ มีวัตถุนั้นขึ้น แต่คำว่าธาตุเป็นเบาะของธรรม ธรรมเป็นเบาะของธาตุน่ะ เป็นเบาะอย่างนี้ มนุษย์มาเกิดในมนุษย์โลกมีอายตนะของชั้นกาม นี่โลกายตนะ ต้องมีโลกายตนะเป็นเบาะ ไม่มีโลกายตนะเป็นเบาะเกิดไม่ได้ เขาเรียกว่า โลกายตนะ อายตนะของโลก อายตนะมี ๒ อย่าง อายตนะของธรรม ธรรมายตนะ ธรรมายตนะน่ะไม่ใช่อื่นทีเดียว นิพพานทีเดียว ที่พระองค์ทรงรับสั่งว่า อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ นิพพานเป็นอายตนะอยู่อันหนึ่ง นิพพานเป็นอายตนะอยู่ พระพุทธเจ้าไปนิพพาน เบาะนิพพานก็มี สัตว์มาเกิดในโลก เบาะของโลกเขาก็มี เรียกว่า โลกายตนํ เป็นเบาะเป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัยอยู่ เรียกว่าเป็นเบาะ เกิดในครรภ์มารดา ครรภ์มารดาเป็นเบาะ นั่นก็โลกายตนะเหมือนกัน แม้เกิดในชั้นทิพย์ ๖ ชั้น ชั้นทิพย์เขาก็เป็นเบาะ เกิดในชั้นรูปพรหม อรูปพรหม ชั้นรูปพรหม อรูปพรหมนั่นก็เป็นเบาะเหมือนกัน เรียกว่าโลกายตนะทั้งนั้น รู้จักเบาะอย่างนี้ละก็ เข้าใจกัน เมื่อเข้าใจฟังดังนี้
ธาตุที่เขาตั้งอยู่แล้วน่ะ ธาตุน่ะแบ่งออกไปเป็น ๒ มีธาตุอย่างหนึ่ง ธาตุแบ่งออกไปเป็น ๒ เป็น สังขตธาตุ อสังขตธาตุ ถ้าธาตุแบ่งออกเป็น ๒ ธรรมล่ะ ก็แบ่งออกเป็น ๒ เหมือนกัน สังขตธรรม อสังขตธรรม แบบเดียวกัน เรียกว่า สังขตธาตุสังขตธรรม อสังขตธาตุอสังขตธรรม ไม่ใช่แต่เท่านั้น ยังมีวิราคธาตุวิราคธรรม ยังมีอีก วิราคธาตุวิราคธรรม ที่ท่านยกตำรับตำราไว้ว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ สังขตธาตุสังขตธรรมก็ดี อสังขตธาตุอสังขตธรรมก็ดี ไม่ประเสริฐเลิศเท่าวิราคธาตุวิราคธรรม วิราคธาตุวิราคธรรม ประเสริฐเลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรม เหล่านั้น นั่นต้องรู้ชัดลงไปอย่างนี้ สังขตธาตุ สังขตธรรมน่ะ เป็นอย่างไร นี่แหละที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ ตัวสังขตธาตุ สังขตธรรมทั้งนั้น อยู่กับธรรมในกายมนุษย์ นี่ก็เป็นสังขตธรรม อยู่กับธาตุมนุษย์ นี่ก็เป็นสังขตธาตุ ธาตุธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งได้ บังคับบัญชาได้ เป็นสังขตธาตุสังขตธรรม
ถ้าอสังขตธาตุอสังขตธรรมล่ะอยู่ที่ไหน อสังขตธาตุอสังขตธรรม ตั้งแต่ธรรมกายขึ้นไป ธรรมกายที่เป็นโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายที่เป็นโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ถ้ารวบทั้งหมดเช่นนี้ นี่ก็หมดสงสัยทีเดียว ส่วนที่เป็นธรรมกายแล้วเป็นอสังขตธาตุอสังขตธรรม แต่ยังไม่ใช่วิราคธาตุวิราคธรรม ธาตุที่เป็นธรรมกาย ไม่ต้องยกธรรมกายโคตรภูออก เป็นธรรมกายใสแบบเดียวกัน ที่เป็นธรรมกายทั้งหยาบทั้งละเอียด ธาตุธรรมที่เป็นธรรมกายทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายหยาบธรรมกายละเอียดที่เป็นโคตรภู ธรรมกายหยาบธรรมกายละเอียดที่เป็นพระโสดา ธรรมกายหยาบธรรมกายละเอียดที่เป็นพระสกทาคา ธรรมกายหยาบธรรมกายละเอียดที่เป็นพระอนาคา ยกพระอรหัตออกเสีย ทั้ง ๘ กายนี้เป็นอสังขตธาตุอสังขตธรรมทั้งนั้น ธาตุเหล่านี้ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เป็นเหมือนแก้วใสสะอาดทีเดียว นี่เป็นอสังขตธาตุอสังขตธรรมทีเดียว แต่ว่ายังไม่ใช่ วิราคธาตุวิราคธรรม
ถ้าจะเป็นวิราคธาตุวิราคธรรมล่ะ ต้องกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นวิราคธาตุวิราคธรรม กายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นวิราคธาตุวิราคธรรมทีเดียว มีธาตุธรรมชนิดเดียวกันไม่ต่างกัน แต่ว่าละเอียดขึ้นไปเป็นชั้น ๆ เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม เออ รู้จักละ
ส่วนสังขตธาตุสังขตธรรม อสังขตธาตุอสังขตธรรม วิราคธาตุวิราคธรรม รู้จักธาตุละ ธาตุเหล่านี้แหละเป็นตัวยืน พระตถาคตเจ้าจะเกิดขึ้นก็ดี หรือว่าพระตถาคตเจ้าจะไม่เกิดขึ้นก็ดี ธาตุธรรมเหล่านี้เขาตั้งอยู่แล้ว เขามีปรากฏอยู่แล้ว เขาไม่งอนง้อผู้หนึ่งผู้ใด มีปรากฏขึ้นเป็นเป็นสัตว์ เป็นสังขาร เป็นกำเนิด ที่เรียกว่า อัณฑชะ สังเสทชะ อุปปาติกะ ชลาพุชะ กำเนิดทั้ง ๔ นี้ ที่เกิดขึ้นก็เพราะอาศัยธาตุธรรมเหล่านั้นผลิตขึ้น ธาตุธรรมเหล่านั้นผลิตขึ้นเหมือนอะไร ผลิตขึ้นเหมือนติณชาติ พฤกษชาติ รุกขชาติ ติณชาติ ต้นหญ้า รุกขชาติ ต้นไม้ พฤกษชาติ ต้นไม้เหมือนกัน วัลลีชาติ ก็เถาวัลย์ต่าง ๆ ที่เป็นเถา ติณชาติ รุกขชาติ วัลลีชาติ พฤกษชาติ เหล่านี้ ไม่มีธาตุธรรมละก็มีไม่ได้ ต้องอาศัยธาตุธรรมผลิตขึ้น ผลิตขึ้นก็เป็นสังขาร เป็นสังขารของโลกไป มนุษย์เล่า ที่ผลิตขึ้นเป็นมนุษย์นี่ เป็นหญิงเป็นชายปรากฏนี่ ก็อาศัยธาตุธรรมนั่นแหละ ธาตุธรรมนั่นแหละผลิตขึ้น ถ้าไม่มีธาตุธรรมแล้วเป็นไม่ได้ ปรากฏไม่ได้ ถ้าธาตุธรรมผลิตขึ้นเป็นอะไร ก็เป็นสังขาร เป็นปุญญาภิสังขารบ้าง อปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง ที่เป็นปุญญาภิสังขาร สังขารที่งดงามสวยงาม ที่ดีที่ชอบใจ เจริญใจ ที่เป็นอปุญญาภิสังขาร สังขารที่ไม่งดงาม ที่ไม่ดีที่ไม่ชอบใจทั้งนั้น อเนญชาภิสังขาร สังขารที่ไม่หวั่นไหว ได้แก่ สังขารของอรูปพรหมในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เป็นอเนญชาภิสังขาร หรือได้แก่อสัญญีสัตว์ เบื่อนามติดรูป ได้รูปฌาน ๔ เบื่อนามติดรูป อยู่ในพรหมชั้นที่ ๑๑ นั้น นั่นเรียกว่าเป็นอเนญชาภิสังขารเหมือนกัน เป็นสังขาร ๓ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร
ที่เป็นสังขารเหล่านี้ขึ้นก็เพราะธาตุธรรมเหล่านั้นผลิตขึ้น ธาตุธรรมเหล่านั้นเป็นตัวยืน ผลิตให้เป็นติณชาติ รุกขชาติ พฤกษชาติ วัลลีชาติ ผลิตให้เป็นสัตว์ เป็นหญิงเป็นชาย ปรากฏขึ้นอย่างนี้ ที่ผลิตขึ้นเรียกว่าอะไร? พระพุทธเจ้าท่านทรงสอบสวนแล้ว ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว สอบสวนแล้วว่า นั่นแหละสังขารเป็นสังขารขึ้น สังขารจะเป็นขึ้นมากน้อยเท่าไร เหมือนต้นไม้ ภูเขา ตึกร้านบ้านเรือน เหล่านี้แหละ จะเป็นอุปาทินนกสังขารก็ดี อนุปาทินนกสังขารก็ดี ที่เป็นอุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง ที่เป็นอนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ ติณชาติ รุกขชาติ พฤกษชาติ วัลลีชาติ เหล่านั้นไม่มีใจครอง อนุปาทินนกสังขาร
สังขารที่เกิดขึ้น อาศัยกำเนิด ๔ คือ อัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ อุปปาติกะ เหล่านี้ เกิดขึ้นอาศัยกำเนิด ๔ เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง
สังขารที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี นั่นแหละเรียกว่า สพฺเพ สงฺขารา สังขารทั้งหลายเหล่านั้นไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไม่เที่ยง แปรผันไปหมด ปรากฏอย่างนี้
เมื่อรู้จักอย่างนี้แล้ว สิ่งที่ไม่เที่ยง เราก็ถามซิว่า ในสากลโลก ถามพระ ถามเณร ถามอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ มันจะเอาสุขมาจากไหนล่ะ มีสตางค์อยู่ ๑๐๐ บาท ใช้หมดไปเสียแล้ว มันไม่เที่ยง มันหมดไปเสีย ทุกข์หรือสุขล่ะ อ้าวไม่มีใช้ ทุกข์แล้ว หรือไม่ฉะนั้น สังขารเหล่านี้ที่แปรไปอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ ถามคนแก่ซี สุขหรือทุกข์ ต้องว่าทุกข์ทีเดียว ถามเด็ก ๆ มันก็ไม่ทุกข์ล่ะซี หนุ่ม ๆ สาว ๆ มันก็ไม่ทุกข์ ถามคนแก่เข้าซี ทุกข์ทันทีทีเดียว อ้อ! ทุกข์เช่นนี้หรอกหรือ นี่มันทุกข์อย่างนี้ นี้เรียกว่า สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เป็นทุกข์จริง ๆ นะ ไม่ใช่สุขหรอก สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา เป็นทุกข์แท้ ๆ ไม่ใช่หลอกหลวง ทุกข์จริง ๆ แต่ว่าทุกข์เหล่านี้ไม่เที่ยง ทุกข์เหล่านี้ก็เป็นละครของโลก ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็เลิกกันไป ลาโรงกันไป เก็บฉากกันไป หายไปหมด ไม่รู้ไปทางไหน ก็เป็นละครโลกนั่นเอง ถ้าว่าใครมีปัญญาก็ปล่อยความยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเสีย ถ้าคนโง่ก็ไปยึดถือสิ่งที่เป็นทุกข์ไม่เที่ยง มันก็ต้องร้องไห้เศร้าโศกเสียใจไป เข้าใจว่าเป็นของเรา เป็นเราไป นั่นมันโง่นี่ ไม่รู้จริงตามธาตุธรรมเหล่านี้ ถ้ารู้จริงตามธาตุธรรมเขาปรุงให้เป็นไปต่างหากล่ะ ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่ไหน ไม่มีทั้งนั้น เมื่อรู้จักความจริงอันนี้แล้ว รู้จักความจริงอันนี้แล้ว ไม่ใช่แต่ธาตุอย่างเดียว ไม่ใช่แต่ธาตุที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่แต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์นะ ธรรมทั้งหลายก็ยังไม่ใช่ตัวนะ รู้จักว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เที่ยวหาตัวกันยุ่ง ทีนี้ใครล่ะเป็นผู้ทุกข์ ใครล่ะเป็นผู้รับทุกข์ ใครล่ะเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะหากันยุ่ง จะเอาธรรมเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลเสียอีกละ ท่านก็ยืนยันอีกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว แต่ว่าธรรมทั้งหลายก็ไม่ใช่ตัว ปรุงตัวให้เป็นไปอีกนั่นแหละ ถ้าว่าไม่มีธรรม ตัวก็ไม่มี ไม่มีตัว ธรรมก็ไม่มี อาศัยกัน นี่ข้อสำคัญ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ธรรมทั้งหลายน่ะประสงค์อะไร ธรรมที่อยู่กับธาตุนั่นแหละ ธาตุมีเท่าไรธรรมมีเท่านั้น มากมายนับประมาณไม่ได้
ธรรมน่ะ ที่นี้ จะกล่าวถึงธรรมละ ธรรมดวงใสเท่าฟองไข่แดงของไก่อยู่ในกลางกายมนุษย์นี่ นี่ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นดวงใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ศูนย์กลางกายมนุษย์นี่ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์พอดี ด้ายกลุ่มขึง ๒ เส้นตึง สะดือทะลุหลัง ขาวทะลุซ้าย ๒ เส้นตึง ตรงกลางจรดกัน ตรงกลางก็ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์พอดี
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ นั่นแหละธรรมละ ดวงนั้นแหละเรียกว่าธรรม เมื่อดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ดวงขนาดนั้นละ
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดล่ะ ๒ เท่า นั้น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ล่ะ ชนิดเดียวกัน เหมือนกัน ใสหนักขึ้นไป ๓ เท่า นั้น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียดล่ะ ๔ เท่า นั้น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ๕ เท่า นั้น โตขึ้นไป โตขึ้นไป
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียดล่ะ ๖ เท่า นั้น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ๗ เท่า นั้น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดล่ะ ๘ เท่า นั้น ๘ เท่า ฟองไข่แดงของไก่ โตขนาดนั้น นั่นเรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งนั้น เป็นสังขตธาตุสังขตธรรม
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมล่ะ นั่นเป็น ๙ เท่า
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียดล่ะ ๑๐ เท่า นั่นเท่าหน้าตักวัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกายนั้น ๆ
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาล่ะ วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาละเอียดล่ะ ๑๐ วา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑๐ วา กลมรอบตัว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคาล่ะ ๑๐ วา กลมรอบตัว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคาละเอียดล่ะ ๑๕ วา กลมรอบตัว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคาล่ะ ๑๕ วา กลมรอบตัว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคาละเอียดล่ะ ๒๐ วา กลมรอบตัว
นี่ธรรมเหล่านี้เป็น อสังขตธาตุอสังขตธรรม แต่ว่าไม่ใช่ วิราคธาตุวิราคธรรม
ดวงธรรมเหล่านี้ ดวงธรรมที่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา
พระอรหัตต์ละเอียด กว่า ๒๐ วาขึ้นไป นี่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตละเอียด
ยกดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตกับพระอรหัตละเอียดออกเสีย ดวงธรรมต่ำกว่านั้นลงมารวมด้วยกัน ๑๖ ดวง นั่นแหละ คำว่า ธรรมทั้งหลายละ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวล่ะ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่ตัว ตัวไม่ใช่ธรรม ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่ตัว ตัวไม่ใช่ธรรม
ทีนี้ จะให้รู้จักตัวละ ใครเป็นตัวล่ะ กายมนุษย์นี่แหละเป็นตัว กายมนุษย์ละเอียดก็เป็นตัว แต่ว่าตัวโดยสมมตินะ ยกกันขึ้น เชิดกันขึ้น เรียกมันขึ้น ตัวโดยสมมติ กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด ก็เป็นตัว กายรูปพรหมก็เป็นตัว รูปพรหมละเอียดก็เป็นตัว กายอรูปพรหมก็เป็นตัว อรูปพรหมละเอียดก็เป็นตัว ตัวโดยสมมติทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวโดยวิมุตตินะ นี่ตัวโดยสมมติ เหมือนละครโรงใหญ่ในโลก สมมติว่าเป็นพระเอกนางเอก มันก็ลาโรงกันเสียทีหนึ่ง ก็จะเอาพระเอกนางเอกที่ไหน ลาโรงกันแล้ว ตัวเหล่านี้ตัวโดยสมมติทั้งนั้น ตัววิมุตติมีไหมล่ะ มี ตัววิมุตติมีอยู่ กายธรรมนั่นแหละ กายธรรมละเอียดนั่นแหละเป็นตัววิมุตติละ เป็นตัวอีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นตัวโดยวิมุตติ กายธรรม กายธรรมละเอียด ก็เป็นตัว กายโสดา โสดาละเอียดก็เป็นตัว ตัวโดยวิมุตติ กายพระสกทาคา พระสกทาคาละเอียดก็เป็นตัว ตัวโดยวิมุตติ กายธรรมพระอนาคา พระอนาคาละเอียดก็เป็นตัว ตัวโดยวิมุตติอีกเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ใช่วิราคธาตุวิราคธรรม เป็นแต่เพียงว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา เท่านั้น ตัวที่ปัจจัยปรุงแต่งได้ ตัวที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม ไม่ใช่วิมุตติหลุดขาดทีเดียว เป็นตทังควิมุตติบ้าง วิกขัมภนวิมุตติบ้าง ไม่ถึงสมุจเฉทวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติก็หลุดเลย เป็นวิราคธาตุวิราคธรรมทีเดียว นั่นเป็นสมุจเฉทวิมุตติทีเดียว นี่รู้จักตัวละนะ ก็รู้เท่านั้น เมื่อรู้จักตัวชนิดนี้ละก็
ดวงธรรมนั่นจึงไม่ใช่ตัว แต่ว่าเป็นที่อาศัยตัว ตัวต้องอาศัยดวงธรรมนั้น ถ้าดวงธรรมนั้นไม่มี ตัวก็ไม่มี สมมติก็สมมติด้วยกัน วิมุตติก็วิมุตติด้วยกัน ปัจจัยปรุงแต่งได้ก็ปรุงแต่งได้ด้วยกัน ปรุงแต่งไม่ได้ก็ไม่ได้ด้วยกัน ขาดจากปัจจัยปรุงแต่งก็ขาดด้วยกัน เพราะเป็นตัวอาศัยกันอย่างนี้
เพราะฉะนั้นท่านถึงได้ชี้ว่า สพฺพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ตัวก็ไม่ใช่ธรรม ธรรมก็ไม่ใช่ตัว ตัวอยู่ส่วนหนึ่ง ธรรมอยู่ส่วนหนึ่ง คนละชั้น ธรรมอยู่ดวงหนึ่ง ใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่กลางกายมนุษย์ ตัวมนุษย์อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ดวงธรรมนั้น ตัวที่เป็นขึ้นก็เพราะอาศัยดวงธรรมนั้น ดวงธรรมนั้นไม่ใช่ตัว ตัวไม่ใช่ดวงธรรม เพราะฉะนั้นท่านถึงได้ยืนยันว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว มีเท่าไรก็ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น เรียกว่าธรรมทั้งหลาย
เมื่อรู้จักชัดดังนี้ รู้จักชัดว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว ตัวไม่ใช่ธรรม เมื่อรู้จักจริงเสียเช่นนี้แล้ว เราก็จักตั้งใจแน่แน่วให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมกายโคตรภูแล้ว ธรรมกายโคตรภูละเอียด เข้าถึงธรรมกายโสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัต อรหัตละเอียด เท่านี้เราก็จะเป็นสุขเกษมสำราญเบิกบานใจ พระพุทธเจ้าไปทางไหน เราก็จะไปทางนั้น นี้เทศนาเช่นนี้สั้น ยืนยันให้เข้าใจชัดเชียว ถ้าเทศนาให้กว้างออกไปอีก กว้างออกไปอีกนั้นเข้าใจยาก ฝ่ายสราคธาตุสราคธรรม วิราคธาตุวิราคธรรม สังขตธาตุ อสังขตธาตุ สังขตธรรม อสังขตธรรม เมื่อแยกออกไปแล้วมี ๒ ธาตุธรรมทั้งหมดเรียกว่า วิราคธาตุวิราคธรรม สราคธาตุสราคธรรม แยกออกเป็น ๒ วิราคธาตุวิราคธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นพระอรหัตพระอรหัตละเอียด นั่นเป็นวิราคธาตุวิราคธรรมแท้ ๆ ถ้าสังขตธาตุสังขตธรรม อสังขตธาตุอสังขตธรรม อยู่ในสราคธาตุสราคธรรมทั้งนั้น ย่นลงมาเสียเท่านี้เป็น ๒ อย่าง สราคธาตุสราคธรรม กับ วิราคธาตุวิราคธรรม ๒ อย่างเท่านั้น
เมื่อรู้จักชัดดังนี้แล้ว ธาตุนี่พิสดารมากมายนัก ที่มนุษย์อาศัยนี้ ธาตุย่อย ๆ ที่เรามองเห็นไม่มีที่สุดเสียแล้ว ตาก็มองไม่มีที่สุด ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม วิญญาณ อากาศ นั้น แยกออกไป ดิน น้ำ ไฟ ลม วิญญาณ อากาศ ทั้งนั้น มองไม่มีที่สุด เป็นตึกร้าน บ้านเรือน เรือกสวน ไร่นา เรือแพนาวา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหล่านี้เป็นสราคธาตุสราคธรรม พวกธาตุธรรมทั้งนั้น ไม่มีที่สุดทีเดียว ถ้าให้กว้างขวางออกไปแล้วเป็นชั้น ๆ ธาตุมีเป็นชั้น ๆ ธาตุอยู่เป็นชั้น ๆ ไม่ใช่กว้างขวางเท่านั้น เข้าไปในกลางนะ กลางของกลางนะ กลางของกลาง ๆ ๆ ภายนอกนั่นเป็นสราคธาตุสราคธรรม กลางเข้าไป ๆ ๆ จนกระทั่งถึงพ้นจากสราคธาตุสราคธรรม เข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมเป็นชั้น ๆ เข้าไป ใหญ่โตหนักเข้าไปทุกที ไม่มีที่สุด เต็มธาตุเต็มธรรมหมด ไม่มีที่ว่างเลย ที่แสดงเท่านี้ก็จบธาตุจบธรรมทั้งหมด
แต่ว่าผู้เทศน์เองก็ได้ค้นคว้าหาเหตุผลเหล่านี้นักหนา แต่ว่ายังไปไม่ถึงสุด ไปยังไม่สุดในวิราคธาตุวิราคธรรม ถ้าไปสุดเวลาไรละก็ วิชชาวัดปากน้ำ วิชชาของผู้เทศน์นี่สำเร็จเวลานั้น ภิกษุสามเณรจะต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ทันทีทีเดียว ไม่ต้องไปสงสัยละ ถ้าไปสุดวิราคธาตุวิราคธรรมละ เวลานี้กำลังไปอยู่ ทั้งวันทั้งคืน วินาทีเดียวไม่ได้หยุดเลย ตั้งใจจะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรมนี่แหละ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ นับปีได้ ๒๒ ปี กับ ๖ เดือนเศษแล้ว ๒๒ ปี ๖ เดือนเศษแล้วเกือบครึ่งละ จะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรมให้ได้ แต่มันยังไม่สุด แต่มันจะอีกกี่ปีไม่รู้แน่นะ ถ้าว่าสุดแล้วก็รู้ดอก ไม่ต้องสงสัยละ รู้กันหมดทั้งสากลโลก ถ้าสุดเข้าแล้วก็ รบราฆ่าฟันเลิกกันหมด มนุษย์ในสากลโลกร่มเย็นเป็นสุขหมด ไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ มีผู้เลี้ยงเสร็จ เป็นสุขเหมือนอย่างกับพระ เหมือนอย่างกับเทวดา เหมือนกับพระนิพพาน สุขวิเศษไพศาลอย่างนั้น จะได้พบแน่ละ แต่ว่าขอให้ไปสุดวิราคธาตุวิราคธรรมเสียก่อน
พวกเราทั้งหลายนี้ไม่ไปกันเลย เฉย ๆ อยู่ มัวชมสวนดอกไม้ในโลกอยู่นี่เอง ชมรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็อยู่ที่เดียวนั่นเอง ไม่ได้ไปไหนกับเขาเลย นี้พวกจะไปก็ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา จะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรม อ้าว ไป ๆ ก็เลี้ยวกลับกันเสียแล้ว ไม่ไปกันจริง ๆ ไปชมสวนดอกไม้อีกแล้ว ไปเพลิดเพลินในบ้านในเรือนกันอีกแล้ว อ้าว ไป ๆ ก็จะไปอีกแล้ว ไป ๆ ก็กลับเสียอีกแล้ว พวกเรานี้แหละกลับกลอก ๆ อยู่อย่างนี้แหละ จะเอาตัวไม่รอด ชีวิตไม่พอ เหตุนี้ให้พึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวของเรา ก็นั่นแหละ จึงจะเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมได้ ที่จะเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมน่ะ ต้องปล่อยชีวิตจิตใจนะ ไปรักไปห่วงอะไรไม่ได้ ปล่อยกันหมดสิ้นทีเดียว ไปรักห่วงใยอยู่ละก็ ไปไม่ได้ ไปไม่ถึงทีเดียว เด็ดขาดทีเดียว ต้องทำใจหยุดนั่นแน่ จึงจะไปถูกวิราคธาตุวิราคธรรมได้ ต้องทำใจหยุด หยุดในหยุด ไม่มีถอยกัน ไม่มีกลับกันละ นั่นแหละจึงจะไปสุดได้ ถ้าใจอ่อนแอไปไม่ได้ดอก ต้องใจแข็งแกร่งทีเดียว จึงไปได้
นี่ที่ชี้แจงแสดงมานี้ ในสราคธาตุสราคธรรม วิราคธาตุวิราคธรรม ซึ่งมีมาในธรรมนิยามสูตร แสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบาย เข้าถึงของจริงในธรรมนิยามสูตร ให้พินิจพิจารณา ผู้ที่สดับตรับฟังแล้ว ให้ตั้งใจแน่แน่วว่าเราจะต้องเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมให้ได้ นี่แหละเป็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ด้วยประการดังนี้ ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตบรรดามาสโมสร ในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถา โดยอรรถนิยมความเพียงเท่านั้น
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ