รัตนสูตร : ว่าด้วยพุทธรัตนะ
๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ
ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข
สพฺเพว ภูตา สุมนา ภวนฺตุ
อโถปิ สกฺกจฺจ สุณนฺตุ ภาสิตํ
ตสฺมา หิ ภูตา นิสาเมถ สพฺเพ
เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย
ทิวา จ รตฺโต จ หรนฺติ เย พลิํ
ตสฺมา หิ เน รกฺขถ อปฺปมตฺตา ฯ
ยงฺกิญจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา
สคฺเคสุ วา ยํ รตนํ ปณีตํ
น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สวฺเจน สุวตฺถิ โหตูติ
ขุ.ขุ.(บาลี) ๒๕/๗/๕
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วยรัตนสูตร สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประทานเทศนาโปรดชนชาวเมืองไพสาลี เมื่อครั้งโรคร้ายเกิดขึ้นในเมืองไพสาลี ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะบรรเทาได้ พวกชาวเมืองไพสาลี พวกเป็นตัวรัฐบาลปรึกษาหารือพร้อมกัน นอกจากพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เห็นผู้หนึ่งผู้ใดพึงจะระงับได้ รัฐบาลฝ่ายไพสาลีไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อาราธนาให้ลงมาบำบัดภัยในครั้งนั้น พระองค์ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ชาวไพสาลี เสด็จมาตามอาราธนาของรัฐบาลในครั้งนั้น มาประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ ใกล้จะเข้าไปในเมืองไพสาลีแล้ว เมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำดังนี้ คืนวันนั้นฝนตกยกใหญ่ นำเอาซากศพที่เกลื่อนกลาดในเมืองนั้นลอยตามน้ำฝนไป เมืองไพสาลีก็กลายเป็นเมืองสะอาด พระจอมปราชญ์ก็ทรงประทานเทศนารัตนสูตรในเมืองไพสาลีนั้น
เริ่มต้นแห่งพระสูตรว่า ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข สพฺเพว ภูตา สุมนา ภวนฺตุ ภูตทั้งหลายเหล่าใดที่ประจำพื้นที่ มาประชุมกันในพระนครนี้ก็ดี และเหล่าภูตที่ประชุมกันในอากาศก็ดี สรรพภูตทั้งสิ้นเหล่านั้นจงเป็นผู้ดีใจเถิด และจงฟังภาษิตโดยเคารพ เพราะท่านเหล่าภูตทั้งสิ้นจงตั้งใจฟัง ท่านทั้งหลายจงกระทำความไมตรีจิตในหมู่มนุษย์ และประชากรหมู่มนุษย์ทั้งหลายเหล่าใดกระทำความพลีกรรมทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเหตุนั้น ขอเหล่าภูตจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษามนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นเถิด ทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจอันใดอันหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือว่ารัตนะอันใดอันหนึ่งในสวรรค์ รัตนะนั้นหาเสมอด้วยพระตถาคตได้ไม่ พระตถาคตเจ้าเป็นรัตนะอันประเสริฐกว่า แม้อันนี้ อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ด้วยความกล่าวสัจจะอันนี้ ขอความสวัสดีจงมี นี้เป็นเนื้อความของพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้ ในรัตนสูตรคาถาเบื้องต้น สมเด็จพระทศพลทรงรับสั่งดังนี้
ต่อนี้จะอรรถาธิบายในรัตนสูตรนั้นเป็นลำดับไป เพราะว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อไปถึงเมืองไพสาลี ก่อนแต่จะปรารภกล่าวพระรัตนสูตรนี้ ได้ทอดทัศนาการเห็นเหล่าภูตเป็นอันมากควรโกรธกัน ในภายนอกกายมนุษย์ก็มี ในภายในกายมนุษย์ก็มีมาก จึงได้ทรงรับสั่งแก่เหล่าภูตนั้นให้ช่วยกันระแวดระวัง ว่าคำที่เรียกว่าภูตน่ะ เราไม่รู้จักว่ารูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ภูตผีปีศาจ ผีเราก็ไม่รู้จัก รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ปีศาจก็ไม่รู้จักอีกเหมือนกัน รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ไม่โง่นะพวกเราน่ะ แต่มันก็ไม่ฉลาดเหมือนกัน มันจึงไม่รู้จัก ฉลาดทำไมจึงจะไม่รู้จัก เราไม่รู้จักมาก ว่า เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน รู้จักไม่ทั่ว กุมภัณฑ์นันทยักษ์ รู้จักไม่ทั่ว รู้จักแต่รูปมัน ภูตผีปีศาจก็รู้จักไม่แท้ จะให้เราชี้แน่ลงไปว่า ภูตน่ะรูปพรรณสัณฐานมันเป็นอย่างไร ที่เรียกว่าภูตน่ะ ไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็น พวกผีล่ะ ก็ไม่เคยเห็น ปีศาจล่ะ ก็ไม่เคยเห็น นี่พวกเราเป็นอย่างนี้นะ หรือจะว่าเขาไม่มีหรือ ก็ตำรามีนี่
พวกธรรมกายเขาเห็นด้วยกันทุกคน ภูตผีปีศาจเหล่านี้ มีธรรมกายแล้วก็เห็น เห็นชัด ๆ เอามาเล่าให้ฟังได้ รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร นี่วัดปากน้ำมีธรรมกายมากนะ ถ้าอยากจะรู้ว่าภูตผีปีศาจมีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไรแล้ว ก็ไปไถ่ถามกันได้ พูดกันได้ ว่ากุมภัณฑ์นันทยักษ์เป็นอย่างไร รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ไปไถ่ถามกันได้ว่าเปรตอสุรกายเป็นอย่างไร ไปไถ่ถามกันได้ แล้วยังอีกมากมายที่เรายังไม่รู้จักน่ะ มากมายนัก พวกภูตน่ะ รูปเหมือน ๆ มนุษย์เรานี้ แต่ว่ามันคล้าย ๆ พวกเปรต มันมีผอม ๆ อยู่บ้างเล็กน้อย และก็มีอ้วนบ้างเหมือนกัน ภูตน่ะ พวกเหล่านี้แหละมันรับเครื่องเซ่น ถ้าว่ามนุษย์ผู้ใดเซ่นสรวงมันเข้าละก็ มันรับเครื่องสังเวยเหล่านั้น นี่พวกภูตทั้งนั้น แล้วมันผดุงความสุขความสำราญให้ได้เหมือนกัน มันให้ทุกข์ได้เหมือนกัน พวกภูตเหล่านี้ แต่ว่าไม่ใช่ตัวให้จริงนัก ตัวเขาใช้น่ะ ไม่ใช่ตัวจริง มีมากมายก่ายกองนัก มนุษย์ว่ามีมาก มันก็มีมากพอกับมนุษย์อย่างนี้แหละ ไม่ใช่มีนิดหน่อยหรอก มีมากมายนัก พวกภูตเหล่านี้
ภูตเหล่านี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าไปปราบโรคในครั้งนั้น ปราบโรคภัยในเมืองไพสาลีในคราวนั้น ไปพบพวกเหล่านี้เข้าในเบื้องต้น พระทศพลจึงได้ทรงรับสั่งว่า พวกเหล่าภูตประจำถิ่นทั้งหลายเหล่าใด มาประชุมกันแล้วในเมืองนี้ก็ดี และเหล่าใดประชุมกันอยู่ในอากาศก็ดี สรรพภูตทั้งหลายจงเป็นผู้มีใจเถิด หรือจงเป็นผู้ดีใจเถิด และจงเป็นผู้สดับสุภาษิตโดยเคารพเถิด เพราะเหตุว่าท่านภูตทั้งสิ้นจงตั้งใจฟัง ท่านภูตทั้งหลายจงกระทำไมตรีจิตในหมู่มนุษยชาติประชาชน และมนุษย์เหล่าใดกระทำบวงสรวงทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเหตุนั้น ขอท่านภูตจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาพวกมนุษย์เหล่านั้นเถิด
ว่ารัตนทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจอันใดอันหนึ่ง มีอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือว่ารัตนะอันใดอันประณีตในสวรรค์ รัตนะทั้งหลายเหล่านั้นหาเทียมพระตถาคตเจ้าได้ไม่ ข้อนี้เป็นข้อที่ลึกลับอยู่ รัตนะอันประณีตน่ะมันเป็นตัวสำคัญอยู่ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใดอันหนึ่งอันมีในโลก บัดนี้ ที่เราเป็นอยู่ในมนุษย์โลกนี้อาศัยเครื่องปลื้มใจ
ทรัพย์นั้นถ้าจะจัดออกไปเป็น ๒ อย่าง คือเรียกว่า สวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่มีวิญญาณ อวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ สวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่มีวิญญาณนั้นเป็นทรัพย์เป็น อวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณนั้นเป็นทรัพย์ตาย บัดนี้เราไม่รู้จักทรัพย์เป็นทรัพย์ตาย อยากจะหาทรัพย์ตายเรื่อยไป ไอ้ทรัพย์เป็นไม่หา ถ้าคนมีปัญญาเขาก็หาทรัพย์เป็น เขาไม่หาทรัพย์ตายหรอก ทรัพย์เป็น ๆ นั่นแหละเป็นก้อนทรัพย์สำคัญ คือเราเป็นผู้ทำตัวของเราให้ดี ไปอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็รับรองทุกบ้าน เชื้อเชิญทุกบ้าน อยากให้อยู่ทุกบ้าน ให้เงินให้ทองสนับสนุน เลี้ยงดูปูเสื่ออิ่มหนำสำราญ อยากจะให้อยู่บ้านของตัวนั่น เห็นไหมล่ะ ตัวเองนี่แหละมันเป็นทรัพย์ขึ้น มันเป็นสวิญญาณกทรัพย์ขึ้น เราทำตัวของตัวดี
ถ้าตัวมีวิชาดีเป็นทรัพย์หมดทั้งตัว มีวิชาดี เล่าเรียนความรู้ให้สามารถจนกระทั่งรัฐบาลต้องประสงค์ จนกระทั่งครอบครัวใหญ่ ๆ ต้องประสงค์ จนกระทั่งคนมีปัญญาเห็นเข้าแล้วก็เคารพนบนอบทีเดียว อยากจะเอาไปอยู่ด้วย อยากจะเอาเป็นพวกด้วย นั่นให้รักษาตัวเป็นเช่นนั้น หญิงถ้ารักษาตัวเป็นเช่นนั้นเข้า หญิงก็ศึกษาวิชาของผู้หญิงเข้าให้สุดความสามารถของตน ให้เป็นคนมีฝีมือดี เย็บปักถักร้อยดีทุกอย่าง ปรุงสูปพยัญชนะอร่อยทุกอย่าง ให้มีฝีมืออย่างนี้ นี่แหละเป็นสวิญญาณกทรัพย์ขึ้นในตัวทีเดียว ไม่ต้องไปสงสัยล่ะ อยู่ที่ไหนเขามาเรียกร้องหา หนักเข้าจนพระเจ้าแผ่นดินต้องการตัว ฝีมืออร่อยนัก ไปปรุงเข้าจริง ๆ อร่อยทีเดียว ลืมมือคนอื่นหมด เอาล่ะ ออกจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ละ เห็นไหมล่ะ สวิญญาณกทรัพย์ ก็เป็นทรัพย์ขึ้นดังนี้น่ะ นี่แหละสวิญญาณกทรัพย์เป็นอย่างนี้ มันยอดทีเดียว
หรือไม่ฉะนั้น ที่เรียกว่าสวิญญาณกทรัพย์ละก็ คนที่มีรูปสวยไม่มีใครเทียมทัน เล่าลือถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินต้องใช้คุณท้าวเจ้าจอมมารับไปเป็นมเหสี นี่ก็เป็นสวิญญาณกทรัพย์อีก เป็นขึ้นอย่างนี้แหละเป็นได้ เหตุนี้ เขาจึงมีตา เขาต้องดู เขาจะทำการสมรสใด ๆ เขาต้องดูทั้งนั้น กลัวไปเจออ้ายคนชั่วเข้า อ้ายรูปชั่วตัวดำเข้าใช้ไม่ได้ เสียไม่ใช่เสีย แต่เสียลูกหลานเป็นง่อยไปอีก เขาหาที่สวยงามทั้งนั้น สวยงามไม่ให้มีตำหนิจนเป็นที่นิยมชมชอบของกษัตริย์ นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นสวิญญาณกทรัพย์แท้ ๆ นั่นเป็นสวิญญาณกทรัพย์โดยตรงเชียวนะ สวิญญาณกทรัพย์โดยตรงอย่างนี้
อวิญญาณกทรัพย์ล่ะ สำหรับเครื่องใช้สอยเป็นอวิญญาณกทรัพย์ มนุษย์นั่นแหละใช้สอยทรัพย์ทั้งหลายเหล่านั้น มีมากน้อยเท่าใด มนุษย์ใช้สอยละก็ นั่นเป็นอวิญญาณกทรัพย์ทั้งนั้น จะเป็นเรือกสวนไร่นา ตึกร้านบ้านเรือน เท่าหนึ่งเท่าใดก็ช่าง เรียกว่าเป็นอวิญญาณกทรัพย์
ปศุสัตว์ต่าง ๆ มีชีวิตเป็นอยู่มากน้อยเท่าใด วัว ควาย ช้าง ม้า แพะ แกะ เป็ด ไก่ สุกร เหล่านี้ มากน้อยเท่าใด หรือข้าทาสบริวารมากน้อยเท่าใด เป็นสวิญญาณกทรัพย์ทั้งนั้น แต่สวิญญาณกทรัพย์เหล่านั้นเป็นสวิญญาณกทรัพย์เลว ๆ สวิญญาณกทรัพย์จริง ๆ ละก็ตัวของตัวเองนั่นแหละ จะเป็นสวิญญาณกทรัพย์ได้หรือไม่ได้ ถ้าเป็นสวิญญาณกคนเดียวแหละ เป็นประโยชน์แก่คนมากนัก นั่นเป็นสวิญญาณกทรัพย์เกิดขึ้นในตัวเอง มีชื่อมีเสียงแล้ว นั่นเป็นสวิญญาณกทรัพย์ขึ้น
ถ้าว่าไม่ฉลาด ไม่รู้จักทรัพย์อย่างนี้ ก็ไม่สร้างตัวของตัวให้ดีขึ้น ก็ปล่อยไปตามยถากรรม มันก็ใช้อะไรไม่ได้ ฝีมือไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง ฝีมือไม่ดีเลยก็ไม่หัดเข้า แก้ไขข้อขัดข้องของตัวเข้า ไม่ขยันทำขึ้น ไม่ปรุงขึ้นให้เฉลียวฉลาดขึ้น เย็บปักถักร้อยไม่เป็นก็มองดูเขาตาหลอไป ไม่เป็นเรื่อง ไม่ทำให้เฉลียวฉลาดขึ้นในตัวของตัว ไม่ทำ อย่างนี้คนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่รู้จักสมบัติของตัว ไม่รู้จักสมบัติมันก็เป็นคนสมบัติเลว ๆ ไปทั้งชาติ เป็นสวิญญาณกทรัพย์ที่เลวไป ไม่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ที่ดีไป
เพราะฉะนั้น สวิญญาณกทรัพย์ทั้ง ๒ ประการนี้ ในสากลโลกเขาต้องการนัก ต้องการสวิญญาณกทรัพย์ที่เยี่ยม หรือทรัพย์ในโลกก็ต้องการที่เยี่ยมเหมือนกัน เลือกขึ้นไป ๆ จนกระทั่งบัดนี้ ถึงเงินถึงทอง ถึงเนื้อเงินเนื้อทองก็เป็นทรัพย์เหมือนกัน ถึงเนื้อทองก็ยังไม่พอ ถึงเนื้อเพชรเนื้อแก้ว เนื้อเพชรหนักขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงจริง จริงเข้าไปโน่น ถึงแก้วกายสิทธิ์โน่น ถึงแก้วสารพัดนึก ขึ้นถึงดวงแก้วกายสิทธิ์โน่น นั่นแหละเป็นสวิญญาณกทรัพย์อีกชั้นหนึ่ง แก้วกายสิทธิ์น่ะ นั่นดวงสวิญญาณกทรัพย์ทีเดียว คือจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ๗ ประการเหล่านี้เป็นตัวสวิญญาณกทรัพย์ทีเดียว เกิดขึ้นในโลก โลกเป็นสุขทีเดียว ปราศจากการไถการหว่าน รัตนะเหล่านั้นเลี้ยงหมดทั้งสิ้น นี่เป็นสวิญญาณกทรัพย์แท้ ๆ ตัวจริงที่อยู่ในโลก เกิดขึ้นครั้งใดละก็ แม้ว่าโลกได้รับความเดือดร้อนไม่สงบสุข อยู่เย็นเป็นสุขไม่มี มีแต่ทุกข์เป็นเบื้องหน้า พระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีเป็นที่พึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องเข้ามาเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกในยุคนั้น ปราบปรามพวกอันตรายให้เบาบางลงไป ให้มนุษย์ได้รับความสุข หากพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มา พระเจ้าจักรพรรดิต้องมา มีรัตนะ ๗ มีสวิญญาณกทรัพย์มาใช้ทีเดียว สวิญญาณกทรัพย์นั้นลึกซึ้ง ดูเป็นของตายแต่ว่ากลายเป็นของเป็น เหาะเหินเดินอากาศได้ทีเดียว นั่นตัวสวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์เหล่านั้นแหละ ในมนุษย์โลกใช้สอยอยู่เพียงเท่าใด
นี่ที่เรียกว่า อิธ วา หุรํ วา ในโลกนี้ ในโลกมนุษย์นี่ หรือในโลกอื่น ๆ ก็มีสวิญญาณกทรัพย์ทั้งนั้น มีใช้สอยทั้งนั้น หรือว่ารัตนะอันประณีตในสวรรค์ รัตนะอันใดอันประณีตอยู่ในสวรรค์ โน่นแน่ะ สวรรค์น่ะลึกซึ้ง จาตุมหาราช ดาวดึงสา ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัสตี พวกนั้นใช้แก้ววิเศษทั้งนั้น แก้วทั้งนั้น ใช้แก้วก็คือรัตนะทั้ง ๗ ประการนั้นเอง มีทั้งเป็นทั้งตาย ทั้งตายก็เป็นเครื่องประดับประดา ใช้สอยมิได้ขาดตกบกพร่อง ประดับประดาวิมานต่าง ๆ ประดับประดาแท่นที่สำหรับนั่งนอนสำราญ สำหรับเป็นเครื่องประดับวิมาน หาที่เปรียบไม่ได้ แก้วเหล่านั้นงดงามนักทีเดียว นั่นรัตนะอันประณีต บรรดา ๖ ชั้นฟ้ามีแก้วประดับทั้งนั้น นั่นเขาเรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์ เป็นของมีค่า ที่เรียกว่า สวิญญาณกทรัพย์น่ะคือของใช้ รัตนะ ๗ ประการ ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขกาย นั่นรัตนะสำคัญ ทั้ง ๖ ชั้นฟ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แต่ ๖ ชั้นเท่านั้น พวกพรหมโน่น พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ใน ๑๖ ชั้นนี้ใช้รัตนะ ๗ เหมือนกัน ใช้แก้วแบบเดียวกัน ทั้งเป็นทั้งตาย เป็นทองเป็นแก้ว เป็นวิเศษต่าง ๆ หาที่เปรียบไม่ได้ หรือว่าในอรูปสัตว์ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ได้รับรูปเพราะรัตนะ เพราะสวิญญาณก อวิญญาณกรัตนะเหล่านี้ ให้ได้รับความสุขต่าง ๆ
รัตนะเหล่านั้น จะมีมากน้อยเท่าใดก็มีไปเถอะ สู้ไม่เท่าทันกับพระตถาคตเจ้า พระตถาคตเจ้าเลิศประเสริฐกว่ารัตนะทั้งหลายเหล่านั้น พระตถาคตเจ้าน่ะรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ทีนี้เราจะรู้จักล่ะ พระตถาคตเจ้าที่เรียกว่าเลิศประเสริฐกว่านะ ก็รัตนะอีกเหมือนกันนั่นแหละ พุทธรัตนะนั่นแหละเป็นพระตถาคตเจ้าละ ที่เราได้ธรรมกายแล้วก็ถึงพุทธรัตนะ ธรรมกายคือพุทธรัตนะที่เป็นโคตรภู ธรรมกายคือพุทธรัตนะ คือพระโสดา ธรรมกายคือพุทธรัตนะที่เป็นพระสกทาคา ธรรมกายคือพุทธรัตนะที่เป็นพระอนาคา ธรรมกายที่เป็นพุทธรัตนะที่เป็นพระอรหัต ทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็นพุทธรัตนะทั้งนั้น แก้วคือพุทธรัตนะนั่นแหละ นั่นแหละตัวพระตถาคตเจ้าทีเดียว
ทำไมรู้ว่าพระตถาคตเจ้าน่ะคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ พระองค์ทรงรับสั่งกับวักกลิภิกขุว่า อเปหิ วกฺกลิ วักกลิจงถอยออกไป อิมํ ปูติกายํ ทสฺสนํ มาดูใยเล่าร่างกายตถาคตที่เป็นของเปื่อยเน่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ แน่ะ สำแดงวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ผู้ตถาคตคือธรรมกาย นั่นแน่ะบอกตรงนั้นแน่ะว่า เราผู้ตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายนั้นเองเป็นตัวตถาคตเจ้า ผู้ได้ธรรมกายก็รู้ด้วยกันทั้งนั้นว่า อ้อ ที่เราเข้าถึงธรรมกายแล้วนี่เป็นรัตนะสูงสุด รัตนะในพื้นมนุษย์ หรือเป็นรัตนะในพื้นสวรรค์ ๖ ชั้น หรือรัตนะในพื้นพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น หรือรัตนะในอรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น รัตนะเหล่านั้นที่เป็น สวิญญาณกรัตนะก็ดี อวิญญาณกรัตนะก็ดี สู้พระตถาคตเจ้าไม่ได้ บัดนี้เราได้เป็นธรรมกายแล้ว เราได้สมบัติยิ่งใหญ่ สมบัติอื่นสู้ไม่ได้ เข้าถึงธรรมกายแล้ว บังคับสมบัติเหล่านั้นได้ สมบัติเหล่านั้นอยู่ในอำนาจ จะต้องการเมื่อไหร่ก็เอาได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอันหนึ่งอันใด
นี้ที่พวกที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว เขารู้ฤทธิ์ของธรรมกายแล้ว เขาไม่อินังขังขอบอะไรหรอกกับสวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะ ในภพ ๓ น่ะ เขาต้องการจะไปนิพพาน ออกจากภพ ๓ นี่แน่ะ ยังสูงกว่าอย่างนั้น แล้วก็เลิศประเสริฐกว่า เข้าถึงพุทธรัตนะแล้ว เลิศประเสริฐกว่าทั้งนั้น รัตนะใดสู้ไม่ได้ทั้งนั้น สวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะ ที่อยู่ในไตรภพสู้ไม่ได้ทั้งนั้น แพ้พุทธรัตนะทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้พุทธรัตนะ ที่ได้แล้วอย่าดูเบาหนา ดับมาเกือบ ๒,๐๐๐ หนา มาโผล่ขึ้นในครั้งนี้นะเป็นอัศจรรย์ทีเดียว แต่ว่ามารยังขวางอยู่มาก มนุษย์ยังไม่เบิกตา ยังหลับตาอยู่มาก มนุษย์ยังไม่ตื่น ยังหลับตาอยู่มากนัก ถ้ามนุษย์ได้เห็นธรรมกาย มนุษย์คนนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่หลับแล้ว ถ้ามนุษย์ใดยังไม่เห็นธรรมกาย ยังไม่เป็นธรรมกาย มนุษย์นั้นยังหลับอยู่ มารมันยังกดหลับอยู่ ยังไม่ตื่นเลย บางทีตายเสียชาติหนึ่งยังไม่ตื่นเลย หลับเรื่อยไปเสียทีเดียว บางคนเห็นปรากฏ ตื่นทีเดียว มีธรรมกาย บางคนไม่เดียงสา มีธรรมกายใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้แล้ว มาถึงรัตนะอันเลิศประเสริฐเช่นนี้แล้ว กลับไปวางเสียก็มี แปลกประหลาดนัก ลืมตาขึ้นแล้วกลับไปตาบอดก็มี อย่างนี้น่าอัศจรรย์นัก เพราะเหตุไร เพราะไม่รู้จักเดียงสา มาพบของวิเศษประเสริฐเลิศล้นพ้นประมาณ ไม่รักษาให้ควรแก่การควรเห็นควรพบ แม้เป็นอยู่ก็เท่ากับศพ ไม่ประเสริฐเลิศอะไรนัก เพราะกายมนุษย์นี่ชั่วคราวเท่านั้น เกิดแล้วก็ดับไป อุปฺปาท บังเกิดขึ้น ฐิติ ตั้งอยู่แปรไป ภงฺค แตกสลายไป มีเกิดมีดับ มีเกิดมีดับเป็นเบื้องหน้า
เรื่องนี้พระปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เปล่งอุทานวาจา เมื่อได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง เปล่งอุทานวาจาว่า ได้มีดวงตาเห็นปราศจากมลทิน เห็นแวบปรากฏชัดว่า ยงฺกิฺญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ เป็นธรรมกายขึ้นแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีความเกิดขึ้นเสมอ สิ่งทั้งปวงมีความดับไปเสมอ เห็นเกิดกับดับเท่านั้นเอง หมดทั้งสากลโลก เกิดดับเท่านั้นแหละไม่ไปไหน บัดนี้เราก็รู้ปรากฏอยู่ทุกถ้วนหน้า ที่เราเกิดมาเป็นหญิงเป็นชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต โตเล็กปานกลาง ชนิดใดก็ช่าง แล้วจะตายไหม ตาย แล้วกลับคืนมาหรือเปล่า เปล่า ไม่กลับ ไปแล้วไม่กลับมามองดูอีกต่อไป แล้วไปเกิดต่อไปอีก เกิดเท่าไร ตายเท่านั้น ไม่มีเหลือเลยสักคนเดียว มีเกิดกับดับเท่านี้แหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้ มาพบพุทธศาสนาเช่นนี้ต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้ ถ้าเข้าถึงธรรมกายไม่ได้ เราไม่เป็นลาภล้นพ้นประมาณละ เข้าถึงธรรมกายได้ละก็เป็นลาภล้นพ้นประมาณทีเดียว มีบาลีเป็นหลักเป็นฐานชี้ชัดไว้ว่า ตถาคโต โข วาเสฎฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ ดูก่อนวาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย ธรรมกายเป็นตถาคตโดยแท้ นั่นแน่ะ ธรรมกายน่ะ ประเสริฐเลิศกว่าสวิญญาณกรัตนะอวิญญาณกรัตนะซึ่งมีในไตรภพ สู้ไม่ได้เป็นอันขาดทีเดียว เมื่อรู้จักเช่นนี้เราจะต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้ละก็นั่นแหละได้รัตนะอันประเสริฐแล้ว เข้าถึงยอดรัตนะแล้ว ยอดรัตนะน่ะได้ธรรมกายเบื้องต้นเป็นโคตรภู ได้ลงไปที่ ๒ เป็นพระโสดา ย่างเข้าเป็นที่ ๓ เป็นพระสกทาคา ย่างเข้าเป็นที่ ๔ เป็นพระอนาคา ถ้าย่างเข้าเป็นขั้นที่ ๕ เป็นพระอรหัต ถึงพระอรหัตล่ะก็สุขละ ไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย เลิศละ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพต่อไป นั่นเป็นที่สุดทีเดียวรัตนะนั้น
เมื่อรู้จักที่สุดเช่นนี้แล้ว ตั้งใจให้แน่แน่ว ท่านส่งเสริมไว้เป็นอเนกประการว่า อิทมฺปิ รตนํ ปณีตํ นี่เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมี ถ้าว่าใครอยู่กับรัตนะเช่นนี้ละก็ มีความสวัสดีเรื่อย ปลอดภัยเรื่อยทีเดียว อยู่ในธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ให้ใส อยู่กับรัตนะนั่นแหละ ปลอดภัยทีเดียว ไม่ต้องมีภัยอีกต่อไปทีเดียว ได้รับความสุขทีเดียว ไม่ได้รับความทุกข์อีกต่อไป เมื่อรู้จักหลักจริงเช่นนี้ เข้าให้ถึงนา วัดปากน้ำน่ะเขาเข้าถึงกันมากนัก ๑๕๐ กว่าเวลานี้ ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๑๕๐ กว่า
ถ้าได้เข้าถึงพุทธรัตนะแล้วอย่าปล่อยเป็นเด็ดขาด ใจขาด ขาดไป ตาย ตายไป ใจติดอยู่กับพุทธรัตนะนั่นแหละเอาตัวรอดได้ละ สิ่งอื่นไม่มี ยิ่งกว่านั้นไม่มีหนา เมื่อรู้หลักพระพุทธศาสนาเช่นนี้ละก็ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนาเรียกว่า คนมีนัยน์ตา ไม่ใช่คนตาบอด แล้วก็ดูรัตนะเป็นด้วย รัตนะนี้เป็นรัตนะสูงสุด สวิญญาณกรัตนะ อวิญญาณกรัตนะที่มีในไตรภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มีสูงสุดเท่า พุทธรัตนะนี้แหละเป็นรัตนะอันสูงสุดแท้ ๆ แน่ในใจเช่นนี้แล้วละก็ อย่าให้ฟั่นเฟือนไปหนา อย่าให้ยักเยื้องแปรผัน ถึงแม้ว่ากิเลสจะมายั่วปั่นสักเท่าใดก็อย่าให้เป็นไป ต้องอยู่ในพุทธรัตนะให้ได้ ให้มั่นอยู่ในพุทธรัตนะ ให้ใสอยู่ร่ำไปให้ได้ นั่นแหละเอาตัวรอดได้ ที่ได้มาประสบพุทธศาสนา
ที่ได้ชี้แจงแสดงมา ตามวาระพระบาลีในรัตนสูตร ในบาลีในพระคาถาเบื้องต้น พอสมควรแก่เวลา เอตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สพฺพพุทฺธานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง ปิฎกตฺตยานุภาเวน ด้วยอำนาจปิฎกทั้ง ๓ คือ สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก ปรมัตถปิฎก ทั้ง ๓ ประการนี้ จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ จงอุบัติบังเกิดมีเป็นปรากฏในขันธปัญจกแห่งทานิสราธิบดีทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ