การแสดงศีล (สีลุทเทส)
๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิ ปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา ฯ* ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพนฺติ ฯ**
* ที.ม.(บาลี) ๑๐/๗๕/๙๕
**ที.ม.(บาลี) ๑๐/๑๔๓/๑๘๐
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงในสีลุทเทส แสดงเรื่อง ศีลเป็นเหตุมีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิเป็นต้นเหตุมีปัญญาเป็นอานิสงส์ ปัญญาเป็นต้นเหตุอบรมจิตให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ในข้อนั้นท่านทั้งหลายพึงกระทำโดยความไม่ประมาทเถิดประเสริฐนัก ที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางตำรับตำราไว้เป็นแบบแผนแน่นหนา ทรงตรัสเทศนาโปรดเวไนยสรรพสัตว์อยู่ ๔๕ พรรษา เมื่อรวบรวมธรรมวินัยไตรปิฎกของพระบรมศาสดาแล้ว ก็คงเป็น ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก เรื่องนี้พระเถรานุเถระมีพระมหาอริยกัสสปะเป็นประธานได้สังคายนาร้อยกรอง ทรงพระธรรมวินัยเป็นหลักฐาน เรียกว่าพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์
พระวินัยจัดเป็นศีล ศีลมากนัก เป็นอปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลของพระภิกษุไม่มีที่สุดทีเดียว ศีลของอุบาสกอุบาสิกา มี ๕ มี ๘ มี ๑๐ ตามหน้าที่ สามเณรมี ๑๐
ส่วนพระสูตรก็ตรัสเทศนามากอีกเหมือนกัน เรียกว่าสุตตันตปิฎก ยกเป็นสุตตันตปิฎกนั้นถึง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าจะสรุปเข้าแล้ว ถ้าจะสรุปรวบรวมเข้าก็เป็นสมาธิ สมาธิจัดเป็นภูมิไปมาก มีมากอีกเหมือนกัน แต่ว่า ว่าสั้น ๆ แล้วก็ สมาธิ
พระปรมัตถปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่นลงเป็นสั้น ๆ แล้วก็คือ ปัญญา ปัญญาก็แยกออกมากอีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ เป็นหลักเป็นประธานของพระพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติควรศึกษาเสียให้รู้ศีลชัด รู้ศีลแล้ว ให้รู้จักสมาธิชัด ให้รู้จักปัญญาเสียให้ชัด บัดนี้จักแสดงให้จำไว้เป็นข้อปฏิบัติ ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปกถาว่า สีลปริภาวิโต ศีลเจริญขึ้นแล้ว สมาธิ มหปฺผโล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิปริภาวิตา สมาธิเจริญขึ้นแล้ว ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา มีปัญญาเป็นผลอานิสงส์ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ ปัญญาเมื่อเจริญขึ้นแล้วอบรมจิตให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เสยฺยถีทํ อย่างไรเล่า นี้คือ กามาสวะ อาสวะทั้งหลายนั้นคือ กามาสวะ อวิชชาสวะ เป็นอาสวะ ๓ อาสวะมี ๔ ในระหว่างอวิชชาสวะนั้น หน้าอวิชชาสวะมีทิฏฐาสวะอีก อาสวะมี ๔ แต่ท่านจัดไว้ในที่นี้มี ๓ ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพํ ท่านทั้งหลาย ในข้อนั้นไม่ควรประมาท อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพํ คือยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดประเสริฐนัก นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่เป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้
ต่อจากนี้จะอรรถาธิบายเป็นลำดับไปว่า
ศีลนะ สีลปริภาวิโต ศีลเจริญขึ้นแล้วเป็นไฉน เจริญนั้นคือ งอกขึ้นเจริญขึ้นแล้ว ศีลถ้าว่าปริยายหยาบ ๆ ก็คือ ศีล ๕ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักฉ้อ ประพฤติผิดในกาม พูดปด เสพสุรา ศีล ๘ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักฉ้อ ล่วงสัทธรรมประเวณี พูดปด เสพสุรา บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ฟ้อนรำขับร้องดีดสีตีเป่าต่าง ๆ ทัดทรงประดับประดาร่างกาย เสียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ให้เกิดยั่วยวนใจต่าง ๆ เหล่านี้ นั่งนอนอาสนะอันสูงใหญ่ ไม่สมควร นี้เป็นศีล ๘ ศีล ๑๐ เติม เว้นหยิบเงินและทอง รับเงินและทองไว้ นี่เป็นศีล ๑๐ นี่โดยปริยาย หากว่าขั้นเข้าถึงภายใน ถึงเจตนา
ที่พระองค์ทรงรับสั่งว่า เจตนาสีลํ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนาเป็นศีล เจตนาความคิดอ่านทางใจ คิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่าเจตนาศีล ที่จะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะอาศัยเจตนา เจตนามีภายในก่อนจึงรักษาศีลได้ ศีลแล้วแต่เจตนา เจตนาเป็นศีล ศีลความคิดอ่านทางใจ คำว่าใจนั้นคืออะไร เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง เป็นจุดเดียวกันเขาเรียกว่าใจ เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง รวมเข้าเป็นจุดเดียวเรียกว่าใจ ใจนั่นแหละ ที่เกิดของใจนั้นอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ที่ตั้งอยู่กลางใจมนุษย์นี้ สะดือทะลุหลัง ขึงด้ายกลุ่มเส้นตึง ขวาทะลุซ้าย ขึงด้ายกลุ่มเส้นตึง กลางสะดือเชียวนะ เจาะให้ทะลุตรงกัน ไม่ให้ค่อนล่างค่อนบนละ ไม่ให้ค่อนหน้าค่อนปลายนะ ขวาก็เจาะขวาทะลุซ้าย ไม่ค่อนหน้าค่อนปลายนะ ตรงดิ่งเชียว เอาด้ายร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ข้างหน้าข้างหลังร้อยเข้าเส้น ขึงตึง ตรงกลางเส้นด้ายจรดกันตรงนั้นเรียกว่ากลางกั๊ก กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ถูกกลางดวงธรรมพอดีเชียว กลางกั๊กนั้นแหละเป็นที่เกิดที่ดับ ถ้ามนุษย์มาเกิดต้องเกิดตรงนั้น เวลาตายก็ต้องไปหยุดตรงนั้น หยุดกลางกั๊กนั้นแหละเป็นที่เกิดที่ดับ
ถ้ามนุษย์มาเกิดต้องเกิดตรงนั้น เวลาตายก็ต้องไปหยุดตรงนั้น หยุดกลางกั๊กนั้นจนตาย เวลาหลับ ใจก็ต้องไปหยุดตรงนั้นจึงหลับ หลับตรงไหนก็ตื่นตรงนั้น เกิดตรงไหนก็ตายตรงนั้น ให้รู้จักที่เกิดที่ตาย ให้รู้จักที่หลับที่ตื่น เกิด ดับ หลับ ตื่น ๆ ให้รู้จักหลักอย่างนี้ นี่แหละรู้จักอย่างนี้ก็จะรู้จักศีล จะรู้จักศีลจริง ๆ ศีลภายในไม่ใช่ศีลข้างนอก ศีลโดยทางปฏิบัติ ไม่ใช่ศีลโดยทางปริยัติ
เมื่อใจไปหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น ให้ถูกส่วนเข้า พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เห็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมา ใจก็ไปติดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ดวงใสนั้น ดวงใสนั้นแหละเรียกว่าเอกายนมรรค ก็เรียกเป็นหนทางไปชั้นเอก ไม่มีทางไปอื่นดีกว่านั้นอีกต่อไป เรียกว่าเอกายนมรรค อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน ผู้ที่จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ไปกลางดวงนั้น ไปหยุดอยู่กลางดวงนั้น นี่หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาน่ะแปลว่าดำเนินไปตามทางของพระอริยเจ้าพระอรหันต์ เหมือนกันทุกองค์ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ยืนยันเหมือนกันหมด ไปทางเดียวกัน
ใจหยุดอยู่กลางดวงนั้น พอหยุดอยู่กลางดวงนั้น พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ กลางดวงนั่นเองจะเห็นดวงศีล ดวงเท่ากันนั่นดวงศีล เห็นเข้าแล้ว เมื่อเห็นดวงศีลแล้วก็ได้การล่ะ ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ล่ะ ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์สนิทดุจกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า ใสเทียว นั่นไปเห็นนั่นนะ ถ้าเห็นเข้าเท่านั้นใจก็ติดอยู่กลางดวงศีลนั้น กลางดวงศีลนั่น หยุดอยู่กลางดวงศีล พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ หยุดในหยุดหนักเข้า ๆ เมื่อถึงดวงศีลแล้ว ดวงศีลเป็นเหตุจะเข้าถึงดวงสมาธิ เท่ากัน ๆ แบบเดียวกัน ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน นั่นเรียกว่าดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นเหมือนกัน พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เข้าถึงดวงปัญญา ดวงเท่า ๆ กัน เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน แต่ว่าตามตำราพระพุทธศาสนามีเบื้องต้น ถ้ามีดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เบื้องปลายของดวงศีล สมาธิ ปัญญา มีดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มีหนทางเบื้องต้นเบื้องปลายอีก หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญานั่นแหละ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติ ดวงเท่ากัน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตตินั่นแหละ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่น หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็ไปเห็นกายมนุษย์ละเอียดที่นอนฝันออกไป
เอ๊ นี่แปลกจริง ไอ้กายนี้เราไม่เคยเห็นเลย เวลาฝัน เลิกจากฝันมันมัว ๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหน พอเข้ามาในทางกลางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะเข้า เอ๊ เจ้ากายมนุษย์ละเอียดนี่อยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่เอง ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อ้ายกายมนุษย์ละเอียดอยู่ในนั้นเอง ถ้าว่ากาย ใหญ่ประมาณ ๘ ศอก กายนั้น กายละเอียดนั่นแหละประมาณ ๘ ศอก แต่ว่าลดส่วนเข้ามาเท่ากับกายมนุษย์ นี่ก็ไอ้กายที่นอนฝันออกไปมันก็เท่า ๆ ตัวเรานี่แหละ หญิงก็เท่า ๆ กัน ชายก็เท่า ๆ กัน แต่ว่าตามส่วนของมันสูง ๘ ศอก กายละเอียดนั้น นั่นไปเห็นกายละเอียดเข้าแล้ว อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่เอง
ที่เข้าถึงกายละเอียด ทำไมจึงเข้าถึงเล่า เดินถูกทางเข้า ปฏิบัติถูกต้องร่องรอยทางพระพุทธศาสนาเข้า ก็ไปเห็นกายมนุษย์ละเอียด เอาละเห็นกายมนุษย์ละเอียดแล้วก็สนุกล่ะเรา เออ ข้าไม่เคยเห็นเลย เจ้าเป็นคนเจ้าหน้าที่ฝัน ลองฝันให้ดูสักเรื่องซิ เอาเรื่องเชียงใหม่กันเชียวนะ กระพริบตาเดียวเอาดอยสุเทพมาเล่าให้ฟังแล้ว ไปเชียงใหม่มาแล้ว กระพริบตาเดียวนั่นแน่ ฝันเร็วขนาดนั้นแน่ะ เอ้า! ฝันในเรื่องภาคใต้ นครศรีธรรมราช กระพริบตาเดียวไปเอาเรื่องนครศรีธรรมราชมาให้ฟังแล้ว เรื่องพระเจดีย์ใหญ่ เอ้าฝันไปจังหวัดนครพนมซิ กระพริบตาเดียวเอาเรื่องพระธาตุพนมมาเล่าให้ฟังแล้ว ฝันได้อย่างนี้ นั่งเฉยอยู่นั่นแหละ เอ้าฝันถึงเรื่องเมืองเพชรเข้าซิ กระพริบตาเดียวเอาเรื่องเขาวังมาเล่าให้ฟังแล้ว พระเจ้าแผ่นดินแกอยากเป็นเทวดาทั้งเป็นมนุษย์นี่ จะพาพระมเหสีของแกขึ้นไปโน้น บนยอดเขาวังโน้น ไปตั้งวังอยู่โน้น อยู่บนยอดเขาโน้น แกนึกว่าแกเป็นเทวดาแล้วทีเดียว ได้รับความสุข นั่นเอาเรื่องเขาวังมาเล่าให้ฟังแล้ว นี่กายที่ฝัน ฝันได้ย่างนี้ ฝันได้ทั้งที่กำลังตื่น ๆ หนา ไม่ต้องหลับหนา ฝันได้จริงจังอย่างนี้
อย่างขนาดวัดปากน้ำเขาฝันได้ ๑๕๐ กว่าคน ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เขาฝันได้ นี่เพราะเหตุอะไรเขาจึงฝันได้อย่างนี้ สีลปริภาวิโต เขาทำศีลให้เป็นขึ้น สมาธิ มหปฺผโล เขาทำสมาธิให้เป็นขึ้น ปญฺญาปริภาวิตา เขาทำปัญญาให้เป็นขึ้น แล้วเข้าถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เห็นกายมนุษย์ละเอียดที่นอนฝันออกไป เขาทำได้อย่างนี้ เป็นอย่างนี้จริง ๆ ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ลวง ไม่ใช่หลอกเล่น เป็นอย่างนี้จริง ถ้าพวกปฏิบัติไม่เป็นอย่างนี้ ร่องรอยพระพุทธศาสนารู้จักได้ยากจริง ไม่ใช่ของง่ายเลย จะไม่เห็นศีล สมาธิ ปัญญาเลยทีเดียว จะไม่เห็นดวงศีล สมาธิ ปัญญาเลยทีเดียว
ดวงศีลนั้นตัววินัยปิฎกแท้ ๆ กลั่นจากวินัยปิฎก มากน้อยเท่าไรมารวมเป็นดวงศีลดวงเดียว ส่วนสมาธินั้นกลั่นมาจากสุตตันตปิฎก มากน้อยเท่าใดมารวมอยู่ในสมาธิดวงเดียว ตัวปัญญานั้น ปรมัตถปิฎกมากน้อยเท่าใด ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปเข้าในดวงปัญญานั้นดวงเดียว ในดวงนั้นทั้งนั้น อยู่ในนั้น ก็อยู่ในกลางดวงธรรมกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ เดินในนั้นหนา เดินในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ไม่ใช่เดินเลอะ ๆ เทอะ ๆ เหลว ๆ ไหล ๆ เดินในทางไปเกิดมาเกิดของมนุษย์ทีเดียว ไม่ใช่เดินทางอื่นเลอะเทอะไป เมื่อรู้จักหลัก เข้าใจเสียอย่างนี้ชัดแล้วก็ ต่อไปอีกสักเท่าไรชั้น ก็เดินอย่างเดียวกันอย่างนี้
เดี๋ยวจะแสดงลึกลงไปกว่านี่นะ ตั้งใจฟังเอาแค่นี้ก่อน นี่ตามศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็เติมธัมมานุปัสสนาในเบื้องต้น และเบื้องปลายดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ตำราเขามีอย่างนั้นจริง ๆ คำในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตนิบาตปิฎก ยกข้อสำคัญขึ้นแสดงว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามี ๕ ประการ มี ๕ นั้นคืออะไร คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
ตามตำราท่านวางไว้ว่า ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต อรหา วิมุจฺจตีติ ผู้ใดมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๑๐ ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ องค์นั้นคืออะไร สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปโป ๒ สัมมาวาจา ๓ สัมมากัมมันโต ๔ สัมมาวายาโม ๕ สัมมาอาชีโว ๖ สัมมาสติ ๗ สัมมาสมาธิ ๘ มี ๘ แล้ว สัมมาญาณ ๙ สัมมาวิมุตติ ๑๐ แล้ว มีองค์ ๑๐ อย่างนี้
องค์ ๘ นั้นย่นลงเป็นองค์ ๓ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี่ย่นเข้าเป็นปัญญา สัมมาวาจา สัมมากันมันโต สัมมาอาชีโว ย่นลงมาเป็นศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่นลงเป็น สมาธิ รวมเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ ถ้าได้ ๓ แล้ว เติมสัมมาญาณ ๔ สัมมาวิมุตติ เป็น ๕
นี่แหละผู้ใดมาตามพร้อมด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ผู้นั้นจะพบหลักฐานของพระพุทธศาสนาอย่างแน่ นี่อาศัยดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หลักนี้เป็นสำคัญนัก ต้องเข้าถึงหลักนี้ให้ได้ หญิงก็ดี ชายก็ดี คฤหัสถ์บรรพชิตไมว่า
ถ้าเข้าถึงหลักนี้ไม่ได้จะไม่ถึงพระพุทธศาสนา จะบวชเป็นพระเป็นเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็อย่างนั้นแหละ ไม่มีรสมีชาติอะไร จะไว้ใจยังไม่ได้ ไม่ได้แน่นอน ถ้าเพลี่ยงพล้ำแล้ว จะพาลไปถึงอื่นร่ำไป แต่เพียงว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นแหละ ถึงไหว้แล้ว เอาเข้าแล้ว ถึงเขาใหญ่ ๆ ศักดิ์สิทธิ์ ถึงไหว้แล้ว เอาเข้าแล้ว ไหว้ภูเขาให้อีกแล้ว ไหว้ต้นไม้ไหว้ภูเขา ไปถึงไอ้ป่าใหญ่ ๆ เข้าดงใหญ่ ๆ เข้า มีพวกผีดุ ผีร้ายหนัก พอไปเข้าก็ไหว้ก็บูชากัน เอาเข้าแล้ว ไปไหว้ไปบูชากันอีกแล้ว นั่นเลอะแล้ว ถือพุทธศาสนา ถือธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ถือศีล สมาธิ ปัญญา ไม่แน่นแล้วล่ะ เลอะเลือนเหลวไหล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้นละ เข้าร่องรอยพุทธศาสนาไม่ถูก จับหลักพุทธศาสนาไม่ได้ ตัวจริงของพระพุทธศาสนาวางไม่ถูก ไม่ต้องอะไร เดี๋ยวจะแสดงให้ฟังว่ามันลึกซึ้งอย่างนี้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นของผิวเผิน ผู้เทศน์นี้เอง บวชด้วย เรียนด้วย เป็นครูสอนด้วย ๑๒ พรรษาโน้นแน่ะ จึงจะรู้จักพระพุทธศาสนาชัดว่า อ้อ! พระพุทธศาสนานี่เป็นอย่างนี้เอง คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนี้เอง ที่จะเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ ไม่ใช่เป็นของง่าย เข้าไปถึงยากนักลำบากนัก ต้องเข้าไปอย่างนี้แหละ
พอเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดละก็ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้า ก็ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ทีเดียว
ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ แบบเดียวกัน เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด
ใจกายทิพย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายรูปพรหม
ในกายที่ ๕ ใจกายรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด
ใจกายรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เข้าถึงกายอรูปพรหม
ใจกายอรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด
ใจกายอรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายธรรม พอเข้าถึงกายธรรมเท่านั้นแหละ รูปของพระพุทธปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า งดงามนัก จะปั้นทำให้เหมือนที่เขาปั้นไว้ในโบสถ์ในวิหารการเปรียญ นี่ก็เพราะธรรมกายนี่แหละ รูปธรรมกาย รูปพุทธรัตนะ นี่แหละ
ใจของพุทธรัตนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะ ใหญ่ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย หน้าตักกว้างแค่ไหน ๆ ๓ วา ๔ วา อย่างไร ก็เท่ากัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว อยู่กลางกาย กลางองค์พุทธรัตนะนั้น ใจพุทธรัตนะหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงเท่ากันกับดวงพุทธรัตนะนั้น เข้าถึงดวงศีลก็เท่ากัน ถึงดวงสมาธิก็เท่ากัน ดวงปัญญาก็เท่ากัน ดวงวิมุตติก็เท่ากัน ดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็เท่ากัน กลมรอบตัวเท่ากัน ๖ ดวงด้วยกัน
เข้าถึงกายธรรมละเอียด หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าหนักเข้า นั้นเรียกว่า ธรรมกายละเอียด พุทธรัตนะตอนต้น เรียกว่าเป็นพุทธรัตนะ เป็นพระพุทธเจ้า ธรรมรัตนะ ดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตัก ดวงธรรมนั้นเรียกว่าธรรมรัตนะ เรียกว่าธรรมเจ้าทีเดียว เฉพาะกายละเอียดอยู่ในดวงธรรมรัตนะนั่น เรียกว่า พระสงฆเจ้า
คำว่า พุทฺโธ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นจากพุทธรัตนะ คำว่า ธมฺโม เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นจากธรรมรัตนะ คำว่า สงฺโฆ นั่นเป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นจากสังฆรัตนะ เป็นต้นยืนให้เห็นของจริงเข้า เห็นความเกิด เหตุให้เกิด ความดับ เหตุให้ดับ เข้าจริงเห็นจริงเข้า เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นกับพุทธรัตนะว่า พุทฺโธ
ธรรมรัตนะนั่นเอง ธรรมรัตนะดวงนั้นแหละ เมื่อสัตว์เข้าไปถึงแล้วทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ถึงได้เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นว่า ธมฺโม แล้วทรงจัดผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
สังฆรัตนะรักษาธรรมรัตนะนั้นไว้ไม่หายไป ให้อยู่ในดวงธรรมรัตนะนั้น ปฏิบัติในดวงธรรมรัตนะนั้นไม่ให้สูญหายไป ธรรมรัตนะนั่นเป็นบ้านเป็นเรือนให้อยู่ทีเดียว อยู่ของสังฆรัตนะทีเดียว ทิ้งไม่ได้ ห่างไม่ได้ มีที่อยู่ เมื่อรักษาธรรมรัตนะไว้ได้เช่นนั้น จึงได้เกิดเป็นเนมิตกนามยืนยันว่า สงฺโฆ แปลตามภาษาบาลีว่า ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ คือสังฆรัตนะนั้นแหละทรงรักษาไว้ เป็นเนมิตกนามว่า สงฺโฆ
พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นี่แหละเป็นตัวจริงล่ะ แต่ว่าเป็นตัวจริงนี้ยังไม่ถึงอริยบุคคล เป็นโคตรภูบุคคล พ้นจากปุถฺชนไป เข้าถึงความเป็นโคตรภูบุคคล ถ้าว่ายังไม่ขาดจากโคตรภูบุคคล ยังไม่เข้าถึงอริยภูมิ ยังเป็นโคตรภูสาวกอยู่ หรือยังเป็นปุถุชนสาวกอยู่ นี้สาวกของพระพุทธเจ้ามีขีดแค่นี้ ถ้าเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ดังนี้แล้วก็ว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค แต่ว่าชั้นสาวกชั้นเป็นโคตรภูนี้ได้ชื่อว่าเป็นปุถุชนสาวก ไม่ใช่อริยสาวก
ที่นี้จะเข้าถึงอริยสาวกต่อไป โคตรภูนั่นเอง ธรรมกาย ธรรมกายละเอียด พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนั้นแหละ ปฏิบัติถูกส่วนเข้า ใจธรรมกายหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา เท่ากับดวงธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดเท่า ๆ กัน เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงธรรมกายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม
ใจธรรมกายพระโสดาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดา วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ถูกส่วนเข้า ก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งตรงกลางนั่นก็ถึงธรรมกายพระโสดาละเอียด ธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระโสดาละเอียด อย่างเดียวกัน นั่นเป็นพระโสดาแล้ว พอเป็นพระโสดาเท่านั้นแหละ เป็นอริยะทีเดียว อริโย สงฺฆิโก ทีเดียว เป็นพระอริยบุคคล นี่แหละเป็นพระอริยบุคคลในสาวกพระพุทธศาสนา
ใจธรรมกายพระโสดาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดาละเอียด ถูกส่วนเข้า ก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งตรงกลางนั่น ก็ถึงธรรมกายพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป นี่ธรรมกายพระสกทาคา
ดำเนินไปในแบบเดิมอีก ก็จะถึงธรรมกายพระสกทาคาละเอียด ธรรมกายพระอนาคา ธรรมกายพระอนาคาละเอียด ธรรมกายพระอรหัต ธรรมกายพระอรหัตละเอียด
นี่ต่อจากธรรมกายโคตรภูขึ้นมาอีก ๔ คู่ รวมเป็นพระอริยบุคคล ๘ พระองค์ นี่ยกเป็นวาระพระบาลีว่า อฎฺฐปุริสปุคฺคลา จัดเป็นปุริสบุคคล ๘ จัดเป็นบุคคล ๘ หรือจัดเป็น ๔ คู่ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล หยาบนั้นเป็นมรรค ส่วนละเอียดนั้นเป็นผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล รวมเป็นพระอริยบุคคล ๘ จำพวก หยาบเป็นมรรค ละเอียดเป็นผล พระอริยบุคคล ๘ นี้เรียกว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้
ท่านเหล่านี้ที่มาเป็นได้เช่นนี้เพราะหลุดจากอาสวะได้ต้องไปสูง ส่วนโสดา โสดาละเอียดยังไม่หลุดจากอาสวะ หลุดแต่เพียง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เท่านั้น ส่วนพระสกทาคา พอหลุดจากกามราคะหยาบ อย่างหยาบเท่านั้น ส่วนพระอนาคาหลุดจากกามราคะอย่างละเอียด ยังติดอยู่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ รูปราคะ กำหนัดยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ กำหนัดยินดีในอรูปฌาน มานะ ยกเนื้อยอตัวยังมีอยู่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญยังมีอยู่ แต่พยายามให้ไปถึงพระอรหัต ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ยังมีกิเลสหมกมุ่นอยู่ในสันดานเรียกว่าสังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา แล้วก็เข้าไปถึงพระอรหัต พระอรหัตละเอียด เป็นลำดับไป พอถึงพระอรหัตเท่านั้น วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ เป็นผู้ประเสริฐหลุดจากสราคธาตุสราคธรรม หลุดจากสราคธาตุสราคธรรมทีเดียว เข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมทีเดียว เป็นพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว เมื่อเข้าถึงดังนี้แล้วก็จะได้ชื่อว่าพ้นจากอาสวะแล้ว กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ถ้าพูดอาสวะก็มี ๓
วันนี้ตั้งใจจะแสดงพระธรรมเทศนาถึงเรื่องอาสวะเหล่านี้ ที่แสดงมานี้เป็นเนื้อความท้าวเรื่องนะ ก็เปลืองเวลาอยู่เหมือนกัน จะแสดงถึงเรื่องอาสวะ อวิชชาสวะ ตั้งใจจะแสดงอย่างนี้ กามาสวะ กามก็มีอาสวะเหมือนกัน ตัดออกเป็น ๒ บท กามอย่างหนึ่ง อาสวะอย่างหนึ่ง กามกับอาสวะ ภวาสวะ ตัดออกเป็น ภว อันหนึ่ง แต่ว่า ภว นั่นตัดเป็นภพ อาสวะอีกอันหนึ่ง ภพกับอาสวะติดกันอยู่ แสดงอาสวะทั้ง ๔ ทีเดียว ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด ทิฏฐิอันนั้นแปลว่าเห็นผิด อาสวะมีอันหนึ่งอีกเหมือนกัน อาสวะในความเห็นผิด อวิชชาสวะ อวิชชาบทหนึ่ง อาสวะอีกบทหนึ่ง มันติดกันได้อย่างนี้ นี่ถ้าไม่ได้เรียนบาลีก็ไม่เข้าใจ เนื้อความเหล่านี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน
อาสวะน่ะ เรายังไม่เคยได้ยินได้ฟังนัก ยังไม่เคยได้ยิน แต่สิ่งอื่นนะเคยได้ยินได้ฟังกัน แต่ส่วนอวิชชาน่ะ เคยได้ยินได้ฟังมาก จะแปลกันลงไปจริง ๆ ว่ากระไร กามนะ กามก็ไม่ใช่ตัวอะไร ตัวพัสดุกาม กิเลสกามนั่นเอง พัสดุกามนั่นอะไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือรสสัมผัสนั่นซิ คือตัวพัสดุกาม รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ สัมผัสที่ชอบใจ นั่นแหละ นั่นแหละเขาเรียกว่ากาม เขาเรียกว่าพัสดุกาม ก็กิเลสกามละ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านั้นแหละ ยินดีในเสียง ยินดีในกลิ่น ยินดีในรส ยินดีในสัมผัส แกะไม่ออก ถอนไม่ออก
ก็เหมือนพวกเราอย่างนี้แหละ ครองเรือนกันโด่ไปตามกันนั่นแหละ แกะไม่ออกถอนไม่ออก พยายามฆ่ามันทุกวันทุกคืนเหมือนกันแหละ ฆ่าจนแก่คร่ำไปตามกันนั่นแหละ ไม่ตายซักที ไม่เลิกติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นซักที แก้ไม่หลุด แกะไม่หลุด พาให้ภิกษุสามเณรบวชเป็นสมภาร ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่น ถึงหลุดหมดไปแล้วก็ตามเถอะ เป็นนักบวชก็ช่าง ไอ้ใจไปเจอะกับรูป เสียง กลิ่น รส นั่น ถอยไม่ออกอีกเหมือนกัน ถอนไม่ออกอีกเหมือนกัน หนักเข้าถึงกับเตรียมเครื่องมือ ได้เงินได้ทองเก็บไว้ เก็บไว้นี่พอสินสอดแล้วนี่ พอปลูกเรือนหอแล้ว อายุ ๔๐,๕๐ สึกหัวโด่ นั่นแน่จับได้ ติดอะไรละ ติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ แก้มันไม่หลุด แกะไม่หลุด เพราะเหตุอะไรมันถึงแกะไม่หลุ เข้าไม่ถึงธรรมทางพุทธศาสนา ที่เข้าจริงเข้าไม่ถึงอะไร เข้าไม่ถึงศีล ดวงศีลจริง ๆ เข้าไม่ถึง เป็นแต่รู้จักศีล รู้จักหลั่ว ๆ ไม่เห็นดวงศีลจริง ๆ ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ไม่เห็น ทำไม่เป็น ไม่เห็นปรากฏ ก็ยังสงสัยไม่หมดสิ้นอยู่ร่ำไป ก็ต้องสึกออกมาเพราะเข้าไม่ถึง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถ้าเข้าถึงธรรม ๕ ข้อนี้ มันก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด หลุดจากกายมนุษย์ไปเสีย มันก็ไม่เกี่ยวกับกายมนุษย์ไป ไอ้นี่มันไม่หลุด มันเข้าไม่ถึงนี่ ถ้าหลุดไปมันก็สบายหน่อย ถึงอย่างนั้นก็อย่าโง่ไว้ใจมัน ยังมีฤทธิ์มีเดชมากนัก ให้สูง ๆ ขึ้นไป นี่เข้าถึงศีลแล้ว นี่เขาเรียกว่ากาม
อาสวะของกามเป็นอย่างไรละ เออ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่นแหละเป็นตัวพัสดุกาม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเป็นตัวกิเลสกาม ก็อาสวะของกามนะ อะไรละ ไอ้รูปที่เราแลเห็นนะ มันมีรสนา มันมีรสทีเดียวแหละ ถ้าตามไปเห็น ถูกส่วนมันเข้าละก็ โอ้ เอาละกินไม่ลง นอนไม่ลงล่ะ กระสับกระส่ายทีเดียว รสมันขึ้นแล้ว รสไอ้เห็นมันขึ้นแล้ว มันดึงดูดแล้ว ไอ้ดึงดูดเป็นรสนั่นแหละเป็นตัวอาสวะทีเดียว ไอ้เสียงละ ถ้าฟัง ๆ พอดีพอร้ายละไม่ถนัดถนี่ ไปฟังเข้าช่องเข้ากระแสเข้าคูมันละก็ ติดมับทีเดียว ลืมไม่ได้ทีเดียว นั่งคิดนอนคิดทีเดียว ไอ้เสียงนั่นแหละมันเป็นอาสวะ เป็นรสของเสียง ของกลิ่น รสของรส ไอ้รสของกลิ่นนะ ไอ้พวกที่ไปถูกกลิ่นพอดีพอร้ายเข้า ก็พอดีพอร้ายอยู่ ไอ้เมื่อไปถูกกลิ่นไปถูกตัวกามมันเข้า ไปถูกอาสวะมันเข้า เอาล่ะตานี้ไปติดไอ้กลิ่นนั่นเข้าอีกแล้ว ไอ้รสก็เหมือนกัน ลิ้มรสไปเถอะ ถ้าว่าไปถูกอาสวะของกามเข้า เอาล่ะเข้าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นจะตายล่ะ เพราะไอ้อาสวะนั่นมันบังคับอยู่ ติดในรสอยู่ สัมผัส สัมผัสละ อย่างไรก็สัมผัสไปเถิด ถ้าไปถูกอาสวะของกามเข้าละก็ เอ้าละถอนจากเรือนไม่ออกทีเดียว อยากจะให้ถึงเวลาสัมผัสอยู่ร่ำไป ว่าไอ้นี่ร้ายนัก ร้ายนักทีเดียว นี่สัมผัสนี่สำคัญนัก นี่อาสวะมันบังคับเราอย่างนี้นะ ทำไมจึงจะแก้มันได้
ไม่ใช่อาสวะอย่างเดียว อวิชชาเข้าช่วยสนับสนุนด้วย อวิชชาเป็นอย่างไร ศึกษาไปเถอะในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่น รู้ไม่จริงทั้งสิ้น ยังสงสัยอยู่ร่ำไป สงสัยในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ ไอ้รูปดี ๆ แค่นี้ก็ยังสงสัย จะให้ดีต่อไปอีก ไอ้เสียงดีแค่นี้ก็ยังสงสัย อยากจะให้ดีต่อไป กลิ่นดีแค่นี้ก็ยังสงสัย อยากจะให้ดีขึ้นไปอีก ไอ้สัมผัสดีแค่นี้ ไอ้รสดีแค่นี้ก็ยังสงสัยให้ดีต่อไปอีก ไอ้สัมผัสดีแค่นี้ก็ยังสงสัยให้ดีต่อไปอีก มันจะให้เกินนั้นต่อไปอีกนั่นแหละ ไอ้นั่นแหละสำคัญ ถ้ารู้ไม่จริง ไม่สิ้นสุดสงสัย เป็นอวิชชาทีเดียว
นี่ให้รู้จักอย่างนี้ แต่ว่าพูดถึงอวิชชาก็มันเลยไป ๆ จะว่าอาสวะของกามก่อน อาสวะของภพต่อไป อาสวะของภพเป็นอย่างไร อาสวะของภพนะมีรสมีชาติแบบเดียวกัน ที่เราอาศัยอยู่นี้ สิ่งที่มีที่เป็นแก่เรานี้เรียกว่าภพ รูปมามีมาเป็นแก่เรา ก็มีเป็นภพอันหนึ่ง ไม่ว่าอะไรล่ะ ถ้ามันมามีแก่เราผืนก็เป็นภพอันหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งอะไร ผ้านุ่งผ้าห่มมามีแก่เราก็เป็นภพ เรียกว่าภพ ภพแปลว่ามีว่าเป็น มันมีปรากฏว่าเป็นภพขึ้น สิ่งที่มามีมาเป็น สิ่งนั้นที่มาปรากฏขึ้นแล้ว อยากได้บ้านเรือน บ้านเรือนมาปรากฏเป็นภพขึ้นแล้ว อยากได้ไร่ได้นา ไร่นามาปรากฏขึ้นเป็นภพขึ้นแล้ว อยากได้อะไรสิ่งนั้นมาปรากฏเป็นภพขึ้น ที่มีเป็นเห็นปรากฏ ที่เรากำหนดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็นั่นแหละเป็นตัวภพทั้งนั้น กามภพ รูปภพ กามภพ ไอ้นั่นเป็นกามภพ รูปภพปรากฏรูปภพ อรูปภพ ๒ ประการนี้ กามภพติดอยู่ในกาม ติดอยู่กามนี้ รูปภพละ เอาพวกเทวดาพวกที่ได้รูปฌาน อรูปฌาน ไปติดอยู่แกะไม่ออกอีกเหมือนกัน อรูปภพ ไปติดอยู่ในอรูปฌานแกะไม่ออก ติดอยู่เหมือนกัน ต้องกลับมาเกิด เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่จบไม่แล้ว
เพราะไอ้ที่ไปยินดีติดอยู่ในรูปภพ อรูปภพนะ นั่นอาสวะมันตรึงเข้าไว้ ชาติมันมีอยู่ ถอนไม่ออก ถอนเสียดายมัน จะทิ้งก็เสียดายมัน ถ้าจะถอนจริง ๆ ก็เสียดายมัน มันไม่กล้าถอน เสียดายมัน ไอ้เสียดายนั่นตัวสำคัญนัก ถึงได้ติดอยู่ในภพ รูปภพก็ยิ่งติดอยู่ในรูปภพ อรูปภพติดแบบเดียวกันนั่น เพราะอาสวะมันดึงเข้าไว้ มันเป็นเครื่องเหนี่ยวเครื่องรั้งดึงดูดไว้ ผักเสี้ยนแท้ ๆ ยังไม่ได้ดองรสชาติไม่ดี เหม็นเขียว แต่เมื่อดองเข้าเปรี้ยวเข้าเค็ม ๆ ดีเท่านั้นแหละ มีรสอร่อยเกินผักเสี้ยน ผักเสี้ยนอร่อยเหลือเกิน น้ำพริกขี้หนูจิ้มให้ดี ๆ หาแกล้มให้ดี ๆ เข้า ว่าลืมอื่นหมดทีเดียว นั่นแหละรสของผักดองล่ะ ไม่ใช่เล่น ๆ ตัวสำคัญ รสเหมือนกันหมดแบบเดียวกัน กามภพก็ดี รูปภพก็ดี ที่ติดอยู่ในภพนะ ติดอยู่ในรสชาติของภพนั่นเอง ในกามภพที่มีรสชาติของภพนั่นเอง ในกามภพที่มีรสมีชาติสำคัญนัก รูปภพก็มีรสชาติประเสริฐเลิศกว่ากามภพอีก อรูปภพก็เลิศประเสริฐกว่ากามภพอีก ประเสริฐเลิศกว่ารูปภพอีก
นี้ให้รู้ว่าอาสวะของภพนะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แต่เพียงอาสวะของภพเท่านั้น อวิชชาก็มีอีกด้วย ไม่ใช่ละทิ้ง อวิชชานั่นตัวไม่รู้ไม่จริงในภพ ไม่สิ้นสงสัย ติดอยู่ในภพนั่น อยากจะอยู่ในภพ อยากจะติดอยู่ในภพร่ำไป เพราะอวิชชานั่นเป็นตัวสำคัญนัก นี่เรียกว่าติดอยู่ในภพ เรียกว่า ภวาสวะ
ส่วนทิฏฐาสวะไม่อยู่ในประเด็นนี้ แต่เอามาอธิบายด้วย ติดอยู่ในความเห็น ความเห็นนั่นไม่ใช่พอดีพอร้ายนะ รบกับเกาหลีนะ รบกับไต้หวันนะ เวลานี้นั่นนะรบกันยุ่งเหยิงหมด ยุ่งยากมากมายเทียวนะ นั่นแหละ นั่นเรื่องอะไรละ ทิฏฐาสวะ ความเห็นนั่นมันไม่ตรงกันล่ะ มันแก่งแย่งกันล่ะ มันไม่ถูกต้องร่องรอยกัน อวดความเห็น อวดเชิดความเห็นกันล่ะ ต้องประหารซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พอดีพอร้าย ทิฏฐิ ๆ นะ นั่งอยู่ดี ๆ นะ ลุกขึ้นรบ ขึ้นตี ขึ้นต่อย ขึ้นยิง ขึ้นแทงกันทีเดียว นั่นเพราะอะไร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความเห็นของตัวไม่ตรงกัน ทำตามความเห็นของตัว ความเห็นมันก็มีรสมีชาติเหมือนกัน ไม่ใช่พอดีพอร้าย เออ เวลาจะไม่พอ ย่อเสียเถอะ แบบเดียวกัน รู้จักความเห็นละก็เป็นอาสวะเหมือนกัน ยังมีอวิชชาแอบอยู่ด้วย อวิชชาสวะ อยู่กลาง ๆ รู้ไม่จริงด้วย ไอ้รสชาติของรู้ไม่จริง มันก็เหมือนเกลือกกลั้วอยู่เต็มไปด้วยทีเดียว ถอนไม่ออกทีเดียว รู้ไม่จริง ด้วยรสชาติของรู้ไม่จริงมันบังคับบัญชาแน่นหนาอยู่ออกไม่ได้ ถ้าไก่ก็ติดอยู่ในกระเปาะฟองไข่ ถ้ามนุษย์ติดอยู่ในกามภพ ติดอยู่ในรูปภพ ติดอยู่ในอรูปภพ ออกไม่ได้ เพราะอวิชชาสวะนี้เอง ออกไม่ได้ ถ้ารู้จักอวิชชาสวะแล้ว เหมือนอย่างกับพระอรหัตที่แสดงในเบื้องต้นนั้นนั่นแหละ พ้นจากอวิชชาไป นี่อาสวะเป็นสำคัญ นี้ตั้งใจจะอธิบายในเรื่องอวิชชาสวะ นี้ให้เข้าใจกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
อวิชชาสวะนี่สำคัญนักทีเดียว เมื่อเข้าใจดีแล้วจะได้พาตนหลีกลัดลุล่วง พ้นจากเครื่องถ่วง เครื่องรั้ง เครื่องตรึง ทั้งหลายเหล่านี้ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ท่านได้วางในบทเบื้องท้ายว่า ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพํ ในเหตุนี้ ท่านทั้งหลายไม่ควรประมาท อย่าเลินเล่ออย่าเผลอตัว ถ้าเผลอตัวไป วันคืนล่วงไป ๆ ๆ นะ ไม่รอใครนะ เรารอใครก็ช่างเถอะ ความตายไม่รอเลย ความตายไม่รอเลยสักวินาทีเดียว วันคืนเดือนปีล่วงไปเท่านั้น ท่านจึงได้วางตำรับตำราไว้ว่า อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน กุสลานิ กยิราถ สุขาวหานิ แปลเนื้อความว่า กาลเวลาผ่านไป ราตรีล่วงไป ชั้นของวัยละลำดับไปไม่เหลือเลย เด็กก็ละเรื่อยไปจนถึงแก่เฒ่าชรา ละหมดไม่เหลือเลย ละไป ผู้มีปัญญาเห็นเหตุนี้ว่าเป็นภัยในความตายทีเดียว ก็ความตายทั้งนั้น พวกนี้ไม่ใช่อะไร มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น ว่าข้อนี้เป็นภัยในความตาย ท่านทั้งหลายเมื่อรู้จักเช่นนี้แล้วก็ควรเร่งทำบุญ บุญทั้งหลายนั่นแหละอันจะนำความสุขมาให้
เหมือนเจ้าภาพได้อุตส่าห์มาทำบุญทำกุศลวันนี้ เข้าใจว่ากาลล่วงไป กาลผ่านไป ราตรีล่วงไป ชั้นของวัยก็ละลำดับไปไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นจึงได้เร่งอุตส่าห์พยายาม อยู่ถึงนครชัยศรี รวมกันมาเกือบตั้ง ๕๐ คน หรือ ๕๐ คนกว่าเสียอีก วันนี้มาบริจาคทานที่วัดปากน้ำ มาทำกุศลนี่แหละ ทำกุศลแล้วได้กุศลนั่นแหละจะให้ถึงซึ่งความสุขแท้ เหตุนี้แล ท่านบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้าด้วยอำนาจสัจวาจาที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ เทศนามาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ