สัจจกิริยคาถา
๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ พุทฺโธ เม สรณํ วรํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ธมฺโม เม สรณํ วรํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ สงฺโฆ เม สรณํ วรํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา*
เย จ อตีตา สมฺพุทฺธา เย จ พุทฺธา อนาคตา
โย เจตรหิ สมฺพุทฺโธ พหุนฺนํ โสกนาสโน
สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน วิหริํสุ วิหาติ จ
อถาปิ วิหริสฺสนฺติ เอสา พุทฺธาน ธมฺมตา
ตสฺมา หิ อตฺตกาเมน มหตฺตมภิกงฺขตา
สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ สรํ พุทฺธาน สาสนนฺติ ฯ**
* ส.ม. ๔๑-๔๒
** องฺ.จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๒๑/๒๗
ณ บัดนี้ จักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยสัจจกิริยาคาถา วาจาเครื่องกล่าวในการกระทำสัจ เรียกว่า สัจจกิริยาคาถา วาจาเครื่องกล่าวในการกระทำสัจนั้น สัจจะต้องแสวงหาความจริง หญิงก็ดี ชายก็ดี ถ้าว่าเป็นคนจริงอยู่แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนมีสาระแก่นสาร หรือภิกษุสามเณรที่จริงอยู่แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสาระแก่นสารจริง นี่แหละเป็นที่มั่นหมายของพระศาสดาจารย์ทุก ๆ พระองค์ ที่ล่วงไปแล้วมากน้อยเท่าใด สำเร็จด้วยความจริงทั้งนั้น ที่จะมาในอนาคตกาลภายภาคหน้าเท่าใดก็สำเร็จด้วยความจริง ซึ่งปรากฏอยู่ในบัดนี้ก็สำเร็จด้วยความจริง ความจริงอันนี้แหละ หญิงชาย คฤหัสถ์บรรพชิตทุกทั่วหน้า ควรให้มีในสันดานของอาตมา ถ้ามีความจริงอยู่แล้ว ถึงจะแก่เฒ่าชราสักเท่าใดก็ตามเถิด ได้ชื่อว่าเป็นคนมีแก่นสาร ถึงจะตั้งอยู่ในปานกลางก็ได้ชื่อว่าเป็นคนมีแก่นสาร ถึงจะตั้งอยู่ในวัยเป็นเด็ก ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนมีแก่นสาร ความจริงอันนี้ เป็นบารมีของพระพุทธเจ้าที่ได้สั่งสมอบรมมาทุก ๆ พระองค์ จะเว้นเสียสักพระองค์หนึ่งไม่ได้เลย เว้นความจริงแล้วเป็นอันไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทีเดียวอย่างแน่นอน เหตุนี้ เราท่านทั้งหลาย หญิงชาย คฤหัสถ์บรรพชิตทุกทั่วหน้า
เมื่อรู้จักหลักที่จริงนั่นเป็นอย่างไร ตามวาระพระบาลีท้าย ยกขึ้นเป็นตำรับตำรา นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พุทฺโธ เม สรณํ วรํ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยการกล่าวสัตย์นี้ โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี ธมฺโม เม สรณํ วรํ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยความสัตย์นี้ โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี สงฺโฆ เม สรณํ วรํ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยการกล่าวสัตย์นี้ โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
นี่เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ได้ความเท่านี้ นี่เป็นหลักสำคัญที่จะแสดงสัจจกิริยาคาถานี้ เพราะเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อน ๆ โน้น สัปดาห์ต้นวันอังคารเมื่อเข้าพรรษา แสดงถึงธรรมที่ขาวกับธรรมดำ ซีกดำให้ละเสีย ซีกขาวให้เจริญต่อไป ซีกดำเป็นปหาตัพพธรรม ซีกขาวเป็นภาเวตัพพธรรม และให้พิจารณากาย วาจา ใจ ของตนด้วยตนของตนเอง ไม่มีชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ตัวเองพินิจพิจารณาแล้วว่าเสียหายพิรุธอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ คนอื่นจะพินิจพิจารณาด้วยใจของตน หาความเสียหายไม่ได้ แม้ทั้งตนและบุคคลอื่น ทั้งพินิจพิจารณาด้วยปัญญาด้วย ก็ไม่เห็นความพิรุธเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด เห็นความดีชัด ๆ นั่นแหละ ให้รักษาความดีอันนั้น ไม่ให้กระจัดกระจาย ให้แน่นอนในขันธสันดาน นี่ในขั้นต้นเมื่อเข้าพรรษา กัณฑ์ที่ ๒ รองลงมา ให้เคารพพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ แล้วแสดงให้รู้จักพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ด้วย
วันนี้ในสัจจกิริยาคาถานี้ เพราะเราท่านทั้งหลายทุกทั่วหน้า อยากหาที่พึ่งกันนัก ที่ว่าไม่รู้ที่พึ่งจริงอยู่ที่ไหน ที่พึ่งจริงนี่แหละเป็นตัวสำคัญนัก เข้าใจว่าเงินเป็นที่พึ่ง ทองเป็นที่พึ่ง หาเงินหาทองไปแล้วก็ตาย ไม่เห็นติดตัวไปสักนิดเดียว หาเงินหาทองได้แล้วไม่ติดตัวไปเลย นี่เข้าใจว่าเงินทองเป็นที่พึ่งแล้วนะ บางพวกคิดไปอีกว่า เป็นตายก็ได้ภรรยาสักคนเถิด จะได้พึ่งพักพาอาศัยกันและกัน เอ้าพอได้ภรรยาแล้ว ได้ลูกอีกคนเถิด จะได้พึ่งพาอาศัยลูกต่อไป ผู้หญิงก็เช่นกัน ได้สามีสักคนเถิดจะได้พึ่งสามีต่อไป พอได้สามีแล้วได้ลูกสักคน ๒ คนเถิด จะได้พึ่งลูกต่อไป แล้วลงท้ายเป็นอย่างไรบ้าง ถามท่านยายท่านตาดูบ้างซิ ท่านก็รู้หรอก ท่านบอกว่าเหลวทั้งนั้น ไม่ใช่ที่พึ่งจริงอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่พึ่งเลวเหลวไหลทั้งนั้น เหตุนี้แหละ ที่พึ่งแน่แท้แน่นอนทีเดียวนั้นพึ่งอื่นไม่ได้ พึ่งอื่นพระพุทธเจ้าไม่ทรงรับสั่งเลย รับสั่งว่าพึ่งตัวของตัวนี่แหละ
ที่ทรงรับสั่งว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนนี่แหละเป็นเกาะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตัวนี่แหละเป็นที่พึ่งของตัว สุทฺธิ ปจฺจตฺตํ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เฉพาะตัว นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย บุคคลอื่นทำบุคคลอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ต้องตัวของตัวเองจึงได้ ตัวของตัวเองรักความบริสุทธิ์ ก็ทำความบริสุทธิ์ของตัวได้ ตัวเองรักความบริสุทธิ์แต่ไม่ทำบริสุทธิ์ใส่ตัวก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ไม่ทำบริสุทธิ์ใส่ตัวก็ชื่อว่าไม่รักตัว ลงโทษตัวอย่างขนาดหนัก เมื่อทำความบริสุทธิ์ให้แก่ตัวแล้ว ช่วยตัวเองอย่างขนาดหนัก ทำความไม่บริสุทธิ์ใส่ตัว เหมือนเรามีผ้าที่สะอาดเอาของโสโครกมาประพรมเสีย ผ้านั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผ้าที่สะอาดนั้นก็ดูไม่ได้ กลายเป็นของเลวเกวไป คนที่สะอาดคนที่ดี ๆ แท้ ๆ คนที่บริสุทธิ์แท้ ๆ ไปประพฤติชั่วเข้าเป็นอย่างไร ก็เหมือนผ้าเปื้อนสกปรกนั่นแหละ ใช้ไม่ได้ดุจเดียวกัน ต้องรักษาความสะอาดนั้นไว้
พระองค์ทรงรับสั่งว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ว่าตัวนี่แหละเป็นเกาะ ตัวนี่แหละเป็นที่พึ่งของตัว สิ่งอื่นไม่ใช่ ธรรมนั่นแหละเป็นเกาะ ธรรมนั่นแหละเป็นที่พึ่ง สิ่งอื่นไม่ใช่ รับสั่งอย่างนี้ บัดนี้ ในสัจจกิริยาคาถา ท่านยกขึ้นไว้ว่า นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พุทฺโธ เม สรณํ วรํ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา อ้าวรู้ล่ะ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเราแท้ ๆ แล้วจะคิดว่ากระไร พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเราละ เราจะเอาใจเข้าจรดในรูปพระปฏิมากรนี่หรือ รูปพระประธานในโบสถ์นี่หรือ นั่นหรือคือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหรือ อยู่ในตัวเราหรือนอกตัวเรา คิดดูสิว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ที่เรานับถือพระพุทธเจ้า เอาล่ะ จะเอาใจไปเข้าที่ไหน จรดเข้าที่พระปฏิมากรนี่หรือ หรือนับถือพระธรรม พระธรรมเป็นที่พึ่งของเรา นั่นเอาใจไปจรดในพระธรรมในตู้ในใบลานนั่นหรือ นับถือพระสงฆ์นั่นหรือ เอาใจไปจรดเข้าที่ตรงนุ่งเหลืองสมมตินี่แหละ หรือว่ากระไรกัน นึกดูซิ ท่านตาท่านยายเชียวนะ กล่าวเข้าอย่างนี้ละก็ ท่านตาท่านยายงง ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังนั้นงง เอ นี่จะเอาใจไปจรดที่ใดแน่ จึงได้ถูกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือโน้นเอาใจเข้าที่พระสิทธารถราชกุมาร(๑.สมัยก่อนมีการเรียก เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระสิทธารถ อ่านออกเสียงได้หลายอย่าง เช่น สิด-ทาด หรือ สิด-ทา-ระ-ถะ) ที่กรุงกบิลพัสดุ์ ผู้เป็นบุตรพระเจ้าสุทโธทนะ สิริมหามายา ที่ได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ที่เมืองกบิลพัสดุ์โน้น ไปจรดเข้าที่พระพุทธเจ้าตรัสปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั่นหรือ หรือว่าเอาใจเข้าไปจรดเข้าที่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หรือพระยสะ ๕๕ พระราชกุมาร ๓๐ ชฎิล ๑,๐๐๓ รูปโน้นหรือ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ หรือไม่อย่างนั้น หรือพระพุทธเจ้าอยู่ในตัว
พระพุทธเจ้า แปลว่าตรัสรู้ ความรู้ในตัวของเรานี่แหละเป็นพระพุทธเจ้า อย่างนั้นหรือ หรือพระธรรมอยู่ในตัว ทำถูกทำจริงที่อยู่ในตัวนี่แหละ นั่นคือพระธรรมแล้ว ตัวของตัวที่รักษาความดีความถูกความจริงไม่ให้หายไป ความรู้นั่นไม่หายไป ที่รักษาไว้ได้นั่นหรือ เป็นพระสงฆ์ อย่างนี้ก็เหลวทั้งนั้น เอาจริงไม่ได้เลย เอาหลักฐานไม่ได้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าอันประเสริฐ ไม่ใช่พระธรรมอันประเสริฐ ไม่ใช่พระสงฆ์อันประเสริฐ
พระพุทธเจ้าอันประเสริฐนั่นมีจริง ๆ หนา แต่ว่าอยู่ในตัวของเรานี่แหละ พระพุทธเจ้าเป็นเนมิตกนาม พระธรรมก็เป็นเนมิตกนาม พระสงฆ์ก็เป็นเนมิตกนาม ไม่ใช่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ตัวพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละเป็นตัวจริงยืมให้บังเกิดเป็น พุทฺโธ ยืมให้บังเกิดเป็น ธมฺโม ยืมให้บังเกิดเป็น สงฺโฆ
พุทธรัตนะยืมให้บังเกิดนั่น ไปตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ เกิดสงฆ์เข้า ประณาม(๒.คำว่า ประณาม ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า น้อมไหว้ เช่น ขอประณามบาทบงสุ์พระทรงศรี)ขึ้นเป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นกับพระองค์ เป็น พุทฺโธ พระธรรมรัตนะเล่า ได้ทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว รักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เกิดสงฆ์ที่เป็นเนมิตกนามขึ้น เรียกว่า ธมฺโม นี่เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ส่วนสังฆรัตนะเล่า รักษาธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไว้ไม่ให้หายไป ธรรมนั่นแหละอันพระสงฆ์ทรงไว้ ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ สงฺเฆน ธาริโต
ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ ที่ท่านทรงธรรมไว้ได้นั่นแหละ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้น เรียกว่า สงฺโฆ
พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เกิดขึ้นเป็นเนมิตกนามเหมือนอย่างกับนาม อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นเนมิตกนามทั้งนั้น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นเนมิตกนามทั้งนั้น สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่เป็นเนมิตกนามทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงนะ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละ ที่เป็นที่พึ่งจริง ๆ อยู่ที่ไหน ท่านจะเอาใจไปจรดตรงไหนจึงจะถูกพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จะจรดให้ถูกแท้ ๆ ละก็ ในมนุษย์นี่แหละมีพุทธรัตนะ ทางไปถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ มีอยู่ในกายมนุษย์นี่ จะให้ถูกแท้ ๆ ต้องจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ในกายมนุษย์นี่แหละ เอาใจหยุดทีเดียว พอหยุดกึกเข้าก็ถูกพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะทีเดียว พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ไปทางนี้ นั่นก็จะถูกทางเท่านั้น ยังไม่ใช่ถูกองค์ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เลย ยังไม่ใช่ถูกองค์พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะเลย ถูกแต่ทางเท่านั้น เอาเถอะถูกทางนั้นเป็นพบตัวแน่นอนล่ะ ไม่ต้องสงสัย
เมื่อถูกทางแล้วก็ ใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ พอหยุดถูกส่วนเข้า จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์
หยุดกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์หนักเข้า ที่ลัดว่าลัด ๆ ให้เร็วขึ้น หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด หนักเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ถูกส่วนหนักเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย พอถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ก็เห็นตัวทีเดียว
เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ก็เห็นกายมนุษย์ละเอียด โด่อยู่นี่เอง
พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ก็เห็นกายทิพย์
พอเข้าถึงกายทิพย์ หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ก็เห็นกายทิพย์ละเอียด
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียดก็เห็นกายรูปพรหม
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมก็เห็นกายรูปพรหมละเอียด
เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ก็เห็นกายอรูปพรหม
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ก็เห็นกายอรูปพรหมละเอียด
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ก็เห็นกายธรรม รูปพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า งามนัก อย่างน้อย ๆ หน้าตักไม่ถึง ๕ วา แต่ว่านี่ธรรมกายหยาบ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายหยาบ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย
ใจธรรมกายไปหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายหยาบ นั่นแหละ ถูกส่วนเข้าก็เห็นธรรมกายละเอียด เส้นผ่าศูนย์กลางดวงธรรมเท่าหน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม เห็นชัด ๆ อย่างนี้
เมื่อเห็นธรรมกายหยาบ นั่นแน่! นั่นแหละตัว พุทฺโธ ล่ะ ตัวพุทธรัตนะล่ะ เป็นเนมิตกนามให้เกิดขึ้นว่า พุทฺโธ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั่นแหละ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นให้เป็น ธมฺโม พระธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะก็ธรรมกายละเอียดนั่นแหละ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นเรียกว่า สงฺโฆ นั่นต้องจรด นี่ไม่ใช่จดชื่อนะ จรดตัวจริงนี่ต้องเอาใจไปนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพุทธรัตนะทีเดียว วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย เอาใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น นิ่งอยู่ทีเดียวนะ ถูกพระพุทธรัตนะ ถูกพระธรรมรัตนะ ถูกพระสังฆรัตนะ ไม่ต้องมี ๒ ต่อไป นิ่งอยู่ทีเดียว ถูกพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี่ที่พึ่งจริง ๆ เป็นอย่างนี้นะ ถ้ารู้จักที่พึ่งจริงอย่างนี้แล้ว อย่าเอาใจไปจรดที่อื่นนะ จรดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะนั่น พอถูกส่วนเข้าแล้วจะเข้าถึงธรรมกายละเอียด
จรดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียดเข้าแล้ว นั่นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ใจธรรมกายละเอียดหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด พอถูกส่วนเข้าแล้ว จะเข้าถึงธรรมกายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดา พอถูกส่วนเข้าแล้ว จะเข้าถึงธรรมกายพระโสดาละเอียด หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ดวงธรรมวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ วา เท่ากัน กลมรอบตัว
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดาละเอียด พอถูกส่วนเข้า จะเข้าถึงธรรมกายพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระสกทาคา วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ วา กลมรอบตัว
หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระสกทาคา จะเข้าถึงธรรมกายพระสกทาคาละเอียด หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระสกทาคาละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕ วา กลมรอบตัว
ใจธรรมกายพระสกทาคาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระสกทาคาละเอียด พอถูกส่วนเข้าแล้ว จะเข้าถึงธรรมกายพระอนาคา หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา และดวงธรรมวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕ วา กลมรอบตัว
หยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาหยาบ นั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงธรรมกายพระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอนาคาละเอียด ๒๐ วา เท่ากัน กลมรอบตัว
ใจของธรรมกายพระอนาคาละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอนาคาละเอียดนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าแล้วก็เข้าถึงธรรมกายพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอรหัต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอรหัต พอถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงธรรมกายพระอรหัตละเอียด หน้าตัก ๓๐ วา สูง ๓๐ วา ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอรหัตละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ วา กลมรอบตัวเหมือนกัน นั่นเป็นธรรมกายพระอรหัตละเอียด
แผนนี้แหละพระสมณโคดมท่านทรงสั่งสอนมา พระอรหัตท่านก็คิดเอาเอง ค้นเอาเอง ค้นทั่วถึงหมด ไม่ต้องเกรงใจใคร ไปถึงหมด นรก สวรรค์ไปตลอด นรก ๔๕๖ ขุม ดูตลอด อบายภูมิทั้ง ๔ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ดูตลอด กายทิพย์ดูตลอด ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงสา ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ไปพูดกันได้ ถามอะไรกันได้ ไปทำอะไรกันได้ รู้เรื่องหมด ตลอดจนกระทั่งไปถึงรูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น ไปตลอด นิพพานไปตลอด พระพุทธเจ้าไปอยู่ในนิพพานที่ไหน ไปพบกันหมด ไปพูดกันได้ ถามกันได้ทั้งนั้น นี้ถ้าแม้ว่าเข้าถึงที่พึ่งอันนี้แล้ว เลิศประเสริฐอย่างนี้ นี่ถ้าว่าผู้หนึ่งผู้ใดเข้าถึงได้ดังนี้แล้ว ก็นี่วาจากล่าวสัจจะอันนี้แหละ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อเถิด ความจริงเป็นอย่างนี้
เมื่อรู้จักความจริงดังนี้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านได้สำเร็จ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ท่านรู้ว่าท่านเป็นศาสดาจารย์เอกในโลก ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่มีใครล้ำท่านทีเดียว ไม่มีใครถึงท่านทีเดียว มาร พรหม อยู่ใต้บังคับใต้อำนาจหมด ท่านเฝ้านึกอยู่ในพระทัยว่า เออ นี่เราจะเคารพใครละ ธรรมดาการเคารพนั่น ถ้าว่ามนุษย์คนใดมีความเคารพแน่นหนาอยู่แล้วก็ มนุษย์คนนั้นมีหลักฐาน ภิกษุสามเณรองค์ใดมีความเคารพแน่นหนาอยู่ในที่ใดแล้ว ภิกษุสามเณรองค์นั้นมีหลักฐาน อุบาสกอุบาสิกาเคารพสิ่งใดมั่นหมายอยู่แล้ว ก็ได้ชื่อว่า อุบาสกอุบาสิกาคนนั้นมีหลักฐาน ถ้าว่าไม่มีที่เคารพ ไม่มีหลักฐานกันทีเดียว ไม่มีที่หลักฐานทีเดียว
นักปราชญ์ทุก ๆ ประเทศเขากล่าวกันว่า คนที่ชั่วร้ายนะไม่สำคัญนัก พอแก้ได้ เขาอิดหนาระอาใจ และเกลียดคนไม่มีศาสนานี่แหละ เขาอิดหนาระอาใจรังเกียจนัก คนไม่มีศาสนานั่น ไม่มีที่จรดของใจ ไม่รู้จะเอาใจไปจรดกับอะไร ไม่รู้ที่พึ่งเสียด้วย ไม่มีที่จรดไม่มีที่พึ่งทีเดียว ไม่มีที่พึ่งก็จะเอาหลักที่ไหน จะเอาอะไรมาแก้ไข เธอแก้ไขไม่ได้เพราะไม่มีหลักใจเสียแล้ว คนต้องมีหลักใจ
อย่างพระพุทธเจ้าท่านได้เป็นศาสดาเอกในโลก ต้องมีหลักพระทัยหลักใจเหมือนกัน ถ้าไม่มีหลักใจแล้ว ท่านจะไปเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นเอง เป็นเอกอุดมในโลกไม่ได้ เมื่อท่านพบหลักใจเป็นหลักฐานแล้ว ท่านก็แนะนำสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้มีหลักใจ ไม่ใช่มีเองนะ ไม่ใช่ไปหาเองหรอก มีเอง เมื่อถึงพระอรหัตแล้ว เอาใจจรดติดแน่นที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตทีเดียว ไม่ขยับเขยื้อน ไม่เลื่อนทีเดียว ตั้งหลักตายตัวทีเดียว ตั้งแน่นตายตัวทีเดียว ตามวาระพระบาลี ท่านยกเป็นตำรับตำราไว้ว่า
เย จ อตีตา สมฺพุทฺธา พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วด้วย เย จ พุทฺธา อนาคตา พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่จะมาในอนาคตกาลภายภาคข้างหน้าด้วย โย เจตรหิ สมฺพุทฺโธ พหุนฺนํ โสกนาสโน พระสัมพุทธเจ้าองค์ใดผู้หยั่งความโศกของคนเป็นอันมากให้พินาศไปซึ่งปรากฎอยู่ในบัดนี้ สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ล้วนเคารพสัทธรรม สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน ล้วนเราเคารพสัทธรรมทั้งสิ้น เคารพสัทธรรมนั้นเป็นอย่างไร ใจนั้นก็ตั้งอยู่กลางดวงธรรมนั้น ไม่เขยื้อนเลยทีเดียว ตั้งตายตัว ตั้งแน่นหนา ตั้งติดทีเดียว และตำรับตำราอ้างว่า อินฺทขีลูปโม แน่นหนาเหมือนเสาเขื่อนที่ปักไว้หน้าผา ลมพัดไปจากทิศทั้ง ๔ ไม่เคลื่อนเลย อีกนัยหนึ่ง ปพฺพตูปโม เหมือนภูเขาที่ตั้งอยู่โดยปรกติธรรมดา ลมที่จะพัดมาจากทิศทั้ง ๔ จะให้ภูเขาเขยื้อนไม่ได้เลย นี่ฉันใดก็ดี ใจของพระแน่นในธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แต่ว่าปุถุชนก็ไม่แน่นหนาขนาดนั้น พระโสดาก็ติดอยู่บ้างแล้ว พระสกทาคาแน่นอยู่หน่อย พระอนาคาแน่นขึ้น พอถึงพระอรหันต์แน่นจริงทีเดียว เหมือนเสาเขื่อนทีเดียว เหมือนภูเขาทีเดียว ไม่เขยื้อนตามไปทางใดล่ะ แน่นขนาดนั้นนั่นแหละมีที่พึ่ง ท่านได้ที่ตั้งของใจ ที่ปักของใจ ที่ติดของใจ ไม่ไหวเขยื้อนไปตามใครละ โลกธรรมทั้ง ๔ จะมาระดมพระองค์ให้ใจพระองค์เขยื้อนไม่ได้ ตายตัวทีเดียว ตั้งอยู่ในพรหมวิหารฝ่ายเดียว เมตตา รักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข กรุณา ความสงสารคิดช่วยจะให้พ้นทุกข์ มุทิตา พลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นเขาได้ดี อุเบกขา วางเฉย เมื่อแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ก็เฉย หรือถ้าแก้ไขได้ก็แก้ไป แก้ไขไม่ได้ก็เฉยเสีย อุเบกขา ไม่สมน้ำหน้า ไม่อิจฉาริษยาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย นี่หน้าที่ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้เคารพสัทธรรม วิหริํสุ วิหาติ จ มีอยู่แล้วด้วย พระพุทธเจ้ามีอยู่แล้วด้วย ที่ตรัสรู้ไปแล้วมากน้อยเท่าใด มีอยู่แล้วด้วย วิหาติ จ มีอยู่ในบัดนี้ด้วย
ปัจจุบันนี้ที่มีธรรมกายนั้น เป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้น คำว่าพระพุทธเจ้ามี ๖ จำพวก สัพพัญญูพระพุทธเจ้า ๑ ปัจเจกพุทธเจ้า ข้อที่ ๒ สาวกพุทธเจ้า เป็นที่ ๓ สุตพุทธเจ้า ที่ ๔ พหุสุตพุทธเจ้า ที่ ๕ อนุพุทธเจ้า เป็นที่ ๖ พระพุทธเจ้ามี ๖ จำพวก เป็นธรรมกายแล้วเป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เป็นอนุพุทธเจ้า ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไป นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า นั่นแหละมีอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย
อถาปิ วิหริสฺสนฺติ มีต่อไปในภายภาคข้างหน้าด้วย พระพุทธเจ้าจำพวกที่ยังไม่เป็นธรรมกาย พอเป็นธรรมกายแล้ว ก็เป็นปัจจุบันขึ้น ถ้ายังไม่เป็นธรรมกาย ก็เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตไป นี่ปรากฏอย่างนี้ เอสา พุทฺธาน ธมฺมตา ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปรากฏอย่างนี้อยู่เนืองนิตย์อัตรา
ตสฺมา หิ อตฺตกาเมน มหตฺตมภิกงฺขตา เพราะเหตุนั้น บุคคลมีความใคร่ประโยชน์ของตน อตฺตกาเมน มหตฺตมภิกงฺขตา จำนงความเป็นใหญ่ ไม่มีใครถึงละ สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ สรํ พุทฺธาน สาสนํ พึงระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจำนงความเป็นใหญ่ ให้ระลึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรเคารพสัทธรรม พึงเคารพสัทธรรม
ผู้ที่เคารพสัทธรรมนั่นแหละจะถึงซึ่งความเป็นใหญ่ เป็นใหญ่อย่างไร ด่าท่านก็ไม่โกรธ ทำอย่างไรก็ไม่โกรธ แกไม่อิจฉาริษยาใคร แกตั้งอยู่ในธรรมของแกมั่น ไม่ง่อนแง่นไปตามใคร ถึงเด็กก็ต้องยกว่าเป็นผู้ใหญ่ คนชนิดนั้นถึงกลางคนก็ต้องยกให้เป็นผู้ใหญ่ ถึงเป็นผู้หญิงก็ต้องถือว่าเป็นบัณฑิตถี หญิงประกอบด้วยปัญญา หญิงเป็นใหญ่ ไม่ใช่หญิงเลวทราม ไม่ใช่หญิงง่อนแง่นคลอนแคลน มั่นคง
ตั้งเป็นหลักเป็นฐาน เป็นหัวหน้าประธานของคนได้ หากว่าเป็นสามเณรก็เป็นประธานของคนได้ เป็นภิกษุก็เป็นประธานของคนได้ เป็นคนแก่ก็ยิ่งน่านับถือหนักเข้า น่าบูชาหนักเข้า เพราะตั้งมั่นอยู่ในธรรม ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน จะด่าจะว่าจะเสียดสีสักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ยิ้มแฉ่ง สบายอกสบายใจ เพราะตั้งอยู่ในพระธรรม คนที่ว่านั้นก็ไม่รู้เดียงสา เหมือนพระพุทธเจ้า ใครจะไปด่าก็ด่าไปซิ ใครจะไปเสียดสีก็เสียดสีไปซิ ไม่เขยื้อนเลย ไม่กระเทือนเลย นี่แหละทางพระพุทธศาสนาประสงค์จริงอย่างนี้ ให้ตั้งมั่นให้เคารพสัทธรรม แต่ว่าเคารพสัทธรรมนั้นเคารพอย่างไร
เอาอีกแหละ เคารพไม่ถูก ถึงแก่เฒ่าชราปานใด เป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เคารพสัทธรรมนั่นเคารพอย่างไร เหมือนภิกษุสามเณรอย่างนี้แหละ บูชานับถืออยู่ เป็นกระถางธูปของพลเมืองอยู่ แต่ว่าไม่รู้ตัว
ไม่รู้ตัวว่าเป็นกระถางธูปของพลเมืองอยู่ ไม่เดียงสา ได้แต่ประพฤติเลวทรามต่ำช้า ผิดธรรมผิดวินัย นั่นฆ่าตัวเองทั้งเป็นแล้ว ไม่ให้เขานับถือ ไม่ให้เขาบูชา ให้เขาเกลียดแล้ว ให้เขาลงโทษแล้ว หนักเข้าเขาก็ให้สึกเสีย อยู่ไม่ได้ ภิกษุสามเณรอยู่ไม่ได้แล้ว ประพฤตินอกรีต ผิดธรรมผิดวินัย ถ้าว่าภิกษุสามเณรเคารพสัทธรรมอยู่ เป็นสามเณรก็ไม่ให้เคลื่อนจากศีลของสามเณรไปเสีย นิดหน่อยหนึ่งไม่ให้ล้ำกรอบกระทบกรอบศีลทีเดียว ตั้งมั่นอยู่ในกลางศีลทีเดียว เป็นภิกษุก็ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๒๒๗ สิกขาบท ไม่กระทบกรอบของศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีลทีเดียว เป็นอุบาสกก็ตั้งมั่นอยู่ในศีลของอุบาสกทีเดียว ในศีล ๕ ศีล ๘ ตามหน้าที่ ไม่กระทบกรอบของศีลทีเดียว เป็นอุบาสิกาก็ตั้งอยู่ในศีลมั่นคง ไม่กระทบกรอบของศีลทีเดียว ตั้งอยู่ในศีลทีเดียว ถ้าว่าเป็นได้ขนาดนี้
นั่นแหละเรียกว่า สทฺธมฺมครุโน เคารพสัทธรรมล่ะ ใครก็ต้องไหว้ ใคร ๆ ก็ต้องบูชา เพราะเหตุว่ามีธรรมเป็นหลักเป็นประธาน เป็นแก่นแน่นหนา ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนเหลวไหลโลเล ได้ชื่อว่าเป็นอายุพระพุทธศาสนาต่อไป ภิกษุสามเณรประพฤติได้ขนาดนั้น ได้ชื่อว่าเป็นอายุพระพุทธศาสนาต่อไป อุบาสกอุบาสิกาประพฤติได้ขนาดนั้น ก็จะได้เป็นตัวอย่างของอุบาสกอุบาสิกา จะได้เป็นตำรับตำราของอุบาสกอุบาสิกาในปัจจุบันนี้และภายภาคข้างหน้า อุบาสิกาล่ะ ได้เช่นนี้ก็จะได้เป็นตำรับตำราของอุบาสิกาในยุคนี้และภายภาคหน้าต่อไป ชื่อว่าเป็นอายุพระพุทธศาสนา
ให้เคารพสัทธรรม เคารพสัทธรรมนั้นดีประเสริฐอย่างไรหรือ ดังกล่าวแล้วทุกประการ ถ้าว่าใครเคารพสัทธรรมละก็ ไม่ต้องหาข้าว ไม่ต้องหาข้าวสารนะ ไม่ต้องเที่ยวขอเขานะ ไปนั่งอยู่คนเดียวในป่าเขาก็ต้องเลี้ยง เขาก็ต้องเอาข้าวไปเลี้ยง เอาอาหารไปเลี้ยง เอาผ้าให้นุ่งห่ม อย่าไปทุกข์ร้อนไปเลย ให้มั่นอยู่ในสัทธรรมเข้าเถิด สัทธรรมนี่แหละเป็นตัวสำคัญ สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ พระพุทธเจ้าท่านสำเร็จแล้ว ท่านเคารพสัทธรรมอย่างเดียว ใจท่านแน่นในกลางดวงสัทธรรมนั่นแหละ
ก็อุบาสกอุบาสิกาเล่า ยังไม่มีนี่ ธรรมชั้นสูงยังไม่มีกับเขา อยากจะได้สัทธรรม จะเอาใจไปจรดตรงไหนเล่า จุดศูนย์กลางของกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ นิ่งอยู่กลางนั่นแหละ ให้เห็นดวงให้ได้ ถ้าไม่เห็นก็จรดอยู่กลางดวงนั่นแหละ อย่าไปจรดที่อื่น จะตัดหัวคั่วแห้งก็ไม่จรดที่อื่น จะตัดหัวคั่วแห้ง เขาบอกว่าโน่นแน่ เจ็บไข้เต็มทีจะตายแล้ว หมอที่โน้นแน่ดีนัก ยิ้มเฉย ใจปักอยู่ที่ธรรมนั่น ปวดแข้งปวดขาจัด ปักเข้าไป ร้องโอย ๆ ก็ช่าง เขาบอกว่าโน้นแน่ะ ผู้เป่าเก่งอยู่ที่โน่นดีนัก ยิ้มเฉย ยิ้มแฉ่ง เอาใจปักอยู่ที่ธรรมนั่นแหละ ใคร ๆ ไม่ช่วยก็ปวดตายไปเถิด ไม่ได้เคลื่อนไปจากธรรม มั่นใจปักอยู่ที่ธรรมนั่นเอง ขนาดนี้แม้จะไม่ถึงธรรมกาย ไม่มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ยังไม่เข้าถึง แต่ว่าเข้าถึงเช่นนี้ ถูกทางพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะแน่นอนแล้ว เมื่อถูกทางเช่นนี้แล้วก็มั่นเชียว เคารพมั่นทีเดียว ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ไม่ท้อถอยละ จะเป็นจะตายก็ช่างเถิด มั่นอยู่กับธรรมรัตนะกลางกายมนุษย์นั่นแหละ
ถ้ามีกายมนุษย์ละเอียด ก็มั่นอยู่กับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั่นแหละ ถ้ามีกายทิพย์ละก็มั่นอยู่ในดวงธรรม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ที่มีอยู่ในศูนย์กลางกายทิพย์นั่นแหละ ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ หรือกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กายทิพย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่นั่นแหละ ถ้ากายรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นรูปพรหมนั่นแหละ ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ หรือหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมดิ่งเชียว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ถ้าถึงอรูปพรหมละก็ ใจของกายอรูปพรหมแน่นอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหมทีเดียว ๗ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัว งดงามนัก ผ่องใส หรือเข้าศูนย์กลางอรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดทีเดียว
ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในทางใดทางหนึ่งทั้งหมด ไม่เลอะ ๆ เทอะ ๆ ไม่เหลวไหล เขาว่าจ้าวคนโน้นแน่นะ จ้าวผีมันจะดีกว่ามนุษย์อย่างไร มนุษย์ดีกว่าจ้าวผีเป็นก่ายเป็นกอง ถ้าว่ามีฤทธิ์มีเดชก็มีเหมือนผีซิ ข้าก็มีฤทธิ์ส่วนนั้นในธรรมรัตนะเหมือนกัน ข้าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ตามใครละ นี้แหละ สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ คนชนิดนี้แหละ ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ได้ชื่อว่า ได้เคารพสัทธรรมแท้ แท้จริงเลย ควรนับถือควรไหว้ควรบูชาทีเดียว
ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้น ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา ด้วยอำนาจสัจวาจาที่อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สพฺพพุทฺธานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง ปิฏกตฺตยานุภาเวน ด้วยอานุภาพปิฎกทั้ง ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ชินสาวกานุภาเวน ด้วยอำนาจชินสาวกของท่านผู้ชนะมาร จงดลบันดาลให้ความสุขสวัสดิ์อุบัติบังเกิดมีในขันธปัญจก แห่งท่านทายกและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาด้วยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ