อนุโมทนาคาถา
๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ ฯ
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา
มณิ โชติรโส ยถาติ ฯ
ส.ม. ๙๕-๙๖
**องุ.จตุกฺก.(บาลี)๒๑/๒๑/๒๗
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาในอนุโมทนาคาถา แก้ด้วย ยถาฯ ที่พระภิกษุท่านทำภัตตานุโมทนากับท่านอุบาสกอุบาสิกา อยู่เนืองนิตย์อัตรา ยถา นี้เป็นมคธภาษา หาเป็นสยามภาษาไม่ วันนี้จะแปลความเป็นสยามภาษา ตามมคธภาษา ให้ได้ความเป็นสยามภาษาสืบไป
เริ่มต้นแห่งอนุโมทนาคาถา ตามวาระพระบาลีว่า ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ ห้วงน้ำอันเต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ ทานที่ท่านได้ถวายแล้วในโลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ท่านผู้ละโลกนี้ไปแล้วได้ฉันนั้นนั่นเทียว อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตฺ ท่านปรารถนาไว้แล้วอย่างใด ตั้งใจไว้แล้วอย่างไร ขอจงสำเร็จตามปรารถนาแก่ท่านโดยฉับพลันเถิด สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา ความดำริของท่านจงเต็มเปี่ยมเป็นอันดี ความดำริของท่านจงเต็มเปี่ยมเป็นอันดี จนฺโท ปณฺณรโส ยถา ดังพระจันทร์วันปัณณรสี เหมือนพระจันทร์วันปัณณรสี มณิ โชติรโส ยถา เหมือนแก้วมณีอันมีแสงสว่างไสวเป็นอันดี นี้เป็นภัตตานุโมทนาคาถา
ห้วงน้ำที่เต็มเมื่อเต็มมากขึ้นเป็นลำดับมา จนกระทั่งเต็มห้วยหนองคลองใหญ่น้อยเป็นลำดับขึ้นมา ท่วมทุ่งท่าต่อสายเหมือนดังกับน้ำในประเทศไทยนี้ เต็มเปี่ยมหมด ท่วมไปหมด เมื่อถึงน้ำลดก็ไหลลงไป ที่ดอนไหลลงไปสู่ที่ลุ่ม คลองเล็กไหลไปอยู่คลองใหญ่ คลองใหญ่ก็ไหลไปเป็นลำดับไป ลงสู่แม่น้ำทั้ง ๕ สาย แม่น้ำทั้ง ๕ ไหลลงสู่มหาสมุทร ไปเต็มเปี่ยมอยู่ในมหาสมุทรโน้น ไม่ได้มีคลาดเคลื่อนไปทางใดทางหนึ่ง จะล้นไหลไปข้างหนึ่งข้างใดไม่ได้ แม้เป็นไปในอากาศ ก็ไปเป็นเมฆจับอยู่ในพื้นท้องฟ้า พอถึงเวลาตก ไหลลงไปอีก ลงไปสู่มหาสมุทรหมด ไม่ได้เคลื่อนคลาดฉันใด ท่านโมทนาทานที่ท่านให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้ ทานที่ท่านให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ท่านผู้ละโลกนี้ไปแล้วฉันนั้น นั่นแหละสำเร็จประโยชน์จริง ๆ ไม่มีปัญหา อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ ผลที่ท่านปรารถนาแล้วและตั้งใจไว้ จงสำเร็จแก่ท่านโดยพลันเถิด สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มเปี่ยมเป็นอันดีเหมือนพระจันทร์วันปัณณรสี หรือเหมือนแก้วมณีโชติรสทรงแสงสว่างเป็นอันดี นี่เป็นคำพระภิกษุเถรานุเถระได้ทำภัตตานุโมทนาเป็นมคธภาษา ขยายความเป็นสยามภาษาได้ความดังนี้
เมื่อจบ ยถา ฯ แล้ว ท่านก็ให้ สพฺพี ฯ นี่ก็เป็นสามัญญานุโมทนาคาถา สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ แปลเป็นสยามภาษา ขอจัญไรทั้งปวงจงระเหิดหายไป สพฺพโรโค วินสฺสตุ ขอโรคทั้งปวงจงหาย มา เต ภวตฺวนฺตราโย ขออันตรายอย่าเกิดมีแก่ท่านเลย สุขี ทีฆายุโก ภว ขอท่านจงเป็นผู้มีสุข มีอายุยืนเถิด ท่านก็ว่าครั้งที่ ๒ สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ ขอจัญไรทั้งปวงจงระเหิดหายไป สพฺพโรโค วินสฺสตุ ขอโรคทั้งปวงจงหาย มา เต ภวตฺวนฺตราโย ขออันตรายอย่าเกิดมีแก่ท่านเลย สุขี ทีฆายุโก ภว ขอท่านเป็นผู้มีสุข มีอายุยืนเถิด ครั้งที่ ๓ สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ ขอจัญไรทั้งปวงจงระเหิดหายไป สพฺพโรโค วินฺสสตุ ขอโรคทั้งปวงจงหาย มา เต ภวตฺวนฺตราโย ขออันตรายอย่าบังเกิดมีแก่ท่านเลย สุขี ทีฆายุโก ภว ขอท่านจงเป็นผู้มีสุข มีอายุยืนเถิด เมื่อครบ ๓ ครั้งแล้วในตอนหลัง อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ แปลเป็นสยามภาษาว่า ธรรมทั้ง ๔ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีอภิวาทกราบไหว้เป็นนิจ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่เป็นนิจ นี่ธรรม ๔ ประการนี้สำคัญนัก เป็นธรรมประจำโลก ประจำธรรม เป็นธรรมประจำธรรมด้วย เป็นธรรมประจำโลกด้วย ท่านให้พรทุกวัน ยถา ฯ สพฺพี ฯ ให้ทุกวัน แต่ว่าเราจำกันไม่ค่อยได้ พรเหล่านี้ไปลืม ๆ เสีย หรือไม่รู้มคธภาษา เราเป็นไทย แปลเป็นสยามไม่เข้าใจ ไม่เล่าเรียนศึกษา เพราะเหตุนั้น วันนี้ควรเอาใจใส่ แปลให้ท่านทั้งหลายเข้าเนื้อเข้าใจว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ว่าธรรม ๔ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นนิจ หรือย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่เป็นนิจ ธรรม ๔ ประการนี้สำคัญนัก
อายุนั้นคืออายุยืน เป็นอายุขัย ไม่ตายในปฐมวัย มัชฌิมวัย ใคร ๆ ก็ชอบ ใคร ๆ ก็ปรารถนา
วรรณะ ผิวพรรณ วรรณะไม่ต้องตบแต่ง งดงามอยู่เนืองนิตย์ ตั้งแต่เด็กเล็กหนุ่มสาวแก่เฒ่าชรามีความเจริญที่ตน มีความสวยงามอยู่เนืองนิตย์ เมื่อมีความสวยงามอยู่เนืองนิตย์อัตรา เพราะบุญกุศลราศีที่ได้สั่งสมอบรมไว้ เจริญอยู่เป็นนิตย์ไม่เสื่อมทราม เรียกว่า วรรณะ
สุขะ มีความสบายกายสบายใจในอิริยาบถทั้ง ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ฝันก็ไม่ฝันร้าย ฝันแต่ดี เป็นที่เอิบอิ่มของใจ มีความสุขอย่างนี้
พละ มีกำลัง จะไปทางบก ทางน้ำ ทางอากาศก็ตาม จะใช้กำลังกายประกอบกิจการงาน ก็มีกำลังกายเพียงพอ จะใช้กำลังวาจาบังคับการงาน ก็มีกำลังวาจาพอ หรือจะโต้ตอบ โต้ปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มีกำลังทั้งนั้น กำลังใจเล่า ก็แข็งขัน ไม่ทุพพลภาพ แข็งขันอยู่เสมอไป จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีใจโอด ไม่ลดละทำให้สำเร็จทุกประการ อย่างนี้เรียกว่ากำลังใจดี เขาเรียกว่ากำลังใจดี และกำลังกายอาจจะทรงอยู่ได้ด้วย กำลังใจไม่ดีละก็ แม้แต่เป็นเพียงกะลาโขกเท่านั้นเข้าใจว่างูเห่ากัด สลบคาที่ ไม่ใช่งูเห่าหรอกกะลามันโขกเอาเท่านั้น มีกำลังเรี่ยวแรงขึ้นแล้ว เพราะกำลังใจไม่เสีย กำลังใจมันดี แม้ไฟจะไหม้จะเป็นอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น กำลังดีละก็ไม่เสียของเท่าใดนัก แก้ไขได้ทันที ถ้ากลัวหรือใจเสียละก็ เสียหายหมดทุกสิ่งทุกประการ
เหตุในพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ที่จะเจริญแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต้องอาศัยเคารพอภิวาทกราบไหว้ เคารพอภิวาทกราบไหว้นั้นอย่างไร เคารพนี้เป็นตัวสำคัญนัก เมื่อเราปฏิบัติพุทธศาสนา เราจะต้องเคารพพระพุทธศาสนาจริง ๆ เคารพจริงนี้ทำอย่างไร ทำไม่ถูกเสียด้วย นี่แหละสำคัญนัก
เพื่อจะให้พระพุทธศาสนาเจริญต้องเคารพกันจริง หากว่าเป็นภิกษุก็เป็นภิกษุกันจริง ไม่ทำพิรุธเสียหายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา กลั่นกล้าอยู่ เมื่อเป็นสามเณรก็ต้องเคารพในหน้าที่สามเณรจริง หน้าที่ของสามเณรมีศีล ๑๐ ศีล ๑๐ ไม่ขาดตกบกพร่องจริง เมื่อเป็นอุบาสกก็ต้องเคารพในหน้าที่อุบาสก ต้องมั่นอยู่ในไตรสรณคมน์ ศีล ๕ ศีล ๘ ตามหน้าที่ตามปรกติ ก็ศีล ๕ ปัญจศีล มีองค์ ๕ ประการ ปาณาฯ อทินนาฯ กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ ถ้าวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ วันธัมมัสสวนะ ก็มีศีล ๘ ประจำตัวอยู่ไม่ขาดสาย นี่เคารพในหน้าที่อุบาสกอุบาสิกา หน้าที่บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
หน้าที่บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถึงเวลาให้ทาน ก็ให้ทานตามกำลังของตน ไม่เดือดร้อน ถึงเวลารักษาศีลก็รักษาศีลตามกำลังของตน ซื่อตรงต่อศีลจริง ๆ ไม่คดโกงต่อศีล ไม่อวดดีต่อศีล เคารพในศีลอย่างมั่นคงทีเดียว เมื่อเจริญภาวนาก็เคารพในภาวนาอย่างมั่นคงทีเดียว ทำให้เห็นเป็นปรากฏทีเดียว ถ้าไม่เห็นเป็นปรากฏก็ติเตียนตัวทีเดียว ว่าตัวไม่เป็น ว่ากล่าวเอาทีเดียว ติเตียนทีเดียว ดังนี้ หน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกา เมื่อมาถึงที่ประชุม ภิกษุสามเณรก็เคร่งครัดในศีล สมาธิ ปัญญาของตน อุบาสกอุบาสิกาเล่า ก็ต้องเคร่งครัดในหน้าที่ของตน
เมื่อจะให้ทานก็ระลึกถึงจาคานุสสติ ระลึกถึงการให้ทาน เมื่อจะรักษาศีลก็ระลึกถึงสีลานุสสติ ถือศีลของตนไว้ ถือศีลให้มั่นคง อย่าส่งใจไปในทางอื่น เมื่อเจริญภาวนาก็ทำภาวนาให้เกิดปรากฏขึ้น อย่าส่งใจไปในที่อื่น เมื่อมีเป็นขึ้น เข้าที่ประชุมก็ระลึกถึงตัวไว้ให้มั่นคง อย่าล่อกแล่ก ไม่ง่อนแง่นไม่แคลนคลอน ทำภาวนาให้เห็นแจ่มอยู่เสมอ ใสเป็นกระจก วันอื่นมีธุระน้อย วันอื่นมีธุระมาก แต่วันพระเราสละแล้วที่จะจำศีลภาวนา ต้องมั่นอยู่ ภาวนาให้เห็นให้เป็นปรากฏ ใจจ้องอยู่ในภาวนา ส่องให้เป็นกระจกส่องเงาหน้า ดูกันอยู่เสมอ แจ่มใสเป็นพระจันทร์ ธมฺมํ ซึ่งธรรม อาทาสตลํ วิย ดุจดังพื้นกระจก สว่างเหมือนกระจก ใจจรดในพื้นใสนั้น เมื่อเข้าที่ประชุมต่างทำอย่างนี้ ต่างคนต่างตั้งใจอย่างนี้ นี่พวกเจริญภาวนาเป็นแล้ว พวกไม่เป็นก็ตั้งใจให้แน่แน่ว เราจะทำให้มีให้เป็นบ้าง ใจจรดอยู่ที่หมาย ใจจรดศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใจหยุด ไม่หยุดเป็นไม่ยอมกัน ในที่คนมาก ในที่ประชุม ใจต้องหยุด เมื่อทำหยุดในที่ประชุมชนแล้ว กล้าเข้าไป ก็ยิ่งเจริญหนักเข้าไป ก็ยิ่งเจริญหนักเข้าไป ยิ่งว่องไวหนักขึ้น ต้องชำนาญอย่างนี้ การปฏิบัติศาสนาต้องเอาจริงเอาจังอย่างนี้ อย่าให้โลเลเหลวไหล ตัวของตัวจะเป็นที่พึ่งของตัวไม่ได้ นี้เรียกว่า อภิวาทนสีลิสฺส เคารพต่อหน้าที่ต่อศีลธรรมของตนจริง ๆ
นี้เรียกว่าเคารพกราบไหว้อยู่ ไม่ทำโลเลเหลวไหล ไม่เอาเรื่องอื่นเข้ามาแทรกแซง กลัวจะเป็นอันตรายต่อศีล กลัวจะเป็นอันตรายต่อจาคานุสสติ ระลึกถึงทาน กลัวจะเป็นอันตรายต่อศีล การรักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อย กลัวจะเป็นอันตรายต่อการเจริญภาวนา หรือไม่ฉะนั้น ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ส่งใจไปในพระภิกษุสามเณรเจริญสาธยายเป็นธรรม ระลึกถึงธรรมว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เวลาเข้าสู่ที่ประชุมก็เป็นอย่างนี้ ทำให้เลื่อมใสปลาบปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างอุบาสกอุบาสิกาที่ดีแท้ ๆ ภิกษุสามเณรก็จะเป็นตัวอย่างของภิกษุสามเณรที่ดี จะเป็นอายุพระศาสนา ไว้กราบเคารพบูชา ไม่ดูถูกดูหมิ่น
ถ้าแม้ว่าเวลาเข้าที่ประชุมเช่นนั้น เอาเรื่องอื่นมาใส่เสีย เรื่องอะไรต่อมิอะไรมาใส่ เรื่องนี้มีแต่ครั้งพุทธกาล ไม่ใช่มีแต่ครั้งนี้ มีหญิงพวกหนึ่ง ๕๐๐ คน จะรังควานพระศาสดา พระศาสดาก็อยู่ในที่ประชุม เมื่อถึงที่ประชุมนั้นแล้ว พระศาสดายังไม่เทศน์อยู่ เอาสุราเหน็บไปในพกในพุง ซ่อนเป็นขวดเล็กซ่อนไป เมื่อมีโอกาสก็ดื่มเสีย ๒ อึก ๓ อึก พอหน้าตึง ๆ ชา ๆ พอนานก็ดื่มเสียอีก เอาพอสมควรก็ไปคุยกับสนมพรมไพรในที่ประชุมของพระพุทธเจ้า ไปคุยกันในที่ประชุมเพื่อจะทำลายพระศาสดา พระศาสดาก็ทรงทราบ พอพระศาสดาจะเทศนาว่าการ พอปรารภขึ้นเทศน์ พวกนั้นก็ฮาทีเดียว ร้องกัน ๕๐๐ คนนั้น พระพุทธเจ้าเทศนาทำให้มืดเหมือนดังไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ มืดตื้อไปหมด พวกเหล่านั้นก็ตกอกตกใจ พวกเมาทั้งหลายหายเมาสร่างเมา มืดหมดไม่เห็นฟ้า ตกอกตกใจกันทีเดียว เมื่อแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้นแล้ว ก็แสดงให้สว่างให้ปรากฏขึ้น พวกนั้นสร่างเมาแล้ว เทศนาทีเดียวพวกนั้นได้มรรคผลตามกาลสมัยทีเดียว ต่อหน้าพระศาสดาต้องแก้ไขอย่างนี้
บัดนี้ปรากฏเช่นนั้น พระศาสดาเสียแล้ว ผู้ที่มีปาฏิหาริย์ปรากฏแสดงเช่นนั้นไม่ได้ พวกเราเข้ามาสู่ที่ประชุมเช่นนี้ ช่วยกันรักษาเนติแบบแผนเป็นอันดี ครั้งพุทธกาลก็ยังมีพวกเขาทำร้ายพุทธศาสนาเช่นนี้เหมือนกัน เรารู้หลักเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ใช่ใคร ในเมื่อเราเข้าที่ประชุมกันนี้ ไม่มีความเคารพ เราก็ได้ชื่อว่าดูหมิ่นดูถูกพระพุทธศาสนา ต่อไปพวกภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาก็จะเข้าประชุมกันไม่ได้ ก็เสื่อมทรามไปหมด ให้ปรากฏอย่างนี้ อภิวาทนสีลิสฺส ไหว้นบเคารพบูชา ลูกหญิงลูกชายต้องไหว้นบเคารพบูชาพ่อแม่ อย่าดูถูกดูหมิ่นพ่อแม่ ไม่ได้ สิถิลวาจา*(*สิถิลวาจา แปลว่า การพูดล่วงเกิน ไม่สมควร) ต้องเคารพครูบาอาจารย์ ไม่เคารพครูบาอาจารย์ไม่ได้ ขาด อภิวาทนสีลิสฺส หรือท่านผู้มีอุปการคุณซึ่งเป็นบุพการี ท่านผู้ถูกอุปการคุณเช่นนี้แล้ว ต้องตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที นี้เป็นหน้าที่ของความเจริญทางพระพุทธศาสนา
วุฑฺฒาปจายิโน อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ลักษณะอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่นั้น เป็นไฉน ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่า ชาติวุฒิ แก่โดยชาติ วัยวุฒิ แก่โดยวัย คุณวุฒิ แก่โดยคุณ นี่เคารพนบนอบได้ที่ควร
นี้วัยวุฒินะ ท่านผู้มีอายุมาก มีอายุ ๘๐, ๙๐ อายุตั้งร้อย อายุมากเช่นนี้เรียกว่า วัยวุฒิ เจริญโดยวัย ถึงอย่างไรก็ต้องได้รับความอภัยจากผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเสมอ ทางพุทธศาสนานั้นถือกันนัก ภิกษุผู้มีอายุมากตั้งแต่ ๓ พรรษาขึ้นไป ถือเป็นวัยวุฒิทีเดียว ล่วงล้ำกันไม่ได้ ผิดพระวินัยหลายข้อหลายกระทงทีเดียว ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาเช่นเดียวกัน ต้องประพฤติเช่นนั้นเหมือนกัน ตั้งอยู่ในความเคารพเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าว่าไม่ตั้งอยู่เช่นนั้น ติกันเป็นคนเสียหาย หญิงก็ดีเป็นคนเสียหาย ชายก็ดีเป็นคนเสียหาย ก้าวก่ายผู้ใหญ่ไม่ได้ นี่เรียกว่าวัยวุฒิ ส่วนที่ ๑ นี้ เรียกว่าวัยวุฒิ ผู้มีอายุมากกว่า
ชาติวุฒินะ เกิดในตระกูลสูง ในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลเศรษฐี ตระกูลคหบดี ตระกูลมหาศาล มีทาสมีบริวาร นั้นเรียกว่าชาติวุฒิ ชาติสูงกว่า ชาติต่ำกว่า ชาติที่ขายดอกไม้ ชาติที่ทำงานเทขยะมูลฝอย ทำงานต่ำกว่านั้น เรียกว่าชาติต่ำกว่า ดังนี้เป็นต้น ต่ำก็ต่ำเป็นลำดับ สูงก็สูงเป็นลำดับ ให้เคารพซึ่งกันและกันดังนั้น นั้นเรียกว่า ชาติวุฒิ
คุณวุฒิเล่า เคารพโดยธรรม ถึงจะเป็นเด็กเกิดใหม่ในวันนั้นหรือรู้จักเดียงสา หรือไม่รู้จักเดียงสาก็ตามเถอะ แต่ว่ามีธรรมที่มั่นคง เรียกว่า คุณวุฒิ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงตัดสินสามเณร อายุ ๗ ขวบ ได้สำเร็จพระอรหันต์ มีพระภิกษุถามสามเณรน้อยสะอาดสะอ้านเรียบร้อย พ่อเณรไม่คิดถึงโยมหรือ พ่อเณรไม่หิวข้าวหรือ พ่อเณรไม่คิดถึงบ้านหรือ เอามือลูบศีรษะเณรองค์พระอรหันต์ ลูบเนื้อลูบตัวลูบศีรษะ เณรหัวเกลี้ยงมันก็น่าลูบเล่นนี่ ลูบเล่นตามชอบใจ พระพุทธเจ้าเหลือบไปเห็นเข้า โอ ตายจริงท่าน จับอสรพิษเข้าที่เขี้ยวแล้วไม่รู้ตัว จับช้างพลายเข้าที่งาแล้วไม่รู้ตัว จะตายไม่รู้ตัวแล้ว พอพระพุทธเจ้าทรงเหลือบพระเนตรเห็นเท่านั้น รับสั่งพระอานนท์ให้ประชุมพระภิกษุสามเณรมาพร้อมกัน พระอานนท์ก็ประชุมทีเดียว เข้าประชุมเช่นนั้นพระองค์ทรงดำรัสออกมา เมื่อพร้อมตามทรงรับสั่ง พระอานนท์ก็ทูลบอกว่ามาพร้อมแล้วพระเจ้าข้า ทรงรับสั่งว่า โอ เราตถาคตต้องการน้ำที่สระอโนดาตมาชำระพระบาทสักหน่อยหนึ่ง ท่านทั้งหลาย ถ้านำมาได้ก็นำมาเพื่อเราตถาคต พระองค์ทรงรับสั่งดังนี้ พระอรหันต์ท่านก็รู้ ปัญหานี้ไม่ได้ผูกเพื่อท่าน ผูกเพื่อสามเณรองค์นั้น ปุถุชนไม่รู้ ไม่รู้ว่าพระองค์ประสงค์อย่างไร จะเหาะเหินเดินอากาศไปเอาก็ไม่ได้ จะทำอย่างไร เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วก็จะทำอย่างไรกันเล่า สามเณรก็รู้ทีเดียวว่าผูกเพื่อเรา พระอรหันต์คว้าเอาหม้อต้มกรัก คล้ายกับชาวปาดตาลละ เขาเอากระบอกเหน็บหลังแล้ว เขาก็ขึ้นไปทำน้ำตาลบนต้นไม้นั้น คว้าเหน็บหลังเข้าได้ ก็ลิ่วไปในอากาศทีเดียว เดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ ไปเอาน้ำที่สระอโนดาตมาถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ภิกษุผู้นั้นตกอกตกใจทีเดียว โอ เราได้ลูบศีรษะพระอรหันต์เข้าแล้ว ตายจริง นี่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ ท่านสงเคราะห์เราหนา ถ้าท่านไม่สงเคราะห์เรา เราก็จะตกนรกแย่ทีเดียว ไม่ต้องไปสงสัยละ นี่พระศาสดาทำการสงเคราะห์มาเช่นนี้
พระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เมื่อภิกษุวัดหนึ่งหมู่หนึ่งในสถานที่ใด ต้องดูแลแก้ไขอุบาสกอุบาสิกาหมู่นั้นพวกนั้น อย่าให้เลอะเทอะเหลวไหลไม่ได้ จะเอาตัวไม่รอด ต้องแก้ไขอย่างนี้แทนพระศาสดาไป แทนสาวกของพระศาสดาไป เมื่อพระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพาน สาวกของท่านเอาใจใส่เพื่อศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า เมื่อต่อมาเราก็ต้องเอาใจใส่อย่างนี้ คอยดูแลแก้ไขอย่างนี้ ดูแลแก้ไขในตระกูลของเราไว้ ขนบธรรมเนียมอันใดที่ทำไว้ ขนบธรรมเนียมอันนั้นให้แน่แน่วไว้ จะได้เจริญในเบื้องหน้า
ฝ่ายพระพุทธศาสนาเล่า ก็ต้องรักษาขนบธรรมเนียมดุจดังนั้นเหมือนกัน การเล่าเรียนดัดแปลงแก้ไขในทางพระพุทธศาสนาในเวลานี้ ท่านผู้เป็นเมธีมีปัญญา เป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องรักษาขนบธรรมเนียมนั้นไว้ ไม่ทำเช่นนั้น ขนบธรรมเนียมเหล่านั้นหายหมด เล่าเรียนไม่ถูก ศาสนาก็ล้มละลาย การประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาเล่า ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องรักษาขนบธรรมเนียมไว้ ถ้าไม่รักษาขนบธรรมเนียมไว้จะเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา เหตุนี้ ควรเอาใจใส่ควรแก้ไขทีเดียว
การอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ เรื่องนี้หญิงก็ดี ชายก็ดี เป็นที่ยินดีของโลก โลกพานิยมชมชอบนัก เป็นที่ยินดีปรารถนาของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ท่านรู้เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญา คนประกอบด้วยปัญญา คนเฉลียวฉลาด คนอ่อนน้อม ไม่ใช่คนแข็งกระด้าง ถ้าคนแข็งกระด้างดื้อดึง ไม่เป็นที่ปรารถนา แม้แต่เป็นเด็กก็ไม่เป็นที่ปรารถนา แม้แต่แก่เฒ่าชราก็ไม่เป็นที่ปรารถนา เป็นเหตุอะไรเล่า พระองค์ทรงรับสั่งไว้ว่า สุวโจ ว่าง่าย สอนง่าย พระองค์ทรงรับสั่งว่า สาวกของพระศาสดา ทุพฺพโจ ว่ายาก สอนยาก พระองค์ไม่รับอุปถัมภ์ ผลักไสเสียนี่ เพราะอะไร พระศาสดาทรงสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชุมชนจริง ๆ เหตุนี้ วุฑฺฒาปจายิโน เคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญู่ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อายุ จะเป็นผู้มีอายุยืน วรรณะ จะเป็นผู้มีผิวพรรณวรรณะผุดผ่องงดงาม สุขะ จะเป็นผู้มีความสุขกายสบายใจในอิริยาบถทั้ง ๔ พละ จะมีกำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ เจริญตามหน้าที่
เหตุนี้ ในสามัญวาจาที่ชี้แจงมานี้ คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบายได้พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ได้อ้างธรรมปฏิบัติในภัตตานุโมทนาคาถานี้ พอสมควรแก่เวลา ด้วยอำนาจสัจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ที่ได้มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติจะยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ