อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

รัตนสูตร สังฆรัตนะ

รัตนสูตร  สังฆรัตนะ

๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ  (๓ หน)

          กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ
          กาเยน วาจายุท เจตสา วา
          อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย
          อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา
          อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
          เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตูติ ฯ

ขุ.ขุ.(บาลี) ๒๕/๗/๗-๘

 

          ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงในรัตนคาถา แก้ด้วยสังฆรัตนะ ตามวาระพระบาลีที่มีในบทรัตนสูตร ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประทานเชิดชูพระอริยสงฆ์ให้เป็นเนติแบบแผน เป็นตำรับตำราสืบมา ครั้งพระศาสดามีพระชนม์อยู่ เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังฆาจารย์เถระเจ้าทั้งหลายร้อยกรองขึ้นสู่สังคายนา ตลอดมาจนกระทั่งเราท่านทั้งหลายจะได้สดับ ณ บัดนี้

          ตามวาระพระบาลีที่ในเบื้องต้นว่า  กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ กาเยน วาจายุท เจตสา วา อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา นี่เป็นเนื้อความของพระบาลี พระโสดาบันบุคคลฉะนั้นยังกระทำกรรมอันเป็นบาป  อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย ถึงกระนั้นท่านก็ย่อมไม่ควรเพื่อจะปกปิดซึ่งกรรมอันเป็นบาปนั้นไว้  อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา ความเป็นผู้เห็นทางพระนิพพาน ไม่ควรปกปิดบาปกรรมนั้นไว้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งแล้ว  อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์  เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ ด้วยความกล่าวสัตย์นี้ขอความสวัสดีจงมี นี้แปลเนื้อความของบาลีเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้ นี่เป็นรัตนะอันประณีต ถ้าจะเรียงความเป็นสยามแท้ ๆ ไม่ให้เกี่ยวด้วยพระบาลีเลยก็ได้ว่า พระโสดาบันบุคคลยังทำกรรมเป็นบาปอยู่ ถึงกระนั้นท่านไม่ปกปิดบาปกรรมอันนั้นไว้ ความเป็นผู้มีทางพระนิพพานอันเห็นแล้ว ไม่ควรปกปิดบาปกรรมอันนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งแล้วอย่างนี้ แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยความสัตย์นี้ขอความสวัสดีจงมี นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ไม่เกี่ยวด้วยพระบาลีเลย ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายในเรื่องพระโสดาบันบุคคลต่อไป

          พระโสดาบันบุคคลนั้น เราก็ไม่รู้จักว่ารูปพรรณสัณฐานนั้นเป็นอย่างไร เนื้อตัวเป็นอย่างไรไม่เป็นอย่างไรดอก เป็นมนุษย์ธรรมดานี่แหละ แบบเดียวกับพวกเรา เป็นหญิง เป็นชาย เป็นภิกษุสามเณร อย่างนี้แหละ เป็นพระโสดาบันเราก็ไม่รู้ เป็นพระสกทาคามีเราก็ไม่รู้ เป็นอนาคาเราก็ไม่รู้ เป็นพระอรหัตเราก็ไม่รู้ ไม่รู้จักทั้งนั้น อย่าว่าแต่เราในยุคนี้ครั้งนี้เลยที่ไม่รู้ตัวพระโสดา สกทาคา อนาคา อรหัตน่ะ ครั้งพุทธกาลแท้เทียว ต่อหน้าพระพุทธเจ้ามีสามเณรเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งอายุได้ ๗ ขวบ เป็นพระอรหันต์สูงสุดในพระพุทธศาสนา ภิกษุหนุ่มก็มีพรรษาหลายพรรษาแล้ว เห็นเณรก็รักใคร่ เนื้อท่านเกลี้ยงเกลาสะอาดสะอ้านเป็นลูกมะปรางเทียว ใจท่านสมบูรณ์บริบูรณ์เป็นพระอรหันต์ไปทีเดียว ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว เข้าไปถามพ่อเณรไม่คิดถึงโยมบ้างหรือ ยังเด็กเล็กอยู่ รักใคร่อยากจะพูดกับสามเณร พ่อเณรไม่หิวข้าวหรือ เย็น ๆ น่ะ เณรก็บอกไปตามหน้าที่ของเณร หนักเข้า เข้าไปใกล้เอามือลูบศีรษะเณรเข้าแล้ว ลูบมือลูบเท้าลูบหัวสามเณรเข้าแล้ว พอไปลูบหัวเข้าเท่านั้นแหละ พระพุทธเจ้าเหลือบพระเนตรมาเห็นเข้าแล้วว่า โอ้! ภิกษุนั่นไม่รู้จักอะไร ไปจับอสรพิษเข้าที่เขี้ยวทีเดียว ลูบช้างสับมันเข้าที่งาทีเดียว ไม่รู้จักตายเมื่อไหร่ล่ะ รับสั่งหาพระอานนท์ทีเดียว ให้ประชุมหมู่ภิกษุสามเณรพร้อมกัน พระองค์ทรงรับสั่งว่าเราจะต้องการน้ำที่ในสระอโนดาตนั่นมาชำระพระบาทสักหน่อยหนึ่ง ใครจะไปเอาให้เราได้ก็จงไปเถอะ ไปตามปรารถนา ทรงรับสั่งแล้วท่านก็ดุษณีภาพนิ่งอยู่ พระอรหันต์ขีณาสพเจ้าทั้งหลายท่านก็รู้ ปัญหาข้อนี้ไม่ได้ผูกเพื่อท่าน ผูกเพื่อสามเณรองค์นั้น ส่วนภิกษุปุถุชนก็ไม่รู้จะไปเอาได้อย่างไรน้ำในสระอโนดาต เหมือนยังกับพวกเราในบัดนี้ ไม่มีฤทธาศักดานุภาพ ไม่มีมรรคผลอันใด ที่จะเหาะเหินเดินอากาศไปเอาน้ำสระอโนดาตได้ ก็ไม่อาจจะไปได้เพราะไปไม่ได้จริง ๆ เป็นปุถุชนท่านก็จนใจอยู่ พอสมควรแล้วสามเณรก็ลุกขึ้นทีเดียว ไปเอาหม้อต้มกลักใหญ่ไม่ใช่น้อย เอาเชือกผูกหม้อต้มกลักเข้าที่ปากหม้อ เอาเหน็บเข้าที่หลังเหมือนคนขึ้นตาลดังนั้น พอเหน็บเข้าข้างหลังได้ สามเณรก็ไปในอากาศเหมือนยังกับหงส์บินไปในอากาศ หม้อต้มกลักใบใหญ่นั่นก็ติดห้อยที่ก้นนั่น ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไปเอาน้ำสระอโนดาตมาถวายพระบรมศาสดาเสียแล้ว ภิกษุที่จับศีรษะสามเณรอรหันต์นั้นตกอกตกใจเทียว โอ้ตายจริง เราไปลูบเอาศีรษะพระอรหันต์เข้าแล้ว นี่ไม่รู้จักจริง ๆ อย่างนี้นา ไม่แกล้งหรอก ท่านไปจับเช่นนั้นไม่ได้แกล้งหรอก รักใคร่อยากจะลูบจะคลำท่าน แต่ไปลูบเอาศีรษะพระอรหันต์เข้าหารู้ตัวไม่

          บัดนี้เราก็ไม่รู้ หญิงก็ดี ชายก็ดี ภิกษุสามเณรในธรรมวินัยนี้ มีธรรมแค่ไหนเราก็ไม่รู้ ว่าพระโสดาบันบุคคลมีธรรมแค่ไหนเราก็ไม่รู้ สกทาคาบุคคลมีธรรมแค่ไหน อนาคามีบุคคลมีธรรมแค่ไหน อรหัตบุคคลมีธรรมแค่ไหนเราไม่รู้

          วันนี้จะแสดงทางนิพพานให้ท่านทั้งหลายทราบ
ทางนิพพานมีอยู่
ทางนิพพานที่พระโสดาท่านเห็นแล้วมีอยู่
ทางมรรคผลมีอยู่
          แต่ว่าเราไม่รู้ว่าทางมรรคผลเป็นอย่างไร ทางนิพพานเป็นอย่างไร วันนี้ตั้งใจจะแสดง จึงได้เท้าเรื่องของพระโสดาขึ้นเป็นตัวอย่างเป็นตำรับตำรา

          พระโสดาบันบุคคลน่ะยังทำชั่วอยู่จริง ๆ หรือ ว่า  กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ แปลตามศัพท์ชัด ๆ ว่า  โส โสตาปนฺโน อันว่าพระโสดาบันนั้น  กโรติ ยังกระทำอยู่  กมฺมํ ซึ่งการงานหรือซึ่งกิจการ  ปาปกํ อันลามก กระทำกรรมลามกอยู่จริง ๆ หรือ พระโสดาบันน่ะ  กาเยน ด้วยกาย  วาจาย วา หรือว่าด้วยวาจา  เจตสา วา หรือว่าด้วยใจ ยังความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา หรือว่าด้วยใจ เหมือนมนุษย์ปรกติธรรมดาอย่างนี้หรือ ก็เหมือนอย่างนี้แหละ ตัวอย่างจะชักมาให้ปรากฏว่าท่านทำความชั่วอย่างไร

          ลูกสาวเศรษฐีเขาเอาไว้บนปราสาท ๗ ชั้น สงวนไว้เป็นอันดี เธอก็เป็นสาวเต็มเนื้อเต็มตัวแล้ว อายุ ๒๐ กว่าแล้ว มีสาวใช้รักษาอยู่คนหนึ่ง ต้องการอะไรก็ใช้สาวใช้นั่น ตัวอยู่บนปราสาท ๗ ชั้นนั่น วันหนึ่งนายเนสาทพรานป่า ฆ่าเนื้อได้เป็นอันมากแล้วก็บรรทุกเกวียนมาในเมือง เมื่อเข้ามาในเมือง ธิดาเศรษฐีอยู่บนปราสาท ๗ ชั้น ได้เห็นนายเนสาทพรานป่านั้นเข็นเนื้อมาจากป่า ร่างกายแกกำยำล่ำสันใหญ่โตดี แข็งแรงดี ก็นึกรักใคร่นายเนสาท อยากจะได้เป็นสามี ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แกมาหลายครั้งหลายหน หนักเข้าธิดาเศรษฐีนั้นทนไม่ได้ อยากจะได้จริง ๆ รักใคร่จริง ๆ ปลอมแปลงลงมาจากปราสาท ๗ ชั้น เวลานายเนสาทกลับไปยังป่าที่อยู่ของตน ตามไป ตามเกวียนนายเนสาทไปนั่นแหละ เมื่อไปถึงกลางป่าท่าไม้เช่นนั้นละก็ ฝ่ายนายเนสาทก็สงสารเพราะเห็นเป็นหญิง ให้ขึ้นไปบนเกวียนด้วย ก็ไปอยู่กับนายเนสาท เป็นสามีภรรยากัน มีลูก ๗ คน แต่ว่าเวลาทำกิจการหน้าที่ของสามีเขา สามีเขาก็ทำตามหน้าที่ ฝ่ายภรรยาก็ทำตามหน้าที่ นายเนสาทก็ไปล่าเนื้อ เวลาเช้าก็ต้องมีธนูหน้าไม้ บ่วงแหลนหลาวต่าง ๆ เครื่องประหารสัตว์ป่า ฝ่ายภรรยาเมื่อนายเนสาทได้สัตว์ป่าได้เนื้อมา ฝ่ายภรรยาก็แล่เนื้อทำไป จะเป็นเนื้อเค็มเนื้อแห้งก็ทำไปตามหน้าที่ จะปิ้งจะย่างจะแกงอะไรก็ทำตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของภรรยา เวลาเช้านายเนสาทก็ไปป่า เวลาค่ำเวลาเย็นฝ่ายภรรยาก็จัดบ่วงแหลนหลาวเครื่องประหารสัตว์ป่าเหล่านั้น ที่นายเนสาทใช้อย่างไร ก็เอาไว้ที่หน้าประตูเสมอให้สามี นี่จะมีคำถามสอดเข้ามาว่าเมียนายเนสาทเป็นพระโสดาบันไม่ทำบาป ไม่รู้หรือว่านายเนสาทน่ะไปทำบาป ไปล่าสัตว์ไปทำลายชีวิตสัตว์ รู้ ทำไมจะไม่รู้ รู้เสียเกินรู้อีก เมื่อรู้เกินรู้เช่นนั้นแล้วทำไมจึงทำเช่นนั้นเล่า ก็ต้องมีคำแก้ว่าเพราะเมียของนายเนสาท ลงได้เป็นผัวเป็นเมีย ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ผัวทำอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามคำของผัว ขัดขืนผัวไม่ได้ ถ้าขัดขืนผัวมันก็ไม่เป็นผัวไม่เป็นเมียกัน ขัดขืนไม่ได้ ขัดขืนก็ไม่ใช่เมีย ทุกอย่างไม่ทำให้อนาทรร้อนใจเลย ไม่กระทบกระเทือน ปฏิบัติตามหน้าที่ของภรรยานั่นแหละ เรื่องนี้ในอรรถกถาธรรมบทแก้ไว้มีอยู่ ท่านแก้ว่า ธิดาเศรษฐีเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ทำด้วยสามีปฏิบัติ ไม่มีเจตนาจะให้ฆ่าสัตว์เลยนั้น ทำด้วยสามีปฏิบัติเท่านั้น เรื่องนี้ก็ปรากฏมีอยู่ในมนุษย์โลกเรานี้

          บางทีสามียังฆ่าสัตว์อยู่ ภรรยาเป็นคนรักษาศีล ถ้าว่าสามีนั้นได้ปลาได้เนื้อมาอย่างหนึ่งอย่างใด ภรรยาก็ทำตามหน้าที่ ถ้าว่าเป็น ๆ ปลาเป็นเข้า เอาไปปล่อยในน้ำเสีย ไม่ทุบ ไม่ฆ่า ที่ตายแล้วทำไปตามหน้าที่ แต่ที่เป็น ๆ เอาไปปล่อยน้ำเสีย ทำอย่างนี้อยู่ร่ำไป ผู้เทศน์นี้เด็ก ๆ ก็เคยได้ยินเรื่องถึงตีถึงด่ากัน ภายหลังสามีรู้ อ้อ นี่มันไม่ฆ่าสัตว์ มันไม่ทำบาป ก็สงสารเมีย รักเมีย ทีหลังทำมันเสียให้เสร็จเชียว อ้ายที่เป็นไม่ให้มีละ ให้ตายมาเสร็จเชียว เขาก็ทำแต่ที่ตายแล้วเท่านั้น นี่ศีลเขาก็ไม่เป็นอันตราย เขาไม่ได้ฆ่าสัตว์ เขาไม่ได้ใช้ให้คนอื่นไปฆ่าสัตว์ แต่ว่าเมียนายเนสาทนั่นชอบกลอยู่นะ สมรู้ร่วมคิดด้วยหรือไม่ เอาศัสตราอาวุธมาพิงไว้ให้แต่เช้าเชียว ที่ประตูน่ะ รู้ไม่ใช่หรือว่าผัวจะเอาศัสตราอาวุธนี้ไปฆ่าสัตว์ รู้ ทำไมจะไม่รู้ รู้เกินรู้อีก จะไม่เป็นสมรู้ร่วมคิดด้วยกันหรอกหรือ นี่หากว่ากฎหมายก็เห็นจะต้องเอากึ่งหนึ่ง ถ้าว่าฝ่ายสามี นายเนสาทจะได้บาปสักขนาดหนึ่งขนาดใด ก็ต้องเป็นของภรรยาเสียครึ่งหนึ่ง งั้นซีมันจึงจะถูกกฎหมายเพราะว่าสมรู้ด้วยกันนี่ ได้ด้วยกัน เสียด้วยกัน จะมิปรับอย่างนั้นหรือ นี่ท่านไม่ปรับอย่างนั้น

          ฝ่ายธรรมวินัยท่านปรับเจตนา เพราะว่าเจตนาฆ่าสัตว์ของพระโสดาบันไม่มี เพราะเป็นพระโสดาเสียแล้ว ไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ หมดจากเจตนาฆ่าสัตว์ ตั้งแต่ปาณาติบาต ผิดศีล ๕ ไม่มีแก่พระโสดา มั่นอยู่ในศีลทีเดียว มั่นคงทีเดียว เจตนานอกจากศีลไม่มี เหตุนี้ที่จะปรับกันจริง ๆ ต้องแล้วแต่เจตนา พระองค์ทรงรับสั่งว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นแหละเป็นศีล ศีล ๕ ก็แล้วด้วยเจตนา เจตนาเป็นตัวสำคัญ เจตนาเป็นศีล เพราะพระโสดาบันท่านมีเจตนาเป็นศีลเช่นนั้น จะปรับพระโสดาบันบุคคลว่าเป็นผู้สมคบกับสามีให้ฆ่าสัตว์นั้นหาสมควรไม่ จึงได้วางเป็นตำรับตำราเนติแบบแผนไว้

          ก็ที่พระโสดาบันยังทำความเป็นบาปด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าทำบาป ท่านเพลี่ยงพล้ำไป ไม่ได้มีเจตนา แต่เพลี่ยงพล้ำไป เมื่อเพลี่ยงพล้ำลงไปอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงกับเป็นอันตรายต่อศีลบ้าง หรือเกือบจะเป็นบ้าง ท่านก็แก้ไขเสีย ท่านไม่นิ่งเฉยอยู่ ชั่วร้ายด้วยกาย ด้วยวาจาอย่างใดอย่างหนึ่งของท่าน ท่านก็แสดงต่อเพื่อนพรหมจารีเหมือนภิกษุสามเณรแสดงอาบัติ เมื่อต้องอาบัติแล้วก็แสดงอาบัติต่อเพื่อนพรหมจารีว่าจะไม่ทำต่อไป สัญญากันเสียเช่นนั้น พระโสดาบันท่านก็สัญญาเช่นนั้นแน่นอนทีเดียว ไม่ยักเยื้องแปรผัน เหมือนพวกเราในบัดนี้ รู้ว่าศีลไม่บริสุทธิ์ก็รับสมาทานทีเดียว แก้ไขอีกเสีย นี่ปุถุชนแต่ว่าคล้ายพระโสดาบันบุคคลเหมือนกัน ไม่เป็นคนใจกล้าหน้าด้าน คอยระแวดระวังอยู่อย่างนี้ เพลี่ยงพล้ำแล้วก็แสดงเสีย แก้ไขตัวเสียให้สะอาด เมื่อแก้ไขตัวสะอาดเสียเช่นนี้ ก็คล้ายพระโสดาบันบุคคล พุทธศาสนานิยมอย่างนี้ เหตุนั้นที่พระโสดาบันบุคคลท่านไม่ปกปิดบาปกรรมอันนั้น เพราะท่านเห็นทางไปนิพพาน ทางนิพพานท่านเห็นเสียแล้ว ท่านจึงไม่ปกปิดบาปกรรมอันนั้นไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งไว้อย่างนี้

          ทางไปนิพพานน่ะทางอยู่ที่ไหน ทางอย่างไร ควรจะรู้จักทางไปนิพพานที่พระโสดาบันบุคคลท่านเห็นน่ะ ทางไปนิพพานน่ะ จะไปต้องรู้จักพระโสดาบันบุคคลเสียก่อน ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลน่ะ รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร เนื้อตัวอยู่ที่ไหน พระโสดาบันบุคคลน่ะท่านเป็นธรรมกายนะ ไม่ใช่กายมนุษย์ เป็นชั้น ๆ เข้าไปดังเคยแสดงแล้วอยู่บ่อย ๆ ว่า กายมนุษย์นี้มีกายหนึ่ง เราจะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดต้องเข้าให้ถูกทางมรรคผล ถ้าไม่ถูกทางมรรคผลเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดไม่ได้ ทางมรรคผลน่ะเริ่มต้นจะทำอย่างไร เริ่มต้นต้องทำใจให้หยุด ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดตรงนั้นแหละ เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ ต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้นจึงจะเกิดได้ เมื่อเราจะตายจากมนุษย์โลกนี้ หยุดตรงไหนเกิดได้ ต้องไปหยุดตรงนั้น หยุดตรงนั้น ตรงนั้นเป็นที่เกิดที่ดับ ตรงนั้นแหละ กลางนั่นแหละเมื่อเรานอนหลับใจต้องไปหยุดตรงนั้น ถ้าไม่หยุดที่ตรงนั้นหลับไม่ได้ ตรงนั้นเป็นที่หลับ หลับตรงไหนก็ตื่นตรงนั้น ตรงนั้นแหละเป็นที่หลับที่ตื่น เป็นที่เกิดที่ดับ เป็นที่หลับที่ตื่น แห่งเดียว มีจุดเดียวเท่านั้นแหละ ต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้น หยุดตรงอื่นไม่ได้

          พอใจหยุดเข้าละก็ พอใจหยุดเข้าศูนย์กลางนั้นแล้ว พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนนอกในไม่ไป กลางของกลาง ๆ ๆ อยู่นั่น พอถูกส่วนเข้า พอไปถึงกำเนิดกลางเข้าเท่านั้น เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นี่จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดนะทางนี้แหละ ๆ กลางหยุดนี่แหละทางมรรคผลละ กลางทีเดียว เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เป็นจุดอยู่อีกเหมือนกัน หยุดเป็นทางอยู่ ใจก็หยุดตรงจุดนั้น เป็นที่ดูดใจอยู่จุดนั้นกลางนั่น พอใจหยุดก็เข้ากลางใจของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลางที่หยุดของใจนั่นแหละ ไม่ได้เดินทางอื่น เดินทางใจอย่างเดียว กลางของกลาง กลางของกลางในใจหนักเข้า พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล อยู่กลางของดวงใจนั่นแหละ ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ก็หยุดอยู่กลางดวงศีลอีก มีรอยหยุด มีที่หยุดอีก หยุดนิ่งอยู่กลางนั่น พอใจหยุด ก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีกนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงสมาธิ ใจก็หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ ในกลางที่หยุดอีก พอหยุดก็เข้ากลางของหยุดนั่น กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา ใจก็หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่นแหละ พอหยุดถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของหยุดอีก กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติอีกนั่นแหละ หยุดอันเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็เข้ากลางของกลาง กลางของกลางที่ใจหยุดนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ใจก็หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะอีก พอหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง กลางของกลางพอถูกส่วนเข้า เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายมนุษย์ละเอียด รู้จักเชียวว่า อ้ายนี่เองเวลานอนฝันละก็ออกไป เวลาไม่ฝันไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เจ้าอยู่นี่เอง ป๋อหลออยู่นี่เอง อยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่เองอย่างนี้ อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่ทั้งนั้นทุกกาย เข้าไปเถอะ เข้าไปเป็นชั้น ๆ ไป นี่เข้ามาถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว แค่นี้เป็นพระโสดาแล้วยัง ยังไกลนัก พระโสดาเป็นกายที่ ๑๑–๑๒ โน่นแน่ะ นี่กายเดียวเท่านั้นแหละ ทางก็ต้องไปอย่างนี้เท่านั้นแหละ ไปทางอื่นเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดทีเดียว ต้องไปทางกลางอย่างนี้แหละ กลางแบบนี้แหละ พอถูกส่วนใจก็หยุดนิ่ง

          ใจของกายมนุษย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็กลางของกลางหนักขึ้นไปอีก พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอันเดียวหนา หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอใจหยุดก็เข้ากลางของหยุด ของใจหยุดอีกนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลางหนักเข้า เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล กลางของกลางหนักขึ้นไป กลางของกลางที่ใจหยุดอีกนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิอีก กลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง กลางของกลาง ถูกส่วนเข้า ถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญาอีก กลางของกลางที่ใจหยุดอีกนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ  กลางของดวงวิมุตติอีก หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติอีก พอหยุดก็เข้ากลางของกลางที่ใจหยุดอีก กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้า กลางของกลางหนักเข้าไปอีก  พอถูกส่วนเข้า เห็นกายทิพย์ ทำอย่างนี้แหละ นี่เข้าไป ๒ กายแล้วเห็นไหมล่ะ ๓ กายแล้ว มาจากกายมนุษย์จนถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์แล้ว

          ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์อีก พอถูกส่วนเข้า กลางของกลางหนักขึ้นไปอีก ที่ใจหยุดนั่น กลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลาง กลางของกลาง ถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอหยุดเข้าก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง กลางของกลาง พอถูกส่วนเข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็ถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้า ถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด

          ใจกายทิพย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด แบบเดียวกัน พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้า ถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า ถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงกายรูปพรหม

          ใจกายรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า ถึงดวงศีล หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด

          ใจกายรูปพรหมละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่ใจหยุดนั่น ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายอรูปพรหม

          ใจกายอรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ถูกส่วนเข้า ใจก็หยุด เข้าที่ใจหยุดนั่น เข้ากลางของกลาง ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเข้ากลางของกลางใจที่หยุดอีก เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า ถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด

          ใจกายอรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ  ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายธรรม รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า นี่แหละ ธรรมกายโคตรภูละ นี้แหละต่อไปจะเป็นพระโสดาละ ไปอีกชั้นที่ ๒

          ใจของพระธรรมกาย หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ตรงนี้น่ะแปลกละ ดวงธรรมวัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย หน้าตักกว้างแค่ไหนวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง กลมรอบตัว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายน่ะเท่ากัน ใจธรรมกายก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย หยุดนิ่งเฉยพอถูกส่วนเข้าใจก็หยุด  พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล ใหญ่ออกไป ดวงธรรมเท่าไหนก็ใหญ่เท่านั้น หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงธรรมกายละเอียด หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป นี่เป็นพระโสดาแล้วหรือ ยังไม่ใช่ นี่เป็นธรรมกายโคตรภู

          ธรรมกายนั่นเรียกว่า พุทธรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายกลมเท่าหน้าตักธรรมกายนั้นเรียกว่า ธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดอยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะนั้นเรียกว่า สังฆรัตนะ นี้ตัวจริงอยู่ตรงนี้นะ นี้เป็นพระโสดาแล้วหรือยัง ยัง นี่แหละตอนนี้แหละจะเป็นพระโสดาละ จะรู้จักพระโสดาเดี๋ยวนี้แหละ

          ธรรมกายละเอียดเอาใจธรรมกายละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด ถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลางกลมรอบตัวแบบเดียวกัน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลาง ๆ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง ๆ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ ใจก็หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง ๆ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญาอีก เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง ๆ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติอีก เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลาง ๆ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะอีก พอถูกส่วนเข้า กลางของกลาง ๆ ๆ หนักเข้า เห็นกายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า แต่ว่ากว่าจะเข้าถึงพระโสดาน่ะ ในระหว่างที่เดินผ่านมานั่นแหละ ท่านเห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ มรรคสัจ นิโรธสัจ ตามหน้าที่ของท่าน เห็นจริง ๆ จัง ๆ เห็นแท้ ๆ เห็นปรากฏทีเดียว ท่านก็ได้บรรลุพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม นี่องค์พระโสดา นี่ตัวพุทธรัตนะเหมือนกัน แต่ว่าเป็นพระโสดาเสียแล้ว นี่แหละเป็นพระโสดาบันบุคคลแค่นี้ นี่รู้จักไหมล่ะโสดา รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูมใส นี่ธรรมกายหยาบของพระโสดา ธรรมกายละเอียดของพระโสดายังมีอีก

          ใจของพระโสดาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว พอถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่หยุด พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล พอใจหยุดเข้ากลางของใจที่หยุดหนักขึ้นไป พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางของดวงสมาธิอีก พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลางหนักเข้า พอถูกส่วนเข้าเข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญาอีก พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลาง กลางของกลางหนักเข้า พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติอีก พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลาง กลางของกลางหนักเข้า พอถูกส่วนเข้าเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นธรรมกายพระโสดาละเอียดหน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป

          นั่นธรรมกายพระโสดา เป็นพุทธรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว นั่นดวงธรรมรัตนะ ธรรมกายพระโสดาละเอียดหน้าตัก ๑๐ วา อยู่ในดวงธรรมรัตนะ นั่นแหละสังฆรัตนะ พุทธรัตนะนั่นแหละท่านเป็นผู้ตรัสรู้ ตรัสรู้สัจธรรมทั้ง ๔ เข้า เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นทีเดียว เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นเรียกว่า พุทโธ ธรรมรัตนะนั่นแหละท่านทรงรักษา ให้เข้าถึงพระโสดาได้เช่นนี้เพราะธรรมรัตนะนั่นแหละ นั่นท่านทรงไว้ให้ขึ้นสูงเช่นนี้ ไม่ให้ตกไปในฝ่ายชั่ว นั่นแหละเรียกว่าธรรมรัตนะ ธรรมเขาแปลว่าทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ให้สูง ให้ดี ให้เจริญหนักขึ้นไป ส่วนธรรมกายละเอียดหน้าตัก ๑๐ วา อยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะน่ะ คอยรักษาดวงธรรมรัตนะนั้นไว้ไม่ให้หายไป รักษาไว้ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดได้หย่อนละ อยู่กับธรรม รักษาธรรมอย่างนั้น  สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ นั่นแหละสังฆรัตนะทรงไว้ ถ้าทรงไว้ได้เรียกว่า สังโฆ ขึ้นทีเดียว ทรงเอาธรรมนั้นไว้ได้ไม่ให้หายไป  สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ นี่ปรากฏอย่างนี้นา พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม เป็นพระโสดาทีเดียว แล้วก็ทำไปอย่างนี้แหละเข้าถึงพระโสดาละเอียด เข้าถึงพระโสดาละเอียด ทำไปอย่างนี้แหละเข้าถึงกายพระสกทาคาหยาบ เข้าถึงกายพระสกทาคาหยาบก็ทำไปอย่างนี้แหละ เข้าถึงกายพระสกทาคาละเอียด เข้าถึงกายพระสกทาคาละเอียดก็ทำไปอย่างนี้แหละ เข้าถึงกายพระอนาคาหยาบ เข้าถึงกายพระอนาคาหยาบก็ทำไปอย่างนี้แหละ เข้าถึงกายพระอนาคาละเอียด แล้วก็ทำไปอย่างนี้แหละ เข้าถึงกายพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป ทำอย่างนี้ในกายพระอรหัตถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายพระอรหัตละเอียด เสร็จกิจในพระพุทธศาสนาแค่นี้ นี่แหละหลักพระพุทธศาสนา จำเป็นตำรับตำราไว้ อย่าดูหมิ่นดูแคลนหนา พระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลกละก็ ธรรมอันนี้ไม่มีใครแสดง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ถึงกระนั้นที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับเสียเกือบ ๒,๐๐๐ ปี มาเกิดขึ้นที่วัดปากน้ำนี้แล้ว อุตส่าห์พยายามทำกันไป อย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนหนา อย่าได้เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยแก่ยากแก่ลำบาก แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมาประสบพบพระพุทธศาสนา พบของจริงละ เข้าถึงของจริงให้ได้ เอาของจริงใส่กับตัวไว้ให้ได้ ติดกับตัวไว้ให้ได้ อย่าดูถูกดูหมิ่นหนา ตั้งให้มั่นแท้แน่นอนในใจของตัวแล้วละก็ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิก

          ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมมิกถาในอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

          เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง