การย่อย่นสกลพุทธศาสนา
ซึ่งมีมาในโอวาทปาติโมกข์
๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท สุขา สทฺธมฺมเทสนา
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโขติ ฯ
ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๒๔/๔๑
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยการย่อย่นสกลพุทธศาสนาซึ่งมีมาในโอวาทปาฏิโมกข์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสเทศนาว่า การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสุขนัก การแสดงธรรมของพระองค์ก็เป็นสุข ความพร้อมเพรียงของหมู่ก็เป็นสุข ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนของท่านผู้พร้อมเพรียงทั้งหลายก็เป็นสุขอีกเหมือนกัน ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นความสำคัญนัก ซึ่งเราท่านทั้งหลายจงตั้งใจจำไว้ให้มั่นคง จะได้ปฏิบัติตามให้ถูกต้องร่องรอยของพุทธประสงค์ สมเจตนาที่ได้เสียสละเวลามาบวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระบวรพุทธศาสนา ไม่ได้เสียเวลาล่วงไปเสียเปล่า ปราศจากประโยชน์ ทำตนของตนให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนาเป็นลำดับไป
เริ่มต้นแห่งวาระพระบาลีว่า สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสุข สุขา สทฺธมฺมเทสนา การแสดงสัทธรรมของพระองค์ก็เป็นสุข สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุขอีก สมคฺคานํ ตโป สุโข ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนของผู้มีความพร้อมเพรียงทั้งหลายเป็นสุข ๔ ข้อนี้จะได้ชี้แจงแสดงไปเป็นลำดับ ๆ ไป
สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสุข อะไรเป็นพระพุทธเจ้า การบังเกิดขึ้นของมนุษย์นี้เป็นทุกข์ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสุข อะไรเป็นพระพุทธเจ้า ได้เกิดขึ้นทางไหน เป็นอะไร เกิดอย่างไร นี่เราจะรู้จักดังนี้ ถ้าเป็นแต่เพียงว่าความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสุข เท่านั้นก็พอฟังได้ แต่ว่าไม่รู้เรื่อง ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าท่านเกิดอย่างไร ต้องรู้จักความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ไม่ได้สักเสวยกษัตริย์ เกิดเป็นพระพุทธเจ้าจริงนะ เกิดเป็นพระพุทธเจ้าจริงน่ะเกิดที่ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ เกิดขึ้นในกายพระสิทธารถราชกุมาร ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมนุษย์สามัญธรรมดานี้ มนุษย์สามัญธรรมดานี้มีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด ลูกอาศัยพ่อเป็นเหตุและอาศัยแม่จึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเกิดไม่ได้ แต่พระสิทธารถราชกุมารอยู่ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ทีเดียว ทำพระพุทธเจ้าให้เกิดในกายพระสิทธารถราชกุมารได้ นี่แน่ะพอเกิดขึ้นแล้วเป็นสุขนักทีเดียว ต่อแต่นี้ตั้งใจฟังเป็นลำดับไป
การเกิดขึ้นของมนุษย์ ที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว การเกิดขึ้นของมนุษย์ละเอียดอีก นี่เราเคยเกิดเหมือนกัน เวลาฝันไปจึงเกิด ไม่ฝันไม่เกิด มนุษย์ละเอียดน่ะ เราฝันเกิดเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง ไปทำหน้าที่ของใครก็ไปทำ ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ไป กายมนุษย์หยาบก็รับเอาเรื่องฝันนั้นมาเล่าให้กันฟัง ให้มารดาบิดาฟัง ให้สามีภรรยาฟังกัน เรื่องฝันของตัวที่เกิดขึ้นนั้น มนุษย์นอนหลับฝันไปแล้วก็เกิดขึ้นเป็นมนุษย์ละเอียด เกิดขึ้นจริง ๆ นะ ไม่เกิดขึ้นเล่น ๆ เกิดขึ้นปรากฏเป็นเนื้อเป็นตัว ไปจับมือถือแขนกันได้ ไปพูดกันได้ ไปทำไร่ทำนาได้ ทำสวนได้ ค้าขายได้ ปกครองประเทศก็ได้ ทำข้าราชการงานเดือนได้ เพราะอ้ายกายฝันนั้นแหละ เราก็เคย เอาละ เมื่อเกิดขึ้นทางกายมนุษย์ล่ะ ฝันเกิดขึ้นคนหนึ่งนี่กายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์ละเอียดฝันเข้าอีก เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเป็นกายทิพย์ นี่เกิดเป็นทิพยกายในภพ กายทิพย์ฝันเข้า เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเรียกว่ากายทิพย์ละเอียด กายทิพย์ละเอียดฝันเข้าไปอีก เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเรียกว่ากายรูปพรหม กายรูปพรหมก็ฝันเข้าอีก เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเรียกว่ากายรูปพรหมละเอียด กายรูปพรหมละเอียดก็ฝันเข้าอีก เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเรียกว่ากายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมหยาบก็ฝันเข้าอีก ก็เกิดขึ้นอีกคนหนึ่งเรียกว่ากายอรูปพรหมละเอียด
กายอรูปพรหมละเอียดฝัน ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรม องค์หนึ่งไม่ใช่คนหรอกทีนี้ เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกับกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า นี่แน่ะตัวพระพุทธเจ้า กายอรูปพรหมละเอียดฝันก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง เป็นกายธรรม เรียกว่าพระพุทธเจ้าทีเดียว กายธรรมฝันเข้าอีก เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมละเอียด หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมละเอียดฝันเข้า เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง เท่ากันนั้น เป็นกายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมพระโสดาฝันเข้า เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระโสดาละเอียด หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมพระโสดาละเอียดฝันเข้า ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมพระสกทาคาฝันเข้า ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระสกทาคาละเอียด หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา กายธรรมพระสกทาคาละเอียดฝันเข้า ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระอนาคา หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมพระอนาคาฝันเข้า ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม นี่พระพุทธเจ้าทั้งนั้น กายธรรมพระอนาคาละเอียดฝันเข้าก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่ากายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม กายธรรมพระอรหัตฝันเข้าก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งเรียกว่า กายธรรมพระอรหัตละเอียด
นั่นแน่เกิดเป็น ๑๘ องค์ แต่ว่า ๘ องค์ข้างต้นน่ะเป็น กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ๘ กายนี้เป็นกายในภพ แต่ว่าฝันก็เกิดได้เหมือนกันแบบเดียวกัน กายธรรมโคตรภู คือกายอรูปพรหมละเอียดฝันเข้า ก็เกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง นั่นกายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมโสดา กายธรรมโสดาละเอียด กายธรรมสกทาคา กายธรรมสกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา กายธรรมอนาคาละเอียด กายธรรมพระอรหัต กายธรรมพระอรหัตละเอียด ๑๐ องค์นี่พระพุทธเจ้าทั้งนั้น ถ้าเกิดขึ้นแก่ใครก็เป็นสุขเหลือเกิน ใครได้ใครถึงเป็นสุขเหลือเกิน กายธรรมนี่เกิดขึ้นแก่ใครเป็นสุขนักทีเดียว เป็นสุขทุกคนถ้าได้ถึงพระธรรมแท้เกิดขึ้นในตัวของตัวเองน่ะ
จะแสดงวิธีเกิดของกายธรรมของกายพระพุทธเจ้า กายในภพ ๘ กายนั้นเป็นแบบเดียวกัน กายธรรมโคตรภู เมื่อเป็นกายธรรมโคตรภูแล้ว ใจกายธรรมโคตรภูก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมโคตรภู พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล ดวงเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงสมาธิ ก็เห็นดวงเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญา ดวงเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็นกายธรรมละเอียด นี่เกิดอย่างนี้ เกิดเป็นชั้น ๆ ไปอย่างนี้ ใจกายธรรมโคตรภูละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายธรรมโคตรภูละเอียด ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมโคตรภูละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าเห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งกลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งกลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งกลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็นกายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม นี่เป็นพระอริยบุคคล บังเกิดไปอย่างนี้เป็นลำดับจนตลอด ๑๐ กายถึงพระอรหัต นี่ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ นี่ตามข้อปฏิบัติของแท้
ถ้าทางปริยัติเล่า พูดกันไปอีกเรื่องหนึ่ง ตามประวัติพระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมี ๔ อสงไขยแสนกัลป์ ๘ อสงไขยแสนกัลป์ ๑๖ อสงไขยแสนกัลป์ สร้างบารมีไป เป็นมนุษย์ก็สร้างบารมีไป กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าต้องสร้างบารมีเต็ม ๓๐ ทัศ เมื่อพูดถึงบารมี ๓๐ ทัศเต็มแล้ว ที่จะเกิดเป็นพระพุทธเจ้าต้องไปบำเพ็ญเพียรเป็นพระสิทธารถราชกุมารทีเดียว กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ๖ ปี ไปทรมานร่างกาย ๖ ปี เมื่อได้เป็นพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุขอยู่ที่มหาสถาน ๗ แห่งนั้น ๔๙ วันครบ ๔๙ วันก็ออกโปรดพระปัญจวัคคีย์ นี่ตามหลักของพระปริยัติไปดังนี้ แต่ว่าความประเสริฐขึ้นของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นได้ดังกล่าวแล้วข้างต้น นั้นเป็นความบังเกิดของพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว สุขไหมล่ะ ถามท่าน เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นแล้วท่านบอกว่ามันสุขเหลือเกิน อยู่ในมหาสถานทั้ง ๗ แห่ง เสวยวิมุตติสุขอยู่แห่งละ ๗ วัน ๆ รวม ๔๙ วัน ได้รับความสุขอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ไม่ได้มีทุกข์เลย เป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่มีทุกข์เลย สุขส่วนเดียว ออกโปรดเวไนยสรรพสัตว์ ไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ดำริแต่ในพระทัยว่าเราจะเดินไปด้วยย่างพระบาท หรือว่าเหาะไปในอากาศ หรือว่าจะดำดินไป ที่เราจะไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ประเพณีของพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ๆ นั้นไปกันอย่างไร หรือว่าประเพณีของพระพุทธเจ้าในอนาคตจะไปกันอย่างไร ประเพณีของพระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้จะไปกันอย่างไร ก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน แล้วก็ปล่อยธรรมกายละเอียด กายพระพุทธเจ้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าเป็นความลับว่าเขาทำกันอย่างไร พระพุทธเจ้านั้นก็บอก บอกตรง ๆ นั่นแหละ ไปทางไหนเป็นประโยชน์ จะเหาะไปเป็นประโยชน์ก็เหาะไป จะทรงดำเนินไปด้วยย่างพระบาทเป็นประโยชน์ก็ทรงดำเนินด้วยย่างพระบาทไป ถ้าจะดำดินไปโผล่ขึ้นในที่โน้นเป็นประโยชน์ก็ดำดินไป
พระองค์ก็มาส่องดูประโยชน์ว่าจะไปทางไหน ก็เห็นปรากฏชัดว่า เราดำเนินไปด้วยย่างพระบาท จะไปพบปัจฉิมสาวกของเรา จะเป็นประโยชน์แก่ปัจฉิมสาวก จะได้เป็นปัจฉิมสาวกในภายหลัง จะเป็นเมื่อไร ก็ปรินิพพานทีเดียว ใกล้นิพพานทีเดียว จะต้องดำเนินไปด้วยย่างพระบาทอย่างมนุษย์ธรรมดาทีเดียว
เมื่อทรงดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี รัศมี ๖ ประการทีเดียว อัศจรรย์นักทีเดียว ดำเนินไปนั่น สว่างไสวรุ่งโรจน์โชตนาการ เทวดามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เปล่งรัศมีมาเท่าใดก็สู้พระจอมไตรไม่ได้ นกในอากาศล่ะหยุดเชียว หยุดมอง สรรพสัตว์ทวิบาท จตุบาท ๔ เท้า ๒ เท้า เดินไปอยู่ในพื้นแผ่นดินนั้น เห็นพระองค์แล้วตะลึงตามกันไปหมด ลืมเคี้ยวหญ้าทีเดียว หากว่ากวางก็หันหลังมองอยู่นั่นแหละ นกแขกก็หันหลังมองกันอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องกินอาหารกันละ ดูพระรัศมี ชมพระรัศมีเพลินเชียว
มนุษย์คนใดไปเห็นเข้าตกอกตกใจทีเดียว ปัจฉิมสาวกของพระองค์อุปกาชีวกพอเห็นเข้าตะลึงทีเดียว นี่มนุษย์ หรือเทวดา หรือเทพยเจ้าศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ หนอมาปรากฏเช่นนี้ เข้าใกล้เข้าไปแล้ว ไปพบเข้าแล้ว ได้กึ่งทางที่จะไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตกใจ เข้าไปใกล้ ถามพระองค์ว่า พระองค์น่ะใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระองค์รู้มาอย่างไร ปฏิบัติมาอย่างไรหรือจึงรัศมีกายได้อย่างนี้ ก็ทรงรับสั่งว่าใครจะเป็นครูของเรา เราเป็นสัพพัญญู เรารู้ของเรา เราเห็นของเราเอง อุปกาชีวกไม่เชื่อ สั่นหัว แลบลิ้น แล้วก็หลีกไปเสีย ไม่เชื่อ ถึงไม่เชื่อก็เป็นนิสัยติดตัวไปแล้ว จะไปถามพระองค์เมื่อใกล้จะนิพพาน
พระองค์ก็ทรงเสด็จเป็นลำดับไป ถึงพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะพระรัศมีของท่านแปลกประหลาดอัศจรรย์ไม่เหมือนแต่ก่อน พระปัญจวัคคีย์นัดกันแล้วว่าถ้าเห็นแล้วจะไม่ลุกขึ้นรับ จะไม่ต้อนรับด้วยประการทั้งปวง จะไม่นับถือละ แต่พอพระสิทธารถราชกุมารใกล้เข้าไปตะลึงกันไปหมด อดไม่ได้ บ้างหยิบขันน้ำ ผ้าเช็ดเท้า ตักน้ำล้างเท้าให้กลุ้มไป เมื่อถวายเสร็จแล้วพระองค์ก็ประทับนั่งที่สมควร โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่อยังไม่ได้รับธรรมเทศนา สุขทุกข์เหมือนมนุษย์ธรรมดา เป็นทุกข์มาก เป็นสุขน้อย แต่ว่าพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีศีล มีสมาธิมั่นคงอยู่ในขันธสันดานแล้ว พระศาสดาจารย์เมื่อไปถึงพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ กำลังจะตรัสธรรมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เรียกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เข้ามาสู่ที่เฝ้า พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็มาพร้อมกัน มาพร้อมแล้วก็ตรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ที่สุดทั้ง ๒ บรรพชิตไม่ควรเสพ กามสุขัลลิกานุโยคเป็นที่สุดข้างหนึ่ง อัตตกิลมถานุโยคเป็นที่สุดอีกข้างหนึ่ง กามสุขัลลิกานุโยคเป็นของเลว หีโน เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไปจากข้าศึกคือกิเลสไม่ได้ ความฉิบหายใช่ประโยชน์ตั้งกำกับอยู่แล้ว ในกามสุขัลลิกานุโยคนั้น ถ้าไปประสพกามสุขัลลิกานุโยค ไปประกอบด้วยกามสุขัลลิกานุโยคละก็ ลงท้ายก็พินาศคือตายจากกันเหมือนกัน ให้ปรากฏดังนี้ ไม่สุข เป็นทุกข์ทั้งนั้น
ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ประกอบตนให้เนื่องด้วยการให้ความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไปจากข้าศึกคือกิเลสไม่ได้ และความฉิบหายใช่ประโยชน์ตั้งกำกับอยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่พ้นเป็นทุกข์ทั้งนั้น กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนให้ เนื่องด้วยกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ขาดสาย อัตตกิลมถานุโยคประกอบตนให้ทุกข์ยากลำบาก ทรมานร่างกาย หาบทราย ตากแดด ย่างไฟ เอาไม้เคาะหน้าแข้งเพื่อจะดับความกำหนัดยินดี อยู่ในป่าในดอนในดง กำหนัดขึ้นมาเวลาไร ต้องทำอย่างนั้นเสมอไป นี่ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคแท้ เดือดร้อนจริง ๆ ไม่รับความสุข
พระองค์ทรงแนะนำพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ไม่ให้ประกอบด้วยกามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค ให้ดำเนินด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค
ข้อปฏิบัติเป็นกลางเป็นไฉน เห็นชอบ ดำริชอบ กล่าววาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ ประกอบด้วยอวัยวะ ๘ ประการ จัดลงเป็น ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา พระปัญจวัคคีย์รู้จักศีลแล้ว รู้จักสมาธิแล้ว แต่ว่าปัญญายังไม่รู้จัก เมื่อยังไม่รู้จักปัญญา พระองค์ทรงแนะนำพระปัญจวัคคีย์ให้รู้จักทาง แสดงสัจธรรมทั้ง ๔ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ให้ฟัง ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ว่าทุกข์นี่แหละเป็นของทำให้ยาก เหตุเกิดทุกข์นั่นแหละเป็นของทำให้ยาก แต่ว่าเป็นของจริง เหตุเกิดทุกข์นั่นแหละเป็นของทำให้ลำบากก็เป็นของจริง ความดับทุกข์ก็เป็นของจริง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็เป็นของจริง ของจริงเหล่านี้แหละ แสดงเป็นส่วน ๆ ไป ทุกข์เป็นของจริง ควรกำหนดรู้ และได้กำหนดรู้ไว้แล้ว เหตุเกิดทุกข์เป็นของจริง ควรละ ได้ละแล้ว ความดับทุกข์เป็นของจริง ควรกระทำให้แจ้ง ก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ที่เป็นของจริงนั้นควรเจริญ ก็ได้เจริญแล้ว ทรงแสดงสัจธรรมทั้ง ๔ โดย สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ เช่นนี้ พระปัญจวัคคีย์ รู้ เข้าใจ ฟังออกทีเดียว เมื่อฟังออกแล้ว เมื่อจบพระธรรมเทศนาของพระจอมไตรแล้ว
พระปัญจวัคคีย์เปล่งวาจาว่า อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุํ อุทปาทิ ความเห็นธรรมปราศจากธุลีและมลทินได้เกิดขึ้นแก่ผู้มีอายุชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา มีเกิดมีดับอยู่เท่านี้หมดทั้งสากลโลก เกิดดับทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าสังขารเกิดดับทั้งนั้น จะเป็นกายสังขารก็เกิดดับ จะเป็นวจีสังขารก็เกิดดับ จะเป็นมโนสังขารจิตตสังขารก็เกิดดับ หรือจะเป็นปุญญาภิสังขารก็เกิดดับ จะเป็นอปุญญาภิสังขารก็เกิดดับ เป็นอเนญชาภิสังขารก็เกิดดับ เห็นจริงไปหมด ทั้งสากลโลกมีเกิดดับเท่านั้น เห็นความเกิดดับตามความเป็นจริงของเรื่องที่จริง พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่อเห็นจริงเช่นนี้ก็ได้บรรลุมรรคผล ได้บรรลุถึงธรรมกาย พระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมกายก่อน มีตาเห็นธรรมแล้ว เห็นด้วยตาธรรมกาย ธมฺมจกฺขุํ เห็นด้วยตาธรรมกายที่ปราศจากมลทิน เห็นชัดทีเดียว
พระองค์ผู้ทราบชัดว่า ปัญจวัคคีย์อัญญาโกณฑัญญะได้เห็นแล้ว พิจารณาเป็นลำดับไปให้ปัญจวัคคีย์เข้าเนื้อเข้าใจ พระปัญจวัคคีย์เข้าเนื้อเข้าใจแล้ว ก็ได้บรรลุเป็นลำดับขึ้นไป บรรลุโสดา สกทาคา อนาคา อรหัต เป็นลำดับ เหมือนกับพระศาสดา และทั้ง ๕ องค์นั้น ก็ได้บรรลุเป็นลำดับไป เห็นเหมือนพระจอมไตรหมด เป็นพระอรหันต์ ๖ องค์ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับพระศาสดา เห็นเป็นเหมือนกันหมด
นี้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุเห็นธรรมเหมือนพระศาสดาแล้ว สุขเหมือนพระศาสดาแบบเดียวกัน สุขแบบเดียวกันทีเดียว ไม่คลาดเคลื่อนทั้ง ๕ องค์เป็นสุขเหมือนกันหมด ได้บรรลุเป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเหมือนพระศาสดาจารย์ เมื่อพระองค์ปลุกพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ตื่นขึ้นเหมือนพระองค์แล้ว พระปัญจวัคคีย์ที่ได้รับความสุขเช่นนี้เพราะอะไร เพราะพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เป็นสุขเหมือนพระองค์ เหมือนกันแบบเดียวกัน นี่ สุขา ธมฺมเทสนา ทางสงบสุข ได้เข้าถึงซึ่งความสงบ เป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเช่นนี้ได้ เมื่อได้ถึงซึ่งความสุข สุขได้เพราะพระธรรมเทศนาของพระศาสดา นี้ตรงกับบาลีว่า สุขา ธมฺมเทสนา การแสดงธรรม การได้สดับธรรม หรือแสดงธรรมเช่นนี้เป็นสุข พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ปัญจวัคคีย์ได้สดับธรรม ได้บรรลุมรรคผลสมมาดปรารถนา จึงได้เป็นเหมือนพระบรมศาสดา เรียกว่า สุขา สทฺธมฺมเทสนา
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงเป็นสุข ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข จะเป็นคฤหัสถ์ก็เป็นสุข จะเป็นภิกษุสามเณรก็เป็นสุข แต่ว่าอาศัยเพราะความพร้อมเพรียงของหมู่ภิกษุสามเณรเป็นสุข อาศัยความพร้อมเพรียงของหมู่คฤหัสถ์เป็นสุข อุบาสกอุบาสิกาพร้อมเพรียงกันเป็นสุข เป็นสุขนัก ถ้าว่าไม่พร้อมเพรียงกันไม่เป็นสุข หาสุขที่ไหนไม่ได้ หมดทั้งประเทศชาติ หมดทั้งศาสนา สุขที่ความพร้อมเพรียงกัน เหมือนมนุษย์หญิงชายหมดทั้งประเทศไทยพร้อมเพรียงกัน เชื่อฟังตามผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านได้บังคับบัญชาเป็นไปอย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ไป ตามหัวหน้าไป ก็เป็นสุขซิ จะไปทางไหนก็เหมือนฝูงนก หัวหน้าฝูงบินนำหน้าไปอย่างไรแล้วก็ ลูกน้องก็ตามแถวเป็นฝูง ฝูงใหญ่ ใหญ่เท่าไรก็เป็นสุข เมื่อเป็นฝูงใหญ่เช่นนั้นปราศจากอันตราย พร้อมเพรียงอย่างนั้นปราศจากอันตราย เพราะมันพร้อมกัน เรื่องพร้อมกันแล้วเมืองไทยมันพร้อมกันอยู่แล้วก็สามัคคีพร้อมเพรียงกันดีแล้ว ข้าศึกตีไม่แตก จะไปแย่งเอาเมืองนั้นไม่ได้ เหมือนกันหมู่ภิกษุพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ไม่แตกหมู่กันอยู่แล้ว ศึกเหนือเสือใต้ทำอะไรไม่ได้ อุบาสกอุบาสิกาพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ใครทำอะไรไม่แตก หักรานไม่ได้ ข่มเหงกันไม่ได้ เพราะหมู่ไม่แตกจากกัน
ในเรื่องนี้ เมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีปกครองอยู่มาก มากนัก เพราะพร้อมเพรียงกันจริง ๆ พระเจ้าอชาตศัตรูพยายามไปรบเมืองเวสาลี จะเอามาเป็นเมืองขึ้นของตน ไปตีถึง ๑๑ ครั้ง ไม่แตกสักทีหนึ่ง ไม่เป็นอันตราย ไม่แพ้พระเจ้าอชาตศัตรู มีชัยเสมอไป พระเจ้าอชาตศัตรูเห็นว่าเมืองเวสาลีมีความพร้อมเพรียงนัก เราไปรบสู้ไม่ได้ ทำอย่างไรหนอเราถึงจะสู้ได้ ไปทูลถามพระบรมศาสดาว่า พระพุทธเจ้าเข้า เมืองเวสาลีน่ะเขาพร้อมเพรียงกันนั้น ข้าพระพุทธเจ้ายกกองทัพไปตีถึง ๑๑ ครั้ง แล้วไม่เป็นอันตราย ไม่ได้ชัยชนะเสียที จะได้ชัยชนะด้วยวิธีใดพระเจ้าข้า เอาซิ ไปถามพระศาสดาเข้าตรงอย่างนี้ ถ้าพระศาสดาทรงรับสั่งออกไป เมืองเขาก็แตก เป็นโทษต่อพระองค์ละซี ก็ไม่ทรงรับสั่งอะไรออกไป รับสั่งเป็นกลาง เมืองไหนหมู่ไหนพวกไหนเขาสามัคคีกลมเกลียวกันอยู่แล้ว เมืองนั้นหมู่นั้นพวกนั้นเขาก็มีกำลังมาก ทำอะไรเขาก็ไม่ได้ พอพระองค์ทรงรับสั่งเท่านั้น ปล่อยวัสสการพราหมณ์เข้าไปทีเดียว ให้วัสสการพราหมณ์ เข้าไปเป็นหนอนบ่อนไส้ ไม่ได้ปล่อยเข้าไปเป็นธรรมดานะ ตีวัสสการพราหมณ์เสียหลังเป็นกะพรุนเชียว บวมทั้งเนื้อทั้งตัว หลังเป็นกะพรุน วัสสการพราหมณ์ก็ร้องไห้งั่กเชียว เจ้านายเขาไล่ส่ง เขาไม่เลี้ยงแล้ว เขาตีเสียป่นปี้หมด ไปให้เจ้าลิจฉวีรักษา เจ้าลิจฉวี เออ นี่มันทำลายกันจริง ไม่คบกันจริง ตีกันจริง เอาไปรักษาหายเรียบร้อยแล้ว เจ้าลิจฉวีถึงเวลาเข้าประชุมกันแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็ไปด้วย แต่ว่าไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง คะเนพร้อมกันดีแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็เข้าไปพูดกับหูเจ้าองค์โน้นบ้างองค์นี้บ้าง แกเป็นมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ เจ้าลิจฉวีทางโน้นเห็นว่าวัสสการพราหมณ์พูดเช่นนั้นแล้ว ก็สงสัยว่าพูดเรื่องอะไรกัน วัสสการพราหมณ์ที่พูดไปกับท่านนะพูดเรื่องอะไรกัน เจ้าลิจฉวีก็ว่าเปล่านี่ไม่ได้พูดเรื่องอะไรกัน ก็เข้าไปพูดกับหู ได้ยินนี่ แต่ว่าอยู่คนละทาง ที่นั้นเป็นวงใหญ่ พูดอย่างนั้นแล้ว เอ้า ก็สงสัยตะหงิดใจอยู่แล้ว ทีหลังวัสสการพราหมณ์ไปทางโน้นอีก ทางนี้ก็ถามว่า ทางนี้พูดอย่างนู้นเหมือนกัน ก็เปล่าอีกนั้นแหละ รอบ ๆ ไป หนักเข้าก็กินใจกัน เจ้าน่ะพอกินใจก็เกิดแตกสามัคคีกัน พอแตกสามัคคีกันดี วัสสการพราหมณ์ก็ถือหนังสือลับถึงพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพได้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพเข้าไปคราวนี้ก็ลอยชายเข้าเมือง เจ้าเหล่านั้นไม่เอาหูนาตาใส่แล้วในการรักษาดูแลปกครองอำนาจ แตกสามัคคีกันเสียหมดแล้ว
นี่ภิกษุสามเณรหมู่เดียวกันพวกเดียวกันไม่ลงรอยกัน หมู่นั้นพวกนั้นไม่เจริญต่อไป อุบาสกอุบาสิกาอยู่วัดเดียวกัน พวกเดียวกัน ประพฤติปฏิบัติไม่ลงรอยกัน แก่งแย่งกัน อยู่คนละทางสองทาง หมู่อุบาสิกาพวกนั้นไม่มีความเจริญต่อไป จะมีความเสื่อมเป็นเบื้องหน้า เมื่อรู้จักหลักอย่างนี้แล้ว ก็ว่าสามัคคีนั้นเองเป็นตัวสำคัญ ถ้าไม่มีสามัคคีแล้วละก็แตกแยกเป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย ไม่เจริญแท้ทีเดียว ถ้าต้องการความเจริญแล้ว บ้านเรือนก็ดี หมู่ธนบดีหมู่เศรษฐีก็ดี ต้องมีสามัคคี ถ้าในหมู่เศรษฐีไม่ลงรอยกันแล้วละก็ไม่ช้าเศรษฐีนี้จะเตียนไปหมด หรือหมู่บ้านเรือนในท้องไร่ท้องนาก็ดี ในสวนก็ดี ในราชการก็ดี หมู่ไหนบ้านไหนไม่ลงรอยกันอยู่
พ่อแม่ไม่ลงรอยกับลูก ลูกไม่ลงรอยกับพ่อแม่ ข้าทาสบริษัทบริวารไม่ลงรอยกันแล้วละก็ไม่ช้าละบ้านนั้นต้องร้าง ไม่ร้างก็ต้องแตกสลาย ต้องฉิบหาย ต้องป่นปี้ เพราะมันแตกสามัคคีกันเสียแล้ว ไม่เป็นสามัคคีกัน ข้อนี้เป็นสำคัญนะ ไปดูก็ได้ ถ้าบ้านไหนทะเลาะกันระหองระแหงกันอยู่แล้วละก็ อ้ายบ้านนี้ต้องทลาย อุบาทว์เกิดขึ้นแล้ว อ้ายความไม่รวมสามัคคีไม่ลงรอยกันนั่นแหละ อุบาทว์เกิดขึ้นแล้ว มันต้องร้างแน่ มันจะต้องแยกทลายกันแน่ ผัวเมีย ๒ คนก็พยากรณ์ได้ ลงไม่ลงรอยกันแล้วก็ บ้านนี้ไม่ต้องอยู่ด้วยกันละ แตกทลายแน่ เพราะไม่ลงรอยแล้วนี่ แตกสามัคคีแล้วนี่ นี่เป็นข้อสำคัญนะจำไว้
ถ้าจะมองหาความเจริญ มุ่งความเจริญละก็ ต้องมั่นสามัคคี สร้างสามัคคีไว้ ถ้าว่าทำลายสามัคคีแล้วละก็ เป็นอันแตกทลายแน่ ต้องแยกจากกัน ลูกเต้าก็ต้องแยกไป พี่น้องวงศาคณาญาติอยู่รวมกันไม่ได้ อัตคัดขัดสนขึ้นอีก เพราะความไม่สามัคคีนั้นมันฆ่าเสียแล้ว ทำลายเสียแล้ว นี่แหละตัวอุบาทว์จำไว้เถอะ ที่เขาเรียกว่าบาตรแตกเข้าบ้านละ นี่แหละบาตรแตกเข้าบ้านละ หรือเรียกว่ากาลกิณีอยู่บ้านนี้แหละ อ้ายแตกสามัคคีนั่นแหละเป็นตัวกาลกิณี ให้จำไว้เป็นตำรับตำรา
ถ้าต้องการความเจริญ ต้องพร้อมเพรียงกันและกัน น้ำหนึ่งใจเดียวกันนั่นแหละจึงจะเจริญได้ เมื่อเมืองเจ้าลิจฉวีถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ลอยชายเข้าเมืองปกครองเสียแล้ว แตกไปเช่นนี้เพราะแตกสามัคคี ตามที่พระศาสดาทรงรับสั่งว่า บ้านไหนเมืองไหนหมู่ใดพวกใดเขายังมีความสามัคคีกันอยู่ ตราบนั้นเขาก็มีกำลังวังชามาก ทำอันตรายเขาไม่ได้ นี่ต้องอยู่ในความสามัคคีนี้ จำไว้นะ จำไว้เป็นตำรับตำราดังนี้ ไม่งั้นต้องเวียนว่ายตายเกิด มันจะต้องไปบ้านโน้นบ้านนี้ อยู่บ้านโน้นบ้านนี้ มาบ้านไหนถ้าแตกสามัคคีกันแล้วละก็ มันจะทลายอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ไปทีเดียว ถ้าบ้านไหนสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีผู้หลักผู้ใหญ่เกรงกันอยู่ไม่เป็นไร บ้านนี้ยังเจริญอยู่ ให้จำหลักอย่างนี้นะ วัดก็เหมือนกัน จะไปอยู่วัดใดวัดหนึ่ง ถ้าวัดนั้นไม่สามัคคีอย่าเข้าไปนะ อย่าไป ถ้าไปเป็นได้รับทุกข์ ถ้าสามัคคีกันอยู่ พร้อมเพรียงกันอยู่ละก็ เข้าไปเถอะเป็นสุขทีเดียว ให้รู้จักหลักดังนี้
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข ถ้าว่าไม่พร้อมเพรียงของหมู่เป็นอย่างไร ถ้าเราไปอยู่ซิเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทั้งนั้น ความพร้อมเพรียงของหมู่ เมื่อสาวกของพระบรมศาสดาได้บรรลุพระอรหัตสมุจเฉทปหานแล้ว แค่พระอรหัตท่านปรองดองกันอยู่ในพวกพระอรหัต แค่พระอนาคามรรคผลท่านก็ปรองดองกันอยู่ในเรื่องพระอนาคามรรคผล แค่พระสกทาคามรรคผลท่านก็ปรองดองกันอยู่ในเรื่องพระสกทาคามรรคผล แค่พระโสดามรรคผลท่านก็ปรองดองกันอยู่ในเรื่องพระโสดามรรคผล ท่านเหล่านี้ไม่เถียง ไม่แก่งแย่งกัน มีความเห็นร่วมกัน เสมอกันหมด
พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่แหละเป็นสาวก พวกของพระตถาคตเจ้า ตั้งแต่พระโสดามรรคผลขึ้นจนถึงพระอรหัตเป็นพวกพระตถาคตเจ้า พวกที่ยังแก่งแย่งกันอยู่ ไม่ใช่พวกของพระตถาคตเจ้า เลิกแก่งแย่งแล้ว เป็นพวกของพระตถาคตเจ้าทีเดียว หมู่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ต้องการความสุขก็ให้สามัคคีกลมเกลียวกันไว้ อย่าแตกแยกจากกันและกัน ถ้าแตกแยกจากกันและกันแล้วละก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่แตกแยกจากกันแล้วก็เป็นสุขทีเดียว นี่ สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข
สมคฺคานํ ตโป สุโข ตโป ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร้าร้อน สมคฺคานํ แห่งผู้พร้อมเพรียงทั้งหลาย สุโข เป็นสุข ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนของผู้พร้อมเพรียงทั้งหลาย เมื่อพร้อมเพรียงกันแล้วเป็นอย่างไร ก็ประพฤติทำลายกิเลสกันทั้งนั้น ไม่ทำอะไร ประพฤติทำลายกิเลสเหมือนกันหมด ทำลายกิเลส มีความเพียรเหมือนกัน ถ้าว่าเพียรตั้งต้นแต่ศีลไป ทำศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน เข้าถึงสมาธิก็ทำสมาธิให้บริสุทธิ์เหมือนกัน เข้าถึงปัญญาก็ทำปัญญาให้บริสุทธิ์ ใสเป็นเพชร เป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าอยู่ร่ำไป หรือเข้าถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ให้บริสุทธิ์เหมือนกัน เมื่อบริสุทธิ์เหมือนกันเช่นนี้แล้ว รักความบริสุทธิ์เหมือนกันเช่นนี้แล้ว รักความบริสุทธิ์เสมอกัน ไม่ให้ขาดตกบกพร่องกว่ากันและกัน ใครบริสุทธิ์แค่ไหนก็รักษาแค่นั้นไป ที่ยังไม่ได้ยังไม่เห็นก็ทำความบริสุทธิ์ไป ให้เข้าถึงบริสุทธิ์เหมือนเขาไป ไม่แก่งแย่ง ไม่ก้าวร้าวเกะกะ
ดังอุบาสกอุบาสิกาในวัดเช่นนี้ เขาทำธรรมกายกันให้มีให้เป็นขึ้น ทำศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะกัน โน่นไปเอาเจ้าทรงผีสิงมาเล่นอีกแล้ว เอาเจ้าทรงผีสิงมาใส่ในหมู่เข้าแล้ว ไปบนเจ้าบนผีเข้าอีกแล้ว เอาอีกแล้ว พวกนี่แหละ พวกแก่งแย่งละ ความเห็นแตกต่างออกไปแล้ว จะทำลายหมู่สามัคคีให้ทลายไปแล้ว เอาเรื่องผีเรื่องเจ้าเข้ามาอีกแล้ว ก็นี่คนนอกเรื่อง มันคนของมารเขาส่งมาในหมู่ ไม่ให้ความพร้อมเพรียงเกิดขึ้น ถ้าพร้อมเพรียงเกิดขึ้นมันก็จะเป็นสุขเสีย ไม่ให้มีไม่ให้เพียรถูกต้องร่องรอยความประสงค์ทางพระพุทธศาสนาไป ให้ไปทางเหลวไหลเสีย ให้ไปทางเพลงของโลกไป อย่างนี้เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์แต่เท่านั้น นั่นเขาทำลายทางมรรคผลกัน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เอ้าไพล่ไปขอหวยขอโปกันเข้าแล้ว จะเอาเบอร์หนึ่งสักทีเถอะ เราจะได้เลิกยากเลิกจนกันเสียทีหนึ่ง เอาละชี ทีนี้พวกนั่งสมาธิทำทางมรรคผล ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เลยไปมองดูลอตเตอรี่เข้าแล้ว อ้ายนี่เอาอีกแล้ว เดือดร้อนอีกแล้ว จะทำลายสามัคคีแล้ว ทำลายสามัคคีอีกแล้ว พวกนี้พวกพญามาร ขวางเข้ามาอีกแล้ว ให้รู้จักหลักอย่างนี้นะ สมคฺคานํ ตโป สุโข ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนของผู้มีความพร้อมเพรียง จบไปในเพลงเดียวกันนะ สุโข เป็นสุขนัก เมื่อรู้จักหลักนี้ จำไว้เป็นหลักเป็นประธาน
ที่ชี้แจงแสดงมานี้ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ