อุทานคาถา
๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ ฯ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ ฯ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ
สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ ฯ
ขุ.อุ.(บาลี) ๒๕/๓๘-๔๐/๗๔-๗๖
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงในอุทานคาถา ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเปล่งขึ้นด้วยพระองค์เอง มิได้ปรารภสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปรารภแต่ธรรมสิ่งเดียวเท่านั้น ทรงเปล่งอุทานคาถาขึ้นดังที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้น อุทานคาถานี้เป็นความเปล่งขึ้นจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง เปล่งขึ้นด้วยมาปรารภถึงธรรมว่าเป็นของอัศจรรย์นัก ธรรมน่ะเป็นของอัศจรรย์ บัดนี้ ท่านทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จงตั้งใจให้บริสุทธิ์สนิท ฟังอุทานคาถา ซึ่งเปล่งขึ้นจากพระทัยของพระบรมศาสดา ปรากฏโดยวาระพระบาลีว่า
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ ฯ
แปลเป็นสยามภาษาว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ
เมื่อใดธรรมทั้งหลายเกิดแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป นั้นได้รู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ
เมื่อใดธรรมทั้งหลายเกิดแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้จักความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย
เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมืดเสียได้ ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมากำจัดความมืด ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น
นี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นของรู้ถึงได้ง่าย รู้ถึงได้ยากนัก ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่พราหมณ์นั้น เราควรจะรู้ ธรรมอะไรที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ และก็บอกลักษณะท่าทางไว้ให้เสร็จ เสมือนดวงอาทิตย์ขึ้นไปแล้วกำจัดความมืด ทำอากาศให้สว่าง นี้เป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญนัก จะเอาธรรมตรงไหน ดวงไหน ชิ้นไหน อันไหนกัน ธรรมที่เกิดขึ้นแก่พราหมณ์น่ะ ถ้าว่าไม่รู้จักธรรมดวงนั้น ฟังไปเถอะ สักร้อยครั้งก็ไม่ได้เรื่องไม่ได้เรื่องได้ราวทีเดียว อุทานคาถานี้ลึกซึ้งอยู่ ไม่ใช่ของง่าย เผอิญจะต้องกล่าวไว้ย่อ ไม่ได้กล่าวพิสดาร เรียกว่า อุทานคาถา
ธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ เป็นมนุษย์ เป็นหญิงก็ดี ชายก็ดี ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตไม่ว่า ที่ปรากฏอยู่บัดนี้มีธรรมบังเกิดขึ้นกับใจบ้างไหม ที่ปรากฏอยู่เสมอน่ะ บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี ที่ไม่มีนั้นเทียบด้วยคนตาบอด ที่ธรรมปรากฏขึ้นแล้วน่ะ เทียบด้วยคนตาดี เรื่องนี้พระองค์ทรงรับสั่งในเรื่องธรรมว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารี ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ธรรมที่บังเกิดปรากฏอยู่กับตัวน่ะ พวกมีธรรมกายมีธรรมปรากฏแก่ตัวเสมอ พวกไม่มีธรรมกาย นาน ๆ จะปรากฏธรรมสักครั้งหนึ่ง ธรรมที่ปรากฏขึ้นน่ะประจำตัวเชียวนะ ติดอยู่กับใจของบุคคลนั้น สว่างไสว ถ้าปฏิบัติดี ๆ เหมือนดวงอาทิตย์ในกลางวันเชียวนะ แจ่มจ้าอยู่เสมอ แต่ว่าใจนั้นต้องจรดอยู่กับธรรม ถ้าว่าใจไม่จรดอยู่กับธรรม หรือธรรมไม่ติดอยู่กับใจละก็ ความสว่างนั้นก็หายไปเสีย เหมือนอย่างตามประทีปในเวลากลางวัน ประทีปอย่างย่อม ๆ ความสว่างก็น้อย ประทีปนั้นขยายออกไป ความสว่างก็ขยายออกไป อย่างนั้นแหละฉันใด ธรรมก็มีหลายดวง สว่างต่างกันอย่างนั้นเหมือนกัน
ธรรมน่ะอยู่ที่ไหน มนุษย์อยู่ที่ไหนธรรมอยู่ที่นั่น มนุษย์มีธรรมด้วยกันทุกคน เขาเรียกว่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ถ้าว่าผู้ที่ทำธรรมเป็นละก็ ใจไปติดที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น ติดอยู่ที่นั่นนั่นแหละ ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่มนุษย์คนนั้นแล้ว
ถ้าว่ากายมนุษย์ละเอียด ใจมนุษย์ละเอียดก็ติดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั่น ๒ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่กายมนุษย์ละเอียดนั้นแล้ว
ถ้าว่าเป็นกายทิพย์ ใจก็ไปติดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถ้าว่าไม่ติดอยู่ในธรรมดวงนั้น ไม่เห็นธรรมดวงนั้นแจ่ม ได้ชื่อว่าธรรมยังไม่ปรากฏ เมื่อธรรมปรากฏแล้ว ก็เห็นธรรมดวงนั้นแจ่ม ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงขนาดนั้น ดวงกลม
กายทิพย์ละเอียด เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่ แจ่มอยู่กับใจเสมอ นั่นได้ชื่อว่าธรรมปรากฏแก่กายทิพย์ละเอียดแล้ว
กายรูปพรหม ใจติดอยู่กับศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ใส ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสบริสุทธิ์ นั่นแหละ ธรรมนั้นปรากฏแก่กายรูปพรหมแล้ว
กายรูปพรหมละเอียด เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด เห็นดวงใส ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่กับใจเสมอ สว่าง ไม่มืด ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่กายรูปพรหมละเอียดแล้ว
กายอรูปพรหม ใจติดอยู่กับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ๗ เท่าฟองไข่แดงของไก่ เห็นแจ่มอยู่เสมอไป นั้นได้ชื่อว่าธรรมดวงนั้นปรากฏแก่กายอรูปพรหมแล้ว
กายอรูปพรหมละเอียด ธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใจอรูปพรหมละเอียดติดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด เห็นใสชัดปรากฏ ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่ นี่เห็นปรากฏอย่างนี้ล่ะก็ นั่นแหละได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่กายอรูปพรหมละเอียดแล้ว
ถ้ากายธรรม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว ถ้าใจของธรรมกายติดอยู่ที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ติดอยู่เสมอละก็ นั่นแหละได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่ธรรมกายนั้นแล้ว
ธรรมกายละเอียด เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว
กายธรรมพระโสดา เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมพระโสดา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ติดอยู่กับใจพระโสดา พระโสดานั้นได้ชื่อว่ามีธรรมประจำใจแล้ว ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่กายธรรมพระโสดาแล้ว
พระโสดาละเอียด พระสกทาคา สกทาคาละเอียด พระอนาคา อนาคาละเอียด พระอรหัต อรหัตละเอียด พวกนี้ติดอยู่เสมอไม่หลุด ติดอยู่เสมอนั้นได้ชื่อว่าธรรมปรากฏขึ้นแล้ว แต่พวกที่ยังไม่เห็น ไม่มี ไม่เป็นปรากฏ ได้ชื่อว่ายังไม่เห็น ไม่มี ไม่เป็นปรากฏ ธรรมนั้นได้ชื่อว่าไม่ปรากฏ
ตามกำหนดวาระพระบาลี ยเท หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส แปลเนื้อความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ผู้เพ่งอยู่แล้วก็เห็นดวงธรรมนั้นแหละ นี่แหละได้ชื่อว่าธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ละ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป ก็ใจไปติดอยู่เสียกับธรรม เห็นธรรมแล้ว ก็หมดสงสัยในเรื่องธรรมกันเสียที เห็นแล้ว ติดแล้ว ปรากฏแล้ว หมดสงสัยในเรื่องธรรมกันเสียที พวกเรานี่มันสงสัยทุกคนนั่นแหละ ธรรมมากมายนัก โน่นก็ธรรม นี่ก็ธรรม ไม่รู้จะไปเอาธรรมที่ไหนแน่ ไม่รู้จะเอาธรรมที่ไหนแท้ ๆ นี้ธรรมอันนี้แหละเป็นตัวจริงละ ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละ อย่าไปเที่ยวหาอื่นให้มันอื่นจากศูนย์กลางกายมนุษย์กลางกายของตัวไปเลย ตรงนั้นแหละ เอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ายังไม่เห็น นาน ๆ เข้าก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเอง ที่ไปหาที่อื่น ไปโน่น ไปตรงโน้น ไปตรงนี้ ไปที่โน่น ไปที่นี่ ไปหาธรรมในป่าในดอนในดงกันยกใหญ่ทีเดียวเพราะไม่เห็น พอไปเห็นเข้าแล้ว โธ่ ผ้าโพกหัวหาแทบตายไม่เห็น อยู่บนหัวนี่เอง ไปหาธรรมแทบตาย ธรรมอยู่กลางตัวของตัว ๆ นั่นเอง นั่นแหละธรรมอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ว่าไม่ปรากฏขึ้น เมื่อปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์แล้ว พราหมณ์ก็หมดสงสัย ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ ได้รู้ว่าธรรมเกิดแต่เหตุ ธรรมเกิดแต่เหตุอย่างไร ก็เพ่งพินิจพิจารณา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใส บริสุทธิ์ เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เท่าฟองไข่แดงของไก่ เออ ธรรมดวงนี้เกิดแต่เหตุ รู้ทีเดียว เกิดแต่เหตุ เหตุอะไร เพราะมนุษย์ทำบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ ไม่มีร่องเสียเลยเชียว นิดเดียวเท่าปลายผมปลายขนก็ไม่มี กลับเป็นคนอีกทีก็เป็นมนุษย์อีก ดวงธรรมอันนั้นเป็นขึ้นอีก ดวงธรรมดวงเก่านั้นหมดไป หมดอำนาจหมดชีวิตไป กลับเป็นมนุษย์ดังเก่าอีก ก็มีธรรมดังเก่าแบบเดียวกัน อ้อ ธรรมนี่เกิดแต่เหตุอย่างนี้ เกิดแต่เหตุที่มนุษย์ทำนี่เอง
ถ้าว่ามนุษย์ไม่ทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ให้ถ่องแท้แล้วละก็ ไม่ได้เป็นมนุษย์ กลับไปเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรกไป ธรรมนั้นก็เสียไป ดำ ขุ่นหมอง เศร้ามัวไปหมด แต่ว่าสัตว์นั้นไม่เห็น ถ้าเห็นแล้วไม่ไปนรกแน่นอน ไม่ไปล่ะ กลับเป็นมนุษย์ทีเดียว นี่แหละได้ดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์แล้ว เห็นไหมล่ะ ด้วยวิธีบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ กายมนุษย์ละเอียดก็เช่นเดียวกัน ดวงธรรมละเอียดลงไปกว่านี้ ๒ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ทั้งกายมนุษย์หยาบ มนุษย์ละเอียด ทั้ง ๒ กายนั้นเป็นกายที่มารวมกัน อุตส่าห์พยายามรักษาความบริสุทธิ์ของตัวไว้ บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ไม่มีร่องเสียเลย
เมื่อบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่มีร่องเสียเลยแล้วละก็ อุตส่าห์พยายามเหมือนภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา นั้นแหละ อุตส่าห์บำเพ็ญทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อุตส่าห์ให้ทานตามกาล ตามสมัย ตามกำลังของตน อุตส่าห์รักษาศีลให้ดียิ่งขึ้นไป กาย วาจา ใจ ไม่ให้เดือดร้อนใคร ไม่ให้กระทบกระเทือนใคร ตัวเองก็ไม่เดือดร้อน ไม่ให้กระทบกระเทือน คนอื่นก็ไม่ให้เดือดร้อน ไม่ให้กระทบกระเทือน รักษากาย วาจา ใจ ไว้เป็นอันดี เรียกว่า ศีล
สุตะ ถึงวันธรรมสวนะก็อุตส่าห์พากันมาสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาอย่างนี้แหละเหมือนภิกษุสามเณร ก็อุตส่าห์พากันมาสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา ทำอย่างนี้เรียกว่า สุตะ
จาคะ กระทบกระเทือนกันบ้างก็ช่างเถิด ให้อภัย ไม่ถือเอาโทษ ไม่ถือเอาความขุ่นมัวเศร้าหมองอันใด ให้อภัยกันเสียหมดทีเดียว อยู่ด้วยกันตั้งร้อยตั้งพันก็ไม่เป็นไร ยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี เพราะให้อภัยซึ่งกันและกัน
ปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สูงและต่ำ ดีชั่ว ผิดชอบ เมื่อเราตั้งอยู่ในความเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องมีใจโอบอ้อมอารีต่อผู้น้อย ต้องมีใจอย่างนั้น นั่นเรียกว่ามีปัญญา ต้องอยู่ในความโอบอ้อมอารี เราเป็นผู้น้อยก็ต้องตั้งอยู่ในความเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ อย่าถือเอาแต่ตัวของตัวไม่ได้ หรือไม่เช่นนั้น ผู้ปกครองก็ต้องใจโอบอ้อมอารี ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องเคารพยำเกรงต่อผู้ใหญ่ อย่างนี้อยู่เป็นสุขเบิกบานสำราญใจ ต้องเคารพคารวะซึ่งกันและกัน ผู้น้อยผู้ใหญ่เป็นลำดับลงไป เคารพซึ่งกันและกันตามหน้าที่ ตามพรรษา อายุ ตามคุณธรรมนั้น ๆ ดังนี้ได้ชื่อว่าแตกกายทำลายขันธ์จากมนุษย์โลกนี้ ทำดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ให้บังเกิดขึ้น ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ โตหนักขึ้นไป ดีหนักขึ้นไป กายทิพย์ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทำละเอียดลงไปแบบเดียวกัน ทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
เรายังเวียนว่ายตายเกิดในกามภพนี่ สุขไม่พอ ต้องทำให้สูงขึ้นไปกว่านี้ อุตส่าห์ทำรูปฌาน เมื่อบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ศีลก็บริสุทธิ์เป็นอันดีแล้ว กาย วาจา ใจ ก็บริสุทธิ์เป็นอันดี ทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ก็สมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้ว ตั้งใจแน่แน่วบำเพ็ญฌานให้บังเกิดมีขึ้น
ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมนั่น ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น กายมนุษย์ละเอียดนั่น หยุดนิ่งพอถูกส่วนเข้า เห็นดวงปฐมฌานทีเดียว วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัว นั่นเรียกว่า ดวงปฐมฌาน แล้วก็นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปฐมฌานนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าก็บังเกิดดวงทุติยฌาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอกเท่ากัน กลมรอบตัวเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงทุติยฌาน พอนิ่งถูกส่วนเข้า เกิดดวงตติยฌานขึ้นจากดวงทุติยฌานนั่น วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัว ใจก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงตติยฌานนั่น ถูกส่วนเข้า เห็นดวงจตุตถฌาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัว ๔ ดวงนี้เป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เมื่อทำฌานให้เกิดมีขึ้นเช่นนี้แล้ว อำนาจฌานนี่แหละ อำนาจความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ อำนาจทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นเหตุให้บังเกิดธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัว ฟองไข่แดงของไก่ ๔ ดวง มารวมกันเข้าเป็นดวงเดียว กลมรอบตัว ทั้งหยาบทั้งละเอียดแบบเดียวกัน
ถ้าว่าทำยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ใจของกายมนุษย์ ใจของกายรูปพรหมนั่น หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียด พอถูกส่วนเข้า รู้ว่าฌานสูงขึ้นไปกว่านี้มี นิ่งอยู่กลางจตุตถฌานนั่น พอถูกส่วนเข้า เห็นนิ่งอยู่กลางจตุตถฌานนั่น วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัวเหมือนกัน ใจรูปพรหมก็นิ่งอยู่ศูนย์กลางอากาศนั่น พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน กายรูปพรหมเข้าไม่ได้ กายอรูปพรหมก็ปรากฏขึ้น
ใจกายอรูปพรหม ก็นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงอากาสานัญจายตนะนั่น ถูกส่วนเข้า เห็นวิญญาณัญจายตนะ เห็นชัดทีเดียว รู้ว่าเกิดมาจากกลางของอากาศนั่น วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัวเหมือนกัน
ใจของอรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางของดวงรู้นั่น พอถูกส่วนเข้า เห็นอากิญจัญญายตนะ รู้ละเอียด วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๘ ศอก กลมรอบตัวเหมือนกัน
ใจของอรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงรู้ละเอียดนั่น พอถูกส่วนเข้า เห็นรู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ อยู่กลางดวงของรู้ละเอียดนั้น เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ รู้ก็ใช่ไม่รู้ก็ใช่ ให้เกิดขึ้นดังนี้ได้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นอรูปฌาน ดวงธรรมนั้นก็โตออกไป ถ้าว่าวัดฟองไข่แดงเป็นที่ตั้งละก็ ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ๘ เท่า โตขึ้นไปดังนี้ ก็รู้ทีเดียวว่า ธรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากเหตุ เหตุเพราะทำขึ้น บำรุงขึ้นให้เป็น ถ้าไม่บำรุงขึ้นไม่ทำขึ้น ไม่เป็น ก็มุ่งจะให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็ทำขึ้นไปได้อีก
กายอรูปพรหมนั่นที่จะทำต่อขึ้นไป นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม พอถูกส่วนเข้าก็เดินศีลเทียว เพ่งอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ดวงธรรมที่ละเอียดจริงนั่นแหละ ก็เห็นดวงศีล วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีลนั่น ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ วัดผ่าเส้นศูนย์กลางคืบหนึ่ง กลมรอบตัว หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้า เห็นกายธรรม รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หน้าตักโตเล็กตามส่วน อย่างโตที่สุดหย่อนกว่า ๕ วา อย่างเล็กที่สุดไม่เกินคืบหนึ่งไป นั่นเรียกว่ากายธรรม เกิดเป็นลำดับไป ก็รู้ว่า อ้อ! ธรรมเกิดขึ้นได้เพราะเหตุ เหตุที่เรากระทำลงไปนี่เอง เหตุของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
นี่แหละให้เข้าถึงกายธรรมได้ เข้าถึงได้อย่างนี้ เห็นปรากฏอย่างนี้ทีเดียว กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ทำไปแบบเดียวกันนี้ กายธรรมพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ทำไปแบบนี้ กายธรรมพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดก็ทำไปแบบนี้ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมพระอรหัตก็ทำไปแบบนี้
เมื่อธรรมปรากฏขึ้นเช่นนี้แล้ว พราหมณ์แกก็รู้ว่าธรรมเกิดแต่เหตุ เหตุที่กระทำลงไปอย่างนี้ ไม่กระทำไม่เกิด ถ้าไม่มีเหตุดังนี้เกิดไม่ได้ ต้องมีเหตุอย่างนี้จึงเกิดได้ เมื่อรู้จักเหตุดังนี้ ต้องทำลงไปในเหตุ ต้องการธรรมต้องทำลงไปในเหตุ ผิดเหตุละก็ไม่เกิด นี่ชั้นหนึ่ง
ในคาถาที่ ๒ ว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เห็นจริงแท้ไม่ต้องสงสัย ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย
ตรงนี้สำคัญนัก พราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย รู้ความสิ้นไป เมื่อพราหมณ์เดินขึ้นไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงกายพระอรหัต ก็รู้ทีเดียว รู้ชัดทีเดียว ที่จะขึ้นไปเช่นนี้ก็ต้องรู้ชัด เห็นชัดทีเดียว เพราะแกเห็นแล้ว
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่จะชะลอกายมนุษย์ไว้ได้ดังนี้ เพราะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ บังคับอยู่ บังคับธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์อยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด
กายทิพย์เล่า เพราะปัจจัยคือ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งหยาบทั้งละเอียด บังคับกายทิพย์ทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่
กายรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียดเล่า ทั้งหยาบทั้งละเอียด ก็เพราะปัจจัยคือ ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหยาบทั้งละเอียด บังคับกายรูปพรหมอยู่ ขึ้นไปจากภพไม่ได้ ไปไม่พ้น
กายอรูปพรหมเล่า ทั้งหยาบทั้งละเอียด เพราะกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย บังคับอรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่ พ้นจากภพไปไม่ได้
กายธรรมเล่า เพราะสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นสังโยชน์ เป็นปัจจัยคุ้มครองป้องกันไม่ให้หลุดพ้นไปจากโคตรภูบุคคลได้ ทั้งหยาบทั้งละเอียด
เมื่อเข้าถึงพระโสดา เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ทั้งหยาบทั้งละเอียด เพราะกามราคะ พยาบาท อย่างหยาบบังคับอยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด
กายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียดเล่า เพราะกามราคะ พยาบาท อย่างละเอียด มันบังคับอยู่ ทั้งหยาบทั้งละเอียด พระสกทาคาไปไม่ได้ ติดอยู่เพียงแค่พระสกทาคานี้
เมื่อเข้าถึงพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ก็รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบนนี่เอง นี่เป็นปัจจัยคุ้มครองป้องกันไม่ให้เป็นพระอรหัตได้ เป็นลิ่มเป็นสลักอยู่อย่างนี้ ท่านก็อุตส่าห์พยายามให้เข้าถึงพระอรหัต เดินทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอบรรลุเป็นพระอรหัต หลุดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เรียกว่า ขีณาสโว ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐาสวะ ไม่มีในพระอรหัต เมื่อไม่มีในพระอรหัตเห็นชัดเช่นนี้ ท่านก็รู้นะซี รู้ชัด เห็นชัดทีเดียวว่า นี่แหละ ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ พราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย ไม่มีปัจจัยเลย ปัจจัยฝ่ายที่จะตรึงไว้ไม่มีเลย หลุดจากปัจจัยหมด เป็นพระอรหัต เป็นสมุจเฉทปหาน แน่นอนในพระพุทธศาสนา
เมื่อรู้จักหลักเช่นนี้ ในบาทที่ ๓ รับรองอีก รับรองทีเดียวว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมากำจัดมืด กระทำอากาศให้สว่างฉะนั้น
นี้ปรากฏเป็นพระอรหัตแล้วอย่างนี้ สว่างเป็นพระอาทิตย์กลางวันเรื่อย ไม่มีค่ำเลย เมื่อยังไม่ถึงพระอรหัตละก็ ยังมีค่ำ ยังมีสว่างอยู่ ถ้าถึงพระอรหัตละก็ไม่มีค่ำเลยทีเดียว มีสว่างตลอด เพราะดวงธรรมเต็มที่แล้ว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตนั่นวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว ดวงนั้นยิ่งกว่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ไปอีก ดวงจันทร์ก็ดี ดวงอาทิตย์ก็ดี ส่องให้สว่างในที่ที่ส่องได้ ที่ลึกลับลงไปใต้แผ่นดินส่องไม่ได้ ถ้ำคูหาส่องไม่ถึง
ดวงธรรมของพระอรหัตนั้น ใต้แผ่นดินก็สว่างหมด เหนือดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็สว่างหมด เห็นสว่างตลอดหมด ในถ้ำ ในเหว ในปล่อง ในไส้พุง ตับไต เห็นตลอดหมด ปรากฏอย่างนี้ ท่านจึงได้เทียบด้วย สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมาแล้วกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่าง ดวงธรรมก็ทำให้สว่างยิ่งกว่านั้น สว่างในไส้พุงตับไต สว่างหมด ในภูเขา ดวงอาทิตย์ส่องได้แต่ในที่ที่ส่องได้ ในที่ลึกลับเข้าไปในภูเขาเข้าไปส่องไม่ได้ ส่วนดวงธรรมส่องเข้าไปได้ตลอดหมด ท่านจึงได้ยืนยันว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี ดวงธรรมนั่นแหละให้เกิดปัญญาสว่าง ไม่มีที่กำบังอันใดแต่นิดเดียว จะกำบังก็กำบังไม่ได้ ไม่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำบังได้เลย ส่องสว่างได้ตลอด นี้ท่านจึงได้ชี้ว่าเหมือนยังกับดวงอาทิตย์ผุดขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นแล้วกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่าง ดวงธรรมก็เทียบด้วยอย่างนั้นเหมือนกัน
นี้เป็นอุทานคาถา พระบรมศาสดาทรงตรัสเทศนา เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ฟังพอดีพอร้ายไม่รู้เรื่อง เมื่อเป็นของลึกซึ้งขนาดนี้ละก็ จำเอาไว้ว่าเราจะต้องทำให้เป็นเหมือนอย่างนี้ นี่ที่เขาเป็นธรรมกายเขารู้หนา แค่นี้เขาเข้าใจทีเดียวว่า อ้อ! ตำรับตำรามีจริงอย่างนี้ เราก็เห็นจริงเหมือนตำราแล้ว ถูกต้องตามตำราแล้ว ผู้ที่ไม่เห็นไม่เป็นปรากฏก็เท่ากับตาบอด ไปไหนไม่รอด ติดอยู่แค่กายมนุษย์นี่เอง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ไม่เห็นไม่เป็นกับเขา เมื่อไม่เห็นไม่เป็นกับเขา ก็ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ก็เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่มีสุข ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ก็เป็นสุข ที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารี ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ถ้ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ละก็เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น เป็นสุขเดี๋ยวนั้น ท่านยืนยันด้วยว่า อกาลิโก เมื่อเข้าไปถึงดวงธรรมนั้นแล้ว เป็นสุขเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องผัดกาลเวลา ไม่มีกาลเวลา จะได้เลื่อนความสุขมาในเวลานั้นในเวลานี้นี่ไม่มี พอถึงก็สุขทีเดียว ไปถึงเดี๋ยวนั้นเป็นสุขเดี๋ยวนั้นทีเดียว จึงเรียกว่า อกาลิโก แล้วไม่ใช่เท่านั้น เป็นดวงแจ่มแจ้งกระจ่างสว่างกับใจอยู่ อาจจะเรียกบุคคลผู้อื่นเข้ามาดูได้ รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างนี้ นี่ เหมือนกับเทศน์ให้ฟังอย่างนี้แหละ เรียกบุคคลผู้อื่นให้เข้ามาดูได้ เป็นดวงขนาดนั้น ๆ โตเท่านั้น สว่างถึงนั่น อาจจะเรียกบุคคลผู้อื่นให้เข้ามาดูได้อย่างนี้ นี้เรียกว่า เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ไม่ใช่เป็นของแข็ง น้อมเข้าไปในใจก็ได้ น้อมเข้าไปตั้งอยู่แค่ไหนก็ได้ น้อมออกข้างนอกก็ได้ น้อมลงข้างล่าง ซ้ายขวาหน้าหลังนอกใน น้อมไปได้ตามชอบใจหมดทั้งสิ้น ไม่ผิด นั่นเป็นของอ่อนตามใจอย่างนั้น เรียกว่า โอปนยิโก เป็นของน้อมได้ตามชอบใจ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญฺูหิ ผู้รู้ รู้ได้เฉพาะตัว ใครเข้าถึงใครก็รู้ ใครทำเป็นใครก็เห็น ใครได้ใครก็ถึง ใครไม่ได้ใครก็ไม่ถึง ใครไม่เป็นใครก็ไม่เห็นเท่านั้น ปรากฏอย่างนี้ นี่แหละ อุทานคาถา ที่พระศาสดาทรงประสงค์แสดงไว้
ที่ชี้แจงแสดงมาแล้วนี้ ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติในอุทานคาถาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สพฺพพุทฺธานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง ปิฏกตฺตยานุภาเวน ด้วยอานุภาพปิฎกทั้ง ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ชินสาวกานุภาเวน ด้วยอานุภาพชินสาวกของท่านผู้ชนะมาร จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ให้อุบัติบังเกิดมีเป็นปรากฏในขันธปัญจกแห่งท่านทานิสสราบดีทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาด้วยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ