อริยทรัพย์
๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ หน)
ยสฺส สทฺธา ตถาคเต อจลา สุปติฏฺฐิตา
สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ อริยกนฺตํ ปสํสิตํ
สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ
อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ
ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ
อนุยุญฺเชถ เมธาวี สรํ พุทฺธาน สาสนนฺติ ฯ
สํ.ส.(บาลี) ๑๕/๙๑๙/๓๔๑, ขุ.อป.(บาลี) ๓๓/๑๗๔/๓๘๕-๓๘๖
ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงในอริยทรัพย์ ซึ่งมีมาตามวาระพระบาลีในอริยธนคาถา จะคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย กว่าจะยุติกาลลงโดยสมควรแก่เวลา จึงได้เริ่มต้นแห่งอริยธนคาถานี้ว่า ยสฺส สทฺธา ตถาคเต อจลา สุปติฏฺฐิตา ความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกลอก ตั้งมั่นในพระตถาคตเจ้า สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ อริยกนฺตํ ปสํสิตํ ศีลของบุคคลใดดีงาม ศีลของบุคคลใดดีงามอันเป็นที่ใคร่ของพระอริยเจ้า อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ ความเชื่อในพระสงฆ์มีอยู่แก่บุคคลใด อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นของบุคคลใดเป็นธรรมชาติตรง บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวบุคคลนั้นว่า หาใช่คนจนไม่ ไม่ใช่เป็นคนจนก็เป็นคนมั่งมี แต่ว่าไม่มี จนนั่นแหละถูกละ หาใช่เป็นคนจนไม่ อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นไม่เปล่าปราศจากประโยชน์ ได้ประโยชน์ทีเดียว ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ เพราะเหตุนั้น เมื่อบุคคลผู้มีปัญญามาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ เมื่อบุคคลผู้มีปัญญามาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ควรประกอบความเชื่อ ประกอบศีล ประกอบความเลื่อมใส ประกอบความเห็นธรรมไว้เนือง ๆ ด้วยประการดังนี้ นี่เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามได้ความเพียงเท่านี้
ต่อจากนี้จะได้อรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไปว่า ความเชื่อของบุคคลไม่หวั่นไหว ความเชื่อของบุคคลใดไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นอยู่แล้วในพระตถาคตเจ้า ข้อนี้ความเชื่อ ยสฺส สทฺธา แปลว่าความเชื่อ ยสฺส ของบุคคลใด อจลา ไม่กลับกลอก สุปติฏฺฐิตา ตั้งมั่นอยู่แล้ว ตั้งมั่นอยู่แล้วเป็นอดีตไป สุปติฏฺฐิตา ตั้งอยู่แล้ว ตถาคเต ในพระตถาคตเจ้านี้ แกะเอาเนื้อความของพระบาลีถูกถ้วนทุกอักขระ ทุกอักษรไม่คลาดเคลื่อน ว่าความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกลอก ตั้งอยู่ดีแล้ว ตั้งอยู่แล้ว เอาดีออกเสีย ตั้งอยู่แล้วในพระตถาคตเจ้า หรือตั้งมั่นแล้วในพระตถาคตเจ้านี้ให้ดีหนักขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็เพลาไป ตั้งมั่นแล้ว ความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกลอก ตั้งมั่นแล้วในพระตถาคตเจ้า นี่แน่นหนาดี แปลอย่างนี้แน่นหนาดี
เชื่ออย่างไรในพระตถาคตเจ้า ไม่กลับกลอกและตั้งมั่นในพระตถาคตเจ้า จะเป็นคนเช่นไร อันนี้ไม่ใช่อื่นไกลละ นั่นคือพระพุทธ ในอรรถกถาธรรมบทปรากฏอยู่ สุปปพุทธกุฎฐิ น่ะเชื่อในพระพุทธ เชื่อในพระธรรม เชื่อในพระสงฆ์ เชื่อเสียจริง ไม่ได้กลับกลอกละ ไม่ได้ง่อนแง่นคลอนแคลนล่ะ เรื่องนี้ทราบไปถึงพระอินทร์ พระอินทร์ เออ เราจะไปทดลองดูทีว่าแกจะเชื่อแค่ไหน มั่นในพระตถาคตเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์เช่นไร พระอินทร์ก็เปลี่ยนแปลงเพศ จำแลงแปลงกายทีเดียว เหมือนคนธรรมดาเดินสวนทางกันมา เดินสวนทางก็ได้พูดจากับท่านสุปปพุทธะคนโรคเรื้อนเทียวนะ ขอทานเขานะมาเลี้ยงชีพได้ มีหรือจนนะ ขอทานเขา คนโรคเรื้อน เออ ท่านสุปปพุทธะ เขาว่าท่านมั่นคงแน่นอนนักในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านบัดนี้ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ ท่านจะพูดได้ไหมว่า นั่นไม่ใช่พระพุทธ นั่นไม่ใช่พระธรรม นั่นไม่ใช่พระสงฆ์ เราจะให้สมบัติท่านพอเลี้ยงชีพตลอดชาติไม่ต้องทุกข์ยากลำบากต่อไปนะ ท่านสุปปพุทธะก็ถามว่า ท่านนะเป็นใครล่ะ ท่านพระอินทร์แปลงก็บอกว่า เราเป็นพระอินทร์ ไหนเป็นพระอินทร์ลองเหาะขึ้นไปในอากาศดูซิ เปลี่ยนเพศเป็นพระอินทร์ทันที เหาะไปในอากาศต่อหน้านั่นแหละ เอาจริงกันอย่างนี้ สุปปพุทธะบอกว่า ถึงท่านเป็นพระอินทร์ อย่าเข้าใกล้เราเลย พระอินทร์พาล ๆ อย่างนี้ เราไม่อยากคบค้าสมาคมด้วยแล้ว ไปเสียเถอะ อย่าให้เรากลับถ้อยคำว่า นั่นไม่ใช่พระพุทธ นั่นไม่ใช่พระธรรม นั่นไม่ใช่พระสงฆ์ ว่า*(*ในที่นี้หมายถึงคำว่า พูด)ไม่ได้ ว่าได้แต่ว่า นั่นพระพุทธเจ้า นั่นพระธรรม นั่นพระสงฆ์ นั่นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ คลาดเคลื่อนไปไม่ได้ทีเดียว ท่านมั่นคงอย่างนี้ บัดนี้พวกเราที่รู้จักแล้วว่านั่นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ยังรู้จักแต่เนมิตกนามว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เท่านั้น ไม่แน่นอนหรอกตรงนั้น ถ้าจะให้กลับกล่าวเสียใหม่เถอะว่า นั่นไม่ใช่พระพุทธ นั่นไม่ใช่พระธรรม นั่นไม่ใช่พระสงฆ์ ถ้าไม่รู้จริงรู้แท้ พระพุทธเจ้ารูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร พระธรรมรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร พระสงฆ์รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร พอให้กล่าวอย่างนี้เถอะจะให้เงินเลี้ยงชาติหนึ่ง ก็จะรับเงินเท่านั้น เพราะไม่รู้จักเห็นจริง ผู้มีธรรมกายละก็เห็นได้ แม้จะให้เงินเลี้ยงชีพตลอดชาติ ก็เห็นจะไม่รับล่ะ ว่านั่นไม่ใช่พระพุทธรัตนะ นั่นไม่ใช่ธรรมรัตนะ นั่นไม่ใช่สังฆรัตนะ ไม่ใช่ที่พึ่งของท่านหรอก ผู้ไม่รู้ไม่เห็นก็อาจจะเหลวไหลไปได้ เหลวไหลเช่นนั้นเรียกว่าไม่แน่ ผู้มีธรรมกายมั่นคงแล้วไม่กลับกลอกไม่เหลวไหล เหมือนสุปปพุทธะทีเดียว แน่นอนล่ะ ดังนี้ให้รู้จักหลักดังนี้นะ
มาวัดตัวของเราว่าเชื่อในพระตถาคตเจ้าจริงไหม ตถาคตเจ้านั่นคือธรรมกายนะ บาลีได้สำทับไว้ว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายนะคือตัวพระตถาคตเจ้าทีเดียว องค์พระตถาคตเจ้าทีเดียว ให้เชื่อมั่นคงลงไปดังนี้ อย่าให้กลับกลอกออกไป ให้แน่นอนทีเดียว สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ อริยกนฺตํ ปสํสิตํ ศีลอันเป็นที่ใคร่ของพระอริยเจ้า อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ปสํสิตํ อันเป็นเครื่องใคร่ของพระอริยเจ้า อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ศีลอันดีงามเป็นอย่างไร ศีลอะไรที่ดีงาม ศีล ๕ ก็ดีงามบริสุทธิ์จริงนะ ศีล ๘ ก็ดีงาม ให้บริสุทธิ์จริง ๆ อย่าเอาเท็จเข้ามาแทรกซิ อย่าเอาเศร้าหมองขุ่นมัวเข้ามาแทรกสิง ศีล ๑๐ ถ้าดีจริง บริสุทธิ์ตามศีลที่จริง ศีล ๒๒๗ ก็ดีจริง บริสุทธิ์ตามศีลที่จริง ศีลในพระวินัยปิฎกเป็นอปริยันตศีล มีมากน้อยเท่าใด ศีลนั่นแหละเป็นศีลดีจริงทั้งนั้น ศีลดีจริงก็จักได้ชื่อว่าเป็นศีลตามปริยัติ ยังหาใช่ศีลตามปฏิบัติไม่ ศีลจริง ๆ น่ะเป็นศีลอะไร ศีลในทางปริยัติไม่ใช่ศีลทางปฏิบัติ ศีลในทางปริยัติก็ดีจริงตามปริยัติ ศีลในทางปฏิบัติก็ดีจริงในทางศีลปฏิบัตินะ ไม่ใช่เป็นปรกติธรรมดา กาย วาจา ตลอดถึงใจ เป็นอัพโพหาริก เป็นเนื้อหนังเดียวกัน ไปที่เดียวกันจนกระทั่งถึงเจตนา ใจก็เป็นเนื้อหนังเดียวกันกับศีลทีเดียว นี่เป็นศีลตามปริยัติ
ก็ศีลตามปฏิบัติ ให้เห็นศีล เห็นศีลทีเดียว ศีลอยู่ไหน ศีลที่เห็นนะ ต้องทำสมาธิให้เป็นขึ้นให้เข้าถึงธรรมกาย ทำสมาธิเป็นขึ้น เข้าถึงธรรมกายถึงจะเห็น ศีลตามส่วนศีลโลกีย์ กายมนุษย์ที่เป็นโลกีย์นี่ก็เห็น พอเป็นเข้าแล้ว กายมนุษย์ละเอียดเห็น กายทิพย์ก็เห็น กายทิพย์ละเอียดก็เห็น กายรูปพรหมเห็น กายรูปพรหมละเอียดเห็น กายอรูปพรหมเห็น กายอรูปพรหมละเอียดเห็น หากว่าเห็นศีลเป็นโคตรภู ๘ กายนะไม่เห็น กายธรรมเห็น กายธรรมละเอียดเห็น นี้ศีลเป็นโคตรภู เห็นเป็นดวงใส ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ในกลางดวงนั้น เห็นจริง ๆ จัง ๆ ชัด ๆ นั้น ศีลเห็นนั้นเรียกว่าอธิศีล เมื่อเข้าถึงอธิศีล ในกลางดวงอธิศีลนั้นนะมีดวงอธิจิต เมื่อเข้าถึงอธิจิต ในกลางดวงอธิจิตมีดวงอธิปัญญา เท่ากัน มีศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ มีศีล มีศีลอย่างนี้ ได้ชื่อว่าศีลเห็น ปรากฏอย่างนี้แหละเอาตัวรอดได้ พ้นจากทุกข์ได้ เพราะว่าเห็นศีลเข้าเท่านั้นแล้ว ศีลนั่นแหละเป็นทางมรรคผลทีเดียว พระอริยเจ้าเดินไปตามศีลที่เห็นนั้น ไม่ใช่ไปทางศีลที่รู้ แต่ว่าทางเดียวกันนั่นแหละ ศีลที่รู้หยาบกว่า ศีลที่เห็นละเอียดกว่า ล้ำกว่ามาก เมื่อรู้จักหลักอันนี้ละก็ นั่นแหละที่เห็นเป็นปรากฏ ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้านั้นแหละ
สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ ศีลของบุคคลใดดีงาม เป็นที่ใคร่ของพระอริยเจ้า เป็นที่พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ปสํสิตํ สรรเสริญแล้ว นี่ศีลดีงามอย่างนี้ เมื่อเชื่อในพระตถาคตเจ้าดังนี้แล้ว ศีลอันดีงามนี้ เป็นศีลไม่ใช่ธรรม แต่ว่าท่านจัดเข้าในพวกธรรมด้วยเหมือนกัน อยู่ในหมวดธรรม แต่ว่าเกิดในธรรมดวงนั้น ดวงธรรมนั่นเป็นธรรมจริง ๆ ศีลนะเป็นศีลเป็นทางดำเนินไปของพระอริยเจ้า ในข้อ ๓ ความเลื่อมใสในสงฆ์ สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์มีอยู่แก่บุคคลใด ความเลื่อมใสในสงฆ์นั้น เลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นเลื่อมใสอย่างไร เหมือนเห็นพระสงฆ์ทุกวันนี้ เห็นหมู่มาก ๆ ก็เลื่อมใส กลับอิ่มเอิบตื้นเต็ม เหมือนมาเลี้ยงพระที่ศาลาการเปรียญ พระเณรก็มาก เจ้าของทานได้เห็นพระสงฆ์มากก็เอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ตื้นเต็มว่าทานของเรานี้ได้เป็นอายุของศาสนามากมายอย่างที่กำลังของเราได้สั่งสมอบรมมา ต้องรักษาทรัพย์ไว้เป็นประโยชน์แก่ภิกษุสามเณรมากอย่างนี้ เราก็ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ คิดแล้วก็เลื่อมใสอย่างนี้ก็เป็น สงฺเฆ ปสาโท เหมือนกับเลื่อมใสในสงฆ์ การบวชเป็นพระสงฆ์นี้มีอานุภาพล้นพ้น ทำประโยชน์ให้แก่ตัวฝ่ายเดียว ไม่ต้องประกอบกิจการงานด้วยประการทั้งปวง ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ที่จะเป็นอยู่คืนหนึ่งวันหนึ่ง ต้องประกอบกิจการงานส่วนตัวทั้งนั้น ไม่ประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ไม่มีอาหาร เลี้ยงท้องได้ด้วยกำลังปลีแข้ง ได้ด้วยกำลังอวัยวะของตนทั้งนั้น ส่วนพระสงฆ์ไม่ได้ประกอบกิจการงานในการแสวงหาข้าวปลาอาหารเลย เล่าเรียนศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ไปตามหน้าที่ตามการณ์ ได้บริโภคอาหารเป็นอันดี อิ่มหนำสำราญที่ดีงาม ร่างกายก็สดชื่นดี ถ้านึกว่าการเป็นพระสงฆ์นี่ดีจริง เข้าในหมู่สงฆ์นี่ดีจริง เมื่อเลื่อมใสจริง ๆ หนักเข้าก็ละครอบครัวลูกเมียได้ เหมือนพระวิลเลี่ยม กปิลวฒฺโฑ พระกปิลวัฒโฑนั้นก็เลื่อมใสในพระสงฆ์ แกเป็นฝรั่ง ลูกเมียแกก็มี แกทิ้งลูกทิ้งเมีย ละเพศฝรั่งมาบวชเป็นพระไทย เข้าในหมู่สงฆ์นี้ ก็ สงฺเฆ ปสาโท เหมือนกัน แกเลื่อมใสในพระสงฆ์เข้า แกถึงได้มาบวชในพระธรรมวินัยได้สมความปรารถนา พวกพระภิกษุสามเณรมาบวชนี้ก็ สงฺเฆ ปสาโท เหมือนกัน ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาที่มาจำศีลภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมที่นี้ก็ สงฺเฆ ปสาโท เหมือนกัน แต่ว่าเลื่อมใสในสงฆ์อย่างนี้เป็นสงฆ์สมมตินะ เลื่อมใสในสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง ให้ตรงกัน ที่เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า ให้ตรงกันอย่างนั้น
เชื่อในพระตถาคตเจ้า เชื่อในพระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระสงฆ์นะเรียกว่าสังฆรัตนะ ไม่ใช่สงฆ์สมมติ สังฆรัตนะทีเดียว สังฆรัตนะเป็นธรรมกาย เมื่อถึงธรรมกายแล้ว ธรรมกายนะหน้าตักโตเล็กตามส่วน ไม่ถึง ๕ วา หย่อนกว่า ๕ วา นั่นธรรมกายโคตรภู หย่อนกว่า ๕ วา กลางธรรมกายมีดวงธรรมรัตนะ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว กลางดวงธรรมรัตนะนั้นมีธรรมกายละเอียด ธรรมกายละเอียดก็เหมือนธรรมกายหยาบแบบเดียวกัน ละเอียดกว่า สะอาดกว่า งามกว่า ธรรมกายละเอียดนั้นแหละ เขาเรียกว่าสังฆรัตนะ ธรรมกายหยาบเป็นพุทธรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้นเป็นธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดที่อยู่ตรงกลางดวงธรรมรัตนะนั้นแหละเขาเรียกว่า สังฆรัตนะ นั่นสังฆรัตนะนั้นแหละเป็นตัวยืนของพระสงฆ์ พุทธรัตนะเป็นตัวยืนของ พุทฺโธ พุทธรัตนะนั้นรู้สัจธรรมทั้ง ๔ เข้า รู้จักทุกข์ เหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ เหตุของข้อความดับทุกข์ พอรู้สัจธรรมทั้ง ๔ เข้า โดยสัจญาณ กิจญาณ กตญาน ญาณ ๓ กลุ่มนี้ ก็เข้าหลักฐาน พอถูกหลักฐานเข้า ก็มีความรู้จักสัจธรรมทั้ง ๔ นั้นเองเป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นว่า พุทฺโธ
ส่วน ธมฺโม เล่า ผู้ใดเข้าถึงพระธรรมนั้นแล้ว บุคคลผู้นั้นละทุจริตกาย วาจา จิตได้ ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ทำแต่ความดีฝ่ายเดียว บังคับให้ทำดีฝ่ายเดียว จึงเป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นว่า ธมฺโม สังฆรัตนะนั้นเองรักษาธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะเข้าไว้ ไม่หายไป อยู่ในกลางดวงนั้น รักษาดวงนั้นไว้ ปฏิบัติดวงนั้นไว้ ท่านจึงได้ยืนยันว่า ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ ธรรมกายละเอียดนั้นเอง ทรงเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายองค์หยาบนั้นไว้ไม่ให้หายไป นี้ ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต พระสงฆ์ทรงไว้ ธรรมกายละเอียดนั้นเองเรียกว่า สังฆรัตนะ สงฆ์ทีเดียว เป็นเนมิตกนามว่าเป็นสงฆ์ทีเดียว นั้นแหละ เลื่อมใสในธรรมกายละเอียดนั้นแหละ ได้ชื่อว่า สงฺเฆ ปสาโท ผู้ใดเลื่อมใสในธรรมกายละเอียดนั้นแล้วละก็ ได้ชื่อว่าความเลื่อมใสในสงฆ์ อยู่แก่บุคลใด บุคคลผู้นั้นเป็นคนเศรษฐี อทลิทฺโท มีปัญญา เพราะไม่ใช่คนจน เชื่อในพระตถาคตเจ้าแล้วละก็ไม่ใช่คนจน ศีลอันดีงามของบุคคลผู้ใด ดีงามเป็นที่ใคร่ของพระอริยเจ้า อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่จนเหมือนกัน เลื่อมใสในพระสงฆ์ก็เป็นคนไม่จนเหมือนกัน
อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นธรรมหรือความเห็นตรง อุชุ แปลว่าตรง ทสฺสนํ แปลว่าความเห็น ยสฺส ปุคฺคลสฺส ความเห็นของบุคคลใด อุชุภูตญฺจ เป็นธรรมชาติตรง ความเห็นของบุคคลใดตรง เรียกว่าความเห็นตรง นักปราชญ์ราชบัณฑิตย่อมกล่าวว่าบุคคลนั้นไม่จน เป็นคนมั่งมีอีกเหมือนกัน
๔ ข้อด้วยกัน เชื่อในพระตถาคตเจ้า อีกอย่างหนึ่ง ศีลอันดีงาม ข้อที่ ๒ เลื่อมใสในพระสงฆ์ ข้อที่ ๓ เห็นตรง เป็นข้อที่ ๔ ใน ๔ ข้อนี้แหละ มีอยู่ในสันดานของบุคคลใดแล้ว บุคคลผู้นั้นมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักเท่าหนึ่งเท่าใด ก็สู้บุคคลผู้มีธรรม ๔ ข้อ ผู้มั่นใน ๔ ข้อนี้ไม่ได้ วางตำราทีเดียว อริยธนกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภถึงอริยทรัพย์ ว่ามีอริยทรัพย์เดียว ไม่ขัดสนไม่ยากจน เป็นคนมั่งมีทีเดียว นี้แหละทรัพย์ของพระของเณร พระเณรมีทรัพย์อย่างนี้ก็สบาย สดชื่น เอิบอิ่ม ตื้นเต็ม อุบาสกอุบาสิกามีทรัพย์อย่างนี้ก็เอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ตื้นเต็ม จะมีทรัพย์สักเท่าหนึ่งเท่าใดก็สะดุ้งหวาดเสียว ยิ่งมีเพชรราคาแสนไว้กับตัว ก็สะดุ้งหวาดเสียว เห็นคนแปลกหน้ามา พาสะดุ้งหวาดเสียว กลัวจะมาหยิบเอาเพชรนั่นไปเสีย ถ้าว่าความเชื่อในพระตถาคตเจ้า มีศีลอันดีงาม เลื่อมใสในพระสงฆ์ เห็นตรง อย่างนี้มีในสันดานของบุคคลใดแล้ว จะมาสักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้งเลย เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าของเหล่านี้อยู่กับใจ ธมฺโม นี้ลักไม่ได้ ปล้นไม่ได้ แย่งชิงไม่ได้ เอาไปไม่ได้ เป็นของจริงอยู่อย่างนี้
เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้ว ในท้ายต่อไปอีก ในท้ายต่อไปนี้ อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ ความเป็นอยู่ของคนมีธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่เปล่าประโยชน์ ความเป็นอยู่ของเขานั้นไม่เปล่าจากประโยชน์ ได้ประโยชน์ทีเดียว เป็นอยู่วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ดีกว่า บุคคลที่ไม่มีธรรม ๔ ประการนี้อยู่ ๑๐๐ ปี ไม่ประเสริฐกระไร คนมีธรรมเป็นอยู่ดังกล่าวมานี้ เป็นอยู่วิเศษนัก ไม่เสียทีที่มีชีวิต เป็นในท้ายวาระพระบาลีนี้รับรองว่า ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ อนุยุญฺเชถ เมธาวี สรํ พุทฺธาน สาสนํ เพราะเหตุนั้น เมื่อบัณฑิตมาระลึงถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ ควรประกอบความเชื่อ ประกอบศีล ประกอบความเลื่อมใส ประกอบความเห็นธรรมนั้นไว้เนือง ๆ ประกอบความเชื่อ เชื่ออันนั้นอย่าให้หายไป รักษาเอาไว้ในพระตถาคตเจ้า เอาใจไปจรดเข้าไว้ อย่าให้เคลื่อนคลาด จรดอยู่ตรงนั้น คือธรรมกายนั่น อย่าให้เคลื่อนคลาด เพราะนอกจากธรรมกายนี้ เราจะรักษาอย่างไร เราจะตรึกอย่างไร มันจึงจะรักษาเอาความเชื่อในพระตถาคตเจ้าไว้ได้ เราก็ชี้แจงให้กายมนุษย์มันฟังซิว่า เจ้าเป็นอยู่นี้นะ เจ้าเป็นอยู่ด้วยพระตถาคตเจ้านะ ถ้าพระตถาคตเจ้าไม่มี เจ้าเป็นอยู่ไม่ได้ เจ้าต้องตายทันทีทีเดียว
พระตถาคตเจ้าทำอย่างไร ธรรมกายนั่นแหละรักษาชีวิตเจ้าไว้ เป็นอยู่ด้วยอะไร ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นซิให้เป็นอยู่ ถ้าไม่มีดวงนั้นก็ดับไป ก็ส่วนกายมนุษย์ละเอียดละก็เป็นอยู่ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั่นแหละ ถ้าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าฟองไข่แดงของไก่ ถ้าไม่มีดวงนั้นแล้วกายมนุษย์ละเอียดก็ดับไป กายทิพย์ดับไปอยู่ไม่ได้ กายมนุษย์ละเอียดดับไปกายทิพย์ดับไปอยู่ไม่ได้ กายทิพย์เล่า เป็นอยู่ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ขนาด ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กายทิพย์ละเอียดเป็นอยู่ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กายรูปพรหมเป็นอยู่ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กายรูปพรหมละเอียดเป็นอยู่ได้ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัว กายอรูปพรหมเล่า เป็นอยู่ได้ด้วยธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ๗ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัว กายอรูปพรหมละเอียดเล่า เป็นอยู่ได้ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กายธรรมเล่า กายธรรมก็เป็นอยู่ได้ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว อยู่กลางองค์ธรรมกาย กายธรรมละเอียดเล่า กายธรรมละเอียดก็เป็นอยู่ได้ด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว โตไปเป็นลำดับดังนี้
เมื่อรู้จักหลักดังนี้ละก็ ตลอดไปทุกกาย ทุก ๆ กาย คราวนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเข้านิพพานมากน้อยเท่าใด ท่านก็มีธรรมกายอย่างนี้แหละ ไม่ได้มีอย่างอื่นหรอก ท่านก็เป็นพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมกาย ท่านไปรักษาชีวิตมนุษย์เป็นลำดับไป ช่วยกันรักษา รักษาอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นกาย ๆ ตลอดไปหมด ตลอดขึ้นไปนับอสงไขยไม่ถ้วน พระพุทธเจ้านับลำดับพรรษาเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ไม่มีใครรักษาเลย คนอื่นไม่ได้ ไม่ใช่ผู้ปกครอง ต้องผู้ปกครองที่เป็นอยู่ พระพุทธเจ้านะ ท่านก็เข้านิพพานไปแล้ว เหมือนกับพ่อบ้านแม่บ้านที่ดี บ้านนั้นจะรุ่งเรืองอยู่ได้ก็เพราะอาศัยพ่อบ้านแม่บ้าน รู้จักใช้ทรัพย์และเก็บทรัพย์ รู้จักสงวนทรัพย์ไม่ให้เป็นอันตรายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เฉลียวฉลาดทุกสิ่งทุกประการในการรักษาทรัพย์ ในการควบคุมปกครองบ้านเรือน วัดปากน้ำจะเจริญอยู่ได้ก็เพราะอาศัยสมภาร ถ้าไม่มีสมภารไม่ได้ แตกสลายทีเดียว ถ้าว่าสมภารเซ่อ ๆ ซ่า ๆ วัดนั้นทรุดเสื่อมสลายทีเดียว ถ้าว่าสมภารเทศนาว่าการปราดเปรื่องดี วัดนั้นเจริญ นี่สมภารวัดปากน้ำไม่ใช่แต่เทศน์อย่างเดียว สอนธรรมกายก็ได้ ไม่ใช่แต่เท่านั้น หาเงินสร้างโรงเรียนอีกก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง นี่มีศักดิ์สิทธิ์หลายประการ
เมื่อรู้จักหลักเช่นนี้ละก็ วัดปากน้ำนี่เป็นอยู่ด้วยอะไร เป็นอยู่ด้วยสมภารเป็นตัวสำคัญ สมภารเป็นตัวยืนเท่านั้น ที่แท้ที่จริงก็เป็นด้วยอุบาสกอุบาสิกา ช่วยกันกระท่อมห้องหอรักษาไว้แลเอาใจใส่ บ้านเรือนก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าเมื่อท่านได้ไปนิพพานแล้ว สาวกมีเท่าไร ถึงคราท่านจะปกครองมนุษย์รักษามนุษย์ ท่านก็เอาสาวกของท่านเข้าอยู่ในตัวของท่านหมด ท่านก็ต้องรักษาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายเป็นลำดับไป ไปรักษาที่สุดโน้น
ที่สุดอยู่ที่ไหนละ ผู้เทศน์ยังเรียนวิชชาไปไม่ถึง ยังไม่ถึงที่สุด ๒๓ ปี ๔ เดือนเศษแล้ว ยังไม่ถึงที่สุดเลย ขยับไปที ๆ หนึ่งนั้น นับครั้งไม่ถ้วน นับชั้นไม่ถ้วน นับอสงไขยดวงไม่ถ้วน นับอายุกี่ดวงยังไม่ถ้วน ไม่ไปสุดเลย ถ้าสุดเวลาไร ถึงที่สุดของการรักษาแล้วละก็ มนุษย์เลิกแก่ เลิกเจ็บ เลิกตายทีเดียว นี่กำลังพยายามทำไป ทำไปในทางนี้ไม่ใช่ทำไปในทางอื่น
พระพุทธเจ้าท่านไปรักษาอยู่ ต้นธาตุท่านรักษาอยู่เป็นอยู่ เราเป็นอยู่นี้ ถ้าท่านหยุดแก๊กเดียวเท่านั้น มนุษย์ดับทีเดียว หรือไม่ฉะนั้นมารมาตัดระหว่างกายเสีย ไม่ให้ติดต่อกันเสียเท่านั้นละก็ ตายทันที ขาดผู้รักษาเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ที่เรานับถือนั่นไหว้กราบท่านนะ จะไหว้กราบทำไม ก็ท่านรักษาชีวิตของเราอยู่ไม่ใช่หรือ ไม่ไหว้อย่างไร ท่านปล่อยเสียมันก็ตายเท่านั้น ก็ท่านมีคุณต่อเราอย่างนี้ ล้ำเลิศประเสริฐอย่างนี้ คนอื่นไม่ใช่เช่นนั้น เราจะมั่งมีอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านส่งสมบัติมาให้ ยากจนอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านส่งสมบัติมาไม่ทัน มารเข้าไปขวางเสีย เมื่อรู้จักหลักเช่นนี้ละก็ เราจึงได้ไหว้พระตถาคตเจ้านัก เราจึงได้เชื่อพระตถาคตเจ้านัก เราจึงได้เชื่อพระตถาคตเจ้านับว่าชีวิตของเรา ถ้าเอาใจจรดอยู่ที่พระตถาคตเจ้านั้น นี่เรียกว่าเชื่อในพระตถาคตเจ้า
ศีลอันดีงาม ศีลไม่ดีงามได้หรือ ถ้าไม่ดีงามก็กระเทือนถึงพระพุทธเจ้า ถ้าศีลไม่ดีงามธรรมกายก็เศร้าหมองไม่ผ่องใส ถ้าศีลดีงามธรรมกายมันก็สว่างแจ่มใสสะอาดสะอ้าน นั่นอุดหนุนกันอย่างนี้
ถ้าว่าเราไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ พระสงฆ์ สังฆรัตนะรักษาดวงธรรมรัตนะที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะไม่ให้หายไป ให้เจริญขึ้น ไม่เลื่อมใสได้หรือ เลื่อมใสเหมือนกับอะไร เหมือนกับพ่อบ้านแม่บ้าน งานการดีจริง พ่อบ้านแม่บ้านเบาอกเบาใจทุกสิ่งทุกย่าง พ่อบ้านจะปกครองให้รุ่งเรืองก็เพราะอาศัยคนงานที่ดีนั่นแหละ สังฆรัตนะ พระสงฆ์นี่ก็การงานดีนัก รักษาดวงธรรมรัตนะ รักษาพุทธรัตนะให้สะอาดดีงามทีเดียว ไม่เลื่อมใสได้หรือ ของดีวิเศษอย่างนั้น นี่ ๓ ข้อ
ความเห็นตรงละ เห็นตรงนั่นเป็นอย่างไร เห็นธรรมรัตนะ เห็นธรรมรัตนะ เห็นธรรมนะ เห็นถูกเห็นตรงนั่นแหละ ถ้าไม่ถูกไม่ตรงต่อพระนิพพานละก็ มันจะถูกหลักฐานของการรักษาอายุของเราได้อย่างไร ถูกตรงต่อมรรคผลนิพพาน ถูกตรงต่อทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ เป็นอยู่ต่อการรักษา เป็นอยู่ต่อการรุ่งโรจน์โชตนาการต่อไป ตรงอย่างนี้ไม่คลาดเคลื่อน ตรงต่อแบบแผนอย่างนี้ อย่างนี้ความเห็นตรง เขาจึงได้ควรประกอบไว้เนือง ๆ ทีเดียว เผลอไม่ได้ ความเห็นตรงอันนี้ ก็เป็นที่รุ่งโรจน์โชตนาการของตัวเองทั้งตลอดสาย เมื่อรู้หลักอันนี้เข้าใจอย่างนี้ละก็นี่แหละ ได้ชื่อว่าระลึกถึงศาสนาของพระตถาคตเจ้า สรํ พุทฺธาน สาสนํ ระลึกถึงศาสนาของพระตถาคตเจ้า
ศาสนาของพระตถาคตเจ้าสอนอย่างไร นี่แหละสอนให้รู้จักหลักอย่างนี้แหละ นี่แหละเป็นหลักฐานของพระศาสนาแท้ ๆ ของพระตถาคตเจ้าล่ะ ไม่ได้สอนอย่างอื่น สอนให้เห็นธรรมกายเท่านั้น ให้เดินทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นลำดับไป ให้เข้าถึงกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เข้าถึงกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด กายโสดา กายโสดาละเอียด กายสกทาคา กายสกทาคาละเอียด กายอนาคา กายอนาคาละเอียด กายอรหัต อรหัตละเอียด ตามสายอย่างนี้เรียกว่า ศาสนะ แปลว่าคำสอนของพระศาสดาล่ะ รู้จักหลักอันนี้แล้ว ก็พึงปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นแล้วก็ให้มั่นอยู่ในสันดาน สำเร็จสุขพิเศษไพศาลในปัจจุบันนี้และต่อไปในภายหน้า
เท่าที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ