รัตนสูตร ธรรมรัตนะ
๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมิํ คิมฺเห
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ
นิพฺพานคามิํ ปรมํ หิตาย
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตูติ ฯ
ขุ.ขุ.(บาลี) ๒๕/๗/๘
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยรัตนสูตร ยังค้างอยู่ ยังหาเสร็จลงไปไม่ บัดนี้จะชี้แจงแสดงในคาถาว่า วนปฺปคุมฺเพ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสเทศนาธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนสัตว์ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว สัตว์ทั้งหลายยังหลับอยู่หาตื่นไม่ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว นำเอาธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้นมาแจกแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดุจปลุกสัตว์ทั้งหลายทั้งโลกให้ตื่นขึ้นดุจพระองค์บ้าง เรื่องนี้ กระแสวาระพระบาลีนี้ เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกคัมภีรภาพมาก ทั้งเรียนก็ยาก ทั้งแสดงก็ยาก ทั้งฟังก็ยาก มันยากด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้น วันนี้สมควรแล้วที่เราท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับฟังในรัตนสูตรนี้
ตามวาระพระบาลีว่า วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค แปลเป็นสยามว่า ครั้นเมื่อพุ่มไม้ในป่ามียอดอันแย้มแล้ว ปฐมสฺมิํ คิมฺเห ในต้นฤดูร้อน ในต้นเดือนของฤดูร้อนแห่งฤดูร้อนฉันใด ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงซึ่งธรรมอันประเสริฐ นิพฺพานคามิํ ปรมํ หิตาย ให้ถึงซึ่งพระนิพพานอันประเสริฐ เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ตถา อุปมํ มีอุปมาฉันนั้น อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า เอเตน สจฺเจน ตามความสัตย์อันนี้ สุวตฺถิ โหตุ ขอความสวัสดีจงมีเถิด นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามได้ความเท่านี้ ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบาย ขยายความเป็นลำดับไป
เมื่อพุ่มไม้ในป่า เมื่อมีใบตกเสียหมดแล้ว ถ้าว่าเมื่อมนุษย์ไม่เดียงสาในต้นไม้นั้น ไม่เข้าใจในต้นไม้แล้ว เข้าใจว่าต้นไม้นั้นตายเสียแล้ว ไม่มีใบแล้ว แต่ไม่ตายหรอก เขาตัดใบ เมื่อมียอดอันแย้มแล้วชื่อว่าแตกใบใหม่ ยอดมันอยู่ตรงไหนมันก็แย้มออกตรงนั้น แตกใบออกที่ตรงนั้น นี่เรียกว่ามียอดอันแย้มแล้ว พุ่มไม้ในป่าที่จะมียอดอันแย้มออกไปได้เช่นนี้ ต้องในต้นเดือนของฤดูร้อน ชาวโลกเขาจึงได้ว่า นี่ถึงคราวเวลาใบไม้ผลิแล้ว ที่มันจะออกดอกนั่นเอง ใบไม้ผลิเราก็เห็นยอดต้นไม้ที่ผลิออกมาปรากฏชัด ๆ เราก็รู้ว่าจะมีใบต่อไปนั่นแหละฉันใด ยถา ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ ให้ถึงซึ่งนิพพานอันประเสริฐ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ตถา อุปมํ มีอุปไมยฉันนั้น
เพราะธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐน่ะ ธรรมอะไรจึงจัดได้ชื่อว่าเป็นวรธรรม เป็นธรรมอันประเสริฐ อันนี้ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะคาดคั้นลงไปว่า ธรรมอันใดเป็นธรรมอันประเสริฐ ถ้าว่าอรรถกถานัยคลี่ความพระบาลีออกไว้ เราก็รู้ได้ทีเดียวว่า ธรรมอันนั้น อันนี้ ธรรมอันประเสริฐของมนุษย์น่ะมีอยู่แท้ ๆ เกื้อกูลแก่มนุษย์ทั้งหลายจริง ๆ ธรรมอะไรล่ะ ที่ให้มนุษย์เป็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เขาเรียกว่ามนุษยธรรม ธรรมที่ทำให้มนุษย์เป็นอยู่ รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร โตเล็กเท่าไหน สีสันวรรณะเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน
ธรรมนั้นสัณฐานกลม สีขาวใสเหมือนแก้ว โตเล็กตามส่วนของธรรมนั้น ๆ นี่แหละมีอยู่แท้ ๆ เป็นธรรมอันประเสริฐ ถ้าเราไม่ได้ธรรมดวงนั้นละก็ เราต้องตายแน่ มาอยู่เป็นมนุษย์กับเขาได้ ไม่ว่าหญิงว่าชายพระเณรไม่รู้ ถ้าไม่ได้ธรรมดวงนั้นแล้วเป็นตายแน่ ถ้าได้ธรรมดวงนั้นก็เป็นอยู่ ถึงกระนั้นก็ต้องหล่อเลี้ยงเสมอเหมือนกัน หล่อเลี้ยงเสมอเหมือนอะไร เหมือนไฟ ธรรมดวงนั้นต้องหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ถ้าไม่หล่อเลี้ยงเสมอ ดับเหมือนไฟ ไฟต้องหล่อเลี้ยงเสมอ ไฟเมื่อติดขึ้นแล้ว จะใช้ไฟฟืน ก็ต้องเอาฟืนไปปรนปรืออยู่เสมอ หมดฟืนเก่าก็เติมฟืนใหม่เข้าไป แต่ว่าเติมให้ถูกส่วนนะ ไม่ถูกส่วนก็ดับเหมือนกัน เติมถูกส่วนไฟไม่ดับ ถ้าต้องการไฟด้วยไต้ด้วยเทียน ต้องมีไต้มีเทียนมาเป็นใส้ไว้ ขาดเชื้อไม่ได้ ขาดเชื้อไฟก็ดับ ไฟต้องอาศัยเชื้อ ไม่มีเชื้อไฟอยู่ไม่ได้ ดับ ถ้าหากว่าเป็นไฟฟ้าก็ต้องบำรุงเตาไฟฟ้าไว้ ไฟนั้นจึงจะคงอยู่ได้ ถ้าว่าไฟฟ้าในเตาดับหมด ไฟที่จะจ่ายมาเอาค่าจ้างเขาก็ไม่มี อยู่ไม่ได้ หากว่าไฟที่ใช้ไฟฉายกันนี้ ใช้ถ่านไฟฉายเช่นนั้น ก็อยู่ชั่วกำลังของไฟฉายนั้น หมดกำลังไฟก็ดับไป อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต้องคอยปรนปรือเสมอ ไฟของมนุษย์ ไฟที่เรียกว่า มนุษยธรรม ธรรมของมนุษย์ นี่ก็ดุจเดียวกัน ต้องคอยปรนปรือเสมอ ใส่เชื้อเสมอ เชื้ออะไรล่ะ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ต้องคอยจุนเจือมันเสมอ ถ้าไม่จุนเจือแล้ว ไฟที่เรียกว่ามนุษยธรรม ที่ทำให้เป็นมนุษย์นี้ก็ดับเหมือนกัน ไม่จุนเจือไม่ได้ ไม่จุนเจือดับแน่นอนทีเดียว ไม่ต้องสงสัย เพราะเหตุฉะนั้น ธรรมดวงนี้แหละเป็นธรรมลึกซึ้งอยู่ เขาเรียกว่ามนุษยธรรม ถ้าว่าเป็นกายเทวดาเข้า เขาเรียกว่าเทวธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ถ้าว่าไปเป็นกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียดเข้า เขาเรียกว่าพรหมธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นพรหม ถ้าว่าไปถึงอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เขาเรียกว่าอรูปพรหมธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม เป็นชั้น ๆ ไปอย่างนี้
ต่อนี้จะแสดงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เป็นลำดับไป นี้แหละธรรมดวงนี้แหละเป็นธรรมสำคัญนัก ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์น่ะต้องบริสุทธิ์ด้วยกาย บริสุทธิ์ด้วยวาจา บริสุทธิ์ด้วยใจ ไม่มีร่องเสียเลยในชาติก่อนภพก่อนมา เมื่อบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่มีร่องเสียเลย แตกกายทำลายขันธ์จากมนุษย์ตนนั้น ก็กลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ เป็น คพฺภเสยฺยก สัตว์เกิดในครรภ์มนุษย์ หญิงก็ดีชายก็ดี เกิดในครรภ์มนุษย์ ที่จะเกิดในกายมนุษย์ ต้องเกิดในธรรมดวงนั้น จะไปเกิดที่อื่นไม่ได้ กายมนุษย์ละเอียดต้องเข้าไปอยู่ในกลางธรรมดวงนั้น ไปหยุดนิ่งอยู่ในกลางธรรมดวงนั้น เอาใจหยุดนิ่งกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ดวงนั้น เข้าไปหยุดนิ่งอยู่ พอนิ่งแล้วอาศัยกลลรูปของพ่อแม่โอบอ้อมอยู่ข้างนอก หล่อเลี้ยงธรรมดวงนั้น ก็เป็นกายมนุษย์ปรากฏขึ้นข้างนอก แต่ธรรมนั่นอยู่ข้างใน พอเป็นมนุษย์แล้วธรรมดวงนั้นอยู่ในกลางตัว สะดือทะลุหลังขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้ายขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึงแค่กัน ตึงทั้ง ๒ เส้น ตรงกลางจรดกัน ตรงจรดกันนั้นแหละเรียกว่ากลางกั๊ก กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงไก่ นี่ดวงหนึ่งละนะ ธรรมดวงนี้ใสแบบกระจก ขาวก็แบบกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า ใสอย่างชนิดนั้น ขาวอย่างชนิดนั้นนั่นแหละ
ดวงนี้แหละเป็นธรรมสำคัญ แล้วก็พระไตรปิฎก วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก อยู่ในกลางดวงธรรมนี่ทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ในกลางดวงธรรมนี่ทั้งนั้น ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่ในกลางดวงธรรมนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ที่อื่น จะต้องรู้จักธรรมดวงนี้ก่อน ธรรมดวงนี้เป็นประหนึ่งว่าพระไตรปิฎก หรือเป็นประหนึ่งว่าหีบของพระไตรปิฎก สำหรับบรรจุธรรมทั้งนั้น ไม่ได้บรรจุอื่น ฝ่ายดีฝ่ายชั่วอยู่ในนี้เสร็จ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ติดอยู่ในกลางนั่น ทำบาป บาปก็ไปติดอยู่กลางดวงนั่น ทำบุญ ดวงบุญก็ไปติดอยู่กลางนั่น ศีลก็อยู่กลางนั่น สมาธิก็อยู่กลางนั่น ศีลก็อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น สมาธิก็อยู่กลางดวงศีลนั่น ปัญญาก็อยู่กลางดวงสมาธินั่น วิมุตติก็อยู่กลางดวงปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะก็อยู่ในกลางดวงวิมุตติ อยู่ที่เดียวกันนั้น ถ้ารู้จักธรรมดวงนี้ แน่นอนดังนี้ละก็ นี่แหละที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ถ้าจะเอาตัวรอดได้ต้องไปพบธรรมดวงนี้ ถ้าไม่พบธรรมดวงนี้จะเอาตัวรอดไม่ได้ นี่แหละธรรมดวงนี้แหละเป็นธรรมสำคัญนัก
ที่พระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนพวกเราว่า ครั้นเมื่อพุ่มไม้ในป่ามียอดอันแย้มแล้วในต้นของฤดูร้อน ในเดือนของฤดูร้อน ยอดไม้ในป่าก็มียอดแย้มออกไป ต้นของฤดูร้อนนั่นเป็นคราวสมัยที่ยอดไม้ในป่าจะแย้มออกละ ถ้าแย้มออกก็จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไป เขาเรียกว่าแตกยอดใหม่ จะออกดอกออกลูกอะไรก็เวลานั้นละ แตกออกมาแล้วปรากฏออกมาแล้ว ที่ปรากฏจนกระทั่งตามนุษย์เห็นอย่างชนิดนี้น่ะ มนุษย์ก็รู้เท่านั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐน่ะ ถ้าว่าไปเห็นธรรมเข้าแล้วก็เหมือนอย่างกับเห็นดอกไม้ที่แย้มออกแล้ว ไปเห็นเข้าแล้ว พอไปเห็นธรรมรูปนั้นแล้วละก็รู้ว่า อ้อ ธรรมนี่เป็นอย่างนี้ เป็นปรากฏทีเดียว ธรรมอันประเสริฐ
ถ้าว่าเข้าถึงธรรมดวงนั้นละก็จะเข้าถึงพระนิพพานได้แน่นอน ไม่ต้องสงสัย เข้าต้นทางนิพพานแล้ว ถึงต้นทางนิพพานแล้ว พอถึงธรรมดวงนั้น ธรรมดวงนั้นน่ะ นิพฺพานคามิํ ปรมํ ให้ถึงนิพพานอันประเสริฐทีเดียว เดี๋ยวจะแสดงให้เห็นว่าไปถึงจริง ๆ เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายจริง ๆ สัตว์ทั้งหลายได้เห็นธรรมดวงนั้นละก็ต้องไปถึงนิพพานทีเดียว พอไปถึงธรรมดวงนั้นเข้าแล้ว ต้องเอาใจของเราไปหยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงนั้น กลางดวงธรรมนั่น พอนิ่งอยู่ถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ ก็ถึงนิพพานเท่านั้น เพราะเห็นเข้าแล้ว เห็นเข้าแล้วก็ต้องไปถึงนิพพานทีเดียว
ไปหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ พอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เห็นดวงธรรมอีกดวงหนึ่ง เขาเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค หรือ ดวงเอกายนมรรค อยู่กลางดวงธรรมนั่น เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่นแน่ อยู่กลางดวงธรรมนั่นแหละ เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอาละทีนี้ดอกไม้จะออกละ ยอดจะออกละ มันจะมีลูกมีผลกันยกใหญ่เชียวละคราวนี้ อย่าให้เคลื่อนนะ เคลื่อนไม่ได้ ให้มันหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอหยุดนิ่ง พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของใจนั่น กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนนอกในไม่ไป กลางของกลางหนักเข้าไป กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เห็นดวงศีลแล้ว เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เท่า ๆ กัน อยู่กลางนั่น อยู่กลางใจที่หยุดนั่นเอง ใจก็หยุดอยู่กลางดวงศีล พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนนอกในไม่ไป พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นเข้าถึงดวงสมาธิ เท่ากัน ดวงเท่ากัน เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใจหยุดอยู่กลางดวงสมาธิ หยุดพอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนนอกในไม่ไป กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่น พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนนอกในไม่ไป กลางของกลางหนักเข้า พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติ พอใจหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ พอถูกส่วนเข้า เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ใจหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้ากลางของกลาง พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นกายมนุษย์ละเอียดที่ฝันออกไป ที่ไปเกิดมาเกิด เห็นปรากฏจำได้ทีเดียวนี่แน่ะ
ไปถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว นี่เข้าไปชั้นที่ ๒ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนะ ๒ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมแบบเดียวกัน แต่ว่าโตขึ้นไปอีกเท่าหนึ่ง โตหนักขึ้นไป ใจกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล เข้ากลางใจที่หยุดเรื่อยนะ อยู่ในใจทั้งนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ในใจทั้งนั้น กลางของใจที่หยุด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดอยู่ในใจเรื่อยนะ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายทิพย์ กายที่ ๓ แล้ว
ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ใสแบบเดียวกัน ใสหนักขึ้นไป ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ โตขึ้นไปอีกแล้ว พอใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด เป็นกายที่ ๔
ใจกายทิพย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียดก็เข้าไปแบบเดียวกัน พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบบเดียวกันนั้น แล้วก็เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายรูปพรหม
ใจกายรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใจกายรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายอรูปพรหม
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ๗ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใจกายอรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใจกายอรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าแล้วก็เข้าถึงกายธรรม รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า โตเล็กตามส่วน
ใจกายธรรมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย แค่นี้เข้านิพพานได้แล้ว ไปนิพพานได้แล้วนะถึงแค่นี้น่ะ แต่ว่ายังไม่ถนัดนัก ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย เท่าไหนล่ะดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว นั่นแหละดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม ใจกายธรรมก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายธรรมละเอียด กายธรรมละเอียดวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว หน้าตัก ๕ วา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียดนั้น วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัวเหมือนกัน
ใจกายธรรมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา กลมรอบตัวเหมือนกัน
ใจกายพระโสดาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน พอถูกดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็เข้าถึงกายพระโสดาละเอียด หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจพระโสดาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาละเอียด ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจของพระสกทาคาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคา พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายพระสกทาคาละเอียด หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจของพระสกทาคาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคาละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนก็เข้าถึงกายพระอนาคา หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจของพระอนาคาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคา พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจของพระอนาคาละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
ใจพระอรหัตก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัต ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายพระอรหัตละเอียด หน้าตัก ๓๐ วา สูง ๓๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป
นี่ตั้งแต่กายธรรม กายธรรมละเอียด กายโสดา โสดาละเอียด กายธรรมสกทาคา สกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา อนาคาละเอียด กายธรรมอรหัต อรหัตละเอียด ๑๐ กายนี่ไปนิพพานได้ทั้งนั้น แต่ว่าไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนพระอรหัต พระอรหัต พระอนาคามี มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่มีอารมณ์อื่นละ สัตว์โลกในโลกนี้มีกามคุณเป็นอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นที่ชอบใจ เป็นอารมณ์ หมดทั้งสากลโลก ผู้หญิงก็แบบนั้นและ ผู้ชายก็แบบนั้น มีอารมณ์เพราะมีกามภพ จะไม่ให้คิดเรื่องอื่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่านั้นเป็นอารมณ์ของมันเชียว ไม่คิดเรื่องอื่น ๆ นั่นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เท่านั้น เมื่อกามภพมีอารมณ์เช่นนี้ มนุษย์ชั้นหนึ่ง สวรรค์ ๖ ชั้น มีอารมณ์อย่างเดียวกัน เมื่อถึงกายรูปพรหมอีก ๑๖ ชั้น พวกรูปพรหม ๑๖ ชั้นนั้นมีปฐมฌานเป็นอารมณ์ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานเป็นอารมณ์ ใจจดใจจ่ออยู่ที่ฌานนั่นแหละ ไม่ไปจ่อจดที่อื่นละ สวรรค์ ๖ ชั้น มนุษย์ชั้นหนึ่ง ไม่จดจ่อที่อื่น จดจ่ออยู่ที่กามทั้งนั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ใจจรดอยู่นั่นถอดไม่ออก ติดแน่นเชียว ส่วนรูปพรหมนั่นติดอยู่ที่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ติดแบบเดียวกัน ติดยิ่งกว่าติดในกามอีก แน่นหนาทีเดียว ส่วนกายอรูปพรหม ๔ ชั้นเล่า ใจจ่ออยู่ที่อรูปฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ติดอยู่นั่น ถอนไม่ออก นี่สุดภพทั้งหมด
ส่วนกายธรรมละ ใจจ่ออยู่ที่นิพพาน ธรรมกาย ธรรมกายละเอียด ธรรมกายโสดา โสดาละเอียด พวกนี้จรดนิพพานมากจรดอื่นน้อย ถึงสกทาคา สกทาคาละเอียด จรดนิพพานมากหนักขึ้นไป ถึงอนาคา อนาคาละเอียด จรดนิพพานหนักขึ้นไป ถึงอรหัต อรหัตละเอียด จรดนิพพานไม่ถอยเลยทีเดียว นั่นนะ เป็นอย่างนี้แหละ นิพฺพานคามิํ ปรมํ หิตาย ให้ถึงนิพพานอันประเสริฐ นิพฺพานคามิํ ให้ถึงนิพพานอันประเสริฐทีเดียว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเมื่อไปถึงนิพพานได้แล้วก็พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย จากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระพุทธเจ้าเกิดมาในโลกมากน้อยเท่าใด ขนรื้อเอาเวไนยสัตว์ให้ไปนิพพาน ไม่ให้เวียนว่ายในกรรมวัฏ วิปากวัฏ กิเลสวัฏ ให้จิตหลุดจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หลุดจากปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่เขาเรียกว่า ไตรวัฏ หลุดจากไตรวัฏ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า นี้ในคาถาที่แสดงมาแล้วนี้ก็ประสงค์อย่างนี้ เมื่อรู้จักหลักอันนี้ก็รู้จักว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นของลึกซึ้งจริง ๆ ไม่ใช่เท่านั้น ในคาถาที่ ๒ รับรองลงไปอีก ว่าเป็นรัตนคาถาเหมือนกัน
วโร วรญฺญู วรโท วราหโร
อนุตฺตโร ธมฺมวรํ อเทสยิ
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
ขุ.ขุ.(บาลี) ๒๕/๗/๘
อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธศาสนา ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีเถิด วโร แปลเป็นภาษาไทยของเราว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ วรญฺญู ทรงทราบธรรมอันประเสริฐ วรโท ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ วราหโร ทรงนำธรรมอันประเสริฐมา อนุตฺตโร หาผู้ใดผู้หนึ่งเสมอถึงมิได้ ธมฺมวรํ อเทสยิ ทรงแสดงซึ่งธรรมอันประเสริฐ นี่เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า นี่ชั้นที่ ๑ พระพุทธเจ้าท่านทรงพระนาม พระวโร ก็ถูกพระพุทธเจ้า วโร ก็พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ท่านเป็นผู้ประเสริฐ วโร แปลว่าผู้ประเสริฐ วโร อันว่าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ วรญฺญู ทรงทราบธรรมอันประเสริฐ วรโท ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ วราหโร ทรงนำธรรมอันประเสริฐมา อนุตฺตโร ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมาเสมอถึง ธมฺมวรํ อเทสยิ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ นี้แสดงธรรมแถวนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่แสดงธรรมแถวอื่น ๆ เลย ไม่ได้ทรงแสดงธรรมที่อื่นเลย แสดงธรรมแถวนี้ ธรรมอยู่ตรงนี้ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น
มนุษย์ผู้ฟังธรรมต้องเอาใจไปจรดตรงนั้น ถ้าไม่จรดตรงนั้นไม่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ไม่ถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนา เมื่อเอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแล้วทำใจให้หยุดนั่นแหละ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญทีเดียว นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากความหยุดความนิ่งไม่มี หยุดตรงนั้นแหละเป็นสุขล่ะ ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทีเดียว แล้วก็ถูกความสรรเสริญของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทีเดียว นี่แหละถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนาละ นี่เป็นความอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าดังนี้ นี่แหละเป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีเถิด
นี่เราได้ฟังของจริงดังนี้แล้วละก็จำไว้เป็นหลักนะ อย่าให้คลาดเคลื่อน เป็นข้อวัตรปฏิบัติ จะได้พาตนหลีกลัดออกจากไตรวัฏสงสาร ทางตรงอยู่เท่านี้นะ อย่าซมซานเซอะซะไปทางอื่นไม่ได้ เหลวไหลไปไม่ได้
ถ้าว่าจะเข้าไปในทางนี้แล้ว ต้องเป็นขั้น ๆ ต้องไม่พ้นจากกายมนุษย์ มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดไปเสีย จะได้พ้นจากกาม เมื่อพ้นไปจากกามแล้ว ไปติดรูปอีกแล้ว ให้พ้นจากกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียดไปเสีย จะได้เลิกติดรูป ไปติดอรูปอีกแล้ว ไปติดอรูปพรหมอีกแล้ว ให้พ้นกายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียดไปเสีย จะได้ไม่ติด จะได้ถึงกายธรรม พอไปถึงกายธรรมก็ไปติดอีกเหมือนกัน สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไปติดเข้าโน่นอีกแล้ว ให้พ้นกายธรรม กายธรรมละเอียดไปเสีย จะได้หลุดไปเข้าถึงกายธรรมโสดา โสดาละเอียด ก็พ้นสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสไปเสีย ก็ยังติดกามราคะ พยาบาทอีก นั่น เกร่งอยู่นั่นอีกแล้ว ให้พ้นกายโสดา โสดาละเอียดไปเสีย ให้ถึงกายสกทาคา สกทาคาละเอียด กามราคะ พยาบาทหยาบหมด ยังติดกามราคะ พยาบาทอย่างละเอียดอยู่ ให้พ้นกายสกทาคา สกทาคาละเอียดไปเสีย เข้าถึงกายพระอนาคา พระอนาคาละเอียด กามราคะ พยาบาทอย่างละเอียดหมด หลุดไปหมด ยังไปติดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ยังไปไม่ได้ ให้พ้นกายพระอนาคา อนาคาละเอียดไปเสีย ให้เข้าถึงกายพระอรหัต พระอรหัตละเอียดนั่นแหละ พ้นจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เรียกว่าเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมแล้ว พ้นจากไตรวัฏสงสารแล้ว มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า นี้พระพุทธเจ้าประสงค์อย่างนี้ หมดทั้งสกลพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ก็ประสงค์แง่นี้ แม้พระพุทธเจ้ารุ่นหลังจะมาอีกเท่าไร ก็ประสงค์อย่างนี้แบบเดียวกัน เมื่อรู้จักเช่นนี้แล้ว เราก็อุตส่าห์พยายามทำให้เข้าถึงธรรมเหล่านี้ให้ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมเหล่านี้แล้ว เราจะได้พ้นทุกข์ออกจากไตรวัฏสงสาร มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
ที่ได้ชี้แจงแสดงมา ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา วรญฺญํ สรณํ นตฺถิ ที่พึ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐของเราท่านทั้งหลาย สรณํ เม รตนตฺตยํ พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเราท่านทั้งหลาย เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ