อยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน

ภารสุตตกถา

ภารสุตตกถา

 

          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา     ภาราหาโร จ ปุคฺคโล
ภาราทานํ ทุกขํ โลเก        ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
นิกฺขิปิตฺวา ครุํ ภารํ           อญฺญํ ภารํ อนาทิย
สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห         นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ฯ

สํ.ข.(บาลี) ๑๗/๕๓/๓๒-๓๓ 

 

          ณ บัดนี้ อาตมภาพจะแสดงธรรมิกถาแก้ด้วย ภารสุตตกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภซึ่งพระพุทธพจน์แสดงในเรื่องภาระของสัตว์โลก สัตว์โลกทุกข์ยากในเรื่องภาระทั้งหลายเหล่านี้นัก จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลีและคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามอัตโนมตยาธิบาย เพราะว่าเราท่านทั้งหลาย หญิงชาย คฤหัสถ์บรรพชิต ล้วนแต่ต้องมีภารกิจหนักอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนลำเค็ญอยู่ต่าง ๆ ก็เพราะอาศัยภาระเหล่านี้ ภาระเหล่านี้เป็นของสำคัญ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นภาระอันใหญ่ยิ่งดังนั้น จึงได้ทรงแสดงภารสูตรว่า  ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระหนักแท้ เป็นภาระโดยแท้  ภาราหาโร จ ปุคฺคโล ก็บุคคลนำภาระไป  ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ถือภาระไว้เป็นทุกข์ในโลก  ภารานิกฺเขปนํ สุขํ วางภาระเสียเป็นสุข  นิกฺขิปิตฺวา ครุํ ภารํ บุคคลวางภาระอันหนักแล้ว  อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่ฉวยเอาภาระอื่นมาเป็นภาระอีก  สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห เป็นผู้ถอนตัณหาทั้งรากเสียได้  นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ความปรารถนาดับสิ้น ชื่อว่านิพพานได้ ดังนี้ นี่ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา

          ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายขยายความ ในเรื่องภาระหนักของสัตว์โลก หญิงชาย คฤหัสถ์บรรพชิตทุกถ้วนหน้า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระ  ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์นี้ ที่มนุษย์อาศัยเรียกว่าขันธ์ ๕ นี้แหละ จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยรูปอย่างหนึ่ง คือร่างกาย อาศัยเวทนา คือความสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ อาศัยสัญญา คือความจำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ อาศัยสังขาร คือความปรารถนาดี ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว อาศัยวิญญาณ คือความรู้แจ้ง ขันธ์ทั้ง ๕ นี่แหละ เรียกว่าเป็นภาระ เป็นภาระอย่างไร เราต้องพิทักษ์รักษา เอาใจใส่ หยุดก็ไม่ได้ เวลาเช้าตื่นจากที่นอนแล้วเราต้องล้างหน้าบ้วนปากให้มัน ไม่เช่นนั้นมันเหม็น ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องไปถ่าย พอเสร็จแล้วมันจะรับประทานอาหาร ต้องไปหามาให้ ต้องการอะไรเป็นต้องไปเอามาให้ เมื่อไม่เอามาให้ไม่ได้ อยากอะไรก็ต้องไปหามา ไม่ใช่แต่เท่านั้น ไม่ว่าอยากอะไรต้องไปหาให้มัน ถ้าไม่หาให้มันไม่ยอม นี่เป็นภาระอย่างนี้ เราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง ในอัตภาพร่างกายนี้เป็นภาระทั้งนั้น มันอยากจะเห็นอะไรต้องหาให้มัน ไม่สบายต้องแก้ไขไปอีก ต้องนำภาระไปอย่างนี้ มันบอกว่าที่นี่อยู่ไม่สบาย ต้องหาที่อยู่ให้มัน มันจะอยู่ตรงนั้นตรงนี้ตามเรื่องของมัน ต้องเป็นภาระทุกสิ่งทุกอย่างไป นี่แหละเรียกว่าเป็นภาระอย่างนี้ ยุ่งกับลูกหญิงลูกชายซึ่งเป็นภาระของพ่อแม่ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ก็เป็นภาระของสมภาร ในบ้านในช่องทั้งครอบครัว เป็นภาระของพ่อบ้านแม่บ้าน ราษฎรทั้งประเทศเป็นภาระของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ ข้าวของแพงเหล่านี้ก็เป็นภาระของผู้ปกครองประเทศ                                                                   

          ภาระทั้งหลายเหล่านี้ไม่อัศจรรย์เท่าภาระของขันธ์ ๕ นี้ ลำพังขันธ์ ๕ นี้ จำเพาะตัวของมันก็ยังไม่สู้กระไรนัก ผู้ใดไม่พอก็หาภาระเพิ่มอีก ๕ ขันธ์ เป็น ๑๐ ขันธ์ ไปเอาอีก ๕ ขันธ์ เป็น ๑๕ ขันธ์ ไปเอาอีก ๕ ขันธ์ เป็น ๒๐ ขันธ์ เป็น ๒๕ ๓๐ ๓๕ ๔๐ หนักเข้าถึงร้อยพันขันธ์ ที่ทนไม่ไหวเพราะเหตุว่าภาระเหล่านี้มันหนัก ไม่ใช่ของเบา เมื่อมีภาระเหล่านี้ จะเป็นภาระ ๕ ขันธ์ก็ดี ภาระอื่นจาก ๕ ขันธ์ก็ดี ภาระเหล่านี้แหละ  ภาราหาโร จ ปุคฺคโล บุคคลถือภาระนี้ไว้กี่ขันธ์ก็ช่าง บุคคลนำภาระนี้ไป บุคคลต้องนำทุกข์ของตัวไป เพราะมีขันธ์ ๕ ด้วยกันทั้งนั้น บุคคลนำภาระไป  ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ถ้าว่าไปถือภาระนี้ไว้ ตำรากล่าวว่าเป็นทุกข์ในโลก ถึงจะหมดขันธ์ ๕ ก็อย่าถือมัน วางธุระเสีย ถ้าไปถือมันก็เป็นทุกข์ในโลก แปลว่าถ้าถือภาระไว้เป็นทุกข์ในโลก  ภารานิกฺเขปนํ สุขํ ปล่อยวางภาระเสีย ปล่อยขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นสุข ถือไว้เป็นทุกข์ ปล่อยขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นสุข ถือไว้เป็นทุกข์ ปล่อยเป็นสุข  นิกฺขิปิตฺวา ครุํ ภารํ อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห แม้ปล่อยภาระที่หนักเสียแล้ว ไม่ฉวยเอาภาระของคนอื่นเข้ามา ปล่อยขันธ์ ๕ นี่ ไปเอาขันธ์ ๕ นั่น ปล่อยขันธ์ ๕ นั่น ไปเอาขันธ์ ๕ นี่ ไปเอาขันธ์ ๕ นั่น ปล่อยขันธ์ ๕ นั่น ไปเอาขันธ์ ๕ โน่น นี่เรียกว่าไปเอาภาระอื่นเข้ามาถือไว้อีก ถ้าปล่อยเสียแล้วไม่ถือไว้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ถอนตัณหาทั้งรากได้สิ้นเชื้อทีเดียว นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต มีความปรารถนาดับสิ้น ชื่อว่านิพพานได้ ดังนี้ เราจะได้รับความสุขก็เพราะปล่อยภาระเหล่านี้เสีย เราได้รับความทุกข์ก็เพราะถือภาระเหล่านี้  การที่ปล่อยไม่ใช่ของง่าย การที่ถือง่าย การปล่อยยาก เหมือนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของตัวนี้ ท่านก็เทศน์กันนักหนาว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เราก็ไม่ยอมดี ๆ เราก็เชื่อว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นตัว แต่อย่างนั้นเราก็ต้องบริหารรักษาของเรา ที่เราจะยอมลงความเห็นเด็ดขาดไม่ได้เพราะเหตุว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร ตลอดวิญญาณ ทั้ง ๕ อย่างนี้เราต้องอาศัยทุกคน สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกเสีย เราก็ไม่มีที่อาศัย เราต้องอาศัยแต่ว่าอย่าไปถือมัน รู้ว่าอาศัย เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว เป็นไปตามสภาพอย่างไร เราไม่ควรยึดถือ ปล่อยตามสภาพของมันอย่างนี้ ทุกข์ก็น้อยลง ต่อเมื่อไรถือมัน มันก็เป็นทุกข์มาก เป็นภาระหนักขึ้น

          เหตุนี้พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระสำคัญและหนักด้วย ใครปล่อยวางขันธ์ ๕ ละไม่ได้ ผู้นั้นต้องเวียนว่ายตายเกิด ผู้ใดปล่อยได้ผู้นั้นนับวันจะหมดชาติหมดภพ จะมีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ที่เทศนานี้ล้วนสอนให้ถอดขันธ์ ๕ ออกเป็นชั้น ๆ ไป แต่ว่าจะถอดขันธ์ ๕ จะถอดอย่างไร มันเหมือนมะขามสด เนื้อกับเปลือกมันติดกัน ไม่หลุดไม่กรอกจากกัน ไม่ล่อนจากกัน ถอดไม่ได้ เรายังไม่เห็นขันธ์ ๕ ต่อเมื่อใดถอดขันธ์ ๕ เราจะเห็นขันธ์ ๕ เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เรารู้เห็นด้วยตามนุษย์ รูปเราห็นได้ เวทนาเราก็เห็นได้ หน้าตาแช่มชื่นดี เราก็รู้ว่าสุข เรื่องสัญญา สังขาร วิญญาณ เราก็ไม่เห็น เราจะต้องเห็นทั้ง ๕ อย่างจึงจะละได้วางได้ ถ้าไม่เห็นขันธ์ทั้ง ๕ อย่าง ละวางไม่ได้  ถ้าอยากเห็นขันธ์ ๕ เราต้องถอดกายออกเป็นชั้น ๆ ต้องถอดกายทิพย์ออกจากกายมนุษย์ วิธีจะถอดขันธ์ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของยากหมื่นยากแสนยากทีเดียว แต่วิธีเขามีที่วัดปากน้ำ วิธีเข้ากายถอดขันธ์ คือ ทำจิตใจให้หยุดให้นิ่งที่กำเนิดเดิม ถอดขันธ์ออกไปแล้วจึงเห็นขันธ์ ถอดขันธ์ ๕ ของมนุษย์ออกจากขันธ์ ๕ ของทิพย์ ถอดขันธ์ ๕ ของทิพย์ออกจากขันธ์ ๕ ของรูปพรหม ถอดขันธ์ ๕ ของรูปพรหมออกจากขันธ์ ๕ ของอรูปพรหม ถอดขันธ์ ๕ ของอรูปพรหมออกจากธรรมกาย เหมือนถอดเสื้อกางเกงอย่างนั้น แต่ว่าต้องถอดเป็น ถอดไม่เป็นก็ถอดไม่ได้

        วิธีถอดมี ต้องทำใจของตัวให้หยุดให้นิ่ง เห็น อย่างหนึ่ง จำ อย่างหนึ่ง คิด อย่างหนึ่ง รู้ อย่างหนึ่ง หยุดนิ่งเหมือนอย่างกุมารน้อยอยู่ในท้องมารดา ใจหยุดที่กำเนิดเดิมคือศูนย์กลางกายของกายมนุษย์ กำเนิดเดิมแค่ราวสะดือ เอาใจหยุดที่ตรงนั้น พอถูกส่วนถูกที่เข้าเท่านั้นแหละ ก็เกิดเป็นดวงใส นั่นแหละเรียกว่าปฐมมรรค หรือศีล เป็นดวงศีล หยุดนิ่งต่อไป ถูกส่วนเข้าจะเห็นดวงสมาธิ เข้าไปหยุดนิ่งกลางดวงสมาธิ จะเห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งกลางดวงปัญญา เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งที่กลางดวงวิมุตติ จะเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็เห็นกายทิพย์ กายมนุษย์ กายทิพย์ หลุดจากกันแล้ว เห็นกายทิพย์แล้ว เหมือนมะขามกรอก กายมนุษย์เป็นเปลือกไป กายทิพย์เป็นเนื้อไป เป็นคราบงูที่ลอกออกไป เป็นเนื้อมะขามใส เห็นชัดอย่างนี้ กายมนุษย์หลุดออกไป ขันธ์ ๕ ของมนุษย์หลุดออกไป เหลือกายทิพย์ แล้วก็ทำวิธีอย่างนี้   

          วิธีถอด เข้าไปศูนย์ว่างของกลางกายทิพย์  แล้วก็ใจหยุดนิ่งที่กลางกำเนิดของกายทิพย์ หยุดถูกส่วนเห็นเป็นดวงใส เรียกว่า ดวงศีล ใจหยุดนิ่งกลางดวงศีลนั่นแหละ เห็นดวงสมาธิ ว่างกลางดวงสมาธิเห็นดวงปัญญา ว่างกลางดวงปัญญาเห็นดวงวิมุตติ ว่างกลางดวงวิมุตติเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะจะเห็นกายรูปพรหม ถอดจากกายทิพย์อีกแล้ว เหมือนมะขามกรอกอีกแล้ว

          ทำเข้าสิบเข้าศูนย์ถูกส่วนในกายรูปพรหมเข้าอีก พอหยุดถูกส่วนจะเห็นดวงใส คือดวงศีล หยุดนิ่งกลางดวงศีล เห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งกลางดวงสมาธิ เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งกลางดวงปัญญาเห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งกลางดวงวิมุตติเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เห็นกายอรูปพรหม ถอดออกจากกายรูปพรหมเหมือนกับมะขามกรอกอีกแล้ว กายรูปพรหมเหมือนเปลือกมะขาม

         ทำอย่างนี้อีก เข้าสิบเข้าศูนย์ให้ถูกส่วน ใจของกายอรูปพรหม พอถูกส่วนจะเห็นดวงใส ก็แบบเดียวกัน เป็นดวงศีล กลางว่างดวงศีล เห็นดวงสมาธิ กลางว่างดวงสมาธิ จะเห็นดวงปัญญา กลางว่างดวงปัญญา จะเห็นดวงวิมุตติ กลางว่างดวงวิมุตติ จะเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะเห็นกายธรรม ถอดออกจากกายอรูปพรหม ใสเหมือนยังกับแก้ว

          ถอดเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ พอถึงกายทิพย์ก็มองดูกายทิพย์ กายมนุษย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เห็นชัดอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายมนุษย์ถอดออกจากกายทิพย์นั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายทิพย์ถอดออกจากกายรูปพรหมนั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายรูปพรหมถอดออกจากอรูปพรหมนั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายอรูปพรหมถอดออกจากธรรมกาย ออกเป็น ๒๐ ขันธ์ ตัวคนเดียวถอดออกเป็น ๒๐ ขันธ์ พญามารเขาสอนให้ถอด ถอดกายอย่างนี้เป็นพวกของข้า ถ้าไม่ถอดกายไม่ยอม พระพุทธเจ้าก็สอนพวกพุทธบริษัทถอดกายอย่างนี้แล้วก็เข้านิพพานไป ถอดกายเหลือแต่กายธรรมอย่างนี้แหละ พญามารมันยอม เรียกว่า นิพพานถอดกาย อย่างชนิดนี้ให้เห็นชัด อย่างนี้เป็นวิธีถอดกาย เรียกว่าเข้านิพพานถอดกาย นิพพานไม่ถอดกายยังมีอีก หากว่าเอาวิธีไม่ถอดกายมาเทศน์ในเวลานี้ ถูกนัตถุ์ยา เหตุนั้นต้องสอนวิธีถอดกายเสียก่อน วิชานี้เป็นวิชาของพญามารสอนให้ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ถอดกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมออกเสีย กายธรรมก็ไม่มี แม้จะผจญกับพญามารก็สู้ไม่ได้ ที่เอานางธรณีบีบน้ำท่วม มารจมน้ำ มันทำเล่น ๆ ทำหลอกเล่น ที่จริงที่แท้แพ้มัน ที่แท้ทีเดียว ต้องนิพพานไม่ถอดกาย แต่ว่านี่มันยอมกันเข้ามามากแล้ว ต้องแสดงวิธีถอดกายไปพลาง ๆก่อน แล้วจึงจะสอนไม่ถอดกายต่อไป

          เมื่อรู้จักขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ ให้ถอดขันธ์ ๕ เป็นชั้น ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีอะไรยึดถือ เพราะขันธ์ ๕ ของมนุษย์ เป็นชาติของกาม กามก็อาศัยได้ในกายมนุษย์ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มันเกาะอาศัยได้ ในกายมนุษย์ กายทิพย์ ส่วนกายรูปพรหม ภวตัณหาเกาะได้ กายอรูปพรหม วิภวตัณหามันเกาะอาศัยได้ ต่อเมื่อถึงกายธรรมแล้วตัณหาเกาะไม่ได้ มันเกาะไม่ถึง ตัณหาเกาะไม่ได้ในกายธรรม ตัณหาซาบซึมไม่ได้ เราจะเอาน้ำหมึกรดกระจกเข้าไปมันก็ไม่เข้าไป กายธรรมก็เหมือนแก้ว เมื่อถึงกายธรรมแล้ว กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นเนื้อแก้วที่สนิทละเอียดกว่า ไม่มีช่องไม่มีหนทางเอิบอาบซึมซาบได้เลย เหมือนกระดาษแก้ว ส่วนกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเหมือนกระดาษฟาง มันเป็นที่ตั้งอาศัยของกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เมื่อถึงกายธรรมเสียแล้วเป็นแก้ว ตัณหาเข้าไปไม่ได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นกายธรรม กายธรรมนั่นเองที่ปล่อยจากกายอรูปพรหมไป ตัณหาอาศัยไม่ได้ ที่เรียกว่า  สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห  ได้ชื่อว่าถอนตัณหาทั้งรากได้ ตัณหาอยู่แค่กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหม ไม่มีแก่นิพพาน เมื่อเข้าถึงนิพพานเสียแล้ว ก็ถอนโคนรากของตัณหาหมดแล้ว ตัณหาไม่หยั่งรากเข้าถึงกายธรรมได้ เหตุฉะนี้เมื่อถึงกายธรรมแล้วหมดตัณหาแล้ว ไม่มีความปรารถนาที่จะเข้ามาอาศัยกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมต่อไป จึงได้ชื่อว่า  นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต มีความปรารถนาดับสิ้นแล้ว ชื่อว่านิพพานได้ แปลว่าดับสิ้นแล้ว คือดับสิ้นจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เพราะเหตุฉะนั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้ ที่กล่าวในตอนต้นว่าเป็นภาระสำคัญ เราต้องทุกข์ยากลำบากเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะสลัดไม่ออก สลัดขันธ์ของมนุษย์ออกไปติดขันธ์ ๕ ของทิพย์ สลัดทิพย์ออกไปติดขันธ์ ๕ ของรูปพรหม สลัดรูปพรหมออกไปติดขันธ์ ๕ ของอรูปพรหม นั่นเหมือนกับมะขามสด เปลือกกับเนื้อมันติดกัน จะแกะเท่าใดก็ไม่ออก แกะเปลือกเนื้อติดเปลือกไปด้วย ขันธ์ ๕ ที่จะละทิ้งจิตใจของมนุษย์ละไม่ได้ เพราะเนื้อกับเปลือกติดกัน เพราะมันอยู่ในกามภพ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น เป็นตัวกามภพ จะละไม่ได้ จะไปอยู่รูปภพ มันก็มีภวตัณหาอีก ติดภวตัณหาเป็นเปลือกอยู่อีก เมื่อหลุดพ้นจากภวตัณหา จากรูปภพได้ จะไปอยู่อรูปภพ ก็วิภวตัณหา ไปติดตัณหาในอรูปภพ

        ต่อเมื่อใดถึงกายธรรมจึงหลุดได้ หลุดไม่มีระแคะระคาย เป็นโสดา สกทาคา อนาคา อรหัต แตกกายทำลายขันธ์ก็ไปนิพพาน ทิ้งขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม แต่เรายังสงสัยอยู่บ้างในเรื่องขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ของทิพย์ เทวดา ๖ ชั้นฟ้า จะเอามาใช้ในมนุษย์ก็ไม่ได้ ขันธ์ ๕ ของรูปพรหมจะเอามาใช้ในกายมนุษย์ กายทิพย์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ไม่ได้ ขันธ์ ๕ ของกายอรูปพรหมจะเอาไปใช้ในกายรูปพรหม กายทิพย์ กายมนุษย์ แต่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ไม่ได้ ขันธ์ของภพไหนต้องอยู่ประจำภพนั้น ข้ามภพใช้ไม่ได้ เพราะอะไร รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี ที่เป็นของมนุษย์จะเอาไปใช้ในภพทิพย์ไม่ได้ ทิพย์เป็นของละเอียด จะเอามาใช้ในภพมนุษย์ไม่ได้ ส่วนขันธ์ ๕ ของรูปพรหม อรูปพรหมก็แบบเดียวกัน สลับกันไม่ได้ เอาไปใช้ในนิพพานไม่ได้อีกเหมือนกัน

          นิพพานเขามีธรรมขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งขันธ์ ๕ ของเขามี เรียกว่า ธรรมขันธ์ ที่เรียกว่าธรรมธาตุ กายก็เรียกว่าธรรมกาย ไม่เรียกว่ารูปกายเหมือนกายมนุษย์ทั้งหลาย ในนิพพานจะมีรูปธรรม นามธรรม อย่างกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ไม่มี เป็นของละเอียด

          เหตุฉะนี้แหละ พวกเรารู้ว่าขันธ์ทั้ง ๕ ของมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม เหล่านี้เป็นของหนักแล้ว ให้ปลีกกายให้ดี ให้ถอดกายออกเป็นชั้น ๆ อย่างนี้ แล้วก็ลองปล่อยขันธ์ ๕ เหล่านั้นเสีย ปล่อยทั่ว ๆ ไม่ใช่อย่างเดียว เหมือนอย่างจำศีลภาวนา ปล่อยลูกไว้ทางบ้าน แต่ลูกก็มีขันธ์ ๕ ปล่อยได้ชั่วขณะชั่วคราว ถึงแม้ปล่อย ใจก็คิดตะหงิด ๆ อยู่เหมือนกัน มันยึดถืออยู่ ไม่ปล่อยจริง ๆ ต้องถอดเป็นชั้น ๆ แต่ถอดเช่นนั้นยังเสียดายน้ำตาตกโศกเศร้าหาน้อยไม่ ไม่ต้องของตัวถอดออก เพียงแต่ของคนอื่นก็ร้องทุกข์กันออกลั่นไป ถ้าของตัวถอดจะเป็นอย่างไร น้ำตาตกข้างในเรียกว่าร้องไห้ช้าง คือร้องหึ่ม ๆ ถึงแก่เฒ่าชราก็ไม่อยาก ถึงเป็นโรคเรื้อรังก็ไม่อยากถอด อยากให้อยู่อย่างนั้น เสียดาย เพราะเหตุฉะนั้น การถอดขันธ์ ๕ มันต้องถอดแน่ เราต้องหัดถอด เขามีวิธีให้ถอด ถอดเป็นชั้น ๆ ถอดกายทิพย์ออกจากกายมนุษย์ ถอดกายรูปพรหมออกจากกายทิพย์ ถอดกายอรูปพรหมออกจากกายรูปพรหม ถอดกายธรรมออกจากกายอรูปพรหม ถอดให้คล่อง เวลาถึงคราวเราก็ถอดคล่องชำนาญเสียแล้ว พอรู้ว่าจะตาย ส่งขันธ์ ๕ มนุษย์ออกไป ข้าก็เอาขันธ์ ๕ ของกายทิพย์ ชำนาญอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีความเสียดาย ถ้าไม่เคยถอดก็น้ำตาตกร้องไห้กันอย่างขนานใหญ่ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก ให้อุตส่าห์วางเสีย

        แม้ถึงจะยึดก็แต่ทำเนาเป็นของอาศัยชั่วคราว เป็นของมีโทษ ดังภาชนะขอยืมกันใช้ชั่วคราว ของสำหรับอยู่อาศัยชั่วครั้งชั่วคราว ร่างกายก็อาศัยชั่วคราวหนึ่ง อย่าถือเป็นจริง ๆ ถือเป็นของอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ถึงมีทุกข์บ้างก็หน่อยหนึ่ง ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นภาระ จะต้องดูแลเอาใจใส่ พิทักษ์รักษา เมื่อนำขันธ์ ๕ คือภาระนี้ไป ถ้าว่าขืนยึดปล่อยวางไม่ได้ในขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ในโลก ถ้าปล่อยวางได้เป็นสุข ขันธ์ถ้าปล่อยวางแล้ว ขันธ์อื่น ๆ จะเอามาเป็นภาระไม่ได้ ถ้าเอามาเป็นภาระก็เป็นเชื้อเป็นที่ตั้งของตัณหา จะถอนไม่ออก ถ้าไม่เอาเป็นภาระแน่ จะถอนตัณหาทั้งราก ปล่อยให้ถึงที่สุด ปล่อยได้ไปอยู่กับอะไร ต้องไปอยู่กับกายธรรม เมื่ออยู่กับกายธรรม ใจเหมือนอยู่ในนิพพานสบายแสนสบาย แสนสำราญ

        ดังที่ได้แสดงมาในภารสุตตกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภซึ่งเป็นแบบสำหรับให้ปล่อยวางขันธ์ ๕ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาตามอัตโนมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา วรญฺญํ สรณํ นตฺถิ สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐเราท่านทั้งหลาย สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสร ณ สถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

            เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้ ฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง